“วันนี้คุณมีจตุคามรามเทพแล้วหรือยัง?” นี้เป็นคำถามซึ่งเรียกได้ว่ากำลังฮิตติดปากผู้คนทั้งประเทศในเวลานี้ แต่เห็นจะเอามาใช้กับคนนครศรีธรรมราชไม่ได้ เพราะคงมีกันทั่วทั้งจังหวัดแล้ว คำถามที่น่าจะเหมาะกว่าก็คือ “วันนี้คุณขายจตุคามรามเทพแล้วหรือยัง?”
ว่ากันว่าในตัวเมืองนครฯ ขณะนี้ ไม่ว่าร้านอะไร จะเป็นร้านขายยา ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านของชำ ร้านเครื่องถม ร้านกาแฟ หรือร้านขนมจีบซาลาเปา ฯลฯ ล้วนมีตู้ขายจตุคามรามเทพตั้งอยู่หน้าร้านทั้งสิ้น ยิ่งบริเวณรอบวัดพระธาตุวรมหาวิหารด้วยแล้ว แม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ก็ยังมีจตุคามรามเทพวางขายในตู้กระจก ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารายได้จากการขายสินค้าตัวใหม่นี้ทำกำไรได้ดีกว่าอาชีพเดิมหลายเท่าตัว
“เจ๊แมว” เจ้าของร้านกาแฟ เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งแขวนจตุคามฯ เหมือนกับคนทั่วไป แต่ที่แปลกก็คือ ร้านของเธอเป็นร้านเดียวบนถนนหน้าวัดพระธาตุฯ ที่ไม่มีตู้ขายจตุคามฯ แถมไม่มีโปสเตอร์โฆษณาจตุคามฯ ไม่ว่ารุ่นไหนติดในร้านเลย เธอเล่าว่า เคยมีคนมาติดต่อขอตั้งตู้ ให้เงินเปล่าๆ วันละ ๓,๐๐๐ บาท แต่เธอปฏิเสธ เหตุผลก็คือ “มันไม่สมควร”
เธอขยายความว่า การขายจตุคามฯ เป็นเรื่องพุทธพาณิชย์ เป็นการขายพระกิน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่สอนนักสอนหนาว่าอย่าทำ เธอก็เลยไม่ทำ “เราขายกาแฟของเราอย่างนี้ดีกว่า”
เจ๊แมวยอมรับว่าขายจตุคามฯ แล้วรวยเร็ว ใครที่เป็นหนี้ก็หลุดหนี้ทันที แต่เธอไม่ยอมที่จะทำอย่างคนอื่น “ต่อให้มีหนี้เป็นแสน ทำแล้วหลุดหนี้ ก็ไม่เอา เป็นหนี้ดีกว่า เราไม่อยากขายพระกิน” เธอยังให้เหตุผลต่อไปว่า “คิดแล้วมันรันทด พ่อแม่สอนมาว่า ทำมาหากินให้ได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานตัวเอง ไม่ใช่เอาพระมาหากินง่ายๆ ทำอย่างนี้ (ขายกาแฟ) ขายไปทุกวัน ฉันก็ได้กินอยู่แล้ว”
ในยุคที่ผู้คนเห็นเงินเป็นใหญ่ ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมากๆ และไวๆ เจ๊แมวกลับถือเอาคุณธรรมหรือความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญกว่าเงินทอง ในขณะที่ผู้คนถือเอาความร่ำรวยเป็นสรณะ เจ๊แมวเป็นคนหนึ่งซึ่งปฏิเสธสรณะดังกล่าว สำหรับเธอเพียงแค่พอกินก็พอแล้ว “บางคนเขาก็ว่าเจ๊โง่ เราคิดว่ายอมโง่ดีกว่า โง่แต่ไม่อด”
ในยุคคลั่งจตุคามฯ และบูชาความร่ำรวย เจ๊แมวกลายเป็นคนประหลาด เหตุผลของเธอดูเผินๆ เหมือนเหตุผลของปัญญาชนที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาแนวปฏิรูป แต่ที่จริงเธอเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากบรรพบุรุษ บ่อยครั้งเธอจะอ้างถึงคำสอนของพ่อแม่และปู่ย่าตายาย “พ่อแม่สอนมา คนแก่คนเฒ่าสอนมา เรารู้เราเห็นว่ามันผิด ถ้ามันผิด แล้วจะทำไปทำไม”
เจ๊แมวไม่ใช่คนสมัยใหม่ จะว่าไปแล้ว เธอเป็นตัวแทนของชาวพุทธแบบชาวบ้านสมัยก่อน ซึ่งไม่ได้เรียนพุทธศาสนาจากตำรา แต่เรียนจากพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เป็นเพราะเหตุนี้เธอจึงไม่ได้ปฏิเสธจตุคามฯ หรือวัตถุมงคล ที่คอของเธอก็แขวนจตุคามฯ ด้วยเหมือนกัน แสดงว่าเธอเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคงรวมถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วย ก็เพราะเชื่อและศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้แหละ เธอจึงเห็นว่าการเอาของสูงเหล่านี้มาหากินเป็นสิ่งที่ผิด ในทำนองเดียวกันการเอาแต่พึ่งพาอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนไม่เป็นอันทำงาน ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน แต่จะต้องพากเพียรพยายามด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง
ชาวพุทธสมัยก่อน ไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังนับถือเทพ ไม่ว่าเทพในลัทธิพราหมณ์ ศาสนาฮินดู หรือเทวดาท้องถิ่น รวมไปถึงนับถือผีด้วย พูดง่ายๆ คือ นับถือพุทธและ ไสย ไปพร้อมกัน ดูเหมือนงมงายในสายตาของชาวพุทธแบบปัญญาชน แต่ชาวพุทธสมัยก่อนสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นพุทธ เป็นพราหมณ์ หรือเป็นผี และควรมีท่าทีที่แตกต่างกันอย่างไร
เจ๊แมวสะท้อนท่าทีดังกล่าวอย่างชัดเจน เมื่อพูดถึงการปลุกเสกจตุคามฯ ว่า ควรจะต้องใช้พราหมณ์ ไม่ใช่พระ เธอจึงรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นพระไปนั่งเรียงเป็นแถวในพิธีเทวาภิเษก “เราทนดูไม่ได้ มันไม่น่าจะใช่กิจของสงฆ์” เธอยังอดบ่นไม่ได้ว่าเดี๋ยวนี้นิมนต์พระไม่ค่อยได้ เพราะท่านติดพิธีปลุกเสกจตุคามฯ “อีกหน่อยจะไปพบพระสงฆ์ ถ้าไม่มีแบงก์พัน เห็นทีจะไปเข้าพบลำบาก”
ไม่เพียงรู้ว่าอะไรเป็นพุทธ พราหมณ์ ผี อะไรเป็นบทบาทของพระ อะไรเป็นหน้าที่ของพราหมณ์แล้ว ชาวพุทธสมัยก่อนยังตระหนักดีว่า พุทธนั้นอยู่เหนือพราหมณ์และผี จึงยกให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ อยู่เหนือเทวดาและผี (หากเขาเหล่านั้นมาเห็นพระสงฆ์ร่วมพิธีปลุกเสกเทวดาหรือห้อยจตุคามฯ คงตะลึงไม่แพ้เจ๊แมว) ชาวพุทธบางคนแม้จะเป็นร่างทรง หมอธรรม หรือเป็น “ผีฟ้า” แต่ก็บูชาพระรัตนตรัยก่อนทำพิธี และต้องกราบพระสงฆ์ อีกทั้งยังต้องรักษาศีลและให้ทานตามคติพุทธศาสนา
ชาวพุทธหรือชาวบ้านสมัยก่อนนั้นเชื่อว่าเทพและผีมีอำนาจดลบันดาลให้เกิดผลที่พึงปรารถนาได้ เช่น โชคลาภ สุขภาพอนามัย แคล้วคลาดจากอันตราย ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ ทำมาค้าขึ้น (ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าประโยชน์ขั้นต้น หรือทิฏฐธัมมิกัตถะ) แต่ก็เห็นว่าชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากกว่านั้น ที่สำคัญก็คือบุญกุศล (เรียกว่าประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป หรือสัมปรายิกัตถะ) ซึ่งต้องอาศัยศีลธรรม ศีลธรรมไม่เพียงอำนวยอวยผลอันประเสริฐให้แก่ชีวิตนี้เท่านั้น หากยังมีอานิสงส์ไปถึงชีวิตหน้า และสามารถเป็นปัจจัยไปถึงพระนิพพาน อันเป็นประโยชน์ขั้นสูงสุด (ปรมัตถะ) ด้วยเหตุนี้ศีลธรรมหรือพุทธจึงอยู่เหนือ “ไสย” ยิ่งเชื่อว่าเทวดาทุกองค์ล้วนนับถือพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งถือว่า ไสยนั้นอยู่ต่ำกว่าพุทธ
ด้วยเหตุนี้ถึงแม้จะเชื่อเทพและผี แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้หวังพึ่งพาเทพและผี จนละทิ้งศีลธรรม ตรงกันข้ามยิ่งหวังผลจากเทพและผีมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องมั่นคงในศีลธรรมมากเท่านั้น หลวงพ่อแต่ก่อนเมื่อท่านจะให้วัตถุมงคลแก่ใคร จะกำชับให้ผู้นั้นตั้งอยู่ในศีลในธรรม เช่น ไม่ลักขโมย ไม่ผิดลูกเมียใคร วัตถุมงคลจึงจะอำนวยอวยผลดีให้อย่างที่ต้องการ จะว่านี้เป็นอุบายในการดึงคนเข้าหาศีลธรรมโดยอาศัยวัตถุมงคลเป็นสะพานก็ได้ แต่ไม่ว่าจะมองในแง่ใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นก็คือ วัตถุมงคลหรือไสยจะต้องมีพุทธหรือศีลธรรมกำกับเสมอ การเอาวัตถุมงคลมาขาย เงินใครถึงก็ได้ไป โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขศีลธรรมกำกับนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้เท่านั้น
นอกจากจะครอบครองวัตถุมงคลโดยอาศัยเงินล้วนๆ แล้ว การหวังพึ่งพาอำนาจของวัตถุมงคล จนไม่คิดจะพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงของตน เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของชาวพุทธในยุคนี้ ใครจะรวยหรือไม่ ทันใจแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าแขวนจตุคามรุ่นไหน หากแขวนถูกรุ่น ก็จะร่ำรวยชนิดอภิมหาโคตรเศรษฐีโดยไม่ต้องมีเหตุผลเลยก็ยังได้ แต่เจ๊แมวซึ่งเป็นผลผลิตของชาวพุทธสมัยก่อน บอกให้เรารู้ว่า ถึงแม้ชาวพุทธในอดีตจะเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้หลงใหลงมงายจนงอมืองอเท้า หากเห็นว่าจะต้องพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเป็นหลัก
กระแสจตุคามรามเทพที่กำลังไหลบ่าท่วมท้นทั้งประเทศ เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในปัจจุบันว่ากำลังเสื่อมถอยอย่างน่าตกใจเพียงใด จากเดิมที่อยู่เหนือไสย เวลานี้พุทธกลับอยู่ใต้ไสยอย่างสิ้นเชิง แม้แต่พระก็ยังกลายมาเป็นเครื่องมือปลุกเสกไสยทั่วบ้านทั่วเมือง ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ มิใช่ไสยเท่านั้น บริโภคนิยมก็กำลังครอบงำพุทธด้วยเช่นกัน
กระแสจตุคามรามเทพที่โหมแรงจนยากจะต้านทานได้นั้น เนื่องจากเป็นการผสานของสองลัทธิที่ทรงอิทธิพลมากในเมืองไทย คือ ลัทธิหวังผลดลบันดาล กับ ลัทธิบริโภคนิยม ในด้านหนึ่งบริโภคนิยมทำให้คนอยากรวยเพราะเชื่อว่าวัตถุสิ่งเสพเป็นที่มาของความสุข ยิ่งมีวัตถุสิ่งเสพในครอบครองมากเท่าไรก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ดังนั้นจึงถือเอาความร่ำรวยเป็นสรณะ แต่ยังไม่เสียหายมากนักหากอยากรวยแล้วขยันทำมาหากิน พึ่งความเพียรของตน แต่เดี๋ยวนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ อยากรวยอย่างเดียวไม่พอ ยังอยากรวยโดยไม่ต้องออกแรงอีกด้วย ตรงนี้เองที่ลัทธิหวังผลดลบันดาล เข้ามาตอบสนองอย่างพอเหมาะพอดี เพราะให้ความหวังว่าคุณสามารถรวยได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ขอเพียงอ้อนวอนบนบาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ถูกตัวหรือมีวัตถุมงคลที่ขลังก็แล้วกัน ทั้งสองลัทธินี้มาบรรจบและผสมผสานกันจนเป็นลัทธิจตุคามรามเทพ ซึ่งบ่งบอกตัวตน (และกิเลสของทั้งผู้สร้างและผู้ซื้อ) ด้วยชื่อรุ่นที่วนเวียนอยู่กับความร่ำรวยอย่างไม่รู้จักพอ
การหวังพึ่งพาอำนาจของวัตถุมงคล จนไม่คิดจะพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงของตน เป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของชาวพุทธในยุคนี้
จะว่าไปแล้ว จตุคามรามเทพ มิใช่ตัวปัญหา ความติดยึดหลงใหลในจตุคามรามเทพต่างหากที่เป็นตัวปัญหา หากแขวนจตุคามฯ แล้วขยันหมั่นเพียร ทำความดี อยู่ในศีลธรรม ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เวลานี้มีกี่คนที่คิดเช่นนั้น และมีพระกี่รูปที่สอนญาติโยมเช่นนั้น ความหลงใหลในจตุคามฯ กำลังพาผู้คนออกห่างจากสาระสำคัญของพุทธศาสนา อันได้แก่ การพึ่งตน การพัฒนาตน และความไม่ประมาท น่าแปลกก็คือกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ โดยที่ผู้เรียกร้องจำนวนไม่น้อยทั้งพระและฆราวาสก็มีส่วนในการส่งเสริมกระแสจตุคามรามเทพเสียด้วย (เช่น ปลุกเสก ขาย ซื้อ แขวน โฆษณา) ทำให้เกิดภาพที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นความหวังร่ำหวังรวยอย่างไม่รู้จักพอ ซึ่งถูกปลุกโดยกระแสจตุคามฯ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางการรณรงค์และแซ่ซ้องสรรเสริญเศรษฐกิจพอเพียง โดยคนที่หวังความร่ำรวยจากจตุคามฯ นั้นก็มักเป็นคนเดียวกับที่เปล่งเสียงเชิดชูเศรษฐกิจพอเพียงเสียด้วย
การไหลบ่าท่วมท้นของกระแสจตุคาม จึงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอ่อนแรง (หากไม่ใช่ความล้มเหลว) ของพุทธศาสนาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แม้กระนั้นความหวังก็ยังมี อย่างน้อยคนอย่างเจ๊แมวก็บอกเราว่ายังมีคนที่พร้อมจะทวนกระแส เพราะยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่กลัวโง่หรือกลัวจน ใช่หรือไม่ว่าคนเหล่านี้คือแสงสว่างท่ามกลางความมืดสลัว อีกทั้งยังเป็นความหวังของพุทธศาสนายิ่งกว่าข้อความเพียงไม่กี่ประโยคที่พยายามผลักดันให้ปรากฏในรัฐธรรมนูญเสียอีก
(ข้อมูลของ “เจ๊แมว” ได้มาจากบทสัมภาษณ์ของกฤษกร วงศ์กรวุฒิ และ ทองธรรม สุทธิสาคร ในนิตยสาร ฅ.ฅน ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐)