มีข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า วงการแพทย์ของประเทศญี่ปุ่นจะมีการติดไมไครชิปประจำตัวผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อช่วยระบุตัวผู้ป่วยให้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาดในการรักษา เป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาการรักษาผิดตัว อันเป็นปัญหาที่เริ่มมีแววเกิดขึ้นในโรงพยาบาล
ข่าวดังกล่าวทำให้นึกไปถึงคำบอกเล่าของพระเลขานุการท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ ซึ่งเคยเล่าไว้ในหนังสือเกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุว่า เมื่อตนเองไปกราบเรียนท่านมหาเถระเพื่อขออนุญาตนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ ท่านอาจารย์ถามว่า เอามาทำอะไร พระเลขานุการก็กราบเรียนว่า เอามาแทนเครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่า พร้อมบรรยายสรรพคุณสารพัดของคอมพิวเตอร์ โดยสรุปก็คือ ดีเพราะพิมพ์ผิดก็แก้ไขง่าย สามารถพิมพ์ไปได้เลยโดยไม่ต้องสนใจคำผิดคำถูก กลับมาแก้ไขทีหลังได้สะดวกสบาย ฯลฯ ท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งฟังการร่ายสรรพคุณเสร็จ ก็แย้งเรียบๆ ว่า “สมัยก่อนเขาพิมพ์ก็ไม่ผิด” และยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ความสะดวกดังกล่าวของคอมพิวเตอร์ก็อาจกลายเป็นสิ่งไม่ดี เพราะทำให้คนไม่ได้ฝึกฝนตนเอง นัยในคำเตือนของท่านก็คือ การพิมพ์ผิดเป็นปัญหาของคนพิมพ์ที่ทำงานไม่รอบคอบ ขาดสติและความใส่ใจ หรือขาดการฝึกฝน การแก้ไขจึงต้องแก้ที่ตัวคนก่อน หากคนได้รับการฝึกฝนดีแล้ว การใช้เทคโนโลยีก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้ ไม่ใช่แก้ไขปัญหางานแต่ลดทอนการฝึกฝนตนเองของมนุษย์ลงไป
ดูเหมือนว่า คนจำนวนมากในสังคมแห่งเทคโนโลยียุคดิจิตอลจะมองไม่เห็นประเด็นอันสำคัญยิ่งยวดนี้ จึงทำให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวางและฟุ่มเฟือย มิหนำซ้ำยังเชื่อแบบเบ็ดเสร็จว่า ใครใช้เทคโนโลยีเป็น คนนั้นเก่ง และใครที่ใช้ไม่เป็น เช่น ใช้คอมพิวเตอร์- อินเทอร์เน็ตไม่เป็น คนนั้นหมดโอกาสฉลาด! พ่อแม่จะเคี่ยวเข็ญเด็กให้ “ฉลาด” (สำเร็จรูป) ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็น ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาแหล่งกำเนิดคอมพิวเตอร์เอง ในเวลานี้กลับกำลังมีข้อถกเถียงอันเข้มข้นมากขึ้นในวงการศึกษา ว่าสมควรให้เด็กเล็กเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์หรือไม่ อายุเท่าไรจึงเหมาะสม (ดูรายละเอียดได้ใน http://www.realworld.org) เพราะเริ่มมีการพบว่า คอมพิวเตอร์ไปจำกัดจินตนาการและการกล่อมเกลาจิตใจจากธรรมชาติ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ต่อให้วิเศษอย่างไรก็ยังเป็นเพียงสิ่ง “เสมือนจริง” เท่านั้น เด็กสมควรจะได้เริ่มต้นเรียนรู้และรับการกล่อมเกลาทางจิตและพฤติกรรม จากการเรียนรู้ความสัมพันธ์อันหลากหลายของสรรพสิ่งและสรรพชีวิตในธรรมชาติและชีวิตจริงก่อนเป็นสำคัญ
การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยปราศจากความรู้เท่าทันข้อดีข้อเสียอย่างแจ่มชัด ใช้อย่างฟุ่มเฟือย หรือด้วยความเชื่อว่า ดีอย่างเบ็ดเสร็จ จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างน้อย ๒ ประการ ต่อการพัฒนามนุษย์ สังคม และธรรมชาติ คือ ประการแรก มนุษย์ที่มุ่งแต่ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา อาจตัดโอกาสหรือละทิ้งโอกาสแห่งการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ อย่างนึกไม่ถึง เช่น แทนที่เราจะฝึกฝนความสามารถในการพิมพ์ดีดมิให้ผิดพลาดหรือผิดให้น้อยที่สุดอย่างเต็มความสามารถก่อน เราก็อาจจะเลิกฝึก เพราะผิดทีก็แค่กดปุ่ม ไม่ต้องหายางลบ น้ำยาแก้คำผิด ไม่ต้องรอบคอบก็ได้เพราะผิดง่ายแก้ง่าย กลายเป็นคนขาดความรอบคอบ หรือการนำไมโครชิปมาใช้แก้ปัญหารักษาผู้ป่วยผิดคน ก็อาจทำให้บุคลากรการแพทย์ไม่ได้คิดวิเคราะห์หาสาเหตุความผิดพลาด ไม่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งอาจไม่ใส่ใจจะทำความรู้จักผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ทั้งที่สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของการรักษาผิดคนมาจากการที่ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยไม่มีสัมพันธภาพต่อกัน
นอกจากนี้ การพัฒนานิสัยที่เป็นด้านบวกของมนุษย์ ก็อาจถูกกระทบจากการใช้เทคโนโลยีอย่างที่เราเองก็ไม่รู้สึกตัวด้วย เช่น ความสะดวก รวดเร็ว สบายสมใจนึก อาจทำให้เราเคยชินติดความสบายกลายเป็นคนสำรวยสำอาง ทนลำบากไม่ได้ กลายเป็นคนเกียจคร้าน ขาดความอดทนอดกลั้น และการอยู่กับสิ่งอำนวยความเร็ว ทำให้คนสมัยใหม่กลายเป็นคนใจร้อนไปได้อย่างไม่รู้ตัว รออะไรนานๆ ไม่เป็น ต้องการผลลัพธ์แบบเร็วๆ เบ็ดเสร็จเหมือนประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ผู้ที่เคยใช้อินเทอร์เน็ตลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ว่า ระหว่างการท่องเว็บไซต์นั้น หากขาดสติกำกับ เราจะรู้สึกว่าการรอคอยเป็นสิ่งที่กระวนกระวาย เครื่องคอมพิวเตอร์ช้าไม่ทันใจอยู่ตลอดเวลา จึงต้องเพิ่มความเร็วสูงขึ้นๆ ซึ่งเร็วมากเท่าไรก็คงไม่มีทาง “ทันใจ” ของจิตที่ขาดสติอยู่นั่นเอง
มนุษย์ที่มุ่งแต่ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา อาจตัดโอกาสแห่งการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ อย่างนึกไม่ถึง
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไม่คำนึงถึงการฝึกฝนมนุษย์เสียก่อน ยังอาจจะบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการจัดการ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ได้ เนื่องจากปัญหาชีวิต การงาน สังคม สิ่งแวดล้อมหลายอย่าง แก้ไขได้โดยการจัดการที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีเสมอไป อีกทั้งการใช้เทคโนโลยียังอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทำให้เราพึ่งพาอาศัยกันน้อยลง เห็นคุณค่าของคนอื่นน้อยลง เพราะการฝึกฝนพัฒนาความสามารถ นิสัยใจคอของมนุษย์นั้น มาจากการได้รวมกลุ่มทำกิจกรรม ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข เรียนรู้ เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
ประการที่สอง เทคโนโลยีสมัยใหม่ทุกชนิด ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนให้ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน พลังน้ำ ฯลฯ การใช้เทคโนโลยีอย่างฟุ่มเฟือยจึงเป็นการผลาญทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานจำนวนมหาศาล ก่อความเดือนร้อนแก่สรรพชีวิต และสร้างความขัดแย้งทางสังคมในการจัดหาพลังงาน (เขื่อนปากมูล, ท่อก๊าซฯ, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์) ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตและการใช้พลังงานยังเป็นสาเหตุสำคัญโดยตรงของปัญหาโลกร้อน นำมาซึ่งสภาพอากาศวิปริต ความแปรปรวนของระบบนิเวศ ฯลฯ
เทคโนโลยีมีประโยชน์แน่ แต่จะมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามและตั้งสติในการใช้และพัฒนา หาไม่ เราอาจถูกเทคโนโลยีเปลี่ยนนิสัย และทำลายความสัมพันธ์ของคนในสังคมไปได้