เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 48

พระไพศาล วิสาโล 1 ตุลาคม 2012

ข่าวน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้  ทำให้หลายคนหวนนึกถึงประสบการณ์อันเลวร้ายเมื่อปีที่แล้วจนอดกังวลใจไม่ได้ว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง ชวนให้นึกต่อไปถึงคำทำนายเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ผลก็คือ เกิดความตื่นตระหนกจนกระสับกระส่าย   การเตรียมตัวป้องกันภัยพิบัติอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ดี แสดงถึงความไม่ประมาท แต่ก็ไม่ควรถึงกับตื่นตระหนกจนไม่เป็นอันทำอะไร เพราะนอกจากจะทำให้ตนเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย  จะเป็นการดีกว่าหากเราตระหนักว่าอันตรายอาจเกิดขึ้นแล้วลุกขึ้นมาป้องกันหรือหาทางบรรเทาเหตุร้ายดังกล่าว โดยตั้งสติให้ดีแล้วใคร่ครวญด้วยปัญญา  ไม่ตื่นไปตามกระแส เพราะอาจตามกันไปสู่ความทุกข์ที่ยิ่งกว่าเดิมก็ได้

เมื่อเกิดไฟไหม้ในห้องประชุมหรือโรงหนัง  คนจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตไม่ใช่เพราะไฟหรือควัน แต่เพราะเหยียบกันตายด้วยความตื่นตระหนก  หาไม่ก็หลงวิ่งตามกันไปอย่างไม่คิดชีวิต  ผู้รู้เตือนว่า เวลาเห็นผู้คนแตกตื่นวิ่งกันไปเป็นขบวน ให้ตั้งสติไว้ อย่าเพิ่งวิ่งตามเขาไป รอดูอยู่สักพัก โดยยืนอยู่ข้างทาง  เพราะหากฝูงชนที่วิ่งไปก่อนนั้นเจอทางตัน ก็จะต้องวิ่งกลับมาทางเดิม หากเราวิ่งตามฝูงชนไป หรือยืนอยู่กลางทาง ก็อาจโดนฝูงชนเหยียบย่ำได้  ในทางตรงข้ามหากไม่มีฝูงชนวิ่งกลับมา แสดงว่าเขาเจอทางออกแล้ว เราก็ควรไปตามทางนั้น โอกาสที่จะรอดปลอดภัยก็มีมาก

คำแนะนำนี้ใช้ได้ดีกับภัยพิบัติอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าภัยธรรมชาติ หรือภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์  สิ่งสำคัญคือมีสติ อย่าวู่วาม หรือปล่อยให้ความตื่นตระหนกครอบงำใจ เพราะมันอาจทำให้เรามีพฤติกรรมไม่ต่างจากแมงเม่าที่พากันบินเข้ากองไฟ  ยิ่งมีเหตุร้ายเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนและไม่คาดฝัน ยิ่งจำเป็นต้องใช้ปัญญาให้มาก เพราะหากปล่อยให้อารมณ์นำหน้าแล้ว ก็ง่ายที่จะลงเอยด้วยความพินาศ

ความตื่นตระหนกกับภัยพิบัตินั้นเป็นเกลอกัน คือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ก็เกิดความตื่นตระหนก และเมื่อตื่นตระหนก ก็ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น  ประเด็นหนึ่งที่น่าคิดก็คือ เพียงแค่ได้ยินข่าวภัยพิบัติเหตุใดผู้คนก็ตื่นตระหนกกันแล้ว  สาวไปให้ถึงที่สุดก็จะพบว่า เป็นเพราะความกลัวตาย  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าถามต่อไปว่า หากรอดพ้นจากภัยพิบัติแล้ว จะไม่ตายหรือเปล่า  พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ในเมื่อเราทุกคนก็ต้องตาย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวป้องกันหรือบรรเทาภัยพิบัติ  แต่อยากจะชี้ว่าการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การเตรียมใจรับมือกับความตายด้วย  เพราะภัยพิบัตินั้นจะเกิดขึ้นหรือเปล่า ก็ยังไม่แน่ แต่ความตายของเราเป็นของแน่  ภัยพิบัติหลายอย่างเกิดขึ้นจำเพาะในบางฤดูกาล (เช่นน้ำท่วม) หรือเฉพาะบางภูมิประเทศ (เช่น แผ่นดินไหว ดินถล่ม) แต่ความตายนั้นไม่เลือกเวลาและสถานที่ และอยู่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดขึ้นคืนนี้พรุ่งนี้ก็ได้

มองในแง่นี้การเตรียมใจรับมือกับความตายจึงเป็นเรื่องที่เร่งด่วนกว่าการรับมือกับภัยพิบัติ  และเป็นสิ่งที่ควรทำแม้จะอยู่ห่างไกลภัยพิบัติ หรือสามารถหนีไปอยู่ในสถานที่ปลอดจากภัยพิบัติแล้วก็ตาม  ดังนั้นผู้ไม่ประมาทจึงไม่มัวแต่รับมือกับภัยพิบัติ แต่จะใส่ใจกับการเตรียมใจรับมือกับความตายด้วย  ซึ่งหากทำได้ถูกต้อง ก็จะพบว่าความตายไม่น่ากลัว ความกลัวตายต่างหากที่น่ากลัว ความตระหนักเช่นนี้ทำให้คลายความกลัวตาย  และเมื่อไม่กลัวตาย  ความตื่นตระหนกในภัยพิบัติก็จะหมดไป  ทำให้สามารถใช้สติและปัญญารับมือกับข่าวสารและเหตุการณ์ได้อย่างเต็มที่  นอกจากใจจะไม่ทุกข์แล้ว ยังช่วยลดความสูญเสียหรือสามารถรักษาตนให้อยู่รอดปลอดภัยได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา