อยากดัง ฟังทางนี้

พระไพศาล วิสาโล 16 มกราคม 2011

จอห์น เลนนอน นักร้องชื่อก้องโลก ถูกยิงจนถึงแก่ชีวิตหน้าอพาร์ทเมนท์ของเขาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว มาร์ค แช็ปแมน วัยรุ่นที่สังหารเลนนอนมิได้มีเรื่องโกรธเคืองเขาแม้แต่น้อย ที่จริงแช็ปแมนเป็นแฟนเพลงของเลนนอนด้วยซ้ำ แต่ที่เขาก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนั้นก็เพราะ “ผมรู้สึกว่า ถ้าได้ฆ่าจอห์น เลนนอน ผมจะกลายเป็น somebody”

การฆ่าใครสักคนเพียงเพราะอยากมีชื่อเสียงนั้น เป็นการกระทำที่ดูไร้เหตุผลอย่างยิ่งในความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะนอกจากทำให้คนคนหนึ่งต้องสิ้นชีวิตทั้งๆ ที่มิได้ทำผิดใดๆ แล้วยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนนานัปการมาสู่เจ้าตัว อาจถึงขั้นถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำ  แต่สำหรับแช็ปแมนแล้วการเจอโทษทัณฑ์เหล่านั้นอาจจะดีเสียกว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยเป็นแค่ nobody เพราะการอยู่โดยไร้คนรู้จัก หรือไม่อยู่ในสายตาของใครเลยนั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการตายทั้งเป็น สู้อยู่ในคุกถูกตีตรวนแต่เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกไม่ได้  อันที่จริงก่อนหน้านั้นเขาเคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว ล้มเหลวทั้งด้านครอบครัว การศึกษา อาชีพการงาน แม้แต่จะฆ่าตัวตายก็ยังล้มเหลว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความรู้สึกไร้คุณค่าในตนเองจะรบกวนจิตใจเขามากเพียงใด

ภาพวาด จอห์น เลนนอน

มิใช่มีแต่แช็ปแมนคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตนมีชื่อเสียง หลังจากแช็ปแมนแล้ว ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งถูกจับได้ในสหรัฐอเมริกา เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมจะต้องฆ่าคนสักกี่คนถึงจะมีชื่อในหนังสือพิมพ์หรือได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ” เขาบ่นว่ากว่าจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเขาก็ต้องลงมือฆ่าไปแล้วหกคน

คนที่สังหารผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะอยากมีชื่อเสียงนั้น ย่อมอยู่ในข่ายเป็นโรคจิตเพราะขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเพียงคนโรคจิตเท่านั้นที่ยอมทำสารพัดสิ่งเพื่อเป็น somebody ในโลกทุกวันนี้มีคนมากมายที่พร้อมจะทำอะไรต่ออะไรเพื่อให้ตนเป็นที่รู้จัก จะว่าไปแล้วความอยากเป็น somebody ล้วนมีอยู่ในทุกคน เพราะเป็นธรรมชาติของอัตตาที่ต้องการประกาศตัวตนให้ใครๆ รับรู้ ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกแรงขับชนิดนี้ว่า “ปมเขื่อง”

ปมเขื่องทำให้ผู้คนมีความรู้สึกอยากโดดเด่นเหนือผู้อื่น แต่หากตัวเองอยู่ในสถานะที่ต่ำต้อย ถูกบดบังหรืออยู่ใต้เงาของผู้อื่น หรือยิ่งกว่านั้นคือไม่เป็นที่สนใจของใครเลย อัตตาย่อมทนไม่ได้ มันย่อมพยายามทำทุกอย่างเพื่อแสดงตัวตนให้ปรากฏ หากใช้วิธีที่ถูกต้องหรือสังคมยอมรับแล้วไม่ได้ผล ก็พร้อมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากเด่นทางดีไม่ได้ ก็ต้องเด่นทางร้าย

สังคมทุกวันนี้ได้กระตุ้นแรงขับดังกล่าวให้รุนแรงขึ้น ในด้านหนึ่งวิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมันมากขึ้น สายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือในชุมชน ถูกบั่นทอนหรือถึงกับขาดสะบั้น ทำให้ผู้คนอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างมากขึ้น แม้อยู่ท่ามกลางฝูงชนในเมือง แต่ก็เหมือนอยู่ตัวคนเดียว  ยิ่งไม่มีสถานภาพหรือความสามารถอันโดดเด่นเป็นที่รู้จักแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกเสมือนว่าถูกกลืนหายไปในฝูงชนหรือเมืองใหญ่  สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเป็น nobody จึงมีความทุกข์ทรมานในจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

ในเวลาเดียวกันค่านิยมของสังคมที่ถูกขับเน้นผ่านสื่อนานาชนิด ก็ให้ความสำคัญอย่างมากแก่ความเป็นปัจเจกชน เช่น ความเป็นตัวของตัวเอง มีอัตลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร ใครที่เป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จในชีวิต ย่อมเป็นที่สรรเสริญ นับหน้าถือตา  ค่านิยมเช่นนี้ย่อมกระตุ้นปลุกเร้าปมเขื่องของผู้คน ทำให้ดิ้นรนขวนขวายที่จะโดดเด่นเหนือผู้อื่น แต่คนที่จะทำเช่นนั้นได้ มักเป็นคนส่วนน้อยเสมอ ขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเป็นผู้แพ้ ไร้คุณค่า รู้สึกเจ็บปวดเพราะปมเขื่องนั้นย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง

วิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน ยิ่งไม่มีสถานภาพหรือความสามารถอันโดดเด่นเป็นที่รู้จัก ก็ยิ่งรู้สึกเสมือนว่าถูกกลืนหายไปในฝูงชน

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ความรู้สึกเป็นผู้แพ้หรือรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น คงไม่ถึงกับผลักดันให้คนอย่างแช็ปแมนกลายเป็นฆาตกรทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่ตนตามมา  สิ่งที่กัดกินใจเขามากกว่านั้นก็คือความรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ เพราะไม่เป็นที่รู้จักของใคร  จริงอยู่เขาอาจมีพ่อแม่ ญาติมิตร แต่นั่นจะมีความหมายอะไรหากรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าในสายตาของคนเหล่านั้น  เมื่อไม่อยู่ในสายตาของใครเลย จะต่างอะไรกับการไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้

การเป็น nobody มิได้หมายถึงการเป็นคนเล็กคนน้อย ไร้คุณค่า ไม่เด่นไม่ดัง ถูกกลืนหายไปในฝูงชนเท่านั้น  ที่สุดของ nobody ก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ นั่นเป็นสิ่งที่อัตตาทนไม่ได้เลย เพราะมันเลวร้ายยิ่งกว่าความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นเสียอีก  จริงอยู่ความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวดอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยมันก็ยังให้ความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ในโลกนี้

มักพูดกันว่าสิ่งที่คนเรากลัวมากที่สุดคือความตาย แต่ถ้าพูดให้ถูกต้องแล้ว ความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนหรือตัวตนสูญหายไปต่างหาก ที่คนเรากลัวมากที่สุด  คนจำนวนไม่น้อยเดินหน้าเข้าหาความตายโดยไม่กลัว เพราะเชื่อว่าตัวตนยังคงสืบเนื่องต่อไป เช่น ได้ไปเกิดใหม่ในสวรรค์หรือโลกหน้า  แม้คนในยุคนี้เชื่อนรกสวรรค์น้อยลง แต่ก็ยังพร้อมสละชีวิตเพื่อชาติหรือเพื่ออุดมการณ์ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าชาติหรืออุดมการณ์เป็นตัวตนอย่างหนึ่งที่ตนยึดมั่นสำคัญหมายเท่านั้น แต่ยังเพราะเชื่อว่า แม้ตายก็ตายแต่ร่างกาย แต่ตัวตนยังสืบเนื่องต่อไป ในรูปชื่อเสียง มีเกียรติประวัติจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ หรือมีอนุสาวรีย์ให้ (ดังมีสำนวนว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง”)

การมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานต่อไปชั่วกัลปาวสานนั้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความเป็นอมตะ  ลองเฟลโลว์ กวีอเมริกัน สะท้อนทัศนะดังกล่าวอย่างชัดเจนเมื่อพูดถึงไมเคิลแองเจโลว่า “เขาจะตายได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่อย่างเป็นอมตะในหัวใจของผู้คน” แต่ก่อนที่จะเป็นอมตะ หรือเป็นที่กล่าวขานหลังหมดลม อย่างแรกที่ทุกคนปรารถนาก็คือมีชื่อเสียงตั้งแต่ยังมีลมหายใจอยู่ ไม่ใช่แค่เพราะอยากดังด้วยอำนาจของปมเขื่องเท่านั้น เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเป็นที่รู้จักของผู้คนนั้นเป็นเครื่องยืนยันว่า “ตัวกู” มีอยู่จริง

ทำไมเราต้องการสิ่งยืนยันว่า “ตัวกู” มีอยู่จริง ก็เพราะในส่วนลึกของจิตใจนั้น ผู้คนอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าตัวกูมีอยู่จริงหรือ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อธิบายแบบพุทธก็คือ แท้จริงแล้วตัวตนหามีจริงไม่ แต่เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น จนเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูอยู่ โดยยึดกายและใจว่าเป็น “ตัวกู ของกู” บ่อยครั้งก็ลามไปยึดสิ่งอื่นนอกตัว เช่น ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน วงศ์ตระกูล พวกพ้อง หรือแม้แต่ประเทศชาติ ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนลึกของจิตใจ ย่อมมีความสงสัยว่า อัตตาหรือ “ตัวกู” นั้นมีอยู่จริงหรือ เพราะความเป็นตัวกูนั้นแปรเปลี่ยนตลอดเวลา บางครั้งกูก็เป็นลูก แต่ประเดี๋ยวก็เป็นพ่อแม่และเป็นคนไทย บางครั้งกูเป็นชายชาติทหาร แต่ต่อมาก็กลายเป็นกูคนป่วย แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดที่ยึดว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ก็เปลี่ยนแปลงไม่คงที่  ความสงสัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่อัตตายอมรับไม่ได้ ด้านหนึ่งก็พยายามกดข่มเอาไว้ไม่ให้มารบกวนจิตใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็พยายามหาสิ่งต่างๆ มายืนยันว่า “ตัวกู” มีอยู่จริง หนึ่งในนั้นก็คือ การเป็นที่รู้จักของผู้คน

คนเราจะมั่นใจว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ หน้าตาสะสวย หรือหล่อเหลา ก็ต่อเมื่อมีผู้คนยืนยันหรือยกย่องสรรเสริญ ฉันใด เราจะมั่นใจว่า “ตัวกู” มีอยู่จริง ก็ต่อเมื่อมีผู้คนยืนยันหรือรู้จัก ฉันนั้น ยิ่งมีผู้คนยืนยันมากเท่าไร ก็ยิ่งมั่นใจมากเท่านั้น  ดังนั้นชื่อเสียงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของผู้คน โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นปัจเจกไร้หน้าค่าตาท่ามกลางฝูงชนนับล้าน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนในยุคนี้ต่างขวนขวายไล่ล่าหาชื่อเสียง พยายามทำทุกอย่างให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งมักหนีไม่พ้นการทำตนให้เป็นข่าว เป็นจุดสนใจของสื่อนานาชนิด รวมทั้งการแข่งขันกันเป็นดารา นักร้อง นางแบบ ไม่เว้นแม้แต่การเขียนชื่อตามกำแพงหรือสถานที่ท่องเที่ยวทั้งนี้เพื่อประกาศว่า “มีกูอยู่ในโลกนี้ด้วยนะ”

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ แรงขับส่วนลึกของผู้คนในยุคนี้ก็คือการประกาศตัวตนว่ามีกูอยู่ในโลกนี้ และเมื่อจะตายก็ปรารถนาให้คนข้างหลังไม่ลืมตน จะด้วยการทำอนุสาวรีย์ จารึกชื่อ ประกาศเกียรติคุณ หรือตั้งมูลนิธิก็แล้วแต่  ทหารคนหนึ่งเมื่อรู้ว่าตนต้องตายอย่างแน่นอน คำพูดสุดท้ายที่บอกเพื่อน มิใช่คำสั่งเสียหรือล่ำลา แต่เป็นการตอกย้ำว่า “ถ้าฉันตาย อย่าลืมฉันนะ” ในเมื่อจะตายแล้วทำไมจึงอยากให้คนอื่นจดจำตน นั่นก็เพราะตัวตนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะดำรงอยู่ต่อไปเป็นอมตะ ตราบใดที่ผู้คนยังจดจำตัวเองได้ ก็มีหวังว่าตัวตนจะเป็นอมตะ

แต่ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ สักวันหนึ่งเราทุกคนก็จะถูกลืม ไม่ใช่หลังตายเท่านั้น แม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงจะมีชื่อเสียงเพียงใด ไม่ช้าไม่นานผู้คนก็จะลืมเลือน เพราะมีคนอื่นที่ดังกว่ามาแทนที่ นี้คือธรรมดาโลก  แต่ถ้าหากเราเข้าถึงความจริงที่ยิ่งกว่านั้น นั่นคือตัวกูไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก ถึงจะไม่เด่นดัง ไม่มีใครรู้จัก เป็นแค่ nobody ก็หาเป็นทุกข์ไม่ เพราะในเมื่อไม่มีตัวกูผู้ทุกข์ แล้วจะมีใครล่ะที่เป็นทุกข์


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา