สบายแต่จ่ายแพง

พระไพศาล วิสาโล 15 มกราคม 2006

เมื่อครั้งบ้านท่ามะไฟหวานยังห่างไกลจาก “การพัฒนา” ถนนทุกเส้นอย่างมากก็โรยด้วยลูกรัง  เส้นไหนที่ไม่สำคัญก็ถมด้วยดินเท่านั้น หน้าฝนจึงเต็มด้วยหลุมบ่อ  แต่ถึงจะเป็นหน้าแล้งก็ใช่ว่าจะขับรถได้สะดวก เพราะถนนไม่เคยราบเรียบ ร่องหลุมมีอยู่เกือบตลอดปี  เอาหินมาโรยเท่าไรไม่นานก็ขรุขระเหมือนเดิม รถแล่นทีไรก็ส่งฝุ่นฟุ้งตลบ

ทั้งหมดนี้เปลี่ยนไปเมื่อมีถนนลาดยาง การสัญจรทำได้ตลอดปี ไม่มีรถติดหล่มให้เห็นอีกต่อไป  ชาวบ้านไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น  แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เกิดอุบัติเหตุบ่อยขึ้น  โดยเฉพาะช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ข่าวรถมอเตอร์ไซค์แหกโค้งพลิกคว่ำ ชนเสาไฟฟ้า หรือประสานงากับรถยนต์ เกิดขึ้นเป็นประจำ  แต่ละปีมีวัยรุ่นตายกันหลายคน

เมื่อถนนยังเป็นลูกรังอยู่นั้น อุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะขับรถเร็วไม่ได้  แม้จะมีอุบัติเหตุอย่างมากก็แค่บาดเจ็บ ไม่ถึงตาย  แต่เมื่อถนนดี ขับขี่ได้สะดวกสบาย ผู้คนจึงขับกันเร็วขึ้น ดังนั้นจึงตายกันง่ายขึ้น

ถนนดี ขับขี่สบาย แต่ก็อันตรายมากขึ้น นี้คือบทเรียนที่ชาวบ้านได้รับ

ความสะดวกสบายนั้นไม่มีวันที่จะได้มาเปล่าๆ เราต้องเสียบางอย่างไปเพื่อแลกกับมันเสมอ  และสิ่งที่เสียไปนั้นไม่ใช่แค่เงินทองเท่านั้น แต่อาจรวมถึงสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา  สำหรับชาวบ้านท่ามะไฟหวานและที่อื่นๆ ทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ต้องสูญเสียไป (แม้ไม่ถึงกับสูญสิ้นเชิง) เพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการเดินทาง ก็คือความปลอดภัย

ความสะดวกสบายนั้นมักจะมาพร้อมกับอันตราย  พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหลายทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นก็จริง แต่ก็เสี่ยงอันตรายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  รถยนต์ทำให้เราเหนื่อยน้อยลงและถึงที่หมายเร็วขึ้นก็จริง แต่ก็ทำให้เราอยู่ในอันตรายมากกว่าเวลาเดินเท้า  จะว่าไปแล้วชีวิตที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายก็มีโอกาสอายุสั้นได้มากขึ้นด้วย  ใช่หรือไม่ว่าการเอาแต่เสพสุข กิน นั่ง และนอน โดยไม่ออกกำลังกายเลย คือการเชื้อเชิญให้โรคหัวใจและอีกหลายโรคมาหา  ทุกวันนี้ทั่วโลกมีคนตายเฉลี่ยนาทีละ ๔ คนเพราะ “โรคขี้เกียจ” หรือ “โรคติดสบาย”  คนไทยที่ตายเพราะโรคนี้ก็มีถึงชั่วโมงละ ๙ คน จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมารณรงค์ให้คนไทยออกกำลังกายให้มากขึ้น  ถึงกับชี้ออกมาเป็นตัวเลขเลยว่า ถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอจะลดความเสี่ยงตายก่อนวัยอันควรถึง ๓ เท่าตัว

บางครั้งอันตรายจากความสะดวกสบายก็มาในรูปมลพิษ  ระบบอุตสาหกรรมและทุนนิยมแม้จะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้นชนิดที่คนเมื่อศตวรรษก่อนนึกไม่ถึง  แต่สิ่งที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเวลาเดียวกันก็คือ น้ำเน่า อากาศเสีย และพิษภัยในอาหาร  ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความวิปริตแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และความรุนแรงในสังคมอันเนื่องจากความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร  เช่น การทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน หรือการแย่งน้ำจากชาวบ้านไปให้โรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม สวัสดิภาพหรือความปลอดภัยในชีวิตไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราต้องแลกกับความสะดวกสบาย  สำหรับผู้คนเป็นอันมากสิ่งหนึ่งที่เสียไป (หรือมีน้อยลง) ก็คือ ความสงบสุข  แทบทุกหนแห่งในชนบท  รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องเล่นซีดี และโทรศัพท์มือถือ แม้จะเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ชาวบ้านมากขึ้น แต่กลับทำให้เขามีความสุขน้อยลง เพราะมีหนี้สินมากขึ้น จนนอนก่ายหน้าผากหรือไม่ก็ต้องพึ่งยาระงับประสาทเป็นประจำ  อันที่จริงอาการเช่นนี้คนในเมืองเป็นมาก่อนนานแล้ว  ส่วนคนที่ไม่มีหนี้สินให้วิตก ก็อดกังวลไม่ได้กับรถยนต์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ไหนจะต้องคอยดูแลรักษา ไหนจะต้องคอยตกแต่งหรืออัพเกรด ฯลฯ  ผลที่ตามมาก็คือเสียเวลามากขึ้น

น่าแปลกไหมสิ่งที่ให้ความสะดวกสบายแก่เรา มักทำให้เรามีเวลาเหลือน้อยลง ทั้งๆ ที่น่าจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นเพราะมันช่วยทุ่นเวลาให้เรา  ทำไมเวลาของเราจึงเหลือน้อยลง? ก็เพราะถูกสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายแย่งไปนั่นเอง  ทุกวันนี้ผู้คนเสียเวลาไปมากมายกับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว  ยิ่งมีรถยนต์ก็ยิ่งใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากขึ้น เพราะเดินทางสะดวกมากเท่าไรก็อยากเดินทางมากขึ้นเท่านั้น (คนชนบทส่วนใหญ่ใช้เวลากับการเดินทางน้อยมาก เหตุผลหนึ่งก็เพราะไม่สะดวกนั่นเอง)  ยิ่งคำนวณเวลาที่เสียไปกับการหาเงินมาซื้อรถ ซื้อน้ำมัน ซื้ออะไหล่ จ่ายค่าซ่อมค่าประกันค่าภาษี  รวมทั้งเวลาที่หมดไปกับการหาที่จอดรถ ล้างรถ ซ่อมรถ ฯลฯ  เราจะพบว่าเราเสียเวลาไปมากมายอย่างนึกไม่ถึงกับรถยนต์ (เคยมีคนคำนวณโดยเอาเวลาทั้งหมดไปหารกับระยะทางที่เดินทางด้วยรถยนต์  ผลที่ออกมาก็คือรถยนต์ช่วยให้เราเดินทางได้แค่ ๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น)

กับคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน  เป็นเพราะมันช่วยให้เราติดต่อกันได้สะดวกมากขึ้น เราก็เลยเสียเวลามากมายกับเรื่องนั้น  ไม่นับเวลาที่หมดไปกับการอัพเกรดหรือดาวโหลดสารพัดอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์  ยิ่งราคาแพงเท่าไร ก็ยิ่งเสียเวลากับมันมากขึ้น (ตามตรรกะที่ว่า ยิ่งแพงยิ่งต้องใช้ให้คุ้ม)  ผลก็คือเราแทบไม่มีเวลาเหลือสำหรับพูดคุยกับคนใกล้ตัวในบ้านเลย จึงเหินห่างกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ก็แย่ลง  ขณะเดียวกันเราก็มีเวลาว่างน้อยลงสำหรับการทำสิ่งดีๆ ให้แก่ตนเอง เช่น สมาธิภาวนา หรือแม้แต่การพักผ่อน  นี้คือ “ต้นทุน” อีกอย่างสำหรับชีวิตที่สะดวกสบาย

ความสะดวกสบายนั้นไม่มีวันที่จะได้มาเปล่าๆ เราต้องเสียบางอย่างไปเพื่อแลกกับมันเสมอ และสิ่งที่เสียไปนั้นไม่ใช่แค่เงินทอง แต่อาจรวมถึงสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา

ความสะดวกสบายนั้นมีราคาสูงกว่าที่เข้าใจกัน  นอกจากต้องจ่ายด้วยเงินตามราคาที่กำหนดแล้ว เรายังต้องจ่ายด้วยอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่มีค่ามากกว่าเงิน  ประการหลังนี้เป็นราคาแอบแฝงที่ผู้คนมักมองไม่เห็น แม้สูญเสียไปแล้วก็ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

พูดเช่นนี้ไม่ได้มุ่งหมายให้เราปฏิเสธความสะดวกสบาย  ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจำเป็นต้องตระหนักถึงราคาที่แท้จริงของความสะดวกสบาย  และพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนว่าเราจะต้องสูญเสียหรือจ่ายอะไรไปบ้างเพื่อจะได้ความสะดวกสบายอย่างใดอย่างหนึ่งมา  ความสะดวกสบายนั้นมีเสน่ห์ ผู้คนส่วนใหญ่มักต้องมนต์สะกดของมัน จึงเห็นแต่ข้อดีของมันอย่างเดียว  แต่มองไม่เห็นว่ามีข้อเสียหรือมีอะไรที่จะต้องเสียไปบ้าง  มองเห็นแต่ประโยชน์แต่มองไม่เห็นภาระหรือโทษที่จะตามมา

พระพุทธองค์ทรงแนะให้เรารู้จักทำความสบายให้แก่ตนเอง แต่ก็ทรงเตือนว่าไม่ควรทำตัวให้สบายเกินไป  ควรรู้จักพอเพียงในความสะดวกสบาย  หัวใจของชีวิตพอเพียงอยู่ตรงนี้ คือไม่ลุ่มหลงในความสะดวกสบาย ทั้งนี้เพราะเห็นโทษของมันด้วย มิใช่เห็นแต่ข้อดีของมันเท่านั้น  เป็นเพราะเดี๋ยวนี้เรามองไม่เห็นโทษของมัน เราจึงเห็นความสะดวกสบายเป็นพระเจ้า ยอมทำทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายอย่างไม่มีขีดจำกัด  เราจึงเห็นความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นจุดหมายของชีวิต เพื่อจะได้สะดวกสบายอย่างเต็มที่

เราไม่อาจเข้าใจหรือเห็นคุณค่าของชีวิตพอเพียงและเศรษฐกิจพอเพียงได้  ตราบใดที่เอาแต่เชิดชูบูชาความสะดวกสบายจนมองไม่เห็นอีกด้านหนึ่งของมัน  และที่สำคัญก็คือแยกไม่ออกว่าความสะดวกสบายกับความสุขนั้น แท้จริงหาใช่สิ่งเดียวกันไม่


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา