ทำไมคนดีถึงยากจน แต่คนชั่วกลับร่ำรวย? เหตุใดคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวมถึงมีอายุสั้น แต่คนที่โกงกินบ้านเมืองกลับมีอายุยืน?
ข้อความเหล่านี้มักถูกยกขึ้นมาเพื่อตั้งข้อสงสัยกับกฎแห่งกรรมว่า กฎนี้มีจริงหรือ และมีความเป็นธรรมเพียงใด ในทัศนะของคนจำนวนไม่น้อยสองประเด็นนี้สัมพันธ์กัน เพราะหากชี้ได้ว่ากฎแห่งกรรมไม่มีความเป็นธรรมก็แสดงว่ากฎนี้ไม่มีอยู่จริง
คำถามก็คือ เราเข้าใจกฎแห่งกรรมว่าอย่างไร กฎแห่งกรรมในความเข้าใจของคนทั่วไป สรุปได้สั้นๆ ว่า “ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว” นัยยะที่มักพ่วงตามมาก็คือ ทำดีแล้วต้องรวยและอายุยืน ทำชั่วต้องยากจนและอายุสั้น เป็นต้น เพราะคนทั่วไปมองว่า รวยและอายุยืนนั้นคือ “ดี” ส่วนยากจนและอายุสั้นคือ “ไม่ดี”
ไม่ผิดหากจะกล่าวว่ากฎแห่งกรรมหมายถึง “ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว” เพราะข้อความนี้มาจากพุทธศาสนสุภาษิตในพระไตรปิฎก แต่ข้อความนี้ไม่ได้มาโดดๆ ข้อความที่มาก่อนหน้านั้นก็คือ “หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น” ความหมายก็คือหากปลูกมะม่วง ก็ได้มะม่วง ปลูกมะพร้าว ก็ได้มะพร้าว เป็นอื่นไปไม่ได้ นี้คือกฎธรรมชาติที่พุทธศาสนาเรียกว่า “พีชนิยาม” หรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและการสืบพันธุ์
ในทัศนะของพุทธศาสนา พีชนิยามกับกฎแห่งกรรม (ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “กรรมนิยาม”) มีสถานะเท่ากัน คือเป็นกฎธรรมชาติเหมือนกัน และมีความเป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับการบังคับควบคุมของมนุษย์ ปลูกมะม่วง ย่อมได้มะม่วงฉันใด ทำดีย่อมได้ดีฉันนั้น แต่ “ดี” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ารวยหรืออายุยืน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า ปลูกมะม่วงย่อมได้เงินดี
ใครๆ ก็รู้ว่าปลูกมะม่วงแล้วไม่จำเป็นต้องได้เงินดี เพราะเงินจะดีหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับราคาของมะม่วงในตลาดว่าสูงหรือต่ำ และยังต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของพ่อค้าคนกลาง ตลอดจนความสามารถของลูกค้าในการเข้าถึงสวนมะม่วง เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้อยู่นอกเหนือกฎธรรมชาติหรือพีชนิยาม แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสังคม ซึ่งแปรเปลี่ยนตลอดเวลาและมีมนุษย์เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ
ปลูกมะม่วงไม่ได้แปลว่าต้องได้เงินดีฉันใด ทำดีก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรวยฉันนั้น แต่ที่แน่ใจก็ได้ก็คือ ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง (หากปลูกถูกต้อง) ทำดีก็ต้องได้ดี (หากทำดีถูกต้อง) ดีในที่นี้หมายถึงผลดีที่เกิดขึ้นกับจิตใจ บุคลิกนิสัย และส่งผลถึงการกระทำ เช่น ทำให้จิตใจสงบเย็น โปร่งเบา ส่วนผลที่นอกเหนือจากนั้น เช่น รายได้ สุขภาพ ชื่อเสียงเกียรติยศ ยังต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอีกมากมาย เช่น ความสามารถในการประกอบอาชีพและการจับจ่ายใช้สอยของคนผู้นั้น รวมทั้งพฤติกรรมของคนรอบข้าง ค่านิยมของสังคม สภาวะเศรษฐกิจในเวลานั้น ฯลฯ
ชอบทำบุญ ทอดกฐินทอดผ้าป่าเป็นประจำ แต่ขณะขับรถกลับจากต่างจังหวัด เกิดหลับในขึ้นมา จึงขับชนเสาไฟฟ้าถึงแก่ชีวิต ในกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจพูดได้ว่าทำดีแล้วทำไม่ไม่ได้ดี เพราะการขับรถอย่างปลอดภัยนั้นต้องอาศัยสติด้วย ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นคนใจบุญอย่างเดียว ในทำนองเดียวกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่โกงไม่กิน แต่ชอบกินอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน แถมไม่ออกกำลังกาย อีกทั้งยังเครียดจากที่ทำงาน เส้นเลือดในสมองจึงแตก กลายเป็นอัมพาต นอนซมอยู่ที่บ้านช่วยตัวเองไม่ได้ กรณีอย่างนี้ก็ไม่อาจพูดได้เช่นกันว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี เพราะสุขภาพนั้นจะดีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเดียว
ชอบทำบุญแต่ตายเพราะอุบัติเหตุ หรือซื่อสัตย์แต่กลับเป็นอัมพาต จึงไม่ได้หมายความว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทั้งยังพูดไม่ได้ด้วยว่ากฎแห่งกรรมไร้ความเป็นธรรม เพราะเป็นคนละเรื่องกัน กฎแห่งกรรมนั้นเป็นกฎธรรมชาติ ส่วนความเป็นธรรมนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์นิยามเอาเอง แค่ไหนจึงเรียกว่าความเป็นธรรม เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้มาก ผู้คนมักคิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต่อเมื่อพบว่าตนเองได้น้อยกว่าคนอื่น (เช่นได้รับแจกผ้าห่มน้อยกว่า หรือได้เงินเดือนและโบนัสน้อยกว่า) แต่หากตนเองได้มากกว่าคนอื่น มีใครบ้างที่จะโวยวายว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ความไม่เป็นธรรมจึงไม่ได้แปลว่าความไม่เท่าเทียม แต่มักแปลว่าฉัน (หรือพวกของฉัน) ได้น้อยกว่าคนอื่น
คำว่า “ธรรม” ในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกคือสัจธรรม หมายถึงความจริงหรือกฎธรรมชาติ ส่วนจริยธรรม นั้นเป็นการเอาความจริงหรือกฎธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยจัดวางเป็นวิธีการ หรือกำหนดเป็นคุณค่าหรือคุณธรรมที่พึงยึดถือ เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎธรรมชาติ เช่น มรรคมีองค์ ๘ ไตรสิกขา เมตตากรุณา สันโดษ อหิงสา ความใจกว้าง และ การเคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นต้น
มองในแง่นี้ กฎแห่งกรรม จัดว่าเป็นเรื่องสัจธรรม ส่วนความเป็นธรรม หรือ ความยุติธรรม จัดเป็นเรื่องจริยธรรม การแยกเช่นนี้จะช่วยให้เห็นว่า ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมนั้น เป็นคุณค่าหรือคุณธรรมที่ควรทำให้เกิดมีขึ้น (ไม่ว่าในระดับบุคคลหรือสังคมก็ตาม) มิใช่กฎธรรมชาติโดยตัวมันเอง แต่ก็อิงอาศัยกฎธรรมชาติ โดยเฉพาะกฎแห่งกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดจิตที่เป็นกุศลหรือสร้างเงื่อนไขทางสังคมที่เกื้อกูลต่อความสงบสุขและชีวิตที่ดีงาม เป็นต้น
ในฐานะสัจธรรม กฎแห่งกรรมเป็นสิ่งที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ มนุษย์จะรับรู้ว่ามีกฎนี้หรือไม่ก็ตาม มันก็ยังทำงานของมันอยู่นั่นเอง แต่ในฐานะจริยธรรม ความเป็นธรรมเป็นสิ่งซึ่งมนุษย์ต้องทำให้เกิดมีขึ้น รวมทั้งต้องตกลงให้แน่ชัดว่ามีความหมายอย่างไร ในเมื่อความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการตีความ กฎแห่งกรรม จะ “เป็นธรรม” เพียงใด จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์เราตีความเอาเอง ดังนั้นจึงพบว่าในบางครั้งกฎแห่งกรรมก็ดูเหมือนเป็นธรรม แต่ในบางครั้งก็ไม่เป็นธรรม
กฎแห่งกรรมนั้นเป็นกฎธรรมชาติ ส่วนความเป็นธรรมนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์นิยามเอาเอง แค่ไหนจึงเรียกว่าความเป็นธรรม เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้มาก
การแสวงหาความเป็นธรรมจากกฎแห่งกรรม มองในแง่หนึ่งก็ไม่ต่างจากการแสวงหาความยุติธรรมจากกฎอื่นๆ ในธรรมชาติ เช่น กฎแห่งการเกิดโรคระบาด (ซึ่งจัดว่าเป็นพีชนิยามอย่างหนึ่ง) กฎนี้หากกล่าวอย่างสั้นๆ (ซึ่งอาจดูหยาบสักนิด) ก็คือ โรคระบาดเกิดจากเชื้อโรค มิได้เกิดจากอำนาจลี้ลับ หรือจากสภาพอากาศ ใครที่ติดเชื้อโรค เช่น มาลาเรีย ไม่ว่ารวยหรือจน เด็กหรือคนแก่ ขาวหรือดำ กษัตริย์หรือยาจก ล้วนต้องล้มป่วยหรือตายทั้งสิ้น มองในแง่นี้กฎนี้ก็นับว่ายุติธรรมอย่างยิ่ง แต่ในความเป็นจริงเราพบว่าคนที่ติดและตายเพราะโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นคนจน และอยู่ในประเทศโลกที่สาม หลายคนเป็นเด็กน่ารัก และจำนวนไม่น้อยก็เป็นคนดี ในขณะที่นักการเมืองที่โกงกินบ้านเมืองแทบไม่มีใครตายเพราะโรคนี้เลย ทั้งๆ ที่บางคนหากตรวจเลือดก็พบเชื้อมาลาเรีย (เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่มีเชื้อวัณโรคในร่างกาย แต่กลับไม่เป็นโรคนี้เลย)
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะพูดได้ไหมว่ากฎนี้ไม่ยุติธรรม ตรงนี้เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ไม่ว่าจะตีความอย่างไร หรือถึงแม้จะสรุปว่ากฎนี้ไม่ยุติธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎนี้ไม่มีอยู่จริง จะเป็นธรรมหรือไม่ ก็เป็นการตีความหรือให้ค่าของมนุษย์เอง แต่กฎนี้ไม่รับรู้ด้วย ยังคงทำงานต่อไปตามเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง
การที่บางคนรักษาสุขภาพอย่างดี ไม่สูบบุหรี่ แต่กลับเป็นมะเร็งปอด ขณะที่หลายคนสูบบุหรี่มาตลอด แต่ไม่เป็นโรคนี้เลย ไม่ได้หมายความว่าบุหรี่กับมะเร็งปอดไม่เกี่ยวกัน การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า สองอย่างนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน แต่ก็มีเหตุปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตอนนี้เรายังมีความรู้ที่จำกัด จึงไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าทำไมบางคนไม่เป็นมะเร็งปอดทั้งๆ ที่สูบบุหรี่มาก แต่เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็สามารถยืนยันได้แล้วว่าบุหรี่กับมะเร็งปอดนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างมาก (อย่างน้อยก็มีผลในระดับเซล เช่น ทำให้เกิดเซลมะเร็งขึ้น แต่จะลุกลามเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก)
ความรู้ดังกล่าวทำให้สามารถระบุได้ว่าการไม่สูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพ ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้เรายังไม่รู้เหตุปัจจัยอื่นๆ อย่างครบถ้วน ว่าเหตุใดบางคนที่ทำความดีมาตลอดจึงถูกฆ่าตายตั้งแต่อายุยังน้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การทำความดีจะไม่ส่งผลดีต่อผู้กระทำ จริงอยู่ การไม่สูบบุหรี่มิได้เป็นหลักประกันเด็ดขาดว่าจะไม่ป่วยเป็นมะเร็งปอด ในทำนองเดียวกัน การทำความดีก็มิได้เป็นหลักประกันเด็ดขาดว่าจะไม่มีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับตน เพราะเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดสิ่งเลวร้ายกับตนนั้นมีอยู่มากมายนอกเหนือจากการกระทำของตนเองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การกระทำของตนเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด อย่างน้อยก็เป็นสิ่งซึ่งอยู่ในการควบคุมของเราได้
กฎแห่งการเกิดโรคระบาด จะยุติธรรมหรือไม่ก็ตาม ก็ยังมีประโยชน์ หากเราเอาความรู้หรือความจริงจากกฎดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันมิให้เกิดแหล่งเพาะเชื้อโรค ร่วมกันพัฒนายารักษาโรคขึ้นมา รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้คนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง ตลอดจนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างสะดวก ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้กฎแห่งกรรมจะดูไม่เป็นธรรมในสายตาของเรา และถึงแม้การทำความดีจะไม่ใช่หลักประกันเด็ดขาดว่าจะไม่เกิดเหตุร้ายกับตน แต่ความจริงที่ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงตามหลักเหตุปัจจัยระหว่างการทำความดีกับการเกิดคุณภาพจิตที่ดีและมีชีวิตที่ดี ความจริงดังกล่าวเราสามารถเอามาใช้ในการส่งเสริมให้ผู้คนทำความดี มีจริยธรรมต่อกัน อย่างน้อยก็ไม่นิ่งดูดายต่อความทุกข์ของผู้อื่นโดยอ้างว่าเป็น “กรรมของสัตว์” หรือ “กรรมใครกรรมมัน” ผู้ที่ทำเช่นนั้นนอกจากจะเข้าใจกฎแห่งกรรมผิดพลาดแล้ว ยังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นอกุศล ซึ่งในที่สุดก็จะต้องก่อผลร้ายแก่ตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ภาพประกอบ