ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง คือ พวกเราเป็นสัตว์โลกที่ต้องอาศัยและพึ่งพิงพ่อแม่และคนอื่นๆ ในการเลี้ยงดู อุ้มชูยาวนานที่สุด ในฐานะสัตว์สังคมเราต้องอาศัยระบบความสัมพันธ์ในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ประเทศ จนถึงระดับโลก แตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่นที่ใช้เวลาพึ่งพิงพ่อแม่ไม่นานนัก อย่างมากที่สัตว์ทั่วไปพึ่งพิงก็คือ ระดับฝูงที่มันสังกัดอยู่ อย่างมากที่สัตว์เหล่านี้ต้องพึ่งพิง คือ อาศัยอาหาร สภาพแวดล้อมที่เป็นไปและมีอยู่ตามธรรมชาติ
ข้อจำกัดของคนเราที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นเช่นนี้ บรรพบุรุษต่างตระหนักรู้ดี และได้สร้างระบบความสัมพันธ์และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพร้อมรับกับข้อจำกัดดังกล่าว วัฒนธรรมประเพณีที่ก่อให้เกิดชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน รวมถึงศาสนา ศีลธรรมที่สอนพวกเราให้ประพฤติดี มีเมตตากรุณาและไม่เบียดเบียนระหว่างกัน สติปัญญาของมนุษย์ทำให้มนุษย์รู้ว่าการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาข้ามพ้นข้อจำกัดบางอย่าง แต่ด้วยสติปัญญาที่ฉลาดเหลือล้ำ พวกเราสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงศาสตร์ความรู้ต่างๆ มากมายเพื่อพัฒนาคุณภาพที่สะดวกสบายมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บที่เคยคุกคามชีวิตเริ่มลดน้อย (พร้อมกับโรคภัยใหม่ๆ ก็ยังคงมีตามมา) พัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคมที่เปิดเสรี สามารถตอบสนองต่อกิเลสความอยาก ความโลภภายในใจของพวกเราให้แสดงออกได้เสรี ด้วยระบบบริโภคนิยมโดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง ดังเช่น การเดินทาง การเจ็บป่วย การศึกษาเรียนรู้ การเสพสิ่งบันเทิงต่างๆ การบริโภค อุปโภคต่างๆ สภาพข้อจำกัดของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการแสวงหาของพวกเราอีกต่อไป
แท้จริงข้อจำกัดของพวกเราต่อสภาพชีวิต สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้ลดน้อยลง มันเพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้า ปริมาณเงิน งบประมาณ รายได้ที่มีจำกัด กลับกลายเป็นข้อจำกัดใหม่ในสังคมปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น คือตัวอย่างของสภาพเงื่อนไขข้อจำกัดที่กระทบผู้คนในสังคม ต้นทุนสินค้า ค่าขนส่ง ค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถกระทำตามความอยากที่ปรารถนาได้
จะทำอย่างไรดี กับข้อจำกัดของเงินในกระเป๋า กับความอยาก ความต้องการในจิตใจที่คอยเฆี่ยนตีเมื่อเราไม่สามารถตอบสนองมันได้
บริโภคนิยม เงินตรา ระบบเศรษฐกิจในตลาดเสรีได้กลายเป็นมาวัฒนธรรมที่แวดล้อมในสังคมปัจจุบัน การทำงานหนักเพื่อได้มาซึ่งรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษามาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นหรือเท่าเดิม ถือเป็นความมั่นคงที่สำคัญยิ่ง ปัญหาคือ คนร่ำรวยที่มีเงินร่วมล้านบาทย่อมรู้สึกว่าตนยังไม่มั่นคง จะมั่นคงกว่าถ้ามีเงินสัก 10 ล้านบาท เหมือนกับทุกคนที่รู้สึกว่าเงินเดือน 12,000 บาทย่อมดีกว่า มั่นคงกว่า 10,000 บาท มันเป็นความมั่นคงที่ตอบสนองในทางจิตใจ เรารู้สึกว่าเรามีหลักประกันมั่นคงในชีวิตได้จากตัวเลขในบัญชีธนาคาร ในทรัพย์สินที่ถือครอง สิ่งนี้เป็นความจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ มันไม่ใช่ทั้งหมด และสิ่งที่โชคร้ายคือ ความมั่นคงนี้ไม่มีวันหยุด และไม่มีการลาพักร้อน เพราะทันที่หยุดหรือลาพักร้อน ความไม่มั่นคงก็ตามมาทันที
การวิ่งหาความมั่นคงที่ไม่มั่นคงเช่นนี้ จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ชีวิตต้องอยู่กับการทำงาน หารายได้ และการบริโภคเท่านั้น มิติชีวิตด้านอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ คือ เรื่องของธรรมะ เรื่องของการรู้จักตนเอง จึงต้องถูกจัดให้อยู่ในความสำคัญลำดับท้ายๆ
การไม่รู้จักสิ่งหรือเรื่องสำคัญบางอย่าง จึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในอีกลักษณะ ความรู้ ความจริงบางอย่างเป็นเรื่องที่เราควรรู้ ขณะที่บางเรื่องนั้นคือ เรื่องที่เราต้องรู้ เพราะถ้าเราไม่รู้ ต้นทุนที่ต้องจ่าย คือ ความทุกข์ทรมานในจิตใจ
ครั้งหนึ่งในงานสัมมนา “ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” สำหรับญาติผู้ป่วยซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล รวมถึงกับตนเองด้วย ใจความสำคัญที่ญาติผู้ป่วยเหล่านี้มักพูดบ่อยๆ คือ “เราไม่รู้ เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน” “เราไม่เข้าใจสิ่งที่หมอ (หรือคนอื่น) ทำ” “เราไม่รู้ว่าต้องพูด ต้องปลอบกับคนป่วย กับคนที่เรารักซึ่งกำลังจากไปอย่างไรดี” ภายใต้สภาพความไม่รู้เป็นสภาพข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาส บีบคั้นความหวังให้เหลือน้อยลง ทุกข์ทรมานกับสภาพถูกบีบคั้น และหนีออกจากมันไม่ได้ ความไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดีกับบุคลที่รักยิ่งซึ่งกำลังจะจากไป เป็นความทุกข์ทรมาน แต่ความไม่รู้ที่สร้างข้อจำกัดมากกว่า มองเห็นได้ยาก และสร้างความทุกข์ยากมากที่สุดคือ การไม่รู้จักตนเอง
การรู้จักตนเองในข้อนี้นั้น ไม่ได้จำกัดความหมายเพียงการรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร ชอบ ไม่ชอบอะไร มีปฏิกิริยาความรู้สึกกับอะไร อย่างไร ลักษณะเหล่านี้ล้วนเป็นอัตลักษณ์ที่เรายึดถือในความมี ความเป็น สิ่งสำคัญของการรู้จักตนเองในที่นี้คือ การตระหนักรู้ต่อความยึดมั่นถือมั่นในอัตลักษณ์ ตระหนักรู้ถึงความไม่คงทน ความแปรเปลี่ยนไปของอัตลักษณ์ และสิ่งสำคัญคือ การตระหนักถึงความทุกข์ของการยึดมั่นถือมั่น และรู้ว่าเราสามารถปล่อยวางซึ่งอัตลักษณ์นั้นได้ ไม่จำเป็นต้องยึดถือไว้ตลอด และทั้งหมดก็เป็นการกระทำภายใต้ภาวะจิตใจที่สุข สงบ สันติ โดยไม่ได้โกรธขึ้ง หรือถูกบีบคั้นแต่อย่างใด
ความรู้บางอย่างเป็นเรื่องที่เราควรรู้ ขณะที่บางเรื่องคือ ‘เรื่องที่เราต้องรู้’ เพราะถ้าเราไม่รู้ ต้นทุนที่ต้องจ่ายคือความทุกข์ทรมานในจิตใจ
การปล่อยวางซึ่งการยึดมั่นถือมั่นในอัตลักษณ์ จึงเป็นที่มาที่ช่วยให้เราได้ก้าวพ้นข้อจำกัดเหล่านี้ไปได้บ้าง เช่นเดียวกับการปล่อยวางซึ่งความเชื่อผิดๆ ในเรื่องความมั่นคงที่มุ่งมองแต่ตัวเลขในบัญชีธนาคาร ยอดรายได้ประจำเดือน ตัวอย่างเปรียบเทียบที่อาจชี้ชัดเจนในเรื่องนี้คือ มือที่กำแน่น ย่อมไม่สามารถน้อมรับสิ่งใด แตกต่างจากมือที่ปล่อยวาง ย่อมพร้อมที่จะแบออกเพื่อรับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา
เพราะอคติ ความไม่รู้ ความเข้าใจผิดๆ ไม่ใช่หรือที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจคนอื่น ไม่สามารถรักคนอื่นได้ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็เนื่องเพราะอคติเหล่านี้นั่นเอง ในมิติระดับบุคคล ชุมชน สังคม ประเทศจนถึงระดับสังคมโลก การรู้จัก เท่าทัน และสามารถก้าวข้ามจนถึงปล่อยวางซึ่งอคติที่แฝงฝังอยู่ในตัวเราในทุกระดับความสัมพันธ์ จึงเป็นภารกิจสำคัญของการดำเนินชีวิต
บางทีจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การจัดการความรู้และความจริงของพวกเราในทุกวันนี้คือ การแยกแยะให้ได้ว่า อะไรคือ สิ่งที่เราต้องรู้ อะไรคือ สิ่งที่เราเพียงแค่ควรรู้ หรืออะไรคือ สิ่งที่เราเพียงอยากรู้เพื่อสนองกิเลสและความอยาก เพื่อที่ว่าเราจะได้จัดสรรพลังชีวิตที่เหมาะที่ควร และแบ่งปันพลังชีวิตเพื่อใช้กับการจัดการ ก้าวข้ามอคติ ความไม่รู้ในเรื่องสำคัญของชีวิต