กลางเดือนนี้ผู้เขียนมีโอกาสไปฟังธรรมจากท่านทะไลลามะที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย การแสดงธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการนิมนต์ของกลุ่มคนไทย ซึ่งท่านได้ให้เมตตาอย่างมาก นอกจากแสดงธรรมภาคเช้าแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ชาวไทยได้เข้าเฝ้าและซักถามท่าน โดยท่านได้ตอบอย่างเป็นกันเองมาก
ในการแสดงธรรมทั้งเช้าและบ่าย ประเด็นหนึ่งที่ท่านเน้นมากได้แก่ เมตตากรุณา ทั้งในฐานะที่เป็นหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา และคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ทั้งโลก ท่านได้ชี้ว่าเมื่อเรามีเมตตากรุณาต่อใครก็ตาม มิใช่ผู้อื่นเท่านั้นที่มีความสุข เราเองก็พลอยมีความสุข จิตใจเยือกเย็นไปด้วย แต่ท่านไม่ได้พูดเพียงเท่านั้น หากยังพาเราพิจารณาให้มองลึกต่อไปด้วยว่า เมตตากรุณานั้นเกิดขึ้นได้ยากหากผู้คนมีความยึดติด เพราะเมื่อใดที่มีความยึดติด ก็เกิดความหวงแหน และนำไปสู่ความโกรธเกลียดเมื่อมีใครมากระทบกับสิ่งที่ตนหวงแหน
ท่านยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมตตากรุณากับอนัตตาด้วย เราจะมีเมตตาได้มากเมื่อความเห็นแก่ตัวน้อย ยิ่งเห็นถึงขั้นว่า “ตัวฉัน”นั้นไม่มีอยู่จริง ก็จะยิ่งมีเมตตาอย่างไม่มีประมาณ เพราะจะไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย หลักธรมเรื่องอนัตตายังเป็นปฏิปักษ์กับความโกรธเกลียดอีกด้วย คนเราเมื่อโกรธใครก็ตามก็มักเห็นว่าเขาเป็นคนเลว และเมื่อเห็นเช่นนั้นก็ทำให้โกรธมากขึ้น แต่หากเรามองทะลุหรือข้ามพ้นความเป็นตัวเขา ก็จะเห็นทั้งความดีและความไม่ดีในตัวเขา ไม่เห็นเขาเป็นคนเลวร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป การเห็นความดีของเขาทำให้เราคลายความโกรธ และมีกรุณามาแทนที่
การมีปัญญาเห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหรืออิทัปปัจจยตา ก็ทำให้เรามีเมตตากรุณาต่อกันได้มากขึ้น เพราะเราจะพบว่าความสุขของเรานั้นแยกไม่ออกจากความสุขของผู้อื่น เมื่อผู้อื่นมีความสุขเราก็พลอยมีความสุขด้วย ดังนั้นถ้าเราอยากมีความสุข ก็ควรช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขด้วย อย่างน้อยก็ไม่เบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์แก่เขา
ท่านยังแนะให้เรามีเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ ไม่ว่าคนใกล้หรือไกล แต่ก็ชี้ด้วยว่าความยึดติดหลงใหลในคนใกล้ (พูดอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ ความยึดติดถือมั่นว่าเป็น “ของกู”) ย่อมทำให้เรายากจะมีเมตตากรุณาต่อคนไกลได้ ท่านจึงแนะให้เราลดความยึดติดในคนใกล้ เพื่อใจเราจะได้เปิดกว้างและมีเมตตาต่อผู้อื่นได้อย่างแท้จริง
คราวหนึ่งมีสาวชาวอังกฤษมาบวชเป็นสามเณรีธิเบต เธอมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรมมาก เมื่อได้พบท่านทะไลลามะ เธอถามท่านว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงธรรมได้อย่างสมบูรณ์ เธอคิดว่าท่านจะให้คำแนะนำที่ลึกซึ้ง แต่ท่านกลับตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “Be good and be very kind.”
คำตอบของท่านสั้นและง่ายก็จริง แต่อย่าดูแคลนว่าเป็นสิ่งผิวเผิน เพราะหากจะทำให้ได้อย่างนั้นก็ต้องกล้าล้วงลึกไปถึงอัตตาตัวตน จนเห็นว่า “ตัวกู”นั้นไม่มีจริง หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้เท่าทันกิเลสภายใน จึงจะมีเมตตากรุณาได้อย่างแท้จริง แต่หากไม่ทำอย่างนั้น ก็ยากที่จะมีเมตตากรุณาได้ และหากขาดเมตตากรุณาแล้ว ความเป็นศาสนิกชนจะมีความหมายอะไร
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่