หมดสนุก

วิชิต เปานิล 30 สิงหาคม 2009

เหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากศึกษาพุทธศาสนา เพราะรู้สึกว่าถ้าลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ จังๆ แล้วชีวิตก็หมดสนุกกันพอดี

ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากเลิกเหล้า เลิกเที่ยวนะครับ หลายคนเห็นด้วยว่าการกินเหล้าเคล้าอบายมุขเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ที่เขากลัวคือกลัวจะหมดกิเลส พอไม่มีกิเลส ก็เลยหมดสนุกกับชีวิตไปเลย

บางคนรู้สึกว่าชีวิตแบบที่เขาเป็นอยู่ทุกวันนี้ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เศร้า เหงา ลิงโลดสลับกันไป เป็นชีวิตที่ตื่นเต้น มีรสชาติ เป็นสีสันของความเป็นคน

ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเกิดหมดกิเลสขึ้นมา แล้วไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่โศก ไม่เศร้า ไม่ได้หัวเราะหรือร้องไห้ ไม่ได้รัก ไม่ได้ห่วง รวมทั้งไม่ได้อกหักบ้าง ชีวิตคงเหี่ยวเฉา ไร้คุณค่า เรียกว่าเสียชาติเกิดมาเป็นคนก็ว่าได้

หลายคนบอกว่ายังอยากใช้กิเลสมาสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ อยากใช้อารมณ์ของคนเศร้า คนอกหัก มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนรูปหรือแต่งเพลงเหมือนที่ศิลปินระดับโลกทำไว้เป็นตัวอย่าง

ผมว่าเขาช่างคิด แล้วก็เป็นเหตุผลที่น่าฟังนะครับ

ดีกว่าคนที่ไม่สนใจธรรมะเพราะกลัวเชย กลัวเพื่อนว่าคร่ำครึ หรือคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

แล้วก็ยังดีกว่าชาวพุทธอีกหลายคน ที่ปฏิบัติกันอย่างงมงายไม่รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนทำอยู่

ถ้าจะให้ตอบน้องๆ กลุ่มนี้แบบเร็วๆ ผมก็จะบอกว่า ลุยเลยน้อง เรียนรู้กับชีวิตนี้ให้เต็มที่ ขออย่างเดียวศีล ๕ พยายามรักษาให้ได้

แล้วเมื่อไหร่ที่รู้สึกเต็มอิ่มแล้วกับชีวิตนี้ หรือทุกข์ทน เบื่อหน่าย สิ้นหวังกับชีวิต อยากขอให้กลับมาศึกษาเรียนรู้ธรรมะอย่างจริงจังอีกสักครั้ง แล้วน้องจะรู้ว่าการสิ้นกิเลสไม่ได้เท่ากับชีวิตที่จืดชืดไร้สีสัน

แต่ถ้าจะให้อธิบายเรื่องนี้กันยาวหน่อย ก็ต้องเริ่มที่ว่าน้องเขาเข้าใจเรื่องกิเลส ตัณหา หรือความสิ้นไปของกิเลสคลาดเคลื่อนไป ทำให้เข้าใจผิดไปว่าหมดกิเลสก็หมดสนุกในชีวิตไป

ปัญหาอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาคือตัวเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติ หรือนิพพานนั้น ดูจะเป็นของสูง เป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม ไม่มีใครอยากพูดถึง ไม่มีธรรมเนียมว่าจะเอามาพูดถึงกันทั่วไป และเมื่อนำมาพูดแล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะเข้าใจกันได้ง่ายๆ

เมื่อใดที่พูดถึงนิพพาน อาจถูกตั้งคำถามว่าแน่ใจแล้วหรือ ว่าเป็นจริงดังที่พูด ได้สัมผัสมาแล้ว เข้าถึงแล้วหรือถึงได้มาพูดให้คนอื่นฟัง

ด้วยเหตุนี้ ก็เลยไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงนัก

เมื่อเป้าหมายไม่ชัด ความเข้าใจต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายก็เลยพลอยคลาดเคลื่อนไปจากหลักที่ควรจะเป็นด้วย

จะไปโทษคนรุ่นใหม่ไม่ได้หรอกที่เขาคิดอย่างนั้น ก็คนรุ่นก่อนไม่เคยอธิบายให้เขาเข้าใจว่าการนิพพาน การหมดกิเลส มันเป็นอย่างไรกันแน่

แถมภาพของผู้ปฏิบัติธรรมที่เราคุ้นเคยกันก็เห็นแต่สวมชุดขาว ทำหน้าตาเฉยๆ ดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน บางแห่งก็ไม่ให้พูด นั่งหลับตา หน้าตูบกันทั้งวัน ดูแล้วก็หมดสนุกจริงๆ ครับ

ถ้าการหมดกิเลสทำให้เราเป็นเหมือนพืชผัก ไร้อารมณ์ ความรู้สึกต่อสิ่งรอบข้าง ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานดีๆ มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ได้ ผมเป็นคนหนึ่งละที่ยังไม่อยากจะหมดกิเลสกับเขาเหมือนกัน

แต่ความเข้าใจผมตอนนี้ ผมว่าคนที่บรรลุธรรมหมดกิเลสไม่น่าจะมีชีวิตจืดชืดแบบนั้น

แค่คำว่า ‘พุทธะ’ ที่เราให้ความหมายกันว่า ‘ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน’ นั้น ก็สื่อให้เห็นอย่างตรงกันข้ามแล้วว่า ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพุทธบุตรนั้นต้องมีภาวะของการรู้ การตื่น และมีความเบิกบาน คงไม่ไร้สีสันในชีวิตอย่างที่เข้าใจกันหรอก

ส่วนคนที่หมดกิเลสแล้ว ก็ไม่น่าจะหมายความว่าไม่มีแรงผลักดันใดๆ ให้เราคิดสร้างสรรค์ หรือมุ่งมั่นในการทำงาน

เรียนรู้ชีวิตให้เต็มที่ แล้วเมื่อไหร่ที่รู้สึกเต็มอิ่มหรือทุกข์ทน ก็ลองกลับมาศึกษาเรียนรู้ธรรมะอีกสักครั้ง

มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกมากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานของพระพุทธองค์หรืออรหันต์ที่เต็มไปด้วยความบากบั่น อุตสาหะ พร้อมทั้งรูปธรรมของพระเกจิอาจารย์หลายยุคหลายสมัย ที่ท่านทำงานแข็งขันกว่าพวกเรานับสิบนับร้อยเท่า จนสืบทอดพระศาสนามาถึงรุ่นเราได้อย่างสมบูรณ์

จริงๆ แล้วการสร้างสรรค์คิดค้นหรือทำงาน ไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหากระตุ้นก็ได้

พุทธศาสนาเสนอให้เราทำงานโดยใช้ความอยากประเภทฉันทะมาเป็นแรงจูงใจ แทนความอยากแบบตัณหา

ซึ่งความต่างมีอยู่นิดเดียวที่เป้าหมายของการสร้างสรรค์นั้น ว่าต้องการผลลัพธ์เป็นชื่อเสียง แสดงความยิ่งใหญ่เก่งกาจของตัวเอง หรือเพื่อคุณค่าคุณประโยชน์ของมันจริงๆ ต่อชีวิตหรือสังคม

ถ้าเราตั้งต้นที่ทำอะไรเพื่อตัวเอง ทำงาน ‘ของฉัน’ มักจะทำให้เราทุกข์ กังวล และยึดมั่นในงานที่เราทำ แต่ถ้าเราทำงานเพราะรักในงานชิ้นนั้น เพื่อให้ผลงานออกมาให้ดีที่สุด เหมาะสมกับเหตุปัจจัยที่มีอยู่ขณะนั้นที่สุด เราจะมีอิสระและไม่ทุกข์กับมัน ไม่ต้องกังวลว่าใครจะชอบหรือไม่ ขายได้หรือเปล่า

ไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหาเราก็สร้างสรรค์ทำงานที่ยิ่งใหญ่ได้ และทำได้อย่างเบาสบายมีความสุขกว่า และมีคุณภาพดีกว่าอีกด้วย

ส่วนกระบวนการปฏิบัติธรรมก็มีหลายเทคนิควิธีให้เลือก ก็ลองหาแบบที่เหมาะกับเรามาปฏิบัติฝึกฝนไป อาจไม่จำเป็นต้องใส่ชุดขาวนั่งหลับตาอย่างเดียวก็ได้ แต่ก็ต้องดูไม่ให้หลงทางไปนับถือบูชาติดยึดไปกับลัทธิที่งมงายให้เราไปพึ่งพิงอยู่กับสิ่งภายนอก

จริงๆ แล้ว กิเลสตัณหาช่วยผลักดันสร้างสรรค์ได้แต่สิ่งเร้าอารมณ์กระตุ้นให้โลดแล่นไปชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ความสงบนิ่งมั่นคงและความศรัทธาต่างหาก ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดความรู้และสิ่งที่มีคุณค่ามากมายนับไม่ถ้วนให้กับโลกนี้

การลดละกิเลส จึงไม่ได้ลดความสุข ความสนุก และพลังสร้างสรรค์ในตัวเราเลย…


ภาพประกอบ