อาจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เล่าว่า คราวหนึ่งได้ไปบรรยายให้แก่นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ตอนหนึ่งท่านได้พูดถึงพุทธศาสนาและคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ พอถึงตรงนี้ท่านก็ถามนักศึกษาว่า ไตรลักษณ์นั้นได้แก่อะไรบ้าง นักศึกษาทั้งชั้นนิ่งเงียบ ท่านจึงเฉลยข้อแรกว่าได้แก่ “อนิจจัง” ท่านถามต่อว่าไตรลักษณ์ข้อถัดมาคืออะไร ก็ยังไม่มีคำตอบจากนักศึกษาทั้งหนุ่มทั้งแก่ ท่านจึงเฉลยให้อีกว่า “ก็ ทุกขัง ไงล่ะ”
ท่านยังไม่ละความพยายาม ถามนักศึกษาต่อว่า ไตรลักษณ์ข้อสุดท้ายคืออะไร ทีนี้นักศึกษาทั้งชั้นตอบอย่างเต็มปากว่า “พลัง” !
คำตอบดังกล่าวสร้างความประหลาดใจแก่อาจารย์ท่านนี้มาก เพราะแสดงว่าแม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับอธิบดี ก็ยังไม่รู้ว่า ไตรลักษณ์คืออะไร ทั้งๆ ที่เฉลยไปถึง ๒ ใน ๓ ข้อ ก็ยังตอบผิด ราวกับว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินคำว่า “อนัตตา” เลย
คำตอบของนักศึกษาเหล่านั้นยังทำให้เห็นว่า พวกเขาคุ้นเคยกับคำให้พรของพระมากกว่า โดยเฉพาะท่อนท้ายที่ว่า “อายุ วัณโณ สุขัง พลัง” ดังนั้นจึงพร้อมใจตอบว่า “พลัง” ทันทีที่ได้ยินคำว่า “ทุกขัง”
ที่จริงการไม่รู้จักหลักไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่หากมีการประพฤติหรือปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จหัวเมือง พระองค์ทรงเคยสอบถามชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ไม่มีใครตอบศีล ๕ ได้ครบถ้วน พระองค์จึงทรงปรารภว่าคนไทยไม่รู้จักพระพุทธศาสนา แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงยอมรับว่าผู้คนในหัวเมืองอยู่กันอย่างเรียบร้อย ไม่มีการประพฤติผิดศีลผิดธรรม
ทุกวันนี้ถ้าถามว่าศีล ๕ คืออะไร เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ตอบได้ครบถ้วนหรือเกือบครบ แต่นั่นหมายความว่าคนไทยรู้จักพุทธศาสนาหรือเป็นชาวพุทธแล้วใช่ไหม เราคงตอบได้ไม่เต็มปากเพราะปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่รอบตัวบ่งชี้ว่า คนไทยไม่ได้ปฏิบัติตามศีล ๕ กันเท่าใดนัก หาไม่อาชญากรรม คอร์รัปชั่น ความสำส่อนทางเพศ และสุรายาเมาคงไม่แพร่ระบาดไปทุกหัวระแหงดังทุกวันนี้ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและผู้รู้หลายท่านถึงกับบอกว่า เมืองไทยจะเจริญก้าวหน้าอีกมากหากคนไทยเพียงแต่รักษาศีล ๕ ให้ครบถ้วนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามลำพังการรักษาศีล ๕ ให้ครบยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่าผู้นั้นเป็นชาวพุทธที่แท้ หากว่าผู้นั้นยังลุ่มหลงในอบายมุข พึ่งพาไสยศาสตร์ หวังลาภลอยคอยโชค คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน (แม้จะชอบทำบุญแต่ไร้น้ำใจ) หรือเชื่อกรรมในทางที่ผิด จนคิดแต่จะแก้ปัญหาชีวิตด้วยการประกอบพิธี “แก้กรรม” และ “ตัดกรรม” หรือกลัวเจ้ากรรมนายเวรจนไม่กล้าช่วยเหลือใครเพราะกลัวเจ้ากรรมนายเวรของผู้นั้นจะมาทำร้ายตน ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะวิธีการหรือความเชื่อเหล่านั้นสวนทางกับหลักการทางพุทธศาสนาที่เน้นการพึ่งความเพียรของตน หมั่นฝึกฝนพัฒนาตน และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ทุกวันนี้มีความเข้าใจว่าการรักษาศีล ๕ ก็เพียงพอแล้วสำหรับชาวพุทธที่เป็นฆราวาส ความเข้าใจนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะศีล ๕ เป็นเพียงหลักปฏิบัติขั้นต่ำเท่านั้น จำต้องมีข้อปฏิบัติอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย หากพิจารณาจากสิงคาลกสูตร ซึ่งถือกันว่าเป็นคำสอนสำคัญว่าด้วยหลักความประพฤติของฆราวาส จะเห็นชัดว่านอกจากการละกรรมกิเลส ๔ (การผิดศีล ๔ ข้อแรก) แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงวางข้อปฏิบัติให้แก่ฆราวาสอีกหลายประการ ได้แก่ การละเว้นอคติ ๔ และอบายมุข ๖ การประพฤติตามหลักทิศ ๖ (ข้อปฏิบัติระหว่างบุคคลในความสัมพันธ์ ๖ แบบ เช่น ระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างครูกับศิษย์ ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ฯลฯ) ใช่แต่เท่านั้นยังมีหลักการคบมิตร การจัดสรรทรัพย์เพื่อใช้สอย และสังคหวัตถุ ๔ (ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา-บำเพ็ญประโยชน์ และสมานัตตตา-วางตนเสมอต้นเสมอปลาย)
การละเลยข้อปฏิบัติดังกล่าว ทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยทุกวันนี้มีความประพฤติที่ผิดเพี้ยนจากคำสอนทางพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางดังได้กล่าวมา ไม่เว้นแม้กระทั่งในหมู่คนที่ใกล้วัดหรือใฝ่ทำบุญ จนทำให้เกิดคำถามขึ้นในหมู่ผู้รู้ทางพุทธศาสนา (และศาสนาอื่น) ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธจริงหรือ ทั้งๆ ที่มีวัดและพระภิกษุเป็นจำนวนมากมาย
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เป็นเช่นนั้น อาทิ การไม่ได้รับการศึกษาทางพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง (ทั้งๆ ที่มีการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนมานานหลายทศวรรษ) ความอ่อนแอและย่อหย่อนของสถาบันสงฆ์ อีกสาเหตุหนึ่งที่น่ากล่าวถึงคือ การขาดหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ครอบคลุมและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ พระสงฆ์และฆราวาสกลุ่มหนึ่งซึ่งตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้ร่วมกันเชิญชวนชาวพุทธทั้งประเทศประกาศเจตนาสมาทาน “หลักชาวพุทธ” ซึ่งประกอบด้วยหลักการ ๕ ประการ และข้อปฏิบัติ ๑๒ ประการ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เป็นผู้ประมวลสรุปจากแก่นคำสอนของพุทธศาสนาและนำมาจัดวางให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่
หลัก ๕ ประการ เน้นในเรื่องการฝึกตน (เพราะเชื่อว่า “มนุษย์จะประเสริฐได้เพราะฝึกตนด้วยสิกขาคือการศึกษา”) และพึ่งความเพียรของตน (คือมุ่งมั่นที่จะ “สร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท”)
ส่วนในเรื่องไตรสรณคมน์หรือการถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ได้จำแนกเป็นหลัก ๓ ประการและอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมกล่าวคือ การถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะหมายถึง ความตั้งใจที่จะ “ฝึกฝนตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์และมีเมตตากรุณา ตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
การถือพระธรรมเป็นสรณะหมายถึง การถือว่า “ความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสิน”
การถือพระสงฆ์เป็นสรณะ หมายถึงความตั้งใจที่จะ “สร้างสังคมตั้งแต่ในบ้าน ให้มีสามัคคี เป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์”
ขอให้สังเกตว่า พระรัตนตรัยในที่นี้มิได้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วางไว้บนหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชา หรือหวังผลดลบันดาลให้ร่ำรวยอวยโชค อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่หมายถึงแบบอย่างอันควรแก่การดำเนินรอยตามหรือเป็นอุดมคติในการดำเนินชีวิต
ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การตอกย้ำให้คิดถึงส่วนรวม ซึ่งตรงกับหลักการของสงฆ์ที่ถือเอาประโยชน์ของสังฆะหรือส่วนรวมเป็นใหญ่ นี้เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมาก เพราะชาวพุทธไทยนับวันจะคิดถึงแต่ตัวเองมากขึ้นทุกที จนปล่อยปละละเลยสังคม ซึ่งมีส่วนในการทำให้สังคมเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ
ข้อปฏิบัติหรือ “ปฏิบัติการ” ๑๒ ข้อนั้น แบ่งเป็น ๓ หมวด พระพรหมคุณาภรณ์ได้เรียบเรียงอย่างคล้องจองกัน ทำให้จำง่าย กล่าวคือ “มีศีลวัตรประจำตน เจริญกุศลเนืองนิตย์ ทำชีวิตให้งามประณีต” โดยมีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนในแต่ละข้อ
เน้นการพัฒนาฝึกฝนตน แต่ไม่ได้หมายถึงศีล ๕ เท่านั้น หากครอบคลุมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นนอกจาก “สมาทานเบญจศีลเป็นนิจ” และ “ไม่มืดมัวด้วยอบายมุขแล้ว” ยังมีอีก ๒ ข้อ คือ “ทำจิตให้สงบ ผ่องใส” ด้วยการเจริญสมาธิและอธิษฐานจิต วันละ ๕-๑๐ นาที ในด้านปัญญานั้น ข้อปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมคือ “สวดสาธยายพุทธวจนะหรือบทสวดมนต์ โดยเข้าใจความหมาย อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน”
นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติเพื่อการปลูกฝังศรัทธาในสิ่งที่ดีงามและเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต นั่นคือ “แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ และบุคคลที่ควรเคารพ” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการมีกัลยาณมิตรเพื่อเกื้อกูลต่อการฝึกฝนตน
มีจุดเด่นคือการทำความดีเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ช่วยเหลือส่วนรวม หรือส่งเสริมสิ่งดีงามในสังคมได้แก่ “บำเพ็ญทานเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณ เพื่อสนับสนุนกรรมดี” และ “บำเพ็ญประโยชน์ อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดาบิดา ครูอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมแต่อดีตสืบมา” โดยทำสัปดาห์ละ ๑ ครั้งทั้งการให้ทานและบำเพ็ญประโยชน์
นอกจากการทำความดีเพื่อผู้อื่นแล้ว หมวดนี้ยังพูดถึงการบำเพ็ญกุศลเพื่อพัฒนาตนด้วย ได้แก่ ตักบาตรวันพระ หรือ “แผ่เมตตา ฟังธรรม หรืออ่านธรรมธรรม โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน หรือที่ทำงานร่วมกัน ประมาณ ๑๕ นาที” รวมทั้ง ร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาและวันสำคัญของครอบครัว
เห็นได้ว่าหมวดนี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อนำพาตนออกมาเชื่อมโยงกับสังคมและพระศาสนา ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์หรือร่วมกิจกรรมทางศาสนา โดยชักชวนครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย นับเป็นการสร้าง “ชุมชนทางศีลธรรม” อย่างใหม่ ทดแทนหมู่บ้าน ซึ่งเคยเป็นสถานที่บ่มเพาะศีลธรรมให้แก่ผู้คนอย่างได้ผลมาแล้วในอดีต
ข้อปฏิบัติหมวดนี้จะช่วยให้ชาวพุทธไม่เก็บตัวอยู่ตามลำพัง หรือมัวแต่ฝึกฝนตนจนละเลยผู้อื่น ทั้งๆ ที่ยังมีการฝึกฝนตนอีกมากที่สามารถทำร่วมกับผู้อื่นหรือทำเพื่อผู้อื่นได้
มีจุดเน้นอยู่ที่การเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพหรือเครื่องใช้ ได้แก่ “ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภค” นอกจากรู้จักพอดีในการกินแล้ว ความพอดีในการเสพความบันเทิงก็สำคัญ ข้อปฏิบัติในส่วนนี้คือ “ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน” ที่น่าสนใจในข้อนี้คือ “มีวันปลอดการบันเทิงอย่างน้อยเดือนละ ๑ วัน”
นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติเพื่อการอยู่อย่างประหยัดเรียบง่าย คือ “ดูแลของใช้ของตนเองและทำงานของชีวิตด้วยตนเอง”
หมวดนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคบริโภคนิยม ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้นเร้าให้เสพจนงมงายมืดมัว หากไม่มีข้อปฏิบัติหรือข้อกำหนดที่เป็นรูปธรรม ก็ง่ายที่จะพลัดหลงจนเป็นทาสของสิ่งเสพ โดยเฉพาะความบันเทิงเริงรมย์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นอบายมุขอย่างใหม่
ข้อสุดท้ายของหมวดนี้คือ “การมีสิ่งบูชาสักการะประจำตัวเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ” ข้อนี้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อการมีท่าทีอย่างถูกต้องต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระพุทธรูป หรือพระธาตุ นั่นคือไม่ใช่บูชาเพื่อหวังผลดลบันดาลให้สำเร็จทางโลก แต่ถือเป็นอนุสติเพื่อการทำความดีตามหลักการของชาวพุทธ คือ ฝึกตน พึ่งความเพียร และไม่ประมาท
พระรัตนตรัยในที่นี้มิได้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วางไว้บนหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชา หรือหวังผลดลบันดาลอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่หมายถึงแบบอย่างอันควรแก่การดำเนินรอยตามหรือเป็นอุดมคติในการดำเนินชีวิต
หลักชาวพุทธ ทั้ง ๕ หลักการ และ ๑๒ ปฏิบัติการ นับได้ว่าเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตอันประเสริฐที่เหมาะกับยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ครอบคลุมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน โดยอาศัยหลักไตรสิกขา ไตรสรณคมน์ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ สามารถเป็นเครื่องกำกับชีวิตไม่ให้พลัดลงไปในกระแสบริโภคนิยมนิยมอันเชี่ยวกราก หรือหลงงมงายกับลัทธิหวังผลดลบันดาลที่กำลังแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ชาวพุทธมีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมส่วนรวม
หากจะมีสิ่งใดที่น่าเพิ่มเติมในหลักนี้ก็เห็นจะเป็น ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ชาวพุทธไทยในปัจจุบันไม่สู้จะให้ความสำคัญเท่าไร ยิ่งปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อนมากจนเราสามารถมีส่วนร่วมในการเบียดเบียนผู้อื่นผ่านอาชีพการงานได้ นอกเหนือจากการค้าขายอาวุธ มนุษย์เนื้อสัตว์ ของเมา และยาพิษ ซึ่งพุทธศาสนาถือว่าเป็น มิจฉาวณิชชาอยู่แล้ว
ในข้อนี้สิกขาบทของคณะสงฆ์หมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ น่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับชาวพุทธไทยได้ กล่าวคือ “ขอเธออย่าได้ประกอบอาชีวะอันก่อให้เกิดภัยต่อมนุษย์และธรรมชาติ อย่าเข้าร่วมลงทุนในบริษัทกิจการใด ที่กำจัดโอกาสในการหาเลี้ยงชีวิตของผู้อื่น จงเลือกอาชีวะซึ่งช่วยให้เธอประจักษ์ในอุดมคติแห่งการุณยธรรม”
จุดเด่นประการหนึ่งของหลักชาวพุทธที่ควรย้ำในที่นี้ก็คือ การมีข้อปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ลำพังความตั้งใจว่าจะ “ทำให้ดีที่สุด” นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะเลื่อนลอย และมักจะไร้ความหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตั้งจิตแน่วแน่ที่จะทำความดีอย่างเป็นรูปธรรม (เช่น ทำสมาธิวันละ ๑๐ นาที บำเพ็ญทานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง มีวันปลอดการบันเทิงอย่างน้อยเดือนละ ๑ วัน) ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดีนี้แหละที่เรียกว่า “อธิษฐาน” ซึ่งมิได้แปลว่าการตั้งจิตร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน