ทุกวันนี้มักจะมีเสียงบ่นอยู่เสมอว่าจริยธรรมของผู้คนกำลังเสื่อมโทรม สิ่งที่ตามมาพร้อมกับเสียงบ่นก็คือเสียงเรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมงศีลธรรมหรือสอนจริยธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น หาไม่ก็เรียกร้องให้พ่อแม่พาลูกหลานเข้าวัดมากขึ้น รวมทั้งนิมนต์พระมาเทศน์ตามหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งในสภาให้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้เป็นการมองปัญหาจริยธรรมในระดับบุคคลทั้งสิ้น คือมองว่าจริยธรรมเสื่อมเพราะไม่รักดีหรือเพราะไม่รู้ผิดรู้ชอบ แต่น้อยคนจะมองปัญหาจริยธรรมในระดับสังคม คือตระหนักว่าปัจจัยทางสังคมเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จริยธรรมของผู้คนเสื่อมโทรมลง การมองข้ามปัจจัยดังกล่าวทำให้การแก้ปัญหาจริยธรรมมักหนีไม่พ้นการ “สอน” หรือ “เทศน์” หรือ “รณรงค์”
ลองมาดูกันว่าปัจจุบันมีปัจจัยทางสังคมอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมทางจริยธรรมในปัจจุบัน
เศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีผลอย่างมากในการทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมอ่อนกำลังลง พึงเข้าใจว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้นอิงอยู่กับศาสนาซึ่งมุ่งควบคุมความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เมื่อวัฒนธรรมดั้งเดิมเสื่อมลง ขณะที่ไม่มีวัฒนธรรมอย่างอื่นมาแทนที่เพื่อควบคุมความเห็นแก่ตัว ผลก็คือความเห็นแก่ตัวแพร่ขยายมากขึ้น ในด้านหนึ่งเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ทำให้เกิดวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ไม่เอื้อให้เกิดความร่วมมือกัน ผิดกับในอดีตที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ค่อนข้างปิด การติดต่อกับโลกภายนอกไม่สะดวกรวดเร็ว ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในชุมชนจึงต้องขึ้นอยู่กับความสามัคคี หรือความร่วมมือในชุมชนค่อนข้างมาก เช่น เวลาเกี่ยวข้าวก็ต้องอาศัยแรงงานจากเพื่อนบ้านมาช่วย จนเกิดประเพณี “ลงแขก” การร่วมมือกันดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีที่แพร่ซึมไปในชีวิตของผู้คน เมื่อจะสร้างบ้าน แต่งงาน บวชนาค จัดงานศพ ก็ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกัน แต่เมื่อการคมนาคมทำได้สะดวกขึ้น และเศรษฐกิจแบบตลาดแพร่หลายมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนก็ขึ้นอยู่กับชุมชนน้อยลง เพราะสามารถหาซื้อสิ่งจำเป็นจากสังคมภายนอกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถจ้างคนงานจากที่อื่นมาได้สะดวกขึ้น ประเพณีที่เน้นการร่วมมือกันก็มีความสำคัญน้อยลง การเสื่อมสลายของประเพณีลงแขกเป็นตัวอย่างชัดเจนประการหนึ่ง
ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็ทำให้กิจการของศาสนาหรือวัดกลายเป็นเรื่อง “พุทธพาณิชย์” พระเครื่องและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนากลายเป็นสินค้าที่มีไว้ขายหรือต้องใช้เงินตราแลกเปลี่ยน และในที่สุดก็ทำให้ไสยศาสตร์เช่นเครื่องรางของขลังเฟื่องฟูในวัดเพราะเป็นสิ่งที่คนนิยมและ “ขายดี” ในทำนองเดียวกันประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ก็ถูกแปรสภาพเป็นเพียงสินค้าเพื่อขายนักท่องเที่ยวเท่านั้นเอง ดังเห็นได้ว่าประเพณีสำคัญในจังหวัดต่างๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟในจังหวัดยโสธร ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาในจังหวัดอุบลราชธานี ประเพณีลอยกระทงในจังหวัดสุโขทัย ถูกโหมประโคมโฆษณาและแปรรูปเพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมหรือความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยไม่ได้มีความหมายต่อชีวิตจิตใจของคนท้องถิ่นดังแต่ก่อน
ขณะที่โรงเรียนดึงเด็กออกจากครอบครัวและชุมชน การทำมาหากินตามวิถีเศรษฐกิจอย่างใหม่โดยเฉพาะในเมือง ก็ทำให้พ่อแม่ห่างเหินจากลูก ผลก็คือครอบครัวลดบทบาทในการให้การศึกษาแก่เด็ก สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทแทน ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัวยังเห็นได้จากสถิติการหย่าร้าง ปัจจุบันในประเทศไทย ๑ ใน ๔ ของพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กถูกทอดทิ้งหรือขาดความอบอุ่นมากขึ้น พร้อมกันนั้นค่านิยมแบบปัจเจกนิยม ทำให้ผู้คนคิดถึงพ่อแม่ วงศ์ตระกูล หรือชุมชนน้อยลง ทำตามอำเภอใจของตนมากขึ้น
ส่วนชุมชนก็ลดบทบาทที่แต่เดิมเคยเป็นตัวควบคุมจริยธรรมของผู้คน บทบาทดังกล่าวมี ๒ ลักษณะคือ ๑) ยับยั้งไม่ให้คนทำชั่วหรือเอาเปรียบผู้อื่น (เช่น มีเพื่อนบ้านคอยห้ามปราม หาไม่ชุมชนก็ลงโทษคนที่เห็นแก่ตัวหรือคดโกง ด้วยการไม่ไปช่วยเหลือเวลาเขาต้องการแรงงานจากเพื่อนบ้าน) ๒) ป้องกันไม่ให้คนในชุมชนถูกล่วงละเมิดหรือเอาเปรียบ (เช่น ร่วมกันดูแลสอดส่องไม่ให้ใครมาขโมยควายในหมู่บ้านหรือลักลอบตัดไม้ในป่า)
สาเหตุที่ชุมชนลดบทบาทดังกล่าว ก็เพราะเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้ผู้คนอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ประกอบกับผู้คนหันไปพึ่งหน่วยงานของรัฐมากขึ้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งชุมชนดังแต่ก่อนลดน้อยลง ขณะเดียวกันวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีฐานจากชุมชนก็ถูกทำให้อ่อนกำลังลงด้วย ส่วนหนึ่งเกิดจากอิทธิพลของเศรษฐกิจเงินตรา – ทุนนิยม ดังได้กล่าวมาแล้ว และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ซึ่งมีผลทำให้วัดซึ่งเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกลดบทบาทลง เช่น การแยกการศึกษาออกจากวัด ผู้คนพากันเข้าโรงเรียนแทนที่จะไปรับการศึกษาอบรมจากพระดังแต่ก่อน นอกจากนั้นวิถีชีวิตสมัยใหม่ก็ทำให้คนทั่วไปมีโอกาสเข้าวัดน้อยลง เพราะต้องไปเรียนและทำงานนอกชุมชนหรือเนื่องจากมีกำหนดเวลาเรียนและทำงานที่ไม่ตรงกับประเพณีพิธีกรรมในวัด
การมองข้ามปัจจัยทางสังคม ทำให้การแก้ปัญหาจริยธรรมมักหนีไม่พ้นการ “สอน” “เทศน์” หรือ “รณรงค์”
ระบบการเมืองที่มีช่องโหว่สามารถก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมหลายประการ เช่น การเมืองที่ไม่โปร่งใสเปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น หรือเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลใช้เงินสร้างฐานอำนาจจนเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ย่อมทำให้มีการใช้อำนาจมืดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การให้สัมปทานแก่พวกพ้อง การอนุมัติโครงการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่นแก่ตน ไปจนกระทั่งการลอบสังหารคนที่ขัดผลประโยชน์ของตน ขณะเดียวกันระบบการเมืองที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลางหรือระบบเผด็จการก็ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือจากสังคมเป็นไปได้ยาก การใช้อำนาจในทางฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งโดยผู้มีอำนาจและพวกพ้องบริวารจึงเกิดขึ้นได้ง่าย กลายเป็นค่านิยมที่ผู้คนเลียนแบบกันทั่วทั้งประเทศ
นอกจากระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีระบบต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ผู้คนแก่งแย่งกันมากขึ้นเช่น ระบบจราจรที่ไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ ระบบราชการที่ไม่เอื้อให้คนทำดี แต่เปิดช่องให้มีการทุจริตอย่างง่ายดาย หรือระบบยุติธรรมซึ่งไม่โปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจเงิน ทำให้คนมีเงินไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมายเพราะเชื่อว่าสามารถใช้เงิน “อุด” ได้ ระบบที่บกพร่องเหล่านี้ (ซึ่งรวมไปถึงระบบความสัมพันธ์ในสังคม) ไม่เพียงแต่จะบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังให้ “รางวัล” แก่คนที่ทำเช่นนั้นด้วย เช่น คนที่ไร้น้ำใจ ไม่หยุดให้แก่คนข้ามทางม้าลาย สามารถไปถึงที่หมายก่อนใครๆ คนที่แซงคิว สามารถได้ตั๋วรถหรือตั๋วหนังก่อนใครๆ คนที่ทุจริต ซื้อตำแหน่ง สามารถเลื่อนชั้นก่อนใครๆ ใครที่ซื้อของหนีภาษีได้ก็เป็นที่ยกย่องว่าเก่ง คนที่ขายยาบ้าค้าผู้หญิง นอกจากจะไม่ถูกตำรวจจับเพราะมีเส้นสายหรือให้สินบนเจ้าหน้าที่แล้ว ยังร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้มีแต่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบกันมากขึ้น