เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 39

พระไพศาล วิสาโล 1 กรกฎาคม 2010

เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ก่อความสูญเสียทั้งชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สิน อย่างประมาณค่ามิได้   สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลทางจิตใจแก่ผู้คนทั้งประเทศ ไม่ว่าสังกัดฝ่ายใดในคู่ขัดแย้ง  ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำจากอีกฝ่าย จึงยิ่งรู้สึกโกรธแค้นชิงชัง และทำให้ความแตกแยกของคนในชาติร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม

ประเทศไทยต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน  นอกจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการเยียวยาร่างกายของผู้ได้รับบาดเจ็บ  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการเยียวยาจิตใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่จำกัดว่าเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เนื่องจากทุกฝ่ายต่างตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งสิ้น  ตราบใดที่จิตใจไม่ได้รับการเยียวยา  ความทุกข์จะไม่เพียงดำรงอยู่ในระดับบุคคลเท่านั้น หากยังทำให้ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคนในชาติยากแก่การแก้ไข

การเยียวยานั้นสามารถทำได้ในหลายระดับหลายวิธี  วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ทันทีและควรทำอย่างเร่งด่วน คือ การเปิดโอกาสหรือสร้างพื้นที่ให้ผู้สูญเสียได้เล่าความทุกข์หรือระบายคับแค้นใจของเขา  ผู้เจ็บปวดนั้นย่อมรู้สึกดีขึ้นเมื่อรู้ว่ามีคนเข้าใจความทุกข์หรือความรู้สึกของเขา  เพราะเหนืออื่นใดมนุษย์เราต้องการความเข้าใจ โดยเฉพาะความเข้าใจในระดับความรู้สึก  แม้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข  หากเพียงแค่มีคนเข้าใจความรู้สึกของเขา ก็ช่วยให้เกิดการคลี่คลายในทางอารมณ์และลดทอนความทุกข์ไปได้ไม่น้อย

บุคคลที่ปรารถนาผู้รับฟังฉันมิตรนั้นมีอยู่มากมายทั้งในเมืองและในชนบท  กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่อยู่ในฐานะที่จะเล่าเรื่องราวของเขาหรือระบายความทุกข์ของตนแก่ผู้อื่นได้ เนื่องจากเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมหรือสื่อมวลชน  หาไม่ก็ตกเป็น “จำเลย”ของสังคมเนื่องจากยืนอยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาล จึงต้องเก็บความรู้สึกไว้ในใจ ซึ่งมีแต่จะทำให้อารมณ์สั่งสมจนเกิดผลร้ายต่อตนเองและก่อผลเสียแก่สังคมในระยะยาวดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการระดมอาสาสมัครไปเป็นเพื่อนรับฟังความทุกข์ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไม่จำกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเยียวยาจิตใจของผู้ที่สูญเสียเจ็บปวดจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว  ยังเป็นประโยชน์ต่ออาสาสมัครเองด้วย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจในบุคคลที่ตนเองไปเยี่ยมเยียน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้และมีสภาพหรือสถานะแตกต่างจากอาสาสมัคร  ในยามที่บ้านเมืองแบ่งเป็นฝักฝ่ายด้วยเหตุผลทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างตีตราปิดฉลากให้แก่กันและกัน จนเกิดอคติแน่นหนานั้น  การเข้าไปรู้จักกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ หรือสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลต่อบุคคล  แทนที่จะเห็นผ่านสื่อหรือผ่านฉลากที่ประทับให้แก่กัน เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะช่วยลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน  ก่อให้เกิดความเข้าใจกัน ซึ่งในที่สุดจะช่วยลดช่องว่างทางทัศนคติซึ่งปัจจุบันขยายกว้างขึ้นอย่างน่าวิตก

อย่างไรก็ตามการเยียวยาที่ให้ผลอย่างยั่งยืน ที่จะนำไปสู่การปรองดองในสังคมไทยอย่างแท้จริงก็คือการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคม  หากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง  ความขัดแย้งที่ลุกลามไปสู่ความแตกแยกก็จะต้องเกิดขึ้นไม่รู้จบ ซึ่งในที่สุดย่อมประทุเป็นความรุนแรง

จดหมายข่าวพุทธิกาฉบับนี้เป็นการมองไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาทางออกสำหรับสังคมไทยในการหลุดพ้นจากกับดักแห่งความรุนแรง  หวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านเกิดความหวังและช่วยกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา