เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากเลย หากมีโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับกลุ่มองค์กร ชุมชน สังคมระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก มันย่อมนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ สังคมที่ปล่อยปละละเลยให้คนในสังคมเกิดความยากจน ขาดแคลนในปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน การขาดเสียซึ่งการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีงามและมีคุณภาพ การดำรงชีวิตท่ามกลางความล่มสลายทางวัฒนธรรม และสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพิงตนเองของชุมชน การที่คนในสังคมต้องเผชิญอยู่กับอันตรายจากวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม หรืออยู่กับความหวาดกลัวต่อภัยจากอาชญากรรมและยาเสพติด เป็นต้น สภาพดังกล่าวนี้มันเป็นความรุนแรงในตัวมันเองอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มักจะนำไปสู่การจับอาวุธเข้าประหัตประหารกัน นำไปสู่การปะทุลุกลามขยายตัวของการใช้ความรุนแรง เกิดเป็นสงครามน้อยใหญ่ระหว่างผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารกับผู้ไร้อำนาจ ด้วยเหตุนี้ การสร้างสรรค์สันติภาพของสังคมให้ยั่งยืนในระยะยาว จึงสัมพันธ์กับแนวโน้มของปรากฏการณ์ความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคม
ในทางพุทธศาสนามองว่า รากเหง้าของความขัดแย้งซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุดนั้น นอกจากจะมาจากการขัดแย้งทางความต้องการผลประโยชน์ (ตัณหา) อันมีความละโมบเป็นตัวขับเคลื่อนแล้ว ยังมีรากเหง้าอีกอย่างน้อยสองประการที่สำคัญคือ ความขัดแย้งทางความเชื่อ หรือความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ (ทิฐิ) ที่กลุ่มหรือสังคมต่างยึดติดอย่างงมงาย จนถึงกับยอมไม่ได้หากจะมีใครมีความเห็นผิดแผกแตกต่างไปจากความเชื่อของตน ดังจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจาก สงครามระหว่างศาสนา สงครามเย็นระหว่างเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ เป็นต้น อีกประการหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งอันเนื่องความยึดติดในสถานภาพที่ตนเองสวมหัวโขนอยู่ (มานะ) เป็นการยึดติดในการเปรียบเทียบเรา เปรียบเทียบเขาว่า สูงหรือต่ำกว่า ซึ่งจะเห็นปรากฏการณ์ของความขัดแย้งนี้ออกมาเป็นการกดขี่ระดับจิตสำนึก เช่น การกดขี่ทางชนชั้น การกดขี่ระหว่างชาติพันธุ์เป็นต้น
ดังนั้น หากเราจะพยายามสร้างสรรค์สันติภาพในสังคมให้เกิดขึ้นจริงแล้ว ก็จำเป็นต้องเข้าใจรากเหง้าแห่งความขัดแย้งทั้งสามประการที่กล่าวมา โดยต้องทำความเข้าใจไปถึงว่า รากเหง้าดังกล่าวเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ได้อย่างไร มันมีพัฒนาขยายตัวอย่างมีอำนาจจนบงการให้มนุษย์ทำลายล้างซึ่งกันและกันได้อย่างไร และต้องเข้าใจถึงปัจจัย หรือวิธีการที่จะสกัดกั้นบรรเทาไม่ให้ห่วงโซ่ปัจจัยแห่งความรุนแรงขยายลุกลาม ในอีกด้านหนึ่งก็หมายถึง การฝึกฝนปฏิบัติเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการุณยธรรมที่มีในตัวมนุษย์อยู่แล้วให้งอกงามแทนเมล็ดพันธุ์แห่งความโลภ ความโกรธ และความหลง
ซึ่งมรรควิธีที่จะทำให้มองเห็นถึงรากเหง้าแห่งความขัดแย้ง และสามารถบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามขึ้นมานั้น พุทธศาสนาเห็นว่าการหมั่นเจริญสติ (การระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม) การทำสมาธิภาวนา (ความมั่นคงตั้งมั่นของจิตใจ) และการฝึกฝนทางปัญญา (ความรู้จริงทั้งระดับสมมุติและความจริงสูงสุด) เพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดของธรรมชาตินั้น เป็นวิธีการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพัฒนามนุษย์
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาชีวิตที่ดีงามเพื่อเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในทัศนะของพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเติบโตทางด้านจิตใจ และด้านปัญญาเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านกายภาพ และด้านพฤติกรรม หรือด้านสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนในสังคมด้วย
ด้านกายภาพนั้นหมายถึง มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ที่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมที่ดี สุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทรัพย์สินตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกที่เพียงพอแต่ไม่ถึงกับฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ในด้านพฤติกรรมหรือด้านสัมพันธภาพทางสังคมนั้น พุทธศาสนาได้เน้นให้คนในสังคมปฏิบัติตนอย่างเคารพต่อตัวเองและผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทำร้ายกันทางกายและวาจา ไม่กระทำการหรือประกอบอาชีพใดๆ ที่เป็นไปเพื่อทำลายความเป็นมนุษย์ หรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนอื่นพึงจะได้รับ นอกจากนี้ในด้านสัมพันธภาพทางสังคม พุทธศาสนายังให้ความสำคัญกับโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ต้องเป็นธรรม ไม่ว่าสังคมใดจะปกครองด้วยโครงสร้างอำนาจแบบใดก็ตาม ก็จำต้องมีธรรมะอันดีงามมากำกับการใช้อำนาจให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมขึ้น ไม่ทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
ไม่ว่าสังคมจะปกครองด้วยโครงสร้างอำนาจแบบใด ก็จำต้องมีธรรมะอันดีงามมากำกับให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
ดังนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่จะนำไปสู่สันติภาพและเป็นธรรม จึงควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
๑. เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่สนับสนุนให้ประกอบธุรกิจหรือใช้อำนาจรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไม่ทำให้คนยากจนส่วนใหญ่ยากไร้ขาดปัจจัยสี่มากขึ้น รวมถึงขาดแคลนในสิทธิต่างๆ ที่เขาพึงจะเข้าถึงได้ เช่น สิทธิในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น สิทธิในการจัดการศึกษา เป็นต้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การไม่อุดหนุนให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศยากจน จนเกิดเป็นความรุนแรงขึ้นมา
๒. เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่สนับสนุนให้ประกอบธุรกิจหรือใช้อำนาจรัฐ เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมเกิดความโลภ หรือตกอยู่ในอำนาจของลัทธิบริโภคนิยม เกิดความโกรธหรือนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เกิดความหลง หรือทำให้คนในสังคมตกไปสู่ความงมงาย หรือหลงผิดจากการบิดเบือนความจริง ดังเช่น ธุรกิจสื่อบันเทิงกระตุ้นราคะจริต และโลภจริต ธุรกิจการค้าขายอาวุธสงคราม ธุรกิจสื่อมวลชนที่เสนอข่าวสารบิดเบือนความจริง เป็นต้น
๓. เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่สนับสนุนให้ประกอบธุรกิจหรือใช้อำนาจรัฐ เพื่อส่งเสริมการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำลายความดีงามภายในของมนุษย์ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตนเองของชุมชนรากหญ้าต่างๆ เป็นต้น
๔. เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่สนับสนุนให้ประกอบธุรกิจหรือใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากการค้าแบบเก็งกำไร โดยอาศัยเล่ห์เพทุบายกับอำนาจทางการเงินเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบ และยังทำให้คนในสังคมจมปรักอยู่กับวงจรแห่งการเก็งกำไร ดังเช่นการเก็งกำไรจากการค้าเงิน และจากตลาดหุ้น เป็นต้น
๕. เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่สนับสนุนให้ประกอบธุรกิจหรือใช้อำนาจรัฐ ที่ทำให้เกิดการดัดแปลงหรือทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต จนธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตวิปริตเสียสมดุลไป รวมถึงการผลาญทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างสาดเสียเทเสีย
๖. เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินจัดการในทุกระดับ ส่งเสริมให้ประชาชนมีสำนึกในการสร้างความร่วมมือ เพื่อรวมกลุ่มในการจัดการดูแลรักษาประโยชน์ที่เขาพึงจะได้รับ
ในทางปฏิบัติ หากจะทำให้เกิดโครงสร้างสังคมที่เป็นธรรมดังกล่าวได้จริงแล้ว เราควรให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม เพื่อหล่อหลอมเปลี่ยนแปลงคนในสังคมให้ครบถ้วนทั้งด้านกายภาพ ด้านสัมพันธภาพ ด้านจิตใจและด้านปัญญา เพื่อให้เขารู้เท่าทันโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรม และสามารถแสวงหาทางเลือกออกจากโครงสร้างดังกล่าว ไปสู่โครงสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น