ขอพื้นที่ให้เด็กบ้าง

พระไพศาล วิสาโล 15 มิถุนายน 2008

เด็กไทยกำลังประสบปัญหาแทบทุกด้าน กล่าวคือ ในด้านกายภาพหรือสวัสดิภาพของชีวิต เป็นที่ปรากฏว่านับวันเด็กจะเป็นเหยื่อแห่งความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะจากคนใกล้ชิด  ในด้านคุณธรรม ก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามีแนวโน้มตกต่ำเป็นลำดับ  ในด้านสติปัญญา ไม่ว่าจะวัดจากไอคิวหรือผลการเรียน ก็พบว่าคุณภาพน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุประการหนึ่งที่มีผู้พูดกันมากคือ สภาพแวดล้อม จากการวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่เสี่ยง (เช่น สถานเริงรมย์ต่างๆ) มากกว่าพื้นที่ดี (เช่น ลานกีฬา สนามกีฬา และลานกิจกรรม) เป็น ๓ เท่า  และเมื่อแยกเป็นรายภาคหรือรายจังหวัด จะพบว่า สัดส่วนของพื้นที่เสี่ยงนั้นมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสัดส่วนของเด็กที่มีปัญหา (เช่นเด็กที่เข้าสถานพินิจ) เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่เสียงมากที่สุด (๗๗.๓๕ แห่งต่อประชากรแสนคน) ปรากฏว่าเด็กที่เข้าสถานพินิจก็มีสัดส่วนมากที่สุดเช่นกัน (๙๕.๕ คนต่อประชากรแสนคน)  ขณะที่ภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงน้อยที่สุด (๑๒.๕๖ แห่งต่อประชากรแสนคน) เด็กที่เข้าสถานพินิจก็มีสัดส่วนน้อยที่สุดเช่นกัน (๒๖.๘๕ คนต่อประชากรแสนคน)

ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพเด็กไทยจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีมีมาตรการลดพื้นที่เสี่ยงให้น้อยลง เช่น ควบคุมจำนวนหรือจำกัดเขตสถานเริงรมย์  ขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ดีให้มากขึ้น เช่น เพิ่มสนามกีฬา ลานกิจกรรม และห้องสมุดให้มากขึ้น  อันที่จริงมีพื้นที่ดีประเภทหนึ่งซึ่งมีมากมายในเมืองไทย แต่ยังใช้ประโยชน์ได้น้อย หรือยังไม่เข้าถึงเด็กมากนัก ได้แก่ วัด  วัดนั้นนอกจากเป็นพื้นที่ในทางธรรม ที่เด็กได้มาเรียนรู้เรื่องศาสนาและจริยธรรมแล้ว ยังสามารถเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านอื่นๆ ของเด็กได้ เช่น สนามกีฬา ลานกิจกรรม และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ  อย่างไรก็ตาม ลำพังพระสงฆ์เอง ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการชักนำเด็กๆ ให้เข้าวัดหรือทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับเขา  แต่หากมีหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเครือข่ายครอบครัว มาเป็นหลักในการจัดทำกิจกรรมให้แก่ลูกหลานของตน โดยอาศัยความร่วมมือกับวัด ก็น่าจะช่วยให้พื้นที่ดีในชุมชนนอกจากมีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีพลังในการบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีแก่เด็กและเยาวชนได้ด้วย

อันที่จริงพื้นที่เสี่ยง ไม่ได้หมายถึงสถานที่ที่อยู่กับที่เท่านั้น เวลานี้บ้านหรือแม้แต่ห้องนอนก็สามารถกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงได้ หากปล่อยให้สื่อที่เป็นพิษแพร่เข้ามา  โทรทัศน์ วีซีดี อินเตอร์เน็ต หากไปถึงไหน มักทำให้ที่นั้นมีโอกาสเป็นพื้นที่เสี่ยงไปได้ง่ายๆ  อย่างไรก็ตามทางออกไม่ได้อยู่ที่การควบคุมเนื้อหาในสื่อ (เช่นเซ็นเซอร์หรือบล็อกเว็บไซต์) หรือควบคุมการเข้าถึงสื่อและการใช้สื่อ (เช่น จำกัดเวลาของเด็กในการดูโทรทัศน์หรือใช้อินเตอร์เน็ต) เท่านั้น  ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการฝึกให้เด็กมีวิจารณญาณในการใช้สื่อและกลั่นกรองเลือกสรรเนื้อหาด้วยตัวเอง  คนที่จะช่วยเด็กในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ เพราะเด็กใช้เวลากับสื่อเหล่านี้มากขณะที่อยู่บ้าน (๓-๕ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย)

จะทำเช่นนั้นได้พ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูก หรือพูดอีกอย่างคือเปิดให้ลูกเข้ามามีพื้นที่ในชีวิตของพ่อแม่มากขึ้น มิใช่เอาแต่ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ครั้นกลับมาก็นั่งดูโทรทัศน์หรือพักผ่อนอยู่คนเดียวที่บ้าน  พ่อแม่ควรใช้เวลาในบ้านร่วมกับลูก หากไม่สะดวกที่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของลูก เช่น ดูโทรทัศน์ร่วมกับลูก (พร้อมกับแนะนำวิธีการดูไปด้วย) เล่นเกมต่างๆ กับลูก รวมทั้งวีดีโอเกม หรือเกมออนไลน์ (ซึ่งเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะรู้ว่าลูกเล่นอะไร และจะแนะนำลูกให้เล่นอย่างไรจึงจะเหมาะกับวัยของเขา)

นอกจากพื้นที่ที่เป็นสถานที่ และเวลา ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  พื้นที่อีกประเภทหนึ่งซึ่งเด็กควรมีก็คือ พื้นที่ในแง่ที่เป็นโอกาส คือโอกาสในการร่วมรับผิดชอบหรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง  ความรับผิดชอบนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างวุฒิภาวะได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการส่งเสริมคุณธรรมได้ด้วย  เริ่มต้นได้แก่การรับผิดชอบเรื่องส่วนตัวในบ้าน เช่น การกินการอยู่ หรือข้าวของเครื่องใช้ของตน  จากนั้นก็ขยายมาสู่การร่วมรับผิดชอบการงานในบ้าน ไม่ใช่แค่เป็นลูกมือ หรือลงแรงตามแต่พ่อแม่จะสั่งเท่านั้น แต่รวมถึงการคิดและตัดสินใจร่วมกับพ่อแม่  ในโรงเรียนเด็กก็ควรมีโอกาสเช่นนั้นด้วยเช่นกัน อาทิ การร่วมดูแลรับผิดชอบสภาพแวดล้อมในโรงเรียน หรือช่วยดูแลรุ่นน้อง  การได้บริหารชมรมในโรงเรียนนับเป็นการขยายพื้นที่แห่งความรับผิดชอบของเด็กอีกประการหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริม

อันที่จริงแม้แต่การแก้ปัญหาในบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน เด็กก็ควรมีพื้นที่หรือโอกาสที่จะมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับตัวเด็กเอง เช่น เด็กเกเร เป็นอันธพาล  ที่แล้วมาผู้ใหญ่มักเป็นผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจ โดยมองปัญหาจากมุมของตัวเท่านั้น  ผู้ใหญ่ไม่ว่าครูหรือพ่อแม่ควรรับฟังความเห็นของเด็ก และให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วย เพราะเด็กอาจจะเห็นปัญหาได้ดีกว่าผู้ใหญ่ก็ได้  ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาพบว่าวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน ไม่ใช่การติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะ แต่กลับเป็นการนำนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา  นอกจากนั้นชุมชนหลายแห่งยังสามารถแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันได้ โดยการจัดทำโครงการบาสเกตบอลเที่ยงคืน กล่าวคือให้วัยรุ่นจัดการแข่งกีฬากันในตอนดึก ซึ่งเป็นช่วงที่มีอาชญากรรมวัยรุ่นมากที่สุด

การเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นแก้ปัญหาของวัยรุ่นด้วยกัน อาจช่วยลดปัญหาวัยรุ่นลงได้ ขณะเดียวกันการให้โอกาสแก่เด็กในการทำคุณประโยชน์หรือบริการสังคม อาจช่วยเยียวยาเด็กที่เป็นอันธพาลหรือเกเรได้  ในบางชุมชนของสหรัฐอเมริกา เด็กที่ถูกจับได้ว่าขโมยของ จะถูกตัดสินโดย “ลูกขุน” ซึ่งล้วนเป็นเด็กอายุระหว่าง ๑๐-๑๗ ปี  บทลงโทษก็คือ ทำงานรับใช้ชุมชน ขอโทษร้านค้า และเขียนรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของการขโมยที่มีต่อชุมชน  นอกจากนั้นเขายังถูกสั่งให้ไปทำหน้าที่ลูกขุนเพื่อพิจารณาโทษของเด็กที่ก่อปัญหาในชุมชน  สำหรับเด็กเหล่านี้ นี่คือการเปิดโอกาสให้เขากลับตัวเป็นคนดี

ผู้ใหญ่ไม่ว่าครูหรือพ่อแม่ควรรับฟังความเห็นของเด็ก และให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะเด็กอาจจะเห็นปัญหาได้ดีกว่าผู้ใหญ่

การพัฒนาคุณธรรมในตัวเด็กนั้น ที่แล้วมามักเน้นการเทศน์ พูดและสอนศีลธรรม ให้เด็กเป็นคนดี  แต่กลับไม่ค่อยสร้างโอกาสหรือพื้นที่ให้เด็กได้ทำความดี  อันที่จริงความดีมีอยู่แล้วในตัวเด็ก (เช่นเดียวกับผู้ใหญ่) แต่ความดีนั้นไม่ค่อยมีพลัง เพราะไม่ถูกดึงออกมาใช้ (เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ ถ้าไม่ถูกใช้งานก็ลีบได้)  ขณะที่ความไม่ดีนั้นถูกดึงออกมาใช้เป็นประจำ เพราะสิ่งแวดล้อมอำนวย  การที่เด็กคนหนึ่งจะเป็นคนดีได้นั้น หัวใจอยู่ที่การส่งเสริมให้ความดีในใจเขามีพลังจนเอาชนะความไม่ดีได้  แน่นอน การสอนศีลธรรมเป็นของดี แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด  ส่วนสำคัญที่สุดก็คือการสร้างบรรยากาศที่เชิญชวนให้คนอยากทำความดี และเปิดโอกาสให้ความดีได้ถูกนำออกมาใช้  ทุกวันนี้ความชั่วดูเหมือนจะทำง่ายกว่าความดี เพราะปัจจัยแวดล้อมโน้มไปทางนั้น เราจึงควรขยายพื้นที่ คือสร้างสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพูนโอกาสให้การทำความดีกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น  ข้อสำคัญคือผู้ใหญ่ต้องไม่ติดกับรูปแบบ (เช่น คนดีต้องตัดผมสั้น พูดจาเรียบร้อย ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ) รูปแบบเช่นนั้นอาจกลายเป็นกรอบกีดกันเด็กจำนวนไม่น้อยไม่ให้มีโอกาสที่จะทำสิ่งดีงามได้  การไม่ติดกับรูปแบบดังกล่าวก็คือการขยายพื้นที่อีกประเภทหนึ่งเพื่อให้เด็กทำความดีได้ง่ายเข้า

ด้วยการทำเช่นนี้ คุณธรรมจะขยับขยายในใจเด็ก จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ความเห็นแก่ตัวได้อาศัยเลย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา