อิ่มเอิบใจในงานอาสา

เครือข่ายพุทธิกา 4 มกราคม 2023

เรื่องเล่าจากอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล กับผู้ป่วยไร้ญาติ ความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ที่อ่านแล้วใจฟูตาม


Ep 1 เพราะอุบัติเหตุ!

ตุลาคม 2565 ณ โรงพยาบาลราชวิถี

ลุงวัยอายุ 70 กว่า เป็นผู้ป่วยไร้ญาติ มีอาการทางประสาททำให้กล้ามเนื้อแขนและขาด้านขวาลีบ ไม่สามารถใช้งานได้

คุณลุงต้องใช้ไม้สามขาช่วยเดิน คุณลุงแต่งกายสะอาด เรียบร้อย และดูเป็นกันเอง

ณ. วันนั้น ช่วงระหว่างที่จิตอาสาลุงจู๊ด (ผมเอง) กำลังดูแลผู้ป่วยท่านอื่น ก็ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือดังมาก

ภาพที่หันไปเจอคือ คุณลุงที่กำลังจะหกล้มบริเวณบันไดเลื่อนขึ้นไปเจาะเลือดชั้น 2 โดยที่คุณลุงพยายามช่วยเหลือตัวเอง นำไม้ 3 ขาขึ้นบันไดเลื่อนไปด้วย ซึ่งมือของคุณลุงยังจับราวบันไดเลื่อน ทำให้ตัวคุณลุงถูกลากขึ้นไป ในขณะที่ตัวคุณลุงกำลังล้มตามแรงดึงของราวบันไดเลื่อน

ผมจึงขออนุญาตคนไข้คนที่กำลังดูแลอยู่ เพื่อวิ่งเข้าไปประคองคุณลุงไม่ให้ล้มและดึงมือคุณลุงออกจากราวบันไดเลื่อนทันที

ในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลหรือ น้องที่ช่วยจัดคิวลิฟท์วิ่งเข้ามาสมทบ

ตั้งแต่จุดคัดกรอง ไม่ใครเห็นคุณลุง จากที่สอบถามมา คุณลุงพยายามช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ไม่ขอรถเข็น ไม่อยากรบกวนใคร เพราะมาประจำ

ผมได้ถามคุณลุงแล้วว่า คุณลุงมากับใคร มีญาติมาด้วยหรือเปล่า

คุณลุงตอบว่า “ผมมาคนเดียวครับ ไม่มีญาติ”

พอได้ยินเช่นนั้น ผมจึงขอโอกาสคุณลุงที่จะดูแลคุณลุงไปถึงห้องตรวจ ซึ่งคุณลุงดูไม่อยากรบกวน และถามผมว่า “คุณเป็นใคร” ผมจึงตอบว่า “เป็นอาสาสมัครครับ”

หลังจากนั้นคุณลุงก็ตอบตกลงให้ผมช่วยดูแลไปตลอด แบบ end to end

ในระหว่างทางที่ผมต้องเดินเอกสาร เช่น ตรวจสอบสิทธิ์ในการชำระเงินและไปตามจุดต่างๆ เห็นคุณลุงไม่ขอความช่วยเหลือเลย จนผมเอ่ยปากคุยกับคุณลุงถามว่า “พอมีอะไรให้ผมช่วยมั้ยครับ” เพื่อให้คุณลุงคลายความกังวล

คุณลุงถามผมว่า “คุณมาทำกี่วัน และทำวันไหนบ้าง”

และพูดกับผมว่า “ลุง โชคดีมากเลยที่ได้เจอคุณวันนี้นะ” (ผมน้ำตาซึมเลย)

ผมได้พาคุณลุงแวะซื้อข้าวใน 7 -Eleven (ในโรงพยาบาล) ตามความประสงค์ของคุณลุง ผมช่วยดูแลเรื่องของใช้ส่วนตัว (คุณลุงมีย่ามมาด้วย 1 ใบ) ใส่เสื้อกันหนาวให้ และส่งงานให้พยาบาลต่อ (ถึงมือหมอแน่นอน)

ผมเพิ่งรู้ว่าคุณลุงหน้ามืด และไม่มีแรง เพราะไม่ได้กินข้าวเช้า (เจาะเลือดก่อนพบหมอ)

หลังจากส่งงานต่อให้กับพยาบาล ผมจึงกราบลาคุณลุง

คุณลุงไม่ได้พูดอะไรนอกจากขอบคุณ สบตาผม และส่งยิ้มอย่างเป็นมิตร (คุณลุงเอา mask ออก ระหว่างดื่มน้ำ)

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ผมเห็นความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในฐานะจิตอาสา ผมอยากเห็นความร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะอุบัติเหตุเท่านั้น

ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม แม้จะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่กำลังใจและกายพอจะทำได้

ลุงจู๊ด ขณะปฏิบัติงานที่จุดคัดกรอง

Ep 2 เพราะความบังเอิญ

ธันวาคม 2565

สัปดาห์สุดท้ายของปีที่เข้าสู่บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ หลังจากงด การเดินทางและงานสังสรรค์มา 2 ปีตามมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่ จำนวนคนไข้ของโรงพยาบาลราชวิถี น้อยลงมากกว่าครึ่ง ทำให้งานจิตอาสาน้อยลงตามไปด้วย

จุดคัดกรองหรือจุดแรกที่เปรียบเสมือน Information Center หรือด่านหน้า ที่ผมได้เคยเล่าให้ฟัง พูดง่ายๆคือเดินเข้ามายังไงก็ต้องเจอจิตอาสาประจำอยู่ พร้อมอำนวยความสะดวกตอบข้อซักถามทุกเรื่อง (ขอย้ำว่า “ทุกเรื่อง ใดใด” ขนาดนั้นเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น การนัดหมายพบแพทย์, แผนที่โรงอาหาร, สุขา, ตู้ ATM, ตึกต่างๆ)

ในระหว่างที่ผมกำลังให้ข้อมูลผู้ป่วยอยู่จุดคัดกรอง (เป็นจุดประจำของผม) พี่จิตอาสา 1 ท่านเดินมาสะกิดถามผมว่า “พอจะช่วยดูแลคุณลุงที่นั่งรถเข็นวีลแชร์ได้มั้ย?”

ด้วยความที่คนไข้น้อย และมีจิตอาสาลงพื้นที่พอเพียง จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผมที่จะบริการได้แบบครบวงจร

เมื่อผมเดินไปถึงจุดที่คุณลุงรออยู่ ความจำเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ก็วิ่งเข้ามาในสมองผมอย่างทันที พร้อมความรู้สึกดีใจเหมือนได้พบญาติผู้ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ชุดที่ใส่มาพบคุณหมอ กระเป๋าผ้าที่คุณลุงใช้ใส่เอกสารและสัมภาระต่างๆ บวกกับ เสื้อแจ็กเกตยีนส์สีฟ้าอ่อนๆ ที่คุณลุงใส่เมื่อพบกันครั้งแรก คือ… คุณลุงที่ผมได้ให้บริการอำนวยความสะดวก เมื่อ 2 เดือนที่แล้วนั่นเอง

ในขณะที่คุณลุงสบตาผม และยื่นมือเข้ามาจับผม ทักทายด้วยน้ำเสียงดีใจ เหมือนหยอกล้อ “คุณอีกแล้วหรอ?”

คราวนี้คุณลุงรู้สึกผ่อนคลาย ที่จะให้ผมช่วยมากขึ้น

คุณลุงยื่นถุงเอกสารให้ทั้งหมดให้ แล้วพูดกับผมว่า “ดูเองเลยนะว่าเราจะไปไหนกันต่อ”

ขั้นตอนการพบคุณหมอ ไม่ต่างจากคราวที่แล้ว ทำให้ผมมีแนวทางในการประสานงาน ตรวจสิทธิ์, เจาะเลือดชั้น 2, ไป 7 -Eleven (อาหารเช้าของคุณลุง), รอรับคิวหน้าร้านสตาร์บัคส์ เพื่อพบหมอชั้น 5 โซน B, และส่งคุณลุงไปหน้าห้องตรวจ

ทุกอย่างราบรื่นมาก โดยเฉพาะจุดรับบัตรคิวหน้าสตาร์บัคส์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากพยาบาล เรื่องการจัดคิวและวัดความดัน ตามปกติแล้วจะต้องมายืนรอคิวก่อน 1 ชั่วโมงก่อนพบแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยต้องมาเข้าคิวรอนานมาก

ในช่วงเวลาที่กลับมาพบคุณลุงเพื่อรับคิว มีเคสคุณยายอายุ 80 ที่เป็นผู้ป่วยไม่มีญาติ อีก 1 เคส ที่พี่จิตอาสาฝากดูแล (คุณยายถูกนำส่งขึ้นไปชั้น 5 เรียบร้อยแล้ว โดยที่ยังไม่มีบัตรคิว) เนื่องจากทั้ง 2 เคสพบแพทย์ชั้นเดียวกัน ผมเองรู้สึกท้าทายที่จะให้บริการ ผู้ป่วยทั้ง 2 ท่านให้เร็วที่สุด (เวลานัดคุณหมอเวลา 13.00 น.) ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงพักเที่ยงของพยาบาลจำหน่ายคิว

ระหว่างที่ผมนำคุณลุงมาชั่งน้ำหนักวัดความดันด้านใน และพักคุณลุงไว้ด้านนอก ผมได้สอบถามขั้นตอนและขออนุญาตพยาบาลนั่งรอด้านใน พยาบาลต่างมองผมด้วยความแปลกใจว่า จิตอาสามาหยุดรอตรงนี้ได้อย่างไร (บริเวณนี้เป็นงานเฉพาะพยาบาล ไม่อนุญาตให้มีจิตอาสาเข้าปฏิบัติงาน) ผมจึงยกมือไหว้ กล่าวสวัสดีพยาบาลทุกๆ คนที่มองมาทางผม

หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยความอนุเคราะห์ของพยาบาลที่แวะมาพูดคุยกับผมด้วยไมตรีจิต ก็ช่วยประสานงานเอกสารให้ทั้ง 2 เคสเสร็จทันทีที่เปิดรับคิว โดยที่ผมไม่ต้องเข็นคุณลุงมาแสดงตัวอีกครั้งและไม่ต้องวิ่งไปนำบัตรประชาชนของคุณยายมาจากชั้น 5

ผมเดินออกมาบอกคุณลุงว่า “เราได้คิวแล้วนะครับ เราขึ้นไปพบคุณหมอกันครับ”

คุณลุงดีใจมาก แล้วยกนิ้วให้ผม พูดว่า “ดีจัง เยี่ยมเลย”

การประสานงานลิฟท์เป็นไปอย่างราบรื่นอีกเช่นกัน น้องๆ เจ้าหน้าที่ลิฟท์เริ่มคุ้นเคยกับภาพผมที่มักมาพร้อมกับผู้ป่วยไม่มีญาติ

เมื่อผมนำคุณลุงไปถึงหน้าห้องตรวจ ติดต่อเจ้าหน้าที่และพยาบาลเรียบร้อยแล้ว จึงขอตัวกราบลาคุณลุงและแวะไปหาคุณยาย ที่นั่งรถเข็นรออยู่บริเวณเดียวกัน เพื่อแจ้งว่า จะมีพยาบาลมาดูแลคุณยายต่อ

คุณลุงบอกผมว่า เราอาจจะไม่ได้เจอกันแล้ว เพราะคุณลุงเดินทางมาที่นี่ลำบาก จะทำเรื่องย้ายโรงพยาบาล

ก่อนจากกันคุณลุง จับมือผมแล้วพูดว่า “สวัสดีปีใหม่นะ” พร้อมกับอวยพรให้ผมมีสุขภาพดี เช่นเดียวกับที่ผมอวยพรให้คุณลุง

ครั้งนี้ผมไม่มีโอกาสคุยกับคุณลุงได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะมีเคสคุณยาย ผู้ป่วยไร้ญาติที่ช่วยกันกับพี่จิตอาสาอีก 1 ท่าน แต่ผมก็มีความสุขที่เห็นรอยยิ้มของคุณลุง แววตาที่เปี่ยมด้วยความสุข

การสัมผัสอย่างเป็นกันเองของคุณลุง (คุณลุงพยายามจับมือผม ด้วยแขนข้างที่ใช้งานได้) เป็นรางวัลอันยิ่งของผมสำหรับการปฏิบัติงานในวันนี้

เรื่องราวการดูแลคุณลุงของผม จะไม่สามารถสำเร็จด้วยดีไปได้ หากไม่ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้มีพระคุณทุกคน …จิตอาสาท่านอื่นๆ พี่อู๋, น้องเล็ก (ชั้น 2 ตรวจเลือด) น้องมินิบัสเจ้าหน้าที่ประจำลิฟต์, เจ้าหน้าที่เวรเปล, พยาบาลคัดกรอง ชั้น 5 หน้าร้านสตาร์บัคส์, และ พี่องุ่น ที่หมั่นเติมกำลังใจและให้คำแนะนำผมมาตลอด

ถึงแม้ผมจะไม่ได้เจอกับคุณลุงอีกแล้ว แต่ความอิ่มเอิบใจที่ได้ทำหน้าที่จิตอาสาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ก็เป็นไปตามปณิธานที่ผมได้ตั้งไว้

“คุณค่าทางจิตใจ ไม่สามารถวัดด้วยตัวเงินและสถานะทางสังคม แต่การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักและความเข้าใจ ในยามที่ความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่จำเป็น จะเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้งานจิตอาสางดงามตลอดไป”

“Act of giving a helping hand to someone who needs it is an art of cherishing your heart.”


เล่าเรื่องโดย ลุงจู๊ด สุรัตน์ชัย จุลาภิพัฒน์ อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล สถาบันประสาทวิทยา รุ่นที่ 14 และเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยง ที่โรงพยาบาลราชวิถี