เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปีที่ทั่วโลกมีการทำสงครามรบพุ่งโดยมีสาเหตุจากลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง เช่น ระหว่างประชาธิปไตยกับราชาธิปไตย ชาตินิยมกับจักรวรรดินิยม เสรีนิยมกับนาซี และเสรีนิยม-ทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ แต่ในปัจจุบันศาสนาและเชื้อชาติที่ต่างกันได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญของสงครามไม่ว่าภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามการก่อการร้ายที่แพร่ขยายไปทั่วโลกก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอย่างสำคัญ
ความจริงแล้วความแตกต่างทางศาสนามิใช่สาเหตุของสงครามหรือความรุนแรงโดยตรง สาเหตุที่สำคัญก็คือความอยุติธรรมหรือการรังเกียจเดียดฉันท์เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ แต่เนื่องจากเชื้อชาติมักจะผูกกับศาสนา ความรังเกียจทางเชื้อชาติ จึงมักนำไปสู่ความรังเกียจทางศาสนา ขณะเดียวกันเมื่อมีการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากความอยุติธรรม ฝ่ายที่ลุกขึ้นสู้ก็มักจะอาศัยศาสนาเป็นข้ออ้างเพื่อปลุกเร้าให้คนอื่นลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วย ดังเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในตะวันออกกลาง
อันที่จริงศาสนาแต่ละศาสนา (ที่เป็นศาสนาใหญ่ๆ ในปัจจุบัน) ไม่นิยมความรุนแรง แต่บ่อยครั้งศาสนิกหรือแม้แต่ผู้นำศาสนิกเองก็ถลำเข้าไปในความขัดแย้งโดยเชื่อว่าเป็นเรื่องศาสนา ผลก็คือมีการปลุกเร้าศรัทธาทางศาสนาเพื่อผลักดันให้ผู้คนไปทำร้ายผู้อื่น แม้จะต้องพลีชีพก็ตาม กลายเป็นว่าปัจจุบันศาสนาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนยอมตายเพื่อฆ่าผู้อื่น ทั้งๆ ที่ศาสนาควรจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนยอมตายเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่นมากกว่า ดังที่ศาสดาทั้งหลายในอดีตได้แสดงตนเป็นแบบอย่าง
การที่ศาสนาถูกโยงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความรุนแรง จึงเป็นความผิดพลาดของศาสนิกชนเอง ที่ยอมปล่อยให้ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ใช้ความรุนแรง (ถ้ามิใช่เป็นคนลงมือใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเสียเอง) ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เชื่อว่าศาสนาคือสันติธรรม จึงไม่ควรนิ่งเฉย หากควรพยายามดึงศาสนาของตนออกมาจากความรุนแรง มิใช่ด้วยการเทศนาสั่งสอนเท่านั้น แต่ควรรวมถึงการลงมือสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง โดยอาศัยศาสนาเป็นแรงบันดาลใจ โดยจะต้องเป็นปฏิบัติการที่อาศัยความกล้าและความเสียสละไม่น้อยว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงโดยได้แรงบันดาลใจจากศรัทธาทางศาสนา
พุทธิกา ฉบับนี้ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมเพื่อสร้างสันติภาพและความยุติธรรม ขณะเดียวกันก็นำเสนอกรณีตัวอย่างของผู้ที่สูญเสียคนรักแต่สามารถให้อภัยฆาตกรได้เพราะศรัทธาในศาสนา อย่างน้อยก็ช่วยให้เห็นว่าชาวมุสลิมนั้นมิได้นิยมความรุนแรงเสมอไป ผู้ที่พร้อมจะรักและให้อภัยก็มีอยู่ไม่น้อย
เดือนตุลาคมนี้ครบรอบ ๒ ปีกรณีตากใบซึ่งมีคนตายกว่า ๘๐ คน แต่ที่สะเทือนใจยิ่งกว่าก็คือเหตุการณ์เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว นั่นคือเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ทั้ง ๒ เหตุการณ์ควรเป็นโอกาสที่เราจะรำลึกและใคร่ครวญอย่างมีสติ เพื่อเห็นโทษของความรุนแรงและความโกรธเกลียด ขณะเดียวกันก็ควรร่วมกันนำความรักและขันติธรรมออกมาจากจิตใจของแต่ละคน เพื่อขับไล่ความมืดมนอันเนื่องจากความโกรธเกลียดให้ออกไปจากสังคมไทย
ไม่มีอะไรที่สำคัญกว่านี้แล้วในยามที่บ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และลุกเป็นไฟในจิตใจของผู้ที่ชอบและชังนายกฯ ทักษิณอยู่ในขณะนี้
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่