เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 17

พระไพศาล วิสาโล 1 มกราคม 2005

ปี ๒๕๔๗ มาพร้อมกับพัดพาไข้หวัดนกให้แพร่กระพือไปทั่วประเทศ จนไก่และเป็ดถูกฆ่านับร้อยล้านตัว  ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายนับสิบ  หลังจากนั้นความรุนแรงที่ภาคใต้ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปล้นปืนในค่ายทหารก็ขยายตัวเป็นการฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นรายวัน  ตามมาด้วยการตอบโต้จากฝ่ายรัฐจนเกิดการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะและอีกหลายแห่ง มีคนตายกว่าร้อยภายในวันเดียว  สี่เดือนหลังจากนั้นก็เกิดกรณีตากใบซึ่งเป็นผลให้ผู้ชุมนุมประท้วงล้มตายถึง ๘๕ คน  และก่อนที่ปี ๒๕๔๗ จะผ่านไป คลื่นยักษ์สึนามิก็เข้ามาถล่ม ๖ จังหวัดภาคใต้ ทำให้มีผู้ล้มตายกว่า ๕,๐๐๐ คน สูญเสียกว่า ๓,๐๐๐ คน และทิ้งซากปรักหักพังไว้เบื้องหลังอย่างเหลือคณานับ  ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความสูญเสียในประเทศอื่นๆ จากเหตุการณ์เดียวกัน

ปี ๒๕๔๘ เริ่มต้นด้วยความหม่นหมองและเศร้าโศกจากกรณีสึนามิ  เหตุร้ายยังไม่ทันจางหายก็เกิดตึกถล่มกลางกรุงในสัปดาห์แรกของปี  สัปดาห์ที่สองก็เกิดเหตุรถไฟฟ้าใต้ดินชนกัน  ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรอีกหลังจากนั้น แต่ความหวั่นวิตกก็กำลังขยายตัวไปทั่วทุกหนแห่งว่า ปีนี้อาจจะมีเหตุร้ายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

ในยามนี้ไม่มีอะไรดีกว่าการรักษาใจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท  ความหวั่นวิตกไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ความไม่ประมาทต่างหากที่จะช่วยให้เราเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอย่างเต็มที่ในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย  แต่จัดการกับสิ่งนอกตัวเท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องเตรียมใจให้พร้อมเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตด้วย  เพราะโลกและชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มันมีความผันผวนปรวนแปรตลอดเวลา  ผู้ที่ไม่ประมาทคือผู้ที่ตระหนักถึงความไม่แน่นอน และดังนั้นจึงเตรียมใจไว้ให้พร้อมกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด พร้อมกันนั้นก็พยายามป้องกันมิให้เกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นมา  และขณะที่ทุกอย่างยังดูเหมือนปกติ ก็พยายามใช้ชีวิตให้มีคุณค่ามากที่สุด  ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไร้ประโยชน์ หรือลุ่มหลงมัวเมากับความสุขราวกับว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไป

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้  เราควรเรียนรู้ที่จะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาใช้เพื่อเตรียมรับมือกับอนาคต  แม้มหันตภัยสึนามิได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แต่เราก็สามารถค้นหาบทเรียนและประโยชน์จากมันได้อย่างมากมาย  ทั้งในแง่ของการปรับทัศนคติใหม่และการเพิ่มพูนทักษะเพื่อจัดการกับปัญหาในอนาคต  ธรรมานุรักษ์ ฉบับนี้จึงเน้นเรื่องบทเรียนและสิ่งที่สมควรทำหลังภัยสึนามิผ่านพ้นไป  แม้จะไม่ครอบคลุมในทุกประเด็น แต่ก็อยู่ในวิสัยคนทั่วไปจะทำได้ และน่าจะทำด้วยเพื่อฟื้นฟูชีวิตและสังคมให้กลับเป็นปกติ และเพื่อรับมือกับอนาคตภัยที่อาจเกิดขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา