ในอดีตนั้นถือกันว่าสมาธิภาวนาหรือการทำกรรมฐานเป็นเรื่องของสงฆ์ ส่วนฆราวาสนั้นปฏิบัติธรรมด้วยการให้ทานและรักษาศีลก็พอแล้ว แม้จนทุกวันนี้เราก็ยังเห็นฆราวาสเข้าวัดเพื่อ “ทำบุญ” เป็นส่วนใหญ่ แต่แบบแผนดังกล่าวดูเหมือนจะจำกัดเฉพาะชาวพุทธไทย เอกลักษณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเมื่อไปเยือนวัดในยุโรปหรืออเมริกาที่มีชาวพุทธหลายเชื้อชาติให้ความศรัทธานับถือ ในขณะที่ชาวพุทธไทยนิยมมาถวายอาหารแก่พระสงฆ์ (แล้วก็ลากลับ) ชาวพุทธชาติอื่นโดยเฉพาะชาติตะวันตกกลับสนใจฟังธรรมะและทำสมาธิกันอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฆราวาสที่สนใจทำกรรมฐานมีจำนวนมากขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นในแวดวงชาวพุทธไทย ตามสำนักต่างๆ มีฆราวาสมาทำสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดอบรมกรรมฐานกันเอง บ่อยครั้งก็มีฆราวาสเป็นอาจารย์กรรมฐาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับความสนใจใฝ่ศึกษาธรรมทั้งจากการอ่านและการฟังอย่างแพร่หลาย จนหนังสือธรรมะกลายเป็นหนังสือขายดี ขณะที่หน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจก็มีการบรรยายธรรมอย่างสม่ำเสมอ
ความเครียด ความรุ่มร้อนในจิตใจและความรู้สึกว่างเปล่าในชีวิตทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยวัตถุสิ่งเสพและความสะดวกสบาย เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนหันมาหาความสงบจากพุทธศาสนา แต่ผู้คนยากจะค้นพบคำตอบจากพุทธศาสนาได้หากไม่มีผู้บอกทางที่สามารถสื่อสารกับฆราวาสได้อย่างถึงแก่น ครั้นค้นพบแล้วจะลงมือปฏิบัติหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับผู้บอกทางว่าได้นำเสนอการปฏิบัติที่สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ ทำได้จริงหรือไม่ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนสมัยใหม่ก็คือ จักต้องเป็นการปฏิบัติที่ทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ยิ่งเป็นวิธีการที่ลัดสั้น ตรงถึงเป้าหมาย ก็ยิ่งได้รับความนิยม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการชักนำให้ฆราวาสโดยเฉพาะคนชั้นกลางหันมาทำกรรมฐานกันอย่างจริงจังและอย่างแพร่หลายชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือคนเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยเห็นตัวท่าน หรือได้รับการชี้แนะจากท่านโดยตรง หรือแม้แต่ฟังคำบรรยายจากปากของท่าน หลายคนอยู่ไกลถึงต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่ได้ปฏิบัติตามคำชี้แนะของท่านอย่างต่อเนื่อง เท่าที่ทราบมีเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลดีจากการปฏิบัติ
ความสำเร็จดังกล่าว (หากจะใช้คำนี้) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะซีดี ซึ่งสะดวกแก่การเผยแพร่ในหลายช่องทางรวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เข้าถึงคนชั้นกลางจำนวนมาก แม้หนังสือของท่านจะพิมพ์เผยแพร่มิใช่น้อย แต่เชื่อว่าผู้คนรู้จักพระอาจารย์ปราโมทย์ผ่านซีดีมากกว่าหนังสือ และที่ศรัทธาปฏิบัติตามแนวทางของท่านก็เพราะซีดีมากกว่าหนังสือเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นน่าจะได้แก่ แนวทางการปฏิบัติของท่าน ที่เน้นการดูจิต หรือตามรู้สภาวะและอาการต่างๆ ของจิต ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่กดข่มอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา และไม่แทรกแซง หรือควบคุมบังคับจิตเพื่อให้เกิดความสงบ ซึ่งรวมถึงการไม่ “กำหนด” หรือ เพ่งที่รูปหรือนามใดๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ “รู้” โดยไม่ต้อง “ทำ”อะไรทั้งสิ้น
วิธีการดังกล่าว (ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าจิตตานุปัสสนาตามหลักสติปัฏฐานสี่) เหมาะกับคนชั้นกลางซึ่งมีนิสัยคิดฟุ้งปรุงแต่งมากจนยากที่จะทำใจให้สงบดิ่งลึก อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่เลือกสถานที่และบรรยากาศ ทำให้กรรมฐานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้โดยไม่ต้องหลีกเร้นไปอยู่ป่าหรือเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุนี้หลายคนที่นำวิธีการดังกล่าวไปปฏิบัติจึงเห็นผลได้เร็ว คือมีสติรู้ตัวมากขึ้น จิตใจปลอดโปร่งกว่าเดิม เห็นกายและใจชัดขึ้น การบอกกล่าวจากปากต่อปาก โดยมีซีดีคำบรรยายของท่านเป็นสื่อการสอน ทำให้ผู้คนหันมาปฏิบัติตามแนวทางของท่านมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่เคยปฏิบัติแนวอื่นแต่ไม่ก้าวหน้าเพราะใช้วิธีเพ่งหรือบังคับจิตจนเครียด
จุดเด่นอีกประการหนึ่ง ก็คือ การสอนของท่าน ซึ่งนำเสนอแนวทางดังกล่าวในฐานะที่เป็นวิถีสู่ความพ้นทุกข์ จากการดูจิต สู่การเห็นรูปและนามด้วยสติ ตามมาด้วยการเห็นรูปและนามด้วยปัญญา คือเห็นไตรลักษณ์จนละวางความยึดติดถือมั่นว่ารูปและนามเป็นตัวตน คำสอนของท่านพูดถึงการบรรลุธรรม การหลุดพ้น และมรรคผลนิพพานบ่อยครั้ง มิใช่ในฐานที่เป็นสิ่งเหลือวิสัยของมนุษย์ หากเป็นอุดมคติที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และควรทำให้ได้ในชีวิตนี้ คำสอนดังกล่าวได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากซึ่งเคยไกลวัดหันมาสนใจพระนิพพาน กล่าวได้ว่าไม่มีใครที่สามารถจุดประกายให้ฆราวาสยุคนี้ปรารถนาและบำเพ็ญเพียรเพื่อพระนิพพานได้มากเท่ากับพระอาจารย์ปราโมทย์
ทั้งแนวทางปฏิบัติและเนื้อหาคำสอนของท่านตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถหาอ่านได้ไม่ยากจากหนังสือของท่าน แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏในหนังสือ ก็คือวิธีการสอนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งจะประจักษ์ได้ก็จากการไปฟังการบรรยายของท่านตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น นั่นก็คือ การบรรยายด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย เป็นกันเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การ “ทักจิต” ผู้ที่มา “ส่งการบ้าน” ว่า หลงไปแล้ว หรือกำลังเพ่ง หรือ “ตื่น” แล้ว เชื่อว่าวิธีนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมาฟังคำบรรยายของท่านอย่างเนืองแน่นทุกครั้ง เพราะต้องการสอบถามให้แน่ใจว่าตนปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของท่านหรือไม่ สำหรับผู้ฟังคนอื่นๆ การทักจิตของท่านยังช่วยให้เข้าใจการปฏิบัติตามคำสอนของท่านดีขึ้น เนื้อหาและบรรยากาศส่วนนี้ถูกถ่ายทอดลงซีดี ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมในวงกว้างกว่าหนังสือ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทักจิตของท่านย่อมทำให้ศิษยานุศิษย์ (รวมทั้งลูกศิษย์ทางซีดี) เห็นท่านอยู่ในสถานะพิเศษเหนือคนธรรมดา ดังนั้นจึงเกิดศรัทธาปสาทะในตัวท่านมากขึ้น หากนี้เป็นจุดแข็ง มันก็เป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นเหตุให้ท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมาโดยเฉพาะจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติของท่าน จนถึงจุดหนึ่งก็ขยายตัวเป็นการต่อต้านท่านอย่างชัดเจน ที่น่าประหลาดใจคือแกนนำหลายคนเคยเป็นลูกศิษย์หรือผู้สนับสนุนคำสอนของท่านอย่างแข็งขันมาก่อน
เหตุผลข้อหนึ่งที่ผู้ต่อต้านใช้ในการโจมตีท่านก็คือ การอวดอุตริมนุสสธรรม คือธรรมล้ำมนุษย์หรือคุณวิเศษที่เหนือปุถุชน ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการอวดอ้างว่าเป็นอริยบุคคล การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดตามพระวินัย หากอวดคุณวิเศษดังกล่าวทั้งๆ ที่ตนเองไม่มี ผู้อวดนั้นย่อมขาดจากความเป็นพระ กรณีพระอาจารย์ปราโมทย์นั้น แม้ท่านจะแสดงให้เห็นว่ามีการทักจิตอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยากที่จะชี้ชัดว่าเป็นการอวดอุตริมนุสสธรรมตามที่ระบุในพระวินัย (แม้จะตีความเช่นนั้นแต่ถ้าท่านมีคุณสมบัติดังกล่าวจริง ก็เป็นอาบัติเล็กน้อย) จะว่าไปแล้ววิธีการดังกล่าว ครูบาอาจารย์หลายท่านทั้งอดีตและปัจจุบันก็ทำเป็นอาจิณ ส่วนที่กล่าวว่าท่านอวดอ้างเป็นอริยบุคคลนั้น ก็เป็นเรื่องของการตีความจากคำบรรยายเมื่อท่านพูดถึงสภาวะหรือสิ่งที่พบเห็นจากการปฏิบัติ ที่ผ่านมายังไม่มีการอ้างคำพูดใดๆ ของท่านที่เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างชัดเจน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทักจิตของท่าน ย่อมทำให้ศิษยานุศิษย์เห็นท่านอยู่ในสถานะพิเศษเหนือคนธรรมดา ดังนั้นจึงเกิดศรัทธาในตัวท่านมากขึ้น หากนี้เป็นจุดแข็ง มันก็เป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน
หากไม่นับสาเหตุส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่มากนักแล้ว มูลเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งที่ขยายวงน่าจะเป็นเพราะแนวทางการปฏิบัติและวิธีการสอนของท่านนั้นขัดกับแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิม อาทิ การดูจิตโดยไม่เน้นที่รูปแบบ การทักจิตผู้ปฏิบัติในที่สาธารณะท่ามกลางผู้คนนับร้อย (แทนที่จะทำในที่รโหฐาน) การสอนกรรมฐานโดยไม่เน้นพิธีรีตอง (ไม่มีพิธีขอกรรมฐาน และใครจะแต่งตัวมาฟังธรรมที่สำนักของท่านอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งขาว และไม่มีการสวดมนต์รับศีล) ซึ่งแม้ถูกจริตคนหนุ่มสาวแต่ไม่เป็นที่นิยมของคนแก่วัด ยิ่งกว่านั้นการที่ท่านวิจารณ์การปฏิบัติที่เน้นการเพ่ง กำหนด หรือควบคุมบังคับจิต อันเป็นที่นิยมในหลายสำนัก ย่อมทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านท่าน แต่ปฏิกิริยาดังกล่าวจะไม่มากหากลูกศิษย์ยังคงปฏิบัติในสำนักดังกล่าว แทนที่จะแห่กันไปปฏิบัติตามแนวทางของท่าน หรือกลับมาตั้งคำถามกับการปฏิบัติของสำนักเดิม
แม้แกนนำในการต่อต้านจะเป็นฆราวาส แต่เชื่อว่ามีพระจำนวนไม่น้อยสนับสนุนหรือขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่าหลายท่านทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ บางท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ส่วนใหญ่รับไม่ได้กับแนวทางการปฏิบัติและวิธีการสอนของพระอาจารย์ปราโมทย์ ซึ่งหลายท่านมองว่าเป็นพระที่ยังมีพรรษาน้อย และปฏิบัติสวนทางกับธรรมเนียมหลายประการของพระป่าโดยเฉพาะสายหลวงปู่มั่น ข้อกล่าวหาอีกประการหนึ่งซึ่งร้ายแรงมากในสายตาของพระป่าก็คือ การดัดแปลงคำสอนของครูบาอาจารย์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
พระอาจารย์ปราโมทย์เป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ และนำคำสอนของท่านมาเผยแพร่ โดยอธิบายให้เข้าใจได้อย่างเป็นระบบ ทำให้หลวงปู่ดูลย์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามอรรถาธิบายของท่านนั้นไม่ตรงกับที่ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์หลายท่านเข้าใจ หลายท่านเชื่อมั่นว่าท่านเข้าใจหลวงปู่ดูลย์ได้ถูกต้องกว่า จึงไม่พอใจพระอาจารย์ปราโมทย์ที่ “สอนผิดครู” จนบางท่านถึงกับกล่าวหาพระอาจารย์ปราโมทย์ว่าเป็นศิษย์คิดล้างครู สำหรับท่านเหล่านี้คำสอนของหลวงปู่ดูลย์เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ในรูปแบบเดิมหรือถ่ายทอดตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด
มองในแง่หนึ่ง ความขัดแย้งกรณีพระอาจารย์ปราโมทย์ เป็นความขัดแย้งระหว่างระหว่าง “ใหม่” กับ “เก่า” (ไม่ต่างจากความขัดแย้งระหว่างพระอาจารย์พรหมวังโสกับสำนักหนองป่าพงกรณีบวชภิกษุณี) จะพูดว่า โดยพื้นฐานแล้วนี้คือความขัดแย้งระหว่างแนว “ปฏิรูป” กับ “แนวอนุรักษ์นิยม” ก็ย่อมได้ ซึ่งเป็นธรรมดาในทุกวงการและเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เมื่อ ๖๐ ปีก่อนท่านอาจารย์พุทธทาสก็เคยถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์เพราะการสอนที่แปลกใหม่ของท่าน ที่กระตุกความรู้สึกของผู้ฟัง (เช่น กล่าวว่าพระรัตนตรัยหากนับถือไม่ถูกต้องก็เป็นภูเขาขวางกั้นทางสู่พระนิพพาน) แต่ความขัดแย้งเป็นแค่ความแตกต่าง ที่ไม่ควรนำไปสู่ความแตกแยก หรือการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ที่สำคัญก็คือไม่ควรให้ความโกรธเกลียดหรือกลัวเป็นตัวผลักดันการกระทำ
เมื่อมีความแตกต่างทางความคิดหรือการปฏิบัติ ควรโต้กันด้วยเหตุผล แทนที่จะใช้วิธีโจมตี ใส่ร้าย หรือข่มขู่คุกคาม แม้จะทำด้วยความปรารถนาดีคือเพื่อปกป้องธรรมะ แต่หากใช้วิธีอธรรมแล้ว ผลร้ายย่อมตกอยู่กับธรรมะอย่างไม่ต้องสงสัย