ในสังคมปัจจุบัน วัฒนธรรมทุนที่ผุดขึ้นมามากมายจากการใช้ทุนนั้น ได้กลายเป็นตัวกำหนดคุณค่าสำคัญของปัจเจกบุคคลในสังคมไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมทางด้านวัตถุ ที่ดูจะโดดเด่นกว่าด้านอื่นๆ มาก ที่เป็นเช่นนั้นก็อาจจะเนื่องมาจากวัฒนธรรมทางวัตถุ เป็นอะไรที่สามารถจับต้องได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เมื่อรังสรรค์ขึ้นมาก็เห็นชัดวัดได้ทันที ความที่วัตถุชี้ชัดวัดได้เช่นนี้ วัตถุจึงเป็นตัวกำหนดคุณค่าต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ในยุคนี้สูงมาก ขณะเดียวกันวัฒนธรรมทุนที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา ก็เป็นทุนในตัวของมันเอง ตัวอย่างการผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดจากการใช้ทุนของกลุ่มทุนออกจำหน่าย สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากการใช้ทุน พร้อมๆ กันนั้น ตัวของสินค้าก็เป็นทุนในเวลาเดียวกัน ที่ให้ทั้งเงินแก่ผู้ลงทุน และเป็นตัวกำหนดคุณค่าของปัจเจกบุคคลในสังคมอีกด้วย
อาทิเช่น รถยนต์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการเดินทางและการขนส่ง ขณะเดียวกัน รถยนต์ก็เป็นทุนที่จะเพิ่มทุนให้พอกพูนขึ้นแก่กลุ่มทุนอีก แต่ที่พิเศษไปกว่านั้น การมีรถยนต์ไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ขับขี่อย่างเดียว แต่ยังบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของปัจเจกบุคคลอีกด้วย แม้บุคคลคนนั้นจะหาคุณงามความดีในตนไม่ได้เอาเลยก็ตาม หรือหาได้น้อยเต็มที เพียงแต่มีรถยนต์คันงามสักคัน สังคมก็ยังยกย่องกว่าคนที่เดินข้างถนนเป็นไหนๆ เช่นเดียวกันกับที่คนทั่วไปยกย่องเมืองที่มีตึกระฟ้าว่าศิวิไลกว่าบ้านหลังเล็กๆ ในชนบท
การกำหนดคุณค่าของปัจเจกบุคคลในสังคมโดยเอาวัตถุเป็นตัวตั้งเช่นนี้ ทำให้ปัจเจกบุคคลที่ไม่มีรถยนต์ หรือไม่มีวัตถุอื่นๆ “รู้สึกด้อย” และยิ่งถูกกระตุ้นซ้ำบ่อยๆ การแสวงหาวัตถุมาครอบครองที่ไปพ้นคุณค่าเทียมก็น้อยลงทุกที เมื่อมีคุณค่าแท้เหลืออยู่น้อยเช่นนี้ โอกาสที่วัฒนธรรมทุนเติบใหญ่ขยายพื้นที่ของตนออกไปก็มากตามมา โดยไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน ด้วยเหตุนั้น วัฒนธรรมทุนจึงต้องรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ มาทดแทนของเดิมอยู่ตลอดเวลา และทำให้ปัจเจกบุคคลในสังคมรู้สึกว่า “ไม่มี” เพื่อจะได้ “มี” อย่างคนอื่นเขา
ความรู้สึกไม่มี หรือความรู้สึกพร่องของปัจเจกบุคคลในสังคมนั้น จะว่าไปแล้วไม่ได้เกิดจากธรรมชาติดั้งเดิมของคนคนนั้นเลย หากแต่ถูกกระทำจากวัฒนธรรมทุนต่างหาก ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งของเฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮ็อดซ์ เขาเข้าไปวิจัยในชุมชนชาวลาดักแถบเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เฮเลนาได้สัมภาษณ์ เซวัง ปัลซอร์ ในปี คศ.1975 เกี่ยวกับความยากจน เขาตอบว่า “เราไม่มีความจนข้นแค้นอยู่ที่นี้” และอีก 8 ปีต่อมาในปี คศ. 1983 เมื่อวัฒนธรรมทุนหลั่งไหลเข้าสู่ลาดัก เฮเลนากลับเข้าไปทำวิจัยอีกครั้ง ได้ถามคำถามเดิมกับเซวัง ปัลซอร์ แต่กลับได้รับคำตอบที่เปลี่ยนไปจากเดิมว่า “ถ้าหากท่านสามารถช่วยพวกเราชาวลาดักได้ก็จะดี พวกเรายากจนมาก”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากชุมชนบริสุทธิ์ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตนั้น ได้ถูกปลุกเร้าโลภจริตจากสื่อในวัฒนธรรมทุน ที่ถูกพัฒนามาจากระบบการตลาดเพื่อขายความคิด รสนิยม ความเชื่อ และรูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมสมัยใหม่ ในนามของความก้าวหน้า ความทันสมัย และการทำให้เป็นเมือง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การสื่อสารเพื่อการตลาด” ซึ่งทรงอิทธิพลมากในปัจจุบัน จนกลายมาเป็นกิจกรรมหลักในระบบนี้ เพื่อที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์ของวัฒนธรรมทุนผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ และสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่กลุ่มทุนสนับสนุนหรือลงไปทำเอง ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เน้นเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้คน จนทำให้ปัจเจกบุคคลในสังคม “รู้สึกด้อย” “ไม่มี” อยู่ตลอดเวลา หรือมีก็ไม่รู้จักคำว่าพอดีอีก
ความรู้สึกไม่มี หรือความรู้สึกพร่องของปัจเจกบุคคลในสังคม จะว่าไปแล้วไม่ได้เกิดจากธรรมชาติดั้งเดิมของคนคนนั้น หากแต่ถูกกระทำจากวัฒนธรรมทุน
ความรู้สึกด้อยที่ถูกกระทำโดยวัฒนธรรมทุนเช่นนี้ แม้จะมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมก็ตาม แต่ก็มีผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลในสังคมสูงมาก จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาเร็วๆ นี้ ต่างก็ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบทชัดเจนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีแห่งการบริโภค หรือรูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมและโลกทัศน์ใหม่ ที่ให้คุณค่าทางวัตถุมากกว่าจิตใจ จนคุณค่าดีงามด้านในถูกลบเลือนหายไป ดังที่สะท้อนออกมาจากงานวิจัยของ พ.ญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง “เด็กไทยในวันนี้เป็นอยู่อย่างไร” ว่า ความซื่อสัตย์ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป ได้ลดลงไปจากจิตใจของเด็กจำนวนมาก มีการโกงกันมากขึ้น เกเร และแอบหยิบของในร้านค้ามากขึ้น ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงความฟุ้งเฟ้อเกินตัวของคนในเมืองและชนบท ที่เกิดจากความรู้สึก “ไม่มี” ที่วัฒนธรรมทุนยัดเยียดให้อีก
โดยนัยนี้ก็จะเห็นว่า วัฒนธรรมทุนนั้นไม่ได้ให้คุณประโยชน์แก่ผู้คนในสังคมปัจจุบันด้านเดียว ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมทุนก็ให้โทษมหันต์จนยากที่จะแก้ไขกันได้ ถึงกระนั้น เราคงหนีไม่พ้นจากสังคมเช่นนี้ได้ นอกเสียจากการเผชิญหน้าอย่างท้าทาย และอยู่กับมันอย่างรู้เท่าทันต่างหาก ที่จะทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของวัตถุต่างๆ ในวัฒนธรรมทุน