ในแบบเรียนภาษาไทยของเด็กประถมศึกษาสมัยเก่า (รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าในปัจจุบัน) มีแบบฝึกการอ่านเอาเรื่องที่ให้ข้อคิดดีมากอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องของชายโง่คนหนึ่งซึ่งอ่านหนังสือไม่ออก แล้วมองเห็นชายชราเพื่อนบ้านคนหนึ่ง นั่งอ่านหนังสือได้ด้วยการหยิบแว่นตาขึ้นมาใส่ทุกครั้ง จึงทำให้เข้าใจไปว่า แว่นตาทำให้อ่านหนังสือออก จึงไปเที่ยวตระเวนหาซื้อแว่นตามาใส่ หวังจะอ่านหนังสือออกและรอบรู้เหมือนชายชรา แต่เดินเข้าออกกี่ร้านๆ เลือกแว่นตากี่อันๆ ขึ้นมาใส่ก็ยังอ่านหนังสือไม่ออกอยู่ดี จนกระทั่งไปได้คำเฉลยจากคนขายแว่นตาของร้านหนึ่งซึ่งสงสัยในอาการหงุดหงิดของชายโง่ (ที่ใส่แว่นตากี่อันก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก) จึงได้รู้ว่าแว่นตามิได้ทำให้คนอ่านหนังสือออกอย่างที่ตัวเองเข้าใจผิด
ความเรียงเรื่องนี้ให้ข้อคิดที่ดีมากเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทั้งหลายสังคมของเราตอนนี้ ที่กำลังอยู่ในสภาพคล้ายกับชายคนอ่านหนังสือไม่ออกในเรื่องที่เล่ามา คือเข้าใจไขว้เขวแบบผิดฝาผิดตัวในเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เราจึงแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้จำกัดมาก เหมือนหมอที่วินิจฉัยโรคผิด จึงรักษาผิด ที่น่าห่วงคือนอกจากจะไม่หายป่วยแล้ว อาจจะมีโรคอื่นเกิดขึ้นตามมาหรือความเจ็บป่วยอาจขยายไปถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะความเข้าใจผิดในเหตุปัจจัย อันเนื่องมาจากการเพ่งเล็งไปเฉพาะสิ่งที่มองเห็นหรือที่ปรากฏตรงหน้า เหมือนที่ชายโง่เข้าใจว่าแว่นตาทำให้ชายชราอ่านหนังสือออก ทั้งๆ ที่แว่นตาเป็นเพียง “เครื่องมือ” หรือเครื่องช่วยให้ชายชราซึ่งสายตาฝ้าฟางมองเห็นตัวหนังสือได้ถนัดชัดเจน โดยที่เขาต้องอ่านหนังสือออกอยู่แล้ว เพราะการอ่านหนังสือได้อย่างเข้าใจเนื้อความ สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ในทางต่างๆ นั้น เป็นคุณสมบัติในตัวบุคคลซึ่งต้องฝึกฝนและใช้เวลา มิใช่ความสามารถสำเร็จรูปแบบกายภาพที่ง่ายดายเหมือนการกินบะหมี่ซอง
ประเด็นที่สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนและก่อผลกระทบมากที่สุดในเวลานี้ น่าจะเป็น “ความเห็น” (ทิฐิ) ที่เรามีต่อความยากจน คือเมื่อเราเข้าใจว่า ความยากจนคือการจนเงิน นโยบายและแผนงาน โครงการ ฯลฯ ก็จะทุ่มเงินลงไปให้คนจนเพื่อให้เขาหายจน เมื่อมีผู้ทักท้วงก็บอกว่า “อย่าดูถูกคนจน” ซึ่งเป็นการบิดเบือนประเด็นการทักท้วงไปไกล เพราะสาระสำคัญของผู้ทักท้วงคือ การจะแก้ไขปัญหา (ทุกข์) ใดๆ จะต้องวิเคราะห์สาเหตุ (สมุทัย) ของโรคให้ถูกต้องเสียก่อน คนอ่านหนังสือไม่ออก หากจะให้เขาอ่านหนังสือออกจะต้องพัฒนาความสามารถในการอ่านขึ้นมาฉันใด คนยากจนจะหายจนอย่างยั่งยืนได้ ก็จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพที่สำคัญบางประการ และรู้จักการจัดการเงินอย่างชาญฉลาดฉันนั้น
หากไม่เชื่อก็ไปศึกษาชีวิตของ “คนเคยจน” ที่ประสบความสำเร็จหายจนด้วยวิถีสุจริตจากสัมมาอาชีวะแล้วจะพบว่า การหายจนมาจากการมีสติปัญญาและโอกาสในสังคมที่จะได้ใช้สติปัญญาดังกล่าว ประกอบกับการมีคุณสมบัติและคุณธรรมอีกหลายประการ เช่น ความใฝ่รู้ ช่างคิดสร้างสรรค์ ความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด ฯลฯ ที่สำคัญคือการมีจิตสำนึกของการเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้าง คือเชื่อว่าเกิดเป็นคนต้องทำงานทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น (ไม่ว่า “ผู้อื่น” นี้จะเป็นคนในครอบครัว หรือคนในชุมชน สังคม) จึงไม่หมกมุ่นกับการเล่นหวย เข้าบ่อน แทงบอล ฯลฯ เพราะมิได้ให้คุณค่ากับการรวยทางลัด หากเชื่อมั่นในคุณค่าของการทำงาน และการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อสร้างฐานะ
นอกจากคุณสมบัติส่วนบุคคลแล้ว การหายจนในปัจจุบันยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมอื่นๆ อีกมากที่จะต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง เช่น การจัดการศึกษาที่จะปลูกฝังจิตสำนึกของการเป็นนักสร้าง นักผลิต รักการทำงาน, การมีสิทธิและโอกาสของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน มิใช่เพื่อตอบสนองการพัฒนาตามกำหนดของรัฐ-ธุรกิจแต่ฝ่ายเดียว, การพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เพื่อปรับปรุงงาน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานใด การสร้างสรรค์พัฒนางานก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
“การหายจน” มาจากความเชื่อมั่นในคุณค่าของการทำงาน และการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อสร้างฐานะ ไม่ใช่หมกมุ่นกับการรวยทางลัด
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและดำเนินการไม่ครบถ้วน ทำให้นโยบายแก้จนของรัฐในปัจจุบันมีแต่นโยบายการใช้เงิน (แจก) เข้าไปแก้ หรือกระตุ้นให้คนอยากหายจนทางลัด ด้วยอบายมุขทั้งหลายที่รัฐเป็นเจ้าภาพหรือเตรียมจะเป็นเจ้าภาพ โดยไม่มีความชัดเจนในการปรับปรุงนโยบายอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย จึงทำให้ผู้ปรารถนาดีที่เฝ้ามองนโยบายแบบเดียวกันนี้มา 20-30 ปี อดวิตกกังวลไม่ได้ เพราะตัวอย่างของคนจนที่ได้เงินจำนวนมากๆ จากการเสี่ยงโชค เล่นหวย รวยบ่อน ฯลฯ โดยปราศจากคุณสมบัติและความสามารถในการใช้เงิน หรือมีจิตสำนึกของการเป็นนักบริโภค รักสบาย ก็จะทำให้ทรัพย์ที่มีอยู่พร้อมจะละลายหายไปได้ในพริบตา จนกระทั่งต้องกลับไปถีบสามล้อหรือบางรายถึงกับฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าวปรากฏมาแล้ว
เหล่านี้ คือประจักษ์พยานที่ดีว่า การหายจนมิใช่การเอาเงินไปแจก แล้วประเมินอย่างหยาบๆ ว่า คนรับมีความพร้อมที่จะรับ ใครค้านจึงเป็นผู้ดูถูกคนจน เพราะในความเป็นจริง ตลอดช่วงเวลาของการพัฒนาสมัยใหม่กว่า 40 ปีนั้น สังคมไทยปราศจากกลไกของการเรียนรู้ไม่ว่าในสถาบันการศึกษาหรือในสังคมที่จะส่งเสริมจิตสำนึกของการรักงาน การเป็นผู้ผลิต ผู้สร้าง ซ้ำร้ายกว่านั้น เรายังมีค่านิยม “นั่งกินนอนกิน” “เจ้าคนนายคน” “รอราชรถมาเกย” “บุญหล่นทับ” ฯลฯ ที่ไม่ส่งเสริม-สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมรักการทำงานเลย
ทำให้การแจกเงิน จึงเหมือนการแจกขนมหวาน ที่ผู้รับชอบใจกินอร่อยถูกใจ แต่ทำให้ฟันผุ เสียสุขภาพ ฯลฯ ที่หนักยิ่งกว่านั้นคือ ผู้รับแจกขนมหวานนั้น ป่วยเป็นเบาหวานอยู่เสียด้วย…