เดือนพฤษภาคมปีนี้ สวนโมกขพลารามจะมีอายุครบ ๗๖ ปี เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยของไทย ต่างกันแต่ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นได้สะดุดขาดตอนอยู่เป็นระยะๆ ขณะที่สวนโมกข์มีความสืบเนื่องมาโดยตลอด แม้จะสิ้นท่านอาจารย์พุทธทาสมาร่วม ๑๕ ปีแล้วก็ตาม
สวนโมกข์เป็นหลักฐานแห่งความใฝ่ฝันของพระบ้านนอกวัยหนุ่มรูปหนึ่งที่มุ่งปฏิรูปพระพุทธศาสนา ด้วยการคืนสู่รากเหง้า ทั้งในแง่ของการกลับสู่คำสอนดั้งเดิมตามพุทธพจน์ที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และในแง่ของการกลับมาสู่การเรียนรู้ด้านในของตนเอง จนกระจ่างแจ้งในหลักธรรมขั้นปรมัตถ์ ชนิดที่ไปพ้นอำนาจของ “ตัวกู ของกู” การค้นพบดังกล่าวนี้เองได้เป็นพลังสำคัญในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในยุคสมัยของเรา ชนิดที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
แม้สิ้นท่านอาจารย์พุทธทาสไปแล้ว แต่ภารกิจในการปฏิรูปพระพุทธศาสนายังไม่แล้วเสร็จ ถึงแม้ว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรมของชาวพุทธไทยโดยเฉพาะในฝ่ายฆราวาสจะมีความเจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ ขณะที่หนังสือและอุปกรณ์ส่งเสริมธรรมก็เพิ่มขึ้นมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เมื่อมองในภาพรวมของสังคมแล้ว ไม่มียุคใดที่ “กิน กาม เกียรติ” รวมทั้ง “โกรธ เกลียด กลัว” จะเฟื่องฟูเท่ายุคนี้ ทั้งหมดนี้มาในนามของการพัฒนาและความก้าวหน้า โดยมีกระแสโลกาภิวัตน์หนุนเนื่องสนับสนุนอย่างไม่ขาดสาย
ในสภาพเช่นนี้ สวนโมกข์จะมีบทบาทอย่างไรในฐานที่ถูกก่อตั้งด้วยจุดหมายเพื่อเป็น “กำลังแห่งความหลุดพ้น” คำถามดังกล่าว ส่วนหนึ่งมีคำตอบแล้วจากสองบทความซึ่งตีพิมพ์ใน พุทธิกา ฉบับนี้ ทั้งสองบทได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ ร้อยใจฟื้นไทยให้คืนธรรม ซึ่งจัดทำในโอกาส ๑๐๑ ปีท่านอาจารยพุทธทาส และ ๗๕ ปีสวนโมกข์ แต่เพื่อให้แพร่หลายยิ่งขึ้น จึงนำมาตีพิมพ์ซ้ำในที่นี้
สาระของทั้งสองบทความ ไม่ได้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับสวนโมกข์เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อองค์กรชาวพุทธโดยรวม อีกทั้งยังจะเป็นแนวทางสำหรับชาวพุทธในการเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างรู้เท่าทัน และใช้ให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นฟูพระศาสนาและเสริมสร้างสันติธรรมขึ้นในโลกนี้อย่างสมสมัย
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่