ศาสนาเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม

พระไพศาล วิสาโล 29 กรกฎาคม 2006

เชื่อกันมานานกว่าร้อยปีในหมู่นักคิดและนักวิชาการในตะวันตกว่า ศาสนาจะสูญหายไปจากโลกนี้ในศตวรรษที่ ๒๐ เพราะไม่อาจต้านทานอำนาจของเหตุผลและวิทยาศาสตร์ได้  แม้จะพบในเวลาต่อมาว่า การคาดคะเนดังกล่าวไม่ถูกต้อง  แต่จวบจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็ยังมีความเชื่อในหมู่นักคิดทางสังคมวิทยาจำนวนมากว่า ศาสนาจะหายไปเมื่อศตวรรษที่ ๒๑ มาถึง  นักมานุษยวิทยาด้านศาสนาซึ่งมีชื่อเสียงคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวไว้เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วว่า “อนาคตของศาสนากำลังวิวัฒน์ไปสู่ความดับสูญ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติที่ฝืนกับกฎธรรมชาติจะเสื่อมถอย และกลายเป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้นเอง”

แต่มาถึงวันนี้ ไม่มีนักคิดนักวิชาการตะวันตกคนใดกล้าทำนายว่าศาสนาจะเสื่อมสูญหรือเสื่อมถอยอีกต่อไป เพราะเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนว่า ในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมาศาสนาได้ฟื้นขึ้นมาแทบทุกมุมโลก  และมีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะในชีวิตส่วนตัวของผู้คนเท่านั้น หากยังมีอิทธิพลในทางการเมืองหรือกิจการสาธารณะ  ในหลายประเทศ พลังของศาสนาสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาลและระบอบปกครอง  หนังสือทางด้านศาสนาติดอันดับขายดีทั่วโลก ขณะที่สัญลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าสูงในตลาด อีกทั้งยังมักถูกนำมาใช้ในการโฆษณาให้กับสินค้าชนิดอื่นๆ  มิพักต้องกล่าวว่ายอดเงินบริจาคเพื่อกิจการสาธารณะส่วนใหญ่ยังเป็นเงินบริจาคที่มีจุดประสงค์ทางศาสนา

หลายปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า ศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ได้มีการฟื้นตัวและเติบใหญ่ทั้งในประเทศที่รับนับถือศาสนาเหล่านี้มาแต่ดั้งเดิม และในประเทศใหม่ๆ ทางตะวันตกและอาฟริกา  กล่าวได้ว่าการฟื้นตัวและเติบใหญ่ของศาสนาเหล่านี้ เป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างขนานใหญ่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  การอพยพโยกย้ายเข้าสู่เมือง ความเสื่อมสลายของครอบครัวและชุมชนดั้งเดิม ได้ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และตึงเครียด  ขณะเดียวกันค่านิยมอย่างใหม่และการแข่งขันกันทางวัตถุ ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย และว่างเปล่าทางคุณค่า เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ  มิพักต้องกล่าวถึงการโถมถั่งของวัฒนธรรมจากตะวันตก ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนกำลังถูกคุกคาม  ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากกลับมาหาศาสนา ในฐานะเสาหลักหรือที่พึ่งพิงอันจะสร้างความมั่นคงให้แก่จิตใจ

ศาสนากับการบำบัดทุกข์ในสังคม

ไม่มีใครเถียงว่า บทบาทดังกล่าวของศาสนาไม่มีความสำคัญ  ในฐานะสิ่งพึ่งพิงหรือเสาหลักทางจิตใจ  ศาสนาได้ช่วยทำให้ผู้คนมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต มั่นใจในอัตลักษณ์ของตน และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและเป็นสุขพอสมควรท่ามกลางกระแสสังคมอันซับซ้อนและเชี่ยวกราก  บทบาทดังกล่าวของศาสนาได้ช่วยลดความทุกข์ในจิตใจของผู้คนจำนวนมหาศาลอย่างที่สถาบันสมัยใหม่แบบโลกๆ ไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ศาสนาไม่ควรจำกัดบทบาทเพียงแค่การสร้างความสงบสุขส่วนบุคคลให้แก่ศาสนิกในศาสนาของตนเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันมีความทุกข์มากมายเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม  ซึ่งมิใช่แค่ความทุกข์ทางใจอันเนื่องจากความว้าเหว่ โดดเดี่ยว ขาดจุดหมายในการดำเนินชีวิตเท่านั้น  หากยังเป็นความทุกข์เพราะยากจนข้นแค้น ขาดปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิต ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการทางการแพทย์  ทั้งนี้เนื่องจากถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งโดยตัวบุคคล และโดยโครงสร้าง  เช่น ถูกกดค่าแรง ถูกกดราคาพืชผล ทรัพยากรสาธารณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ (เช่น ป่า ที่ดิน น้ำ) ถูกแย่งชิง  รวมไปถึงการจัดสรรบริการของรัฐและการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมือง เช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรวมตัว สิทธิในการชุมนุมประท้วง รวมทั้งสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นสิทธิที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตน

ความทุกข์ของผู้คนในสังคมปัจจุบัน มิใช่แค่ความทุกข์ทางใจอันเนื่องจากความว้าเหว่ โดดเดี่ยว หรือขาดจุดหมายในชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นความทุกข์เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งโดยตัวบุคคล และโดยโครงสร้าง

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างไม่เคยมีมาก่อน และดำรงอยู่ท่ามกลางความฟุ้งเฟ้อร่ำรวยอย่างมหาศาลของคนจำนวนน้อย นี้คือความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด  ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวโดยตัวมันเองต้องถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ผู้คนนับล้านๆ ต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากความยากจน ความหิวโหย และโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน  ขณะเดียวกันความไม่เป็นธรรมดังกล่าวยังผลักดันให้ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วง ซึ่งมักลงเอยด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการสังหารหรือทารุณกรรมต่อผู้นำการชุมนุม  และหากความไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อแล้ว ในที่สุด การก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังอาวุธ ย่อมเป็นทางออกของผู้ถูกกระทำ ดังเกิดขึ้นในศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น

ความไม่เป็นธรรมและความรุนแรง คือสภาพความเป็นจริงที่ประจักษ์แก่ศาสนิกชนในหลายประเทศในเอเชีย  และปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพความเป็นจริงดังกล่าวคือสิ่งที่สวนทางกับหลักการของทุกศาสนา ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม  ศาสนาเหล่านี้กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสงบสุข โดยเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต และตระหนักถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของทุกชีวิต  ศาสนาเหล่านี้มิได้สอนให้เราแสวงหาความสุขเฉพาะตน แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้มีความสุขด้วย  “ผู้อื่น” ในที่นี้มิได้หมายถึงครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือมิตรสหายเท่านั้น หากควรรวมถึงผู้คนทั้งหลายในสังคม  ด้วยเหตุนี้การขจัดความไม่เป็นธรรมและความรุนแรง เพื่อฟื้นฟูความยุติธรรมและสันติภาพขึ้นในสังคม จึงเป็นภารกิจที่ศาสนิกชนทั้งหลายมิอาจละเลยได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา