นักคิดฝรั่งคนหนึ่ง คือ ฟริตจ๊อฟ คาปร้า ผู้เขียน “จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ” และ “ข่ายใยแห่งชีวิต” ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า หากทดลองบอกให้คนทั่วไปวาดภาพต้นไม้ จะพบว่าคนส่วนใหญ่มักจะวาดภาพต้นไม้โดยมิได้วาดส่วนรากของต้นไม้ด้วย ทั้งๆ ที่รากคือส่วนสำคัญที่สุดซึ่งยึดเหนี่ยวและกำหนดความเป็นไปของต้นไม้ที่อยู่บนดิน นั่นคือ รากเป็นปัจจัยแห่งความงอกงามหรือเสื่อมโทรมของสภาพที่ปรากฏ และสิ่งที่ถูกลืมยิ่งไปกว่านั้นคือ ความตระหนักรู้ว่า รากของต้นไม้แต่ละต้นนั้น มิได้อยู่อย่างไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งใด หากแต่เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นตลอดเวลา
ในป่านั้น รากของต้นไม้ใหญ่น้อย เชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่ายของรากที่ทำงานร่วมกันทั่วผืนป่า และเครือข่ายของรากนี้ ก็ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบดิน น้ำ ลม ไฟ สรรพชีวิตอีกมากมายอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความเจริญงอกงามปรากฏให้เราเห็น ดังนั้น สิ่งที่เรามองเห็น จึงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของระบบความสัมพันธ์อีกจำนวนมากมายมหาศาลที่มองไม่เห็น หากเราไม่เข้าใจความจริงประการนี้ โอกาสที่จะสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามอย่างยั่งยืนก็เกิดขึ้นได้ยาก
พุทธศาสนามองชีวิตของมนุษย์ในทัศนะเดียวกันนี้ คือ ความงอกงามหรือความเสื่อมของชีวิตหนึ่งๆ นั้น แท้จริงแล้ว สัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับสรรพสิ่งและสรรพชีวิตอีกมากมายมหาศาล ทั้งที่มองเห็น มองไม่เห็น ทั้งที่รู้แล้ว และยังไม่รู้ หรือเกินความรับรู้ของอายตนะมนุษย์ ดังนั้น หากเราพัฒนาชีวิตโดยมุ่งไปที่ปัจเจกบุคคลอย่างโดดๆ หรือจำกัดอยู่เพียงเฉพาะสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเท่านั้น โดยไม่เชื่อมโยงไปสู่ชีวิตอื่นสิ่งอื่นที่มนุษย์สัมพันธ์อยู่ด้วย ก็เหมือนเราพยายามที่จะสร้างความงอกงามของต้นไม้โดยไม่สนใจราก และความสัมพันธ์ของระบบรากกับสิ่งอื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญแห่งความเจริญเติบโตอันแท้จริง เปรียบเทียบก็คงเหมือนการที่เราพยายามจะทะนุบำรุง รดน้ำ ให้ความชุ่มชื้นแก่ส่วนที่อยู่บนดิน คือใบ ดอก ผล โดยรดน้ำไม่ถึงราก หรือไม่เคยใส่ใจว่ารากเป็นอยู่อย่างไร แช่น้ำจวนเจียนจะเน่าหรือไม่ ถูกแมลง เชื้อราเกาะกินทำลายหรือเปล่า ฯลฯ
ความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนเช่นนี้ ย่อมทำให้การพัฒนาชีวิตบกพร่อง ถูกแยกออกจากปัจจัยอันก่อให้เกิดความงอกงามที่แท้จริง และเป็นการทำลายภูมิคุ้มกันตนเองของชีวิตไปด้วย เพราะระบบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของปัจจัยต่างๆ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและการต้องปรับตัว พัฒนาของชีวิตอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม ระบบนิเวศ เท่าๆ กับการพัฒนาชีวิต
อย่างไรก็ตาม การที่ความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นเรื่องประจักษ์ได้เฉพาะบุคคล จึงมีพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า พุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เหมือนเข้าใจว่าต้นไม้คือส่วนที่งอกอยู่บนดินเท่านั้น โดยมองไม่เห็นว่า กระบวนการแห่งการพัฒนาชีวิตเพื่อความหลุดพ้นหรือดับทุกข์ของปัจเจกนี้ มิได้แยกและแยกออกไม่ได้จากความสัมพันธ์ระดับสังคมที่บุคคลผู้นั้นดำรงชีวิตอยู่ เนื่องจากพุทธศาสนาเชื่อว่า สรรพสิ่ง สรรพชีวิตทั้งปวงดำรงอยู่เป็นองค์รวมเดียวกัน พุทธศาสนาจึงเน้นความสำคัญของการมีชีวิตเป็นชุมชนหรือสังฆะ ไม่ว่าในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะโดยความจริงแล้ว คนส่วนใหญ่พัฒนาชีวิตได้โดยอาศัยปรโตโฆษะ หรือปัจจัยภายนอก (เช่น กัลยาณมิตร) เป็นสำคัญในเบื้องต้น ก่อนไปสู่การพัฒนาด้วยตนเอง
ด้วยโลกทัศน์แบบองค์รวมนี้ ความงอกงามหรือเสื่อมทรุดของชีวิต สังคม ธรรมชาติจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เราไม่อาจละเลยส่วนใดส่วนหนึ่งไปได้ คุณสมบัติอันพึงปรารถนาของบุคคลและชุมชนในอดีตที่เรามักจะกล่าวถึง เช่น ความเอื้ออาทร น้ำใจไมตรี จิตสำนึกที่ใส่ใจในความเป็นไปของส่วนรวม และจริยธรรมของบุคคล ฯลฯ มิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยที่มองเห็นอย่างชัดเจน เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ผู้ปกครอง กฎหมาย ฯลฯ เพียงเท่านั้น หากแต่ความงอกงามของชีวิตสังคม และธรรมชาติดังกล่าว เกิดจากปัจจัยที่มองไม่เห็น วัดไม่ได้ จับต้องไม่ได้ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย นั่นคือโลกทัศน์ในการมองชีวิต สังคม และธรรมชาติในฐานะขององค์รวมเดียวกัน และเรียนรู้ว่าควรจัดความสัมพันธ์แบบใดให้เกิดความพอดีและยั่งยืนแก่ความสัมพันธ์ทั้งหมด
ความงอกงามหรือความเสื่อมของชีวิตหนึ่งๆ นั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับสรรพสิ่งอีกมากมายมหาศาล
ในทางกลับกัน ความเสื่อมโทรมของชีวิต สังคม ธรรมชาติ ที่เราทั้งหลายเผชิญอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นรูปธรรมบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงในระดับราก ว่าโลกทัศน์แบบองค์รวมของพุทธศาสนา ได้ถูกทำลายและกลืนกินโดยโลกทัศน์แบบทุนนิยมที่มีลักษณะตรงกันข้าม คือ มุ่งสลายความสัมพันธ์แบบชุมชน ไปสู่ความเป็นปัจเจกนิยม เพื่อให้มนุษย์แยกกันกินอยู่ แข่งขันกันบริโภค เพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของทุน มุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและมนุษย์ โดยไม่สนใจความทุกข์ยากของสรรพชีวิตหรือสรรพสิ่งอื่นๆ รวมทั้งมุ่งความสุข ความดับทุกข์แบบแยกส่วนเฉพาะบุคคลด้วย ความเสื่อมในระดับรากนี้น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะมองเห็นได้ยาก หากไม่เข้าใจรากฐานของโลกทัศน์ทางพุทธศาสนาว่า ความอยู่รอดของชีวิต สังคม ธรรมชาตินั้น แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกัน
“การทำดีโดยไม่ต้องรอเดี๋ยว” นั้น เป็นก้าวแรกในการฟื้นฟูคุณธรรมของปัจเจกบุคคลให้กลับคืนสู่สังคม แต่คุณธรรมนี้จะหยั่งรากมั่นคงลงลึกเป็นรากฐานของชีวิตและสังคมได้เพียงใด ยังต้องมีปัจจัยอื่นอีกมากมาประกอบ โดยเฉพาะการสร้างบริบทหรือสิ่งแวดล้อมแห่งคุณธรรมความดีในระดับสังคมให้เกิดขึ้นด้วย คือการสร้างธรรมาภิบาลในระดับรัฐ ในกลไกทุกภาคส่วนของอำนาจรัฐ โดยไม่ต้องรอเดี๋ยว รอใบเสร็จ รอใบรับรอง ฯลฯ จากใคร