“เย็นของวันที่ ๑๓ ตุลาคมที่ผ่านมา ผมขับรถกลับถึงบ้านราวเกือบทุ่ม เปิดดูโทรทัศน์ถึงรู้ข่าวว่า ในหลวงสวรรคตแล้ว นายกฯ ประกาศข่าว เมียผมแกร้องไห้โฮต่อหน้าทีวี ตัวผมตกใจแกร้องไห้ทำไม พอตั้งสติฟังข่าวว่าในหลวงจากไป หัวใจมันก็วูบหาย อึ้งไปสักพักรู้ตัวก็พบว่าน้ำตามันไหล สะอื้นอยู่ในใจ ผมอยู่ในหมู่บ้านตอนนั้นรู้แต่ว่าใจมันวังเวง มองไปรอบบ้าน บรรยากาศมันเศร้า อาลัยในหลวง ในใจมันเหมือนมีอะไรหายไป”
“มันทรมานนะครับกับความรู้สึกแบบนี้ ผมนอนไม่หลับเลยคืนนั้น กระสับกระส่าย อึดอัด เศร้า”
คำบอกเล่าของพี่สนอง ชายคนขับรถโดยสารที่ขอนแก่น บทสนทนาเมื่อครู่เหมือนได้เชื่อมโยงความรู้สึกร่วมกันกับการสูญเสียร่มโพธ์ร่มไทรของประเทศไทย คลื่นพลังงานของความโศกเศร้า รวมถึงความเจ็บปวด เสียใจกับการสูญเสีย ลอยอบอวลไปทั่วบรรยากาศในทุกแห่ง หลายคนทุกข์ทรมานกับความรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศก
หากเราสังเกตและมีประสบการณ์เรียนรู้กับชีวิต เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่จะต้องทำอะไรสักอย่างไรเพื่อไม่ต้องทนอยู่กับความรู้สึกเหล่านี้ อาจโดยการหลีกเลี่ยงโดยใช้สิ่งเสพติด เหล้า การงาน บางคนหลีกเลี่ยงโดยไม่รับรู้ ไม่พูดถึง บางคนเลือกที่จะยอม ตอบสนอง บางคนเลือกต่อต้าน กล่าวโทษ ทั้งหมดก็เพื่อหลีกเลี่ยง ถอยห่าง หรือไม่รับรู้ความรู้สึกเชิงลบ เพราะทนไม่ค่อยได้กับความรู้สึกเช่นนี้
ในแต่ละช่วงวัย จากวัยทารกจนถึงวัยชรา อัตราการเติบโตทางร่างกายจะเร็วมากในช่วงวัยทารก วัยเด็ก และค่อยๆ ลดลงจนถึงวัยหนุ่มสาว จากนั้นสภาพร่างกายจะค่อยๆ เสื่อมลง ขณะที่การเติบโตทางด้านจิตใจและความรู้สึกนึกคิดจะค่อยๆ เติบโตขึ้นแทน และแต่ละครั้งของการเติบโตทางด้านจิตใจ จำเป็นต้องผ่านความเจ็บปวด การเสียสละ สูญเสียบางส่วนของตัวตน บางส่วนของภาวะในตัวเรา เพื่อให้ตัวตนใหม่ ภาวะใหม่บางอย่างได้ก่อเกิดขึ้นแทนที่
ดังเช่น วัยเด็ก วัยรุ่น ที่เติบโตผ่านการอุ้มชูเลี้ยงดูของพ่อแม่ การช่วยเหลือของคนรอบข้าง เมื่อพวกเขาก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญคือ การสละบางส่วนของตัวตนที่มักต้องพึ่งพาคนอื่น การยอมสูญเสียวิธีคิดที่มุ่งเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีแต่การสละละวางออกไป วัยรุ่นจึงสามารถเติบโตไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพการสร้างสรรค์ และคงไว้ซึ่งตัวตนของการพึ่งพาตนเอง ตันตนที่รู้จักรับผิดชอบตนเอง รับผิดชอบการกระทำของตนเอง รวมถึงการมีวิธีคิดใหม่มาแทนที่ว่า เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์แบบที่เด็กหรือวัยรุ่นยึดถือกัน
การต้องยอมสละ การต้องสูญเสีย เป็นภาวะที่ไม่ง่าย เพราะต้องผ่านการเรียนรู้ ผ่านความเจ็บปวด เช่นเดียวกับการเผชิญการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก สูญเสียความหวัง สูญเสียความปรารถนา ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนข่าวสารจากภูมิปัญญาส่วนลึกในตัวเราที่บอกความจริงว่า ภาวะเดิมที่เราเคยอยู่สุขสบาย คุ้นเคย เช่น การมีที่พักพิง การมีบุคคลรอบตัว สถาบัน แหล่งทรัพยากรที่ให้ความปลอดภัย มั่นคง ภาวะนี้ได้จบสิ้นลงแล้ว และหากเรายึดติด ผูกมัดตนเองกับภาวะเดิมที่คุ้นเคย ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ความทุกข์จากความเจ็บปวด โศกเศร้า ผิดหวังก็จะเป็นเสมือนกำแพงล้อมกักขังตัวเรา
กำแพงนี้จะถูกเปิดออกก็ต่อเมื่อเราสามารถยอมรับความจริง ละวางตัวตนที่ยึดติดภาวะในอดีต เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวตนใหม่ ภาวะใหม่ ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ตนเองขึ้นมาแทนที่ได้ หากพิจารณาให้ดี ทารกที่คลอดออกมามีชีวิตได้ แท้จริงก็คือ การตายจากไปของภาวะทารกในครรภ์เพื่อถือกำเนิดมีชีวิตในโลกนั่นเอง และด้วยกระบวนการเรียนรู้เพื่อเติบโตสู่ภาวะใหม่ จึงเป็นฐานสำคัญของการคลี่คลาย เพื่อเป็นอิสระจากความรู้สึกเชิงลบ เมื่อนั้นความรู้สึกเชิงลบก็ไม่ใช่สิ่งรบกวนอีกต่อไป เพราะเมื่อเรายอมรับและก้าวข้ามความรู้สึกเชิงลบในใจได้ การเรียนรู้ที่จะสร้างตัวตนใหม่ก็จะเกิดขึ้นแทนที่
วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่ถือความสำคัญของการยอมรับจากเพื่อนและสังคมเป็นเรื่องใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีความสับสนกับการเรียนรู้ค้นหาความเป็นตัวเอง ช่วงของการเรียนรู้ ปรับตัว จึงเป็นกระบวนการสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่น สู่วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยผู้ใหญ่ที่รู้จักการมีวิจารณญาณ การควบคุมตนเองได้ทั้งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรม จากนั้นการเติบโตก็ได้เกิดขึ้น และหากกระบวนการเติบโตทางด้านจิตใจขาดหรือบกพร่อง สิ่งที่เราพบพานก็คือ ภาวะไร้วุฒิภาวะของผู้ใหญ่ ที่อายุทางร่างกายมากขึ้น แต่อายุทางจิตใจและความรู้สึกนึกคิดน้อยกว่าอายุทางร่างกาย
จากวัยผู้ใหญ่สู่วัยชรา ความจริงที่เริ่มเข้ามาคือ ความเสื่อมถอยของร่างกาย ความสามารถที่เคยมีในวัยหนุ่มสาวค่อยๆ เสื่อมสภาพไป ภาวะเกษียณจากการงาน ทำให้บทบาทหน้าที่ค่อยๆ ถูกลดทอน วัยชราต้องพึ่งพิงคนรุ่นหลังมากขึ้น การเจ็บป่วยและการตายเข้ามาในชีวิตเป็นระยะ วัยชราทำให้เราได้รับรู้บ่อยขึ้นถึงการลาจาก การสูญเสียชีวิตของคนรุ่นราวคราวเดียวกันมากขึ้น และไม่ว่าเราจะมีท่าทีตอบสนองอย่างไร ความจริงย่อมเป็นความจริงว่าเมื่อความตายมาเยือน เราไม่สามารถต่อรอง แต่ละครั้งของการมีความเจ็บปวดโศกเศร้าจากการสูญเสีย จึงเป็นการสอบย่อยของชีวิตที่เข้ามาให้เรียนรู้
หากยึดติดกับภาวะเดิม ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ความโศกเศร้าก็จะเป็นกำแพงล้อมขังตัวเรา
“การหัดตาย ก็คือ ปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย” สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริญายก ให้พระคติธรรมบอกเล่าเคล็ดลับสำคัญของการเติบโตในการดำเนินชีวิต
ทุกครั้งที่เรามีเรื่องเสียใจ ผิดหวัง เศร้าโศก นั่นคือ สัญญาณที่บ่งบอกการเผชิญภาวการณ์สูญเสีย บางสิ่งกำลังตายจากไปจากตัวเรา หากเราไม่เรียนรู้รับมือกับความตายในรูปสัญญาณข่าวสารผ่านความเศร้าโศกเสียใจ เราจะสอบตกร่ำไปด้วยความทุกข์ทรมานในจิตใจจากความรู้สึกเชิงลบต่างๆ และสุดท้ายการตายที่แท้จริงจะเป็นบทสอบไล่ครั้งสุดท้าย สิ่งที่แตกต่างระหว่างคนที่เตรียมพร้อมตัวเองกับคนที่ไร้การตระเตรียม ก็คือ ท่าทีความสงบสุข ยอมรับ มีสันติสุข หรือเป็นท่าทีหวาดกลัว กังวล เครียด เศร้า ขณะความตายมาเยือน
“เพื่อที่จะตายดี เราจำเป็นต้องมีชีวิตที่ดี และเพื่อจะมีชีวิตที่ดี เราจำเป็นต้องเรียนรู้เข้าใจชีวิต และความจริงของชีวิต” นี่คือการงาน และการผ่านบททดสอบย่อยๆ จนกว่าจะถึงบทสอบไล่ของชีวิต