ผู้คนส่วนใหญ่มักอยากให้ชีวิตยืนยาว แต่ชีวิตมิใช่เส้นตรง หากยังมีมิติอื่นๆ ด้วย หากเปรียบชีวิตดังกระแสน้ำ ชีวิตก็ต้องมีอย่างน้อยสามมิติ คือ ยาว กว้าง และลึก ดังนั้นการมีอายุยืนยาวจึงไม่ช่วยให้ชีวิตสมบูรณ์ แต่จะต้องมีความกว้างด้วย นั่นคือ มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์รู้สึกเชื่อมโยงกับสรรพชีวิต และรับผิดชอบส่วนรวม ชีวิตที่ยืนยาวแต่ใจแคบจิตเล็ก คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่อาทรเพื่อนมนุษย์ หรือไม่สนใจส่วนรวมเลย ย่อมเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ได้
แต่นอกเหนือจากความกว้างแล้ว ชีวิตที่ดีต้องมีความลึกด้วย นั่นคือมีความลุ่มลึกในจิตใจ สามารถหยั่งถึงความสุขภายใน รวมทั้งประจักษ์แจ้งถึงความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ ความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ความจริงดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุดของมนุษย์ ที่ยากจะหยั่งถึงได้หากขาดการใคร่ครวญด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้ง โดยปราศจากอคติและด้วยใจที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ตราบใดที่มองไม่เห็นความจริงดังกล่าว เราก็จะถูกครอบงำด้วยความหลงและเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตน หวงแหนในตัวตนและเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง ผลก็คือจิตใจคับแคบ
ชีวิตตื้นเขิน แม้จะมีชีวิตยืนยาวแต่ก็หาประโยชน์มิได้ กลับสร้างปัญหามากมายให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
ชีวิตลุ่มลึกได้ก็เพราะมีปัญญาฉันใด จิตใจกว้างขวางได้ก็เพราะมีเมตตาฉันนั้น ปัญญาและเมตตาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายที่ปัญญาและเมตตาจะบังเกิดขึ้นมาในใจ เพราะทุกวันนี้รอบตัวล้วนอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งความโกรธ เกลียด กลัว ระคนด้วยสิ่งยั่วยุให้หมกหมุ่นใน กิน กาม เกียรติ ในยามนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติ หาไม่ก็จะถูกอกุศลทั้ง ๖ ก.นั้นครอบงำจิตใจ
กิน กาม เกียรตินั้น เป็นปัญหาของสังคมไทยมานานแล้วนับแต่กระแสบริโภคนิยมไหลบ่า แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลัง โกรธ เกลียด กลัว ได้ปกคลุมจิตใจของผู้คนมากขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและแตกแยกอย่างรุนแรงจนพร้อมจะห้ำหั่นทำร้ายกัน อย่างน้อยก็ด้วยวาจา โดยไม่สนใจเหตุผลและความถูกต้อง (หาไม่ก็เอาความถูกต้องมาผูกติดกับตัวเองหรือพวกของตัว ดังนั้นใครที่คิดหรือทำต่างจากตน ก็กลายเป็นผิดไปหมด หรือหนักกว่านั้นคือ อะไรที่ตนหรือพวกตนทำ ย่อมถูกต้อง แต่หากสิ่งเดียวกันนั้นกระทำโดยผู้อื่นหรือพวกอื่น ย่อมกลายเป็นผิดไปหมด)
หากไม่ชอบใคร ก็อย่าเอาผู้นั้นเป็นครู หรือเลียนแบบการกระทำของเขา ถึงเขาจะด่าเราอย่างเสียๆ หายๆ นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะด่ากลับ ท่านอาจารย์พุทธทาสเตือนใจได้ดีมากเมื่อท่านพูดว่า หมาเห่า อย่าเห่าตอบ เพราะจะทำให้มีหมาเพิ่มอีกหนึ่งตัว
ถึงจะไม่ชอบใคร ก็อย่าเหมารวมว่าเขาผิดหรือเลว และถึงแม้เขาจะทำผิด ก็อย่าลืมว่าเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนเรา รวมทั้งมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่เราไม่อาจละเมิดได้ เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิต เราจึงไม่ควรมองเขาเป็นปีศาจหรือตัวเลวร้ายที่เราจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ ความคิดว่า “คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์” ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อผู้อื่นเท่านั้น หากยังเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง เพราะมันสามารถกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ในตัวเรา ทำให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตใจ จนสามารถทำสิ่งเลวร้ายหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำอันเลวร้ายได้ ซึ่งในที่สุดย่อมนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ดังที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ไล่มาจนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าคือเครื่องบ่งชี้ถึงความพิกลพิการบางอย่างในสังคมไทย มันมิใช่ความพิกลพิการในทางโครงสร้างอันจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงความพิกลพิการทางจิตสำนึกหรือทางวัฒนธรรม ที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน
สังคมไทยต้องการการปรับเปลี่ยนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ด้วยวิธีนี้เท่านั้นสังคมไทยจึงจะมีอนาคตที่ยืนยาวได้
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่