ความเห็นแก่ตัวเป็นธรรมชาติหรือลักษณะนิสัยที่เห็นได้ชัดที่สุดของมนุษย์ทุกคน แต่ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด อย่างน้อยมันก็จำเป็นต่อความอยู่รอดของทุกชีวิต ทุกชีวิตนั้นไม่ว่าคน สัตว์ พืช มีหน้าที่ประการแรกสุดคืออยู่รอดให้ได้เพื่อแพร่พันธุ์ จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีความเห็นแก่ตัวหรือนึกถึงตัวเองก่อน โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรมีจำกัด ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวก็อาจไม่มีแรงขับให้ไปแข่งขันหรือแย่งชิงทรัพยากรเหล่านั้นมาจนสำเร็จ
ความเห็นแก่ตัวทำให้เรามีความสุขที่ได้เสพและครอบครอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง และอำนาจ ยิ่งได้เสพและครอบครองมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น ทุนนิยมและบริโภคนิยมมีเสน่ห์กับผู้คนก็เพราะมันตอบสนองความเห็นแก่ตัวและปรนเปรอความสุขประเภทนี้ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามความเห็นแก่ตัวเป็นตัวการสำคัญทำให้ผู้คนเป็นทุกข์เมื่อต้องสูญเสียทรัพย์หรือพลัดพรากจากชื่อเสียง อำนาจ อีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความโลภอย่างไม่สิ้นสุดและเป็นแรงขับให้เกิดความโกรธเกลียดเมื่อไม่สมหวัง ทั้งความโลภและความโกรธเกลียดล้วนเป็นไฟเผาลนจิตใจ ดังนั้นยิ่งเห็นแก่ตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น
แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ความเสียสละ และความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ กันว่าคุณธรรม ธรรมชาติส่วนนี้เองที่ทำให้เรามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ส่วนรวม แม้ตนเองจะลำบากหรือสูญเสียทรัพย์ การที่เราภูมิใจเมื่อได้ทำความดี แม้ไม่ได้รางวัลหรือคำสรรเสริญ ก็เพราะเรามีความใฝ่ดีอยู่ในจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ธรรมชาติส่วนนี้ทำให้เราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงทรัพย์ ยศ อำนาจ เป็นความสุขทางใจที่ประณีตและลึกซึ้งกว่าความสุขอย่างแรก ศาสนามีความสำคัญกับมนุษย์ก็เพราะตระหนักถึงธรรมชาติส่วนนี้ของมนุษย์ อีกทั้งยังสามารถนำพามนุษย์เข้าถึงความสุขทางใจได้ด้วย
ธรรมชาติที่เป็นความเห็นแก่ตัวนั้น เปรียบเสมือนเปลือกหรือผิวชั้นแรกของจิตใจ ถัดจากนั้นลงมาคือธรรมชาติส่วนที่เป็นคุณธรรมหรือความใฝ่ดี จิตใจของคนที่มีความเห็นแก่ตัวมาก (ไม่ว่าจากการกล่อมเกลาเลี้ยงดูหรือจากการดำเนินชีวิตที่ผิดทาง) ย่อมมีเปลือกหรือผิวชั้นแรกที่หนา จนยากที่คุณธรรมหรือความใฝ่ดีจะฝ่าออกมาได้ ส่วนคนที่มีความเห็นแก่ตัวน้อย เปลือกหรือผิวชั้นแรกจะบาง เปิดโอกาสให้คุณธรรมหรือความใฝ่ดีแสดงตัวออกมาได้ง่าย
คุณธรรมหรือความใฝ่ดีนั้นแสดงตัวออกมาได้ด้วยหลายสาเหตุ ประการแรกคือ เมื่อเห็นหรือรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เมตตาหรือความปรารถนาดีนั้นย่อมทนเฉยได้ยากเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังประสบความทุกข์ คนธรรมดาย่อมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจหากเมินเฉยคนที่ล้มป่วยต่อหน้า เขาย่อมลงมือช่วยเหลือผู้ป่วยคนนั้นแม้ว่าจะต้องเสียงานเสียการก็ตาม แต่ถ้าความเห็นแก่ตัวมีมาก เมตตาย่อมไม่มีพลังพอที่จะฝ่าเปลือกชั้นแรกซึ่งหนากระด้างออกมาได้ เว้นเสียแต่ว่าความทุกข์ยากนั้นเกิดขึ้นอย่างท่วมท้น ดังกรณีสึนามิ ในยามนั้นเปลือกหนาของผู้คนจำนวนมากถูกกะเทาะออก เปิดช่องให้ความดีได้พรั่งพรูออกมา จนเกิดคลื่นน้ำใจหลั่งไหลสู่ผู้ประสบทุกข์อย่างไม่เคยมีมาก่อน เมตตาและความเสียสละของคนนับพันๆ มีพลังถึงขั้นเอาชนะความกลัวและความรักสบาย สามารถไปกินนอนอยู่ข้างศพที่เน่าเหม็นด้วยวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ “พาเขากลับบ้าน”
คุณธรรมหรือความดียังมีพลังจนสามารถฝ่าเปลือกนอกออกมาได้ เมื่อผู้อื่นทำความดีกับตน อันธพาลที่ชอบแกล้งเพื่อนรุ่นน้อง แต่เลิกนิสัยดังกล่าว หลังจากที่รุ่นน้องช่วยเหลือเขาในยามลำบาก โดยมิได้แสดงความโกรธเกลียดเลย โจรซึ่งกำลังจี้เอาทรัพย์จากเหยื่อ เปลี่ยนท่าทีเมื่อเหยื่อช่วยเขาแก้ตัวกับตำรวจที่เผอิญเดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์ ความดีของคนๆ หนึ่งสามารถปลุกเร้าความดีของอีกคนหนึ่งให้ตื่นขึ้นมาและมีพลังจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัวหรือความชั่วได้ ไม่ว่าจะเลวแค่ไหน ความใฝ่ดีก็ยังมีอยู่ในใจเขา แต่อาจหลับไหลหรือสงบงัน แม้กระนั้นก็สามารถฟื้นขึ้นมาและแสดงตัวออกมาให้ปรากฏได้ หากถูกกระตุ้นเร้าด้วยความดีที่ทรงพลังของอีกคนหนึ่ง
อันที่จริง ไม่ต้องถึงกับมีผู้อื่นมาทำความดีด้วย เพียงแค่มีคนเห็นหรือยอมรับความดีของตน หรือแม้กระทั่งเชื่อมั่นว่าตนมีความดี ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ความใฝ่ดีมีพลังจนกลายเป็นคนใหม่ได้ นักเรียนที่เกเร เหลือขอ จนครูแทบจะหมดหวัง สามารถเปลี่ยนเป็นเด็กว่าง่ายและตั้งใจเรียน เมื่อครูยกย่องความดีบางอย่างของเขาซึ่งคนอื่นมองไม่เห็น การชื่นชมความดีของใครสักคน แม้ตอนนั้นเขาอาจไม่ได้ทำตัวให้ดีสมกับคำชื่นชม แต่ก็สามารถปลุกเร้าความใฝ่ดีในใจเขาให้มีพลังจนเปลี่ยนนิสัยได้ ครูที่ติดการพนันจนถึงกับตั้งบ่อนหน้าโรงเรียน เลิกนิสัยดังกล่าวและกลายเป็นครูที่น่าศรัทธา เพราะได้ยินนายอำเภอกล่าวสรรเสริญครูว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ตนสามารถไหว้ได้อย่างสนิทใจ แม้ตอนนั้นจะรู้สึกอับอาย แต่ก็ทำให้ความอยากเป็นครูดีเกิดมีพลังฮึดสู้ขึ้นมา จนเอาชนะนิสัยติดการพนันได้
ในยามที่จิตมีความสงบ มีปิติ หรือเป็นสมาธิ กุศลภาวะดังกล่าวสามารถปลุกคุณธรรมหรือความใฝ่ดีให้มีพลังขึ้นมาได้เช่นกัน เมื่อบุคคลได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบสงัด หากจิตน้อมสู่ความสงบ ความเห็นแก่ตัวจะลดลง ความเมตตาปรารถนาดีจะบังเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกันเมื่ออยู่ต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป หรือเห็นผู้อื่นทำความดีต่อกัน ปีติทีเกิดขึ้นย่อมหนุนเสริมให้ความใฝ่ดีมีพลังจนสามารถชำแรกเปลือกชั้นแรกออกมาได้
อย่างไรก็ตาม จิตของเราไม่ได้มีธรรมชาติเพียงสองชั้นหรือสองระดับเท่านั้น ลึกลงไปยังมีธรรมชาติชั้นที่สาม ซึ่งถือได้ว่าอยู่กลางใจ ได้แก่ สภาวะที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส ปลอดพ้นจากความเห็นแก่ตัว หรือความยึดถือในตัวตน เป็นสภาวะที่เส้นแบ่งระหว่าง “ฉัน” กับ “ผู้อื่น” หมดไป เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง จิตอยู่เหนือการแบ่งเป็นขั้วหรือมองโลกเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ได้-เสีย เกิด-ตาย ดังนั้นจึงไม่หวั่นไหวกับความผันผวนปรวนแปร หรือความพลัดพรากสูญเสีย เป็นสภาวะที่อยู่เหนือโลกธรรม ไม่ว่าการได้หรือเสื่อมจากลาภ ยศ สุข สรรเสริญ สภาวะดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า “โลกุตตระ” ท่านอาจารย์พุทธทาสบางทีก็เรียกว่า “จิตว่าง”
สภาวะดังกล่าวเป็นธรรมชาติส่วนที่ลึกซึ้งที่สุด ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถประจักษ์ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า “อริยโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์ประจำตัวของทุกคน” และอีกที่หนึ่งว่า “จิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เกิดขึ้นภายหลัง” แม้แต่โจรหรือฆาตกรก็มีธรรมชาติส่วนนี้อยู่ แต่ความเห็นแก่ตัวขัดขวางไว้จึงไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้ ขณะที่คนดีจำนวนไม่น้อยก็ติดอยู่ในความดีและยึดมั่นในตัวตนอยู่ จึงไม่สามารถประจักษ์ซึ่งโลกุตตรสภาวะได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถสัมผัสได้เลย ยามที่จิตว่างจากกิเลส คลายความยึดถือในตัวตน มีสติรู้ทันในผัสสะและเวทนาจนตัวตนไม่อาจเกิดขึ้นได้ สภาวะดังกล่าวก็สามารถปรากฏให้สัมผัสได้แม้ชั่วขณะ ดังท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า “นิพพานน้อยๆ”
คำว่า “จิตวิญญาณ” (spirituality) ซึ่งถูกนิยามกันอย่างหลากหลาย กล่าวอย่างถึงที่สุดก็หนีไม่พ้นธรรมชาติสองชั้นในสุด คือ ธรรมชาติส่วนที่เป็นคุณธรรม กับธรรมชาติส่วนที่อยู่เหนือโลกและตัวตน
คนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น รวมถึงสภาวะที่เป็น “อิสระ” ปลอดพ้นจากความยึดถือในตัวตน
พุทธศาสนายอมรับธรรมชาติทั้งสามระดับ หลัก “อัตถะ ๓” มีขึ้นเพื่อสนองความต้องการในสามระดับของมนุษย์ กล่าวคือ ๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ปัจจุบัน เน้นสิ่งซึ่งจับต้องได้ (เช่น ทรัพย์สมบัติ อาชีพการงาน สถานภาพ) เป็นการตอบสนองธรรมชาติที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน ๒) สัมปรายิกัตถะ หรือ ประโยชน์ขั้นเลยตาเห็น เน้นความรู้สึกที่เป็นกุศล (เช่น ความภูมิใจ ความอิ่มใจ) เพื่อส่งเสริมธรรมชาติที่ใฝ่ดีมีคุณธรรม และ ๓) ปรมัตถะ หรือจุดหมายสูงสุด มุ่งที่การเสริมสร้างธรรมชาติส่วนที่สามให้ประจักษ์แจ้ง
ความทุกข์ของมนุษย์ กล่าวโดยสรุป เกิดขึ้นเพราะการไม่รู้ในธรรมชาติของตนอย่างรอบด้าน ทำให้ติดอยู่ในเปลือกชั้นแรก หรือไม่สามารถข้ามพ้นธรรมชาติชั้นที่สอง เพื่อเข้าถึงสภาวะที่อิสระโปร่งโล่งอย่างแท้จริง หน้าที่ต่อชีวิตแท้จริงแล้วมิได้มีเพียงเพื่อรักษาตนให้อยู่รอดและแพร่พันธุ์เท่านั้น หากยังต้องคำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ และนำพาตนให้เข้าถึงอิสรภาพและความสุขสงบอย่างแท้จริง