การอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอด ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดที่อยู่กันเป็นฝูงก็ “รู้” เช่นกัน สัตว์เหล่านี้รู้ดีว่ามันไม่อาจอยู่ได้ด้วยลำพังตนเอง แต่ต้องพึ่งพาอาศัยตัวอื่นด้วย ความสมัครสมานสามัคคีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ในการอยู่ร่วมกันนั้น การกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในกรณีเช่นนั้นมันจะทำอย่างไร?
สัตว์หลายชนิดเลือกใช้วิธี “คืนดี” กัน เมื่อแพะทะเลาะกันเรื่องอาหาร ไม่นานมันจะกลับมาแสดงความเป็นมิตรต่อกัน เช่น เลียขนหรือเอาจมูกไซ้ลำตัวของปรปักษ์ที่เพิ่งปะทะกัน ปลาโลมาก็เช่นกัน หลังจากต่อสู้กันแล้ว มันจะเอาตัวมาสีกันเบาๆ หรือไม่ก็เอาปากดุนหลังของอีกตัว แม้แต่หมาป่าไฮยีน่าซึ่งขึ้นชื่อว่าดุร้ายและเจ้าอารมณ์ ก็ยังหันหน้าเข้าหากันหลังจากทะเลาะกันอย่างดุเดือด มีการเลียตัวหรือถูสีข้างกัน ยิ่งญาติที่สนิทกับมนุษย์ด้วยแล้ว ไม่ว่าชิมแปนซี กอริลลา หรือโบโนโบ ล้วนเป็นนักคืนดีที่มีลูกเล่นพราวแพรว ไม่ใช่แค่หาเหาหรือเกาหลังให้เท่านั้น หากยังยอมให้ขึ้นคร่อม อย่างหลังนี้เป็นลักษณะเด่นของโบโนโบเลยทีเดียว
น่าสังเกตว่าในการคืนดีกันนั้น สัตว์ตัวที่อ่อนแอหรือพ่ายแพ้ในการต่อสู้จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหาก่อน (ยกเว้นโบโนโบ ซึ่งตัวที่ชนะจะเป็นฝ่ายริเริ่มก่อน) มองจากสายตาของมนุษย์ นี้เป็นเรื่องของกฎป่าที่ถือว่าอำนาจเป็นใหญ่ ดังนั้นตัวที่อ่อนแอก็ต้องสยบยอมตัวที่แข็งแรง แต่มองในอีกแง่หนึ่ง จะสังเกตว่าสัตว์เหล่านี้ไม่เคยเถียงกันว่า ใครผิด ใครถูก แน่ละมันคงไม่มีปัญญาพอที่จะตั้งมาตรฐานถูก-ผิดอย่างมนุษย์ แต่อย่างน้อยมันก็รู้ว่าการเป็นศัตรูกันนั้นไม่มีผลดีทั้งต่อตัวมันเองและต่อทั้งฝูง มันอาจโง่ในหลายเรื่อง แต่มัน “ฉลาด” พอที่จะรู้ว่าเป็นมิตรกันนั้นดีกว่าเป็นศัตรูกัน จะโดยการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการส่งผ่านทางพันธุกรรมก็แล้วแต่ การคืนดีจึงเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสัตว์เหล่านี้
ในฐานะที่เป็นสัตว์ชั้นสูง มนุษย์ก็มีสัญชาตญาณคืนดีเช่นเดียวกัน ถึงแม้เราจะเลิกเลียตัวหรือหาเหาให้กันมานานแล้ว แต่เรามีวิธีหลากหลายมากในการคืนดีและผูกไมตรีกัน การให้ของขวัญเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่วิธีหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับมนุษย์เราก็คือ การขอโทษ
การขอโทษเป็นสิ่งสะท้อนถึงพัฒนาการของมนุษย์ จากการอาศัยพละกำลังเป็นเครื่องตัดสิน (might is right) มาเป็นการตัดสินโดยอาศัยความถูกต้องเป็นใหญ่ (right is might) กล่าวอีกนัยหนึ่งการขอโทษได้ช่วยให้การคืนดีพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง แทนที่การริเริ่มคืนดีจะเป็นหน้าที่ของผู้อ่อนแอ ก็กลายเป็นภาระของผู้ที่ทำผิดพลาด แม้ว่าผู้นั้นจะมีอำนาจหรือพละกำลังเหนือกว่าก็ตาม
การขอโทษมิใช่เครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ มีแต่ในอาณาจักรสัตว์เท่านั้นที่ตัวอ่อนแอเป็นฝ่ายคืนดีก่อน แต่สำหรับมนุษย์ผู้มีวัฒนธรรมแล้วผู้ที่เอ่ยปากขอโทษก่อนต่างหากคือผู้ที่เข็มแข็งกว่า เข้มแข็งเพราะเขากล้ารับผิด เข้มแข็งเพราะเขากล้าขัดขืนคำบัญชาของอัตตาที่ต้องการประกาศศักดาเหนือผู้อื่น
การขอโทษเป็นเครื่องแสดงถึงความมีอารยะของบุคคลผู้กระทำการดังกล่าว เพราะแสดงให้เห็นถึงความรู้ผิดรู้ชอบในมโนธรรมสำนึกของเขา เป็นมโนธรรมสำนึกที่บอกเขาว่าความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าอำนาจ เยอรมนีเป็นประเทศที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าโปแลนด์ แต่เมื่อนายวิลลี่ บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมันคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ที่กรุงวอซอเมื่อ ๓๕ ปีก่อน เพื่อแสดงการขอโทษแทนชาวเยอรมันที่ก่อกรรมทำเข็ญแก่ชาวโปแลนด์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เขามิได้ทำให้เยอรมนีตกต่ำหรืออ่อนแอลงเลย ตรงกันข้ามเยอรมนีกลับมีเกียรติภูมิสูงส่งขึ้นในสายตาของชาวโลก เป็นเกียรติภูมิที่ไม่อาจสร้างขึ้นได้ด้วยแสนยานุภาพทางทหารหรือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
การขอโทษ แม้จะกล่าวด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำว่า “ผม (ฉัน) ขอโทษ” แต่ก็มีพลังพอที่จะสมานไมตรีที่ขาดสะบั้นให้กลับมั่นคงดังเดิมได้ในชั่วพริบตา คำขอโทษเปรียบเสมือนน้ำเย็นที่ดับเพลิงแห่งโทสะ เป็นดังมนต์วิเศษที่สยบความโกรธ และทำลายความพยาบาทในปลาสนาการไป
เด็กคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัด หนึ่งในคณะศัลยแพทย์เสียใจมากที่เกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อออกจากห้องผ่าตัด เขาเดินไปหาแม่เด็กและกล่าวคำขอโทษ ในเวลาต่อมาแม่ของเด็กได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหมอ ปรากฏว่าศัลยแพทย์ถูกฟ้องทุกคนยกเว้นหมอผู้นั้นผู้เดียว ทนายความของคณะศัลยแพทย์เกิดความฉงนสงสัย แต่หมอผู้นั้นก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ทนายความจึงถามแม่ของเด็กระหว่างการซักพยานว่าทำไมถึงไม่ฟ้องหมอผู้นั้นด้วย คำตอบของเธอก็คือ “เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ใส่ใจ”
มีคำไม่กี่คำที่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียและเจ็บปวดได้ หนึ่งในนั้นคือคำขอโทษ แต่ทุกวันนี้คำขอโทษกลับเป็นคำที่ผู้คนเปล่งออกมาได้ยากที่สุด คนจำนวนไม่น้อยกลัวว่าการขอโทษเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตน และเปิดช่องให้ผู้อื่นเล่นงานตนได้ หากหมอขอโทษก็แสดงว่ายอมรับผิด เท่ากับเปิดช่องให้ผู้เสียหายทำการฟ้องร้องได้ ดังนั้นจึงปิดปากเงียบ แต่ใช่หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นกลับทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น เพราะยั่วยุให้อีกฝ่ายทำการตอบโต้หรือกดดันด้วยวิธีที่รุนแรงขึ้น จนอาจลงเอยด้วยความเสียหายของทั้งสองฝ่าย
ทุกวันนี้เราใช้ “หัว” กันมากเกินไป จึงนึกถึงแต่ผลได้กับผลเสีย เราใช้ “ใจ” กันน้อยลง จึงไม่รู้สึกถึงความทุกข์ของผู้ที่เจ็บปวดจากการกระทำของเรา ยิ่งไปกว่านั้นนับวันเราจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกันน้อยลงทุกที การคิดคำนวณถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทำให้เราปิดใจไม่รับรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ และเฉยชาต่อเสียงร้องของมโนธรรมสำนึกภายใน แต่เราจะรู้หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นยิ่งทำให้จิตใจของเราแข็งกระด้าง และลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราให้เหลือน้อยลง
การขอโทษอาจทำให้เรารู้สึกเสียหน้า แต่แท้จริงแล้วตัวที่เสียหน้านั้นคือกิเลสมารต่างหาก เมื่อเราขอโทษ สิ่งที่จะเสียไปคืออหังการของอัตตา แต่สิ่งที่เราจะได้มานั้นมีคุณค่ามหาศาล นอกจากมิตรภาพแล้ว เรายังฟื้นความเป็นมนุษย์และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กลับคืนมา
อย่าโยนหน้าที่ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินความถูก-ผิด ไม่ว่าจะทำอะไรไปก็ตาม ควรให้มโนธรรมสำนึกในใจของเราเป็นเครื่องตัดสิน เมื่อผิดควรยอมรับด้วยตนเองว่าทำผิด ไม่ใช่ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน เพราะหากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลหรือใครก็ตาม ไม่ช้าไม่นานสำนึกในความผิดชอบชั่วดีของเราก็จะปลาสนาการไป ถึงตอนนั้นเราจะยังมีความเป็นมนุษย์อยู่อีกหรือ
อันที่จริงการขอโทษไม่จำเป็นต้องหมายถึงการยอมรับผิดเสมอไป เมื่อดารายอดนิยมเกิดตั้งครรภ์ก่อนแต่ง แม้เธอจะไม่เห็นว่านั่นเป็นความผิด แต่ก็สมควรที่เธอจะเอ่ยปากขอโทษที่ทำให้แฟนๆ เจ็บปวดหรือผิดหวังในตัวเธอ คำขอโทษไม่ได้เกิดจากสำนึกในความผิดพลาดเท่านั้น หากยังเกิดจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของเขา และพร้อมรับผิดชอบในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพราะเรา
การขอโทษไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแต่เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เมื่อนั้นความเห็นอกเห็นใจก็จะตามมา จิตใจของเราจะอ่อนโยนและพร้อมที่จะช่วยปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์ ถึงตอนนั้นคำขอโทษจะออกมาเองโดยแทบไม่ต้องพยายาม ด้วยการขอโทษ เราไม่เพียงลดทอนความเจ็บปวดของเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยปลดเปลื้องทั้งเราและเขาให้พ้นจากวังวนแห่งความขัดแย้งและการเป็นปฏิปักษ์กัน
มนุษย์เรายากที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายกันได้ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม การรู้จักขอโทษช่วยให้เราคืนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่ถืออำนาจเป็นใหญ่ บ้านเมืองจะมีความสุขมากกว่านี้หากผู้มีอำนาจรู้จักขอโทษผู้ด้อยอำนาจ พ่อแม่รู้จักขอโทษลูก เจ้านายรู้จักขอโทษลูกน้อง เจ้าอาวาสรู้จักขอโทษลูกวัด หมอรู้จักขอโทษคนไข้ และนายกรัฐมนตรีรู้จักขอโทษประชาชนกัน
ทุกวันนี้เราใช้ “หัว” กันมากเกินไป แต่ใช้ “ใจ” กันน้อยลง จึงไม่รู้สึกถึงความทุกข์ของผู้ที่เจ็บปวดจากการกระทำของเรา
การขอโทษเป็นวิธีสร้างสันติที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด เพราะอาศัยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ เป็นเพราะเราไม่รู้จักขอโทษกัน จะเพราะกลัวเสียหน้าหรือเพราะอหังการก็ตาม เราจึงสูญเสียกันอย่างมากมาย ยิ่งใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งโดยวาจาและการกระทำด้วยแล้ว ความสูญเสียก็ยิ่งทวีคูณ
ไม่มีการขออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการขอโทษ เพราะเป็นการขอที่ไม่ได้ออกมาจากจิตที่เห็นแก่ตัว แต่มาจากจิตที่มีมโนธรรมสำนึก รู้สึกรู้สากับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ และอ่อนน้อมถ่อมตน ไร้อหังการ เป็นการขอที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสูญเสียเลยแม้แต่น้อย
คำขอโทษเป็นประดิษฐกรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ไม่ใช่เพราะมันทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เท่านั้น หากยังเพราะช่วยให้มนุษย์คืนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่ใช้ความฉลาดที่ได้มาเพื่อการทำลายล้างกันเท่านั้น