แนวทางการฟื้นฟูจิตใจและการปรับตัวสำหรับผู้ประสบภัย

พระไพศาล วิสาโล 1 มกราคม 2005

มหันตภัยจากคลื่นสึนามิใน ๖ จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลเท่านั้น  หากยังได้สร้างบาดแผลทางจิตใจแก่ประชาชนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสูญเสียคนรักหรือสิ้นเนื้อประดาตัว  บุคคลเหล่านี้ควรได้รับความช่วยเหลือในทางจิตใจไม่น้อยไปกว่าการช่วยเหลือด้านวัตถุสิ่งของ

ในการฟื้นฟูจิตใจและการปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความทุกข์จากหายนะภัยดังกล่าวนั้น บุคคลที่สำคัญที่สุดได้แก่ตัวผู้ประสบภัยเอง  แต่การสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้างก็มีความสำคัญไม่น้อย  การฟื้นฟูจิตใจและการปรับตัวสำหรับผู้ประสบภัยมีแนวทางพอสังเขปดังนี้

๑. ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

สำหรับผู้ประสบภัย: การสูญเสียคนรัก อวัยวะ ทรัพย์สินเงินทอง และวิถีชีวิตที่คุ้นเคย เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีใครปรารถนา  แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้  บางครั้งความจริงก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่การจะพ้นจากความเจ็บปวดได้ ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริงดังกล่าว  ยอมรับว่าเราได้สูญเสียคนรัก อวัยวะ ทรัพย์สินเงินทอง และวิถีชีวิตที่คุ้นเคยไปแล้ว  ทั้งหมดนี้แม้เราจะรักและหวงแหนเพียงใด แต่บัดนี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว  วันนี้เราจะต้องมีชีวิตอยู่โดยไม่มีเขาหรือไร้สิ่งเหล่านั้น  และถึงแม้ชีวิตวันนี้จะยากลำบากเพียงใด ก็ขอให้มั่นใจว่าความทุกข์ยากจะไม่มีวันยั่งยืน มันจะต้องผ่านไปในที่สุด  แม้วันนี้จะดูมืดมน แต่เช้าวันใหม่ที่สดใสจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน

ความสูญเสียใดๆ ก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่หากยอมรับว่ามันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว การทำใจยอมรับความสูญเสียก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น  ตรงกันข้ามการปฏิเสธและไม่ยอมรับว่ามันเป็นความจริง จะทำให้เราไม่ยอมรับความสูญเสียและไม่ยอมกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน

สำหรับญาติมิตร: การช่วยให้ผู้ประสบภัยยอมรับความจริงอันเจ็บปวด และพร้อมจะอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการช่วยให้เขาปรับตัวกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  อย่างไรก็ตามการยอมรับความจริงอันเจ็บปวดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ญาติมิตรจึงไม่ควรพยายามโน้มน้าวให้เขายอมรับความจริงดังกล่าวในชั่วเวลาสั้นๆ ควรยอมรับข้อจำกัดของเขา  แต่สิ่งที่ญาติมิตรจะช่วยได้มากคือการให้กำลังใจแก่เขา พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเขา  น้ำใจของผู้คนรอบข้างจะช่วยให้เขามั่นใจและมีความอดทนมากขึ้นในการเผชิญกับความสูญเสียและมีความหวังกับอนาคต

ผู้ที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นในศาสนามีแนวโน้มที่จะยอมรับความจริงอันเจ็บปวดได้ง่ายกว่า เช่น พุทธศาสนิกชนอาจมองว่าความสูญเสียนั้นเป็นเรื่อง “อนิจจัง” หรือเป็นเรื่องของบุญกรรม ส่วนชาวมุสลิมหรือชาวคริสต์ก็อาจมองว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  ศาสนาเป็น “ทุนทางสังคม” ที่ยังมีพลังในการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสีย จึงไม่ควรที่จะมองข้าม

๒. ตระหนักรู้และยอมรับความรู้สึกที่เจ็บปวด

สำหรับผู้ประสบภัย: ความเจ็บปวด ความเศร้าโศกเสียใจ และความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่สูญเสียคนรักหรือพลัดพรากจากสิ่งที่รัก  เมื่อคุณมีความรู้สึกดังกล่าว แม้จะเป็นทุกข์เพียงใด แต่ก็ขอให้ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ปฏิเสธผลักไสหรือกดข่มมันเอาไว้  การปฏิเสธผลักไสมันไม่ช่วยให้มันหายไปจากจิตใจ อย่างมากก็เพียงแต่ระงับไปชั่วคราว แต่ในที่สุดก็จะกลับมารบกวนอีก หาไม่ก็จะถูกเก็บกดเอาไว้เพื่อรอวันระเบิดออกมา

ทุกครั้งที่อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ตระหนักรู้ในอาการดังกล่าว แต่ไม่ควรปล่อยใจให้จมติดหรือหมกมุ่นหมุนวนอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว เพราะจะยิ่งทำให้อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น  หากรู้สึกว่ากำลังจะติดจมอยู่ในอารมณ์ ให้ดึงความสนใจออกไปที่สิ่งอื่นแทน เช่น ลุกไปทำงาน หรือหันไปทำกิจวัตรประจำวันอย่างอื่น  อย่างไรก็ตามหากความเศร้าโศกเสียใจท่วมท้นจิตจนอยากร้องไห้ ก็ไม่ควรหักห้ามใจ การได้ร้องไห้จะช่วยให้ความรู้สึกดังกล่าวคลี่คลายลง  ขณะเดียวกันก็ควรยอมรับด้วยว่าการที่จิตใจจะกลับคืนมาเป็นปกติดังเดิมนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงต้องมีความอดทนกับความทุกข์ที่รบกวนจิตใจ ด้วยความเชื่อมั่นว่าในที่สุดอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะหายไป แล้วเราจะกลับมายิ้มแย้มแจ่มใสได้ใหม่

สำหรับญาติมิตร: เป็นธรรมดาที่ผู้ประสบความสูญเสียอย่างหนักมักจะต้องผ่านอาการต่อไปนี้ คือ ปฏิเสธความจริง โกรธเกรี้ยว เศร้าโศก จากนั้นถึงจะสามารถยอมรับและทำใจได้  ดังนั้นญาติมิตรจึงควรมีความอดทนและเข้าใจหากผู้ประสบภัยจะแสดงอารมณ์ดังกล่าวออกมาทั้งกับตนเองหรือผู้อื่น  ควรยอมรับทุกอารมณ์ความรู้สึกของเขา  ที่สำคัญก็คือญาติมิตรควรทำใจให้สงบและมั่นคง  ความสงบที่แสดงออกมาจะช่วยให้ผู้ประสบภัยพลอยสงบลงไปด้วย  ญาติมิตรควรให้กำลังใจแก่เขาว่าความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้นจะไม่มีวันรบกวนเขาไปได้ตลอด ไม่นานเขาก็จะผ่านพ้นความเศร้าโศกไปได้ในที่สุด  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรทำก็คือการไปบอกว่า เขาไม่ควรรู้สึกโกรธหรือเศร้าโศกเสียใจ หรือบอกว่าเขาควรจะทำใจให้ได้  คำพูดดังกล่าวอาจจะทำให้เขาปฏิเสธแลและกดข่มความรู้สึกดังกล่าว หรือไม่กล้าที่จะแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมา ซึ่งจะทำให้เขายากที่จะผ่านพ้นอารมณ์ดังกล่าวไปได้

๓ พูดคุยและปรึกษาผู้อื่น

สำหรับผู้ประสบภัย:  เมื่อความทุกข์ท่วมท้นจิตใจ ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว ควรหาโอกาสเล่าความรู้สึกหรือเปิดเผยให้แก่ผู้ที่เราไว้วางใจ  การได้พูดหรือระบายความรู้สึกออกมาจะช่วยให้จิตใจเบาสบายขึ้น  อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นลบนั้น หากปล่อยให้ค้างคาใจและยิ่งหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับมัน จะยิ่งรุนแรงเข้มข้นขึ้นจนกลายเป็นสิ่งกดถ่วงหน่วงทับใจ  การได้พูดออกมาหรือเล่าให้ผู้อื่นฟัง ช่วยให้ความรู้สึกที่หนักอึ้งถ่ายเทออกไปจากจิตใจในระดับหนึ่ง  ไม่ควรรู้สึกผิดหรืออับอายหากจะแสดงความเศร้าโศกหรืออารมณ์ต่างๆ  ออกมา

สำหรับญาติมิตร: ไม่ควรปล่อยให้ผู้สูญเสียอยู่คนเดียว ควรเข้าไปเยี่ยมเยียนและไต่ถามทุกข์สุข เปิดโอกาสให้เขาได้ระบายความรู้สึกหรือแสดงความเศร้าโศกออกมา  พยายามฟังด้วยความใส่ใจ ไม่ขัดคอ ตำหนิ หรือห้ามปราม  แม้จะไม่เห็นด้วยกับเขาแต่ก็ไม่ควรถกเถียงหรือโต้แย้ง เพราะจะทำให้เขาไม่กล้าที่จะเล่าหรือระบายความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่  อย่ากังวลว่าเราไม่มีอะไรจะแนะนำเขา ในยามนี้เพียงแค่มีน้ำใจให้เขาและรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างเต็มที่ โดยไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิหรือคิดแต่จะสอน ก็จะช่วยเขาได้มาก  ในขณะที่รับฟังเขา การสัมผัสร่างกายของเขา (ตามความเหมาะสมของเพศและวัย) เช่น จับมือหรือโอบกอด จะช่วยให้เขาเกิดความมั่นใจมากขึ้น

๔. ทำพิธีทางศาสนาแก่ผู้ล่วงลับ

สำหรับผู้ประสบภัย: การที่ต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปอย่างกะทันหัน โดยไม่ทันได้ร่ำลา ย่อมสร้างความทุกข์แก่ผู้ที่ยังอยู่  ยิ่งการจากไปนั้นเกิดจากภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ที่ล่วงลับ ก็ยิ่งสร้างความเศร้าโศกเสียใจและห่วงกังวลแก่ผู้ที่ยังอยู่  การที่ได้ประกอบพิธีทางศาสนาหรือทำอะไรให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปตามความเชื่อทางศาสนา เช่น ถ้าเป็นชาวพุทธก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ จะช่วยลดความเศร้าโศกเสียใจและห่วงหาอาลัยไปได้มาก เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มั่นใจและสบายใจว่าได้มีส่วนช่วยให้เขาไปประสบสุขในสัมปรายภพ  นอกจากนั้นยังอาจช่วยลดความรู้สึกผิดสำหรับผู้ที่สูญเสียคนรักต่อหน้าต่อตาโดยช่วยอะไรไม่ได้ หรือรู้สึกผิดที่มีส่วนชักนำให้ไปอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ

การอุทิศส่วนกุศลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใส่บาตร ถวายสังฆทาน บริจาคสิ่งของเช่นอาหารแก่ผู้ยากไร้ มอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน พิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทาน หรืออุปสมบท ปฏิบัติธรรม เป็นต้น  โดยหลังจากได้ทำกิจอันเป็นบุญกุศลแล้ว ให้น้อมจิตอุทิศบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแก่ผู้ที่จากไป โดยอาจมีการกรวดน้ำด้วยก็ได้

สำหรับญาติมิตร: ควรช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยได้ประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของเขา หรือแนะนำชักชวนให้ผู้ประสบภัยทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับอย่างสอดคล้องกับความเชื่อของเขา เช่น บางคนอาจนิยมทำบุญด้วยการสงเคราะห์คนยากจนมากกว่าการทำตามประเพณีทั่วๆ ไป  การที่ญาติมิตรได้ไปประกอบพิธีหรือทำบุญร่วมกับเขา นอกจากจะช่วยให้เขาอุ่นใจแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกดีที่พบว่าคนรักของตนแม้จะล่วงลับไปแล้วแต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากระลึกนึกถึงอยู่

๕. ปรับตัวเข้ากับชีวิตที่แปรเปลี่ยน

สำหรับผู้ประสบภัย: บุคคลที่เรารักหรือสิ่งที่เราหวงแหน ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของเรา แต่มาวันนี้ไม่มีบุคคลผู้นั้นหรือสิ่งนั้นอีกต่อไป นั่นหมายความว่าชีวิตที่เราคุ้นเคยนั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว  ชีวิตที่ไม่มีเขาหรือสิ่งนั้นคือชีวิตใหม่ในปัจจุบันที่เราต้องทำความคุ้นเคยและปรับตัว  การปรับตัวนอกจากจะหมายถึงการทำใจแล้ว ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการปรับบทบาทเสียใหม่ เช่น หากผู้สูญเสียเป็นพ่อ  แม่ที่ยังอยู่ก็อาจต้องทำหน้าที่เหมือนพ่อด้วย  หากผู้สูญเสียเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว  ผู้ที่ยังอยู่ก็ต้องหันมาประกอบอาชีพหรือเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น  หากสูญเสียอวัยวะจนพิการ ก็จำต้องเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่อย่างดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของร่างกาย

ไม่ว่าการปรับตัวนี้จะยากลำบากเพียงใด ก็ขอให้มั่นใจว่าไม่มีอะไรที่ยากเกินวิสัยของเรา  และการปรับตัวนั้นจะได้ผลดีอย่างแท้จริงและยั่งยืนก็ต่อเมื่อเราเองมีบทบาทในการคิด วางแผน และตัดสินใจด้วยตนเอง โดยที่ผู้อื่นเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือสนับสนุน

สำหรับญาติมิตร: โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะสูญเสียเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่สิ่งอื่นๆ ยังดำรงอยู่ เช่น สูญเสียคนรัก แต่ยังมีบ้านเรือนและทรัพย์สินเงินทอง หรือสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง แต่คนในครอบครัวยังอยู่ครบ  การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่แม้จะยาก แต่ก็ไม่ยากเท่ากับการที่ต้องสูญเสียทุกอย่าง ทั้งคนรัก บ้านเรือน ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องมือประกอบอาชีพ ดังที่เกิดกับผู้คนเป็นอันมากจากมหันตภัยครั้งนี้  ในภาวะที่ต้องฟื้นฟูทุกอย่างจากสภาพที่เกือบเป็นศูนย์ การช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น ญาติมิตร ชุมชน หรือหน่วยราชการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ญาติมิตรอาจเริ่มต้นด้วยการช่วยเหลือปัญหาเฉพาะหน้าแม้จะดูเล็กน้อยก็ตาม เช่น ช่วยหุงข้าว ทำความสะอาดบ้าน ดูแลเด็กๆ ไปจนถึงการช่วยสร้างบ้านเรือน แนะนำอาชีพใหม่ หรือแนะนำแหล่งช่วยเหลือที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือจะต้องไม่ทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการพึ่งตนเอง จนต้องพึ่งพาภายนอกสถานเดียว  ต้องไม่ลืมว่าการปรับตัวเข้ากับชีวิตที่เปลี่ยนไปนั้น บุคคลที่สำคัญที่สุดในกระบวนการดังกล่าวก็คือตัวผู้ประสบภัยนั้นเอง  ดังนั้นการที่ผู้ประสบภัยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดวิถีชีวิตของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะทำโดยตรงหรือโดยผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชน  ญาติมิตรตลอดจนบุคคลภายนอกไม่ควรยัดเยียดทางออกให้แก่เขาหรือตัดสินให้เขาแม้จะมีความหวังดีเพียงใดก็ตาม และไม่ควรให้คำมั่นสัญญาในสิ่งที่ตนไม่มั่นใจว่าจะทำได้

๖. ดูแลรักษาสุขภาพและพักผ่อนให้พอเพียง

สำหรับผู้ประสบภัย: ใจและกายนั้นสัมพันธ์กัน  หากใจเป็นทุกข์ก็อาจฉุดให้ร่างกายเจ็บป่วยได้  ขณะเดียวกันร่างกายที่เจ็บป่วยก็ยิ่งทำให้จิตใจยิ่งอ่อนแอและเป็นทุกข์ได้ง่าย  ตรงกันข้ามกับร่างกายที่แข็งแรง สดชื่นแจ่มใส ก็อาจช่วยฟื้นฟูจิตใจให้ดีขึ้นได้  ดังนั้นจึงควรที่จะดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เช่น พักผ่อนให้พอเพียง ไม่อดหลับอดนอน กินอาหารถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

สำหรับญาติมิตร: ควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพกายของผู้ประสบภัยด้วย เช่น ชักชวนให้ไปออกกำลังกายด้วยกัน ทำอาหารให้กินหรือซื้ออาหารมาให้หากผู้สูญเสียไม่มีกะจิตกะใจจะดูแลตนเองในเรื่องนี้

๗. เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาตน

สำหรับผู้ประสบภัย: ความทุกข์หรือความสูญเสียนั้นมิได้มีแต่โทษอย่างเดียว หากยังมีคุณด้วย กล่าวคือช่วยให้ผู้ที่ปรับตัวผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น สามารถอดทนต่อความสูญเสียพลัดพรากได้มากขึ้น โดยเฉพาะความสูญเสียพลัดพรากที่มีความรุนแรงน้อยกว่าที่เคยประสบ  และมีความเห็นอกเห็นใจในผู้ที่ประสบความสูญเสียอย่างเดียวกับตน  อีกทั้งยังมีบทเรียนหรือความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น เช่น เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิตและโลก ตระหนักว่าความสูญเสียพลัดพรากและความตายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาโดยไม่อาจคาดการณ์ได้  ผู้ที่มีความตระหนักเช่นนี้ย่อมเห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หมั่นสร้างคุณงามความดีหรือบุญกุศลขณะที่ยังมีโอกาสอยู่  ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยวางมากขึ้น ไม่ยึดติดหรือสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งต่างๆ จะมีความคงทนยั่งยืน  ในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนามีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่บรรลุธรรมหลังจากประสบกับความพลัดพรากสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เช่น นางกีสาโคตมีซึ่งสูญเสียลูกน้อย หรือนางปฏาจาราซึ่งสูญเสียสามี ลูกทั้งสองคน รวมทั้งพ่อแม่และน้องชาย ตลอดจนบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มี  ทั้งสองท่านเป็นทุกข์จนถึงกับคลุ้มคลั่ง หากต่อมาได้สติ เกิดระลึกได้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตและสรรพสิ่ง เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเข้าใจสัจธรรม จนหลุดพ้นจากความทุกข์ในที่สุด

ผู้ที่ประสบการสูญเสียพลัดพรากล้วนมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาทางจิตใจเพื่อมีชีวิตที่เป็นสุขมากขึ้นในโลกที่ผันผวนแปรปรวนแปรเป็นนิจ  อย่างไรก็ตามการที่ผู้ประสบภัยจะเข้าถึงสภาวะดังกล่าวได้ ต้องอาศัยเวลาและการชี้แนะที่เหมาะสม รวมทั้งการใคร่ครวญชีวิตจิตใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง โดยอาศัยการทำสมาธิภาวนาหรือการปฏิบัติตามแนวทางศาสนาของตน

สำหรับญาติมิตร: ควรแนะนำผู้ประสบภัยให้ได้รับรู้หรือรับฟังคติธรรมตามความเชื่อทางศาสนาของเขา เช่น หาหนังสือหรือเทปธรรมะมาให้ แนะนำสถานที่ปฏิบัติธรรม หรือพูดให้ฟัง เป็นต้น  คติธรรมหรือสื่อธรรมดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้เขายอมรับความจริงได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยให้เขาแปรเปลี่ยนประสบการณ์อันเลวร้ายให้กลายเป็นประโยชน์ เช่น ทำให้เห็นสัจธรรมความจริงของชีวิต เกิดปัญญา เมตตา ศรัทธา และความไม่ประมาท เท่ากับว่าได้ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นกว่าเดิม  อย่างไรก็ตามพึงพิจารณาโอกาสที่เหมาะสมหรือเมื่อเขาพร้อมจะรับฟัง  ที่สำคัญก็คือไม่ควรยัดเยียดอะไรให้แก่เขาแม้จะเป็นสิ่งที่เราถือว่าประเสริฐที่สุดก็ตาม  พึงตระหนักว่าความเข้าใจอย่างลึกซึ้งนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการสั่งสอนหรือการยัดเยียดความเห็นลงไป แต่ต้องเกิดจากความพิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา