ท่าทีต่อความรู้และความจริง

ปรีดา เรืองวิชาธร 20 มีนาคม 2004

มีชายสามคนทุ่มเถียงกันอย่างไม่ลดละว่า หากจะเดินทางจากหมู่บ้าน ก.ไปหมู่บ้าน ข.นั้น ไปเส้นทางใดดีจึงจะรวดเร็วที่สุด คนแรกมั่นใจว่าไปเส้นทางที่หนึ่ง เพราะตนเคยขับรถผ่านมาหลายหนจึงปักใจเชื่อมาโดยตลอดว่า เส้นทางนี้แม้จะอ้อมและวกวนบ้างแต่ทางเนี้ยบมาก คนถัดมาก็มั่นใจว่าไปเส้นทางที่สองต้องถึงก่อนแน่ เพราะเท่าที่ฟังจากหลายคนเล่าตามกันมา เส้นทางนี้ลัดตรงที่สุดแต่ต้องใช้มอเตอร์ไซค์เพราะทางขรุขระมาก ส่วนคนสุดท้ายยืนยันว่าไปทางเรือเร็วที่สุด เพราะไตร่ตรองจากเหตุผลแล้ว คิดว่าช่วงนี้เป็นหน้าฝน ทางลัดที่สุดย่อมไปได้อย่างลำบาก ส่วนทางรถแม้เส้นทางจะดีแต่มักเกิดปัญหาหมอกลงและถนนลื่นทำให้รถไปได้ช้า ดังนั้นทางเรือจึงปลอดโปร่งไปได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว  เมื่อเถียงกันไม่มีทีท่าจะเลิกจึงทดลองจับเวลาเดินทางดู ปรากฏว่าไปได้ช้าใกล้เคียงกัน และพอไปถึงจุดหมายก็มีคนบอกว่า มีเส้นทางตัดใหม่เพิ่งเปิดให้ใช้ ซึ่งลัดตรงที่สุดและไม่อันตรายเวลามีฝนและหมอกลง ดังนั้นแม้ชายทั้งสามคนจะมั่นใจความเห็นตนเพียงใดก็ไม่มีใครถูกต้องในกรณีนี้

เรื่องเล่าพื้นๆ ธรรมดาๆ ข้างบนนี้ดูไม่ชวนให้น่าสนใจเลย แต่มันสะท้อนบอกถึงสภาพการถกเถียงขัดแย้งที่เห็นมากมายเกือบทุกอณูของสังคม ไล่เรียงไปตั้งแต่คนในครอบครัวเดียวกันทุ่มเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดด้วยเรื่องที่เห็นต่างกันเพียงเล็กน้อย คนในองค์กรเดียวกันถกเถียงขัดแย้งด้วยเรื่องการทำงานอย่างไม่ยอมรามือ มาดูในแวดวงนักวิชาการ นักการเศรษฐกิจ นักการเมือง แม้จนถึงผู้นำทางศาสนา บรรยากาศการทุ่มเถียงโจมตีฝ่ายตรงข้ามก็ล้วนเต็มไปด้วยความขัดแย้งและพร้อมจะใช้ความรุนแรงให้ร้ายกันทุกเมื่อ

แท้จริงการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานเพื่อให้เกิดมุมมองที่กว้าง ลึกและไกล ที่สำคัญเพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายนั้นเป็นเรื่องดี เพราะทุกฝ่ายย่อมต้องค้นคว้าหาความรู้ความจริงพร้อมกับใคร่ครวญอย่างรอบด้าน แต่สิ่งที่เราเห็นกันดาษดื่นก็คือ การทุ่มเถียงขัดแย้งด้วยท่าทีที่ต่างฝ่ายต่างคิดว่า ความเห็นของเราและพวกเราเท่านั้นที่ถูกต้อง เป็นจริงอย่างแน่แท้ สมควรที่ผู้อื่นต้องยอมลงให้  ท่าทีแบบนี้ผลที่ตามมาคือ ทุกฝ่ายต่างปิดกั้นความงอกงามทางสติปัญญาด้วยมือของตนเอง ความรู้ความจริงที่ควรจะปรากฏขึ้นอย่างหลากแง่หลายมุมก็พลอยสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย และด้วยแรงยึดมั่นถือมั่นก็ยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายซึ่งต่างยอมให้กันไม่ได้ หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ ต่างฝ่ายต่างดูแคลนและรังเกียจพวกที่เห็นและเชื่อต่างไปจากพวกตน จึงง่ายที่จะใช้ความรุนแรงกดขี่บังคับให้เชื่อและปฏิบัติตาม  ด้วยเหตุนี้เองท่าทีอันสร้างสรรค์ต่อความรู้ความจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ท่ามกลางความเห็นความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์สติปัญญาของบุคคลและสังคมให้มีความงอกงาม ไม่ติดกับดักแห่งความยึดมั่นถือมั่น

ในจังกีสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 13) พระพุทธเจ้าได้ตักเตือนเหล่าพราหมณ์ว่า ความรู้ความเห็นในระดับความเชื่อและเหตุผล ยังเป็นความรู้ความเห็นที่บกพร่องอาจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเห็นที่เรามักยึดมั่นถือมั่นไว้อย่างเหนียวแน่นอันเนื่องด้วยปัจจัย 5 ประการคือ 1) เพราะเราเชื่อหรือศรัทธาในเรื่องนั้นสิ่งนั้น 2) เพราะเรื่องนั้น สิ่งนั้นถูกใจเรา (รุจิ) 3) เพราะเราฟังหรือเรียนรู้ตามกันมา (อนุสสวะ) 4) เพราะเราได้ตรึกตรองตามอาการหรือตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตก) และ 5) เพราะมันเข้ากันได้กับทฤษฎีหรือหลักการที่พินิจไว้แล้ว (ทิฏฐินิชฌานขันติ) ซึ่งความรู้ความเห็นที่มาจากปัจจัยทั้ง 5 นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำเตือนว่า ความรู้ความเห็นเหล่านั้นอาจเป็นของว่างเปล่าหรือเป็นเท็จไปก็มี ส่วนความรู้ความเห็นที่อยู่นอกเหนือปัจจัยทั้ง 5 ก็อาจเป็นของจริงหรือมีประโยชน์ ด้วยเหตุฉะนี้อย่าพึ่งตกลงปลงใจในความรู้ความเห็นนั้นอย่างเด็ดขาดว่า “นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริงหรือเหลวไหล”

ดังนั้นเมื่อเรามีท่าทีต่อความรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เราทุกคนได้คุ้มครองสัจจะหรืออนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักษ์) ไว้แล้ว ซึ่งหมายถึงเราจะไม่เป็นฝ่ายผูกขาดความรู้ความจริงว่า สิ่งที่เรารู้เราเชื่อนั้นถูกต้องจริงแท้แล้ว ส่วนสิ่งที่คนอื่นรู้หรือเชื่อนั้นเหลวไหลไม่จริง เพราะเราทุกคนต่างกำลังอยู่ในขั้นแสวงหาความรู้ความจริง ซึ่งจำต้องถูกทดสอบด้วยการปฏิบัติว่า ประจักษ์แจ้งเห็นผลเช่นใด และแม้เราจะพิสูจน์ด้วยการทดลองปฏิบัติแล้วเห็นผลจริงตามความเห็นนั้น ก็อาจจะใช้ได้ผลจริงในช่วงเวลาหรือสถานการณ์นั้น ต่อเมื่อสถานการณ์แปรเปลี่ยนไป ความรู้ความจริงชุดนั้นก็อาจจะไม่สามารถอธิบายความจริงได้ครบทุกด้าน ดังกรณีเมื่อหลายร้อยปีก่อนเราเคยเชื่อกฏแรงโน้มถ่วงของนิวตันว่า สามารถอธิบายความจริงทางฟิสิกส์ได้อย่างครอบคลุม แต่มาบัดนี้กฏของนิวตันก็มีข้อจำกัดในการอธิบายความจริงทางฟิสิกส์ไปแล้ว เป็นต้น

ท่าทีที่ต่างฝ่ายต่างคิดว่า ความเห็นของเราและพวกเราเท่านั้นที่ถูกต้อง เป็นจริงอย่างแน่แท้ สมควรที่ผู้อื่นต้องยอมลงให้ ผลที่ตามมาคือ ทุกฝ่ายต่างปิดกั้นความงอกงามทางสติปัญญาด้วยมือของตนเอง

สำหรับท่าทีแบบอนุรักษ์สัจจะหากกล่าวให้เป็นรูปธรรมแล้วก็คือ การพยายามเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พวกอื่น ด้วยใจเป็นกลางไม่ด่วนตัดสินตามกรอบความเชื่อของตน เวลาที่คนอื่นแสดงความคิดเห็นออกมาก็ไม่มุ่งโจมตีหักล้างอย่างฉับพลันทันที แต่ควรใคร่ครวญความคิดเห็นนั้นไปตามเหตุและผลอย่างมีสติรอบคอบ ความใจกว้างนี้ควรฝึกฝนปฏิบัติให้ได้กับผู้ที่อ่อนเยาว์กว่าทั้งในแง่สถานภาพ วัยและประสบการณ์ แม้กับลูกศิษย์ของตนเอง ฝึกปฏิบัติกับผู้อื่น พวกอื่นที่อยู่คนละขั้วความคิด หรือคนละลัทธิศาสนา เป็นต้น  นอกจากนี้ความใจกว้างยังหมายรวมถึง การทดลองพิสูจน์ความรู้ความเห็นของผู้อื่นว่า ให้ผลออกมาเป็นเช่นใด โดยพยายามสอบทานและสรุปผลด้วยตนเอง ตลอดจนสอบทานร่วมกับผู้อื่นด้วย แต่หากไม่พร้อมหรือไม่สมัครใจจะทดลองพิสูจน์ อย่างน้อยก็ขอเพียงอย่าพึงปักใจเชื่ออย่างเด็ดขาดว่า ความรู้ความจริงชุดนั้นเป็นสิ่งไม่จริงหรือเหลวไหล หากวางใจวางท่าทีได้ดังนี้ก็มั่นใจได้ว่า สังคมเราจะอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขมากขึ้นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อและการปฏิบัติ


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน