เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 43

พระไพศาล วิสาโล 1 กรกฎาคม 2011

เดือนกรกฎาคมนี้มีเหตุการณ์สองอย่างที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย คือ การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๓ กรกฎาคม และวันอาสาฬหบูชาในวันที่ ๑๕ กรกฎาคมซึ่งตามมาด้วยวันเข้าพรรษา

เหตุการณ์แรกนั้นเป็นเรื่องทางโลกและกำหนดชะตากรรมของประเทศ ส่วนเหตุการณ์หลังนั้นเป็นเรื่องทางศาสนาและมีคุณค่าในต่อชีวิตจิตใจของผู้คน

แต่มองให้ดีทั้งสองเหตุการณ์มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ เป็นโอกาสที่เราจะได้ปฏิบัติธรรมมากเป็นพิเศษ กล่าวคือ ก่อนไปคูหาเลือกตั้ง เราควรตั้งสติให้ดี ไม่หลงเชื่อคล้อยตามคำโฆษณาหาเสียงของนักการเมือง (ที่มักใช้ผลประโยชน์นานาชนิดมาหลอกล่อให้เรานิยมในพรรคของเขา หรือกระตุ้นความโกรธเกลียดเพื่อให้รู้สึกลบกับฝ่ายตรงข้าม) รวมทั้งไม่หลงเชื่อข่าวลือง่ายๆ แม้ว่าจะมาจากคนที่เรารู้จักหรือคุ้นเคย  ในสถานการณ์เช่นนี้เราพึงใช้หลักกาลามสูตร คือ ไม่เชื่อเพียงเพราะเป็นเสียงร่ำลือ หรือเพราะสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของเรา หรือเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา (หรือมีลักษณะน่าเชื่อถือ) แต่ควรใช้ปัญญาของตนพิจารณาและไตร่ตรองด้วยเหตุและผล และอาศัยข้อมูลอย่างรอบด้านเท่าที่จะเป็นไปได้

เป็นธรรมดาที่เราย่อมมีความชอบและชังในตัวบุคคล (และพรรค) ที่เสนอตัวให้เราเลือก แต่ก็อย่าให้ความชอบและชังนั้นบดบังวิจารณญาณของเรา จนเห็นว่าคนที่เราชอบนั้นดีพร้อมไร้ตำหนิ และมองว่าคนที่เราเกลียดนั้นเป็นเลวร้ายไร้ส่วนดี ขณะเดียวกันก็ไม่ควรคำนึงถึงแต่ประโยชน์ที่ตน (หรือกลุ่มของตน) จะได้รับจากนักการเมือง จนมองข้ามผลที่จะเกิดกับส่วนรวมหากเขาได้เป็นรัฐบาล

ที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร หากเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เราก็ควรยอมรับผลนั้น แม้จะไม่ถูกใจเราก็ตาม  การยอมรับความจริงที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรานั้น เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง  เพราะในชีวิตของเรานั้นย่อมมีทั้งสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ สมหวังและไม่สมหวัง  หากเราทำใจยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ได้ เราจะยอมรับความไม่สมหวังที่จะต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตของเราได้อย่างไร

การใช้สติปัญญา โดยไม่ถูกบดบังครอบงำด้วยความโกรธเกลียดหรือมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง  เช่นเดียวกับการหันมาดูใจของตนและใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ปล่อยใจไปตามความอยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอและพึงทำเป็นพิเศษในเทศกาลสำคัญอย่างวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา

ในโอกาสอย่างนี้ อะไรที่เราหลงติดและสร้างความทุกข์แก่เรา เช่น อบายมุขต่างๆ เราควรฝึกใจให้ปล่อยวาง ด้วยการลดละสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยก็ตลอดสามเดือนช่วงเข้าพรรษา นั่นเป็นเรื่องของศีล (และทาน) แต่หากทำได้มากกว่านั้น เช่น ทำสมาธิภาวนา ให้ใจสงบ มีสติ ก็จะช่วยให้เราพบความสุขอันประณีต จนสามารถเป็นอิสระจากสิ่งรัดรึงจิตใจได้

ในยามที่ผู้คนพากันหวาดกลัวภัยพิบัติ จนลืมไปว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าภัยพิบัติ คือ “ใจวิบัติ” การปฏิบัติธรรมด้วยการหมั่นทำสมาธิภาวนา โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา คือวิธีที่จะช่วยรักษาใจมิให้วิบัติ เป็นการเตรียมใจให้พร้อมรับภัยพิบัติที่ดียิ่งกว่าการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการไปสะเดาะเคราะห์แก้กรรมเสียอีก  อีกทั้งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการกักตุนเสบียง หรือการย้ายถิ่นฐานไปยังที่ปลอดภัยเสียอีก (เพราะไม่มีที่ใดในโลกที่จะช่วยให้เราปลอดพ้นจากความตายหรือแม้แต่ความเจ็บป่วยได้เลย)

สำหรับผู้ที่อยากรู้ว่าทำอย่างไรใจจะไม่วิบัติ บทความเรื่อง “สิ่งที่น่ากลัวกว่าภัยพิบัติ” ในพุทธิกาฉบับนี้สามารถให้คำตอบแก่ท่านได้ ส่วนบทความอื่นๆ นั้นก็น่าสนใจเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา