ภารกิจของศาสนิกชนในยุคแห่งความรุนแรง

พระไพศาล วิสาโล 15 กันยายน 2006

ความอยุติธรรมและความรุนแรง คือสภาพความเป็นจริงที่ประจักษ์แก่ศาสนิกชนทั้งหลาย และปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพความเป็นจริงดังกล่าวคือสิ่งที่สวนทางกับหลักการของศาสนาทุกศาสนา  ศาสนานั้นกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสงบสุข โดยเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต และตระหนักถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของทุกชีวิต  ศาสนามิได้สอนให้เราแสวงหาความสุขเฉพาะตน แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้มีความสุขด้วย  “ผู้อื่น” ในที่นี้มิได้หมายถึงครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือมิตรสหายเท่านั้น หากควรรวมถึงผู้คนทั้งหลายในสังคม  ด้วยเหตุนี้การขจัดความไม่เป็นธรรมและความรุนแรง เพื่อฟื้นฟูความยุติธรรมและสันติภาพขึ้นในสังคม จึงเป็นภารกิจที่ศาสนิกชนมิอาจละเลยได้

ในการสร้างความยุติธรรมและสันติภาพในสังคม ศาสนิกมีภารกิจ ๒ ด้าน ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “ภารกิจภายนอก” กับ “ภารกิจภายใน”

ภารกิจภายนอก หมายถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งมีความหมายมากกว่ากิจกรรมในลักษณะ interpersonal หากรวมไปถึงปฏิบัติการในทางการเมืองด้วย  ความยุติธรรมและสันติภาพ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคลต่อบุคคล เช่น ให้ทาน ดูแลรักษาพยาบาล หรือกิจกรรมเชิงสังคมสงเคราะห์เท่านั้น  หากจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบหรือโครงสร้างที่เป็นต้นตอแห่งความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงในสังคมด้วย  เช่น ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนหรือชุมชนท้องถิ่น เพื่อมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อตนเอง  ทำให้ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยและมีความโปร่งใสมากขึ้น  ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกัน  มีการปฏิรูปที่ดิน และระบบภาษีที่ก้าวหน้าเป็นต้น  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือช่วยกันขจัดโครงสร้างแห่งความรุนแรง และสถาปนาโครงสร้างที่เป็นธรรมและสันติ

ที่แล้วมาศาสนิกมักจะมองปัญหาในสังคมว่าเกิดจากความบกพร่องส่วนบุคคล เช่น ผู้นำที่ฉ้อฉล หรือชาวบ้านขี้เกียจ ติดอบายมุข  ดังนั้นจึงมักคิดแก้ไขที่ตัวบุคคล เช่น เรียกร้องคนดีมาเป็นผู้นำ หรือเทศนาสั่งสอนให้ชาวบ้านขยัน เลิกละอบายมุข รวมทั้งให้การสงเคราะห์เป็นรายบุคคล  การกระทำดังกล่าวแม้จะจำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอ  หากควรมองไปถึงการแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้าง ซึ่งก็ไม่ควรจำกัดแค่การออกกฎหมายต่อต้านอบายมุขหรือคอรัปชั่นเท่านั้น เพราะปัญหาความทุกข์ยากของผู้คนนั้นมีมากกว่าเรื่องอบายมุขและคอรัปชั่น  อีกทั้งลำพังกฎหมายเองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากโครงสร้างหรือระบบส่วนอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน

จะทำเช่นนั้นได้ ศาสนิกจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม  การมองปัญหาสังคมโดยใช้วิธีการเดียวกับการแก้ปัญหาครอบครัวหรือหมู่บ้าน ซึ่งเน้นที่การแก้ที่ตัวบุคคลนั้น ย่อมไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหาสังคมและเห็นทางออกที่ถูกต้องได้

ส่วนภารกิจประการที่สองคือ ภารกิจภายใน นั้นหมายถึง การทำความเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา จนเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตน  ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเปิดใจกว้างต่อเพื่อนมนุษย์  หาไม่แล้วศาสนิกจะหลงติดอยู่กับรูปแบบ พิธีกรรมและสัญลักษณ์ของศาสนาตน ซึ่งเป็นความคับแคบอย่างหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคทั้งต่อการพัฒนาตนและต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่พึงปรารถนา

บ่อยครั้งเราจะพบว่า ขบวนการทางศาสนาสนใจเรียกร้องแต่เรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับศาสนาของตนเท่านั้น เช่น การเรียกร้องให้มีกระทรวงดูแลศาสนาของตนโดยเฉพาะ หรือการเรียกร้องสถานะหรือสิทธิพิเศษให้แก่ศาสนาของตน  กลายเป็นว่าขบวนการทางศาสนากลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ต่างจากสมาคมนักธุรกิจหรือสภาหอการค้า ทั้งๆ ที่ศาสนาน่าจะส่งเสริมคุณค่าที่สากลและคำนึงถึงประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ โดยไม่จำแนกแยกแยะ

ทุกศาสนาล้วนสอนให้ผู้คนตระหนักถึงเอกภาพของมนุษยชาติ มองมนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องหรือเพื่อนร่วมโลก  การเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตน ย่อมช่วยเปิดใจให้ศาสนิกทั้งหลายตระหนักถึงสายสัมพันธ์ดังกล่าว และมีเมตตาต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา  แต่บ่อยครั้งเรากลับพบว่า ศาสนิกจำนวนไม่น้อยมองเพื่อนมนุษย์โดยอาศัยศาสนา เชื้อชาติ ภาษา เป็นเครื่องแบ่งแยก  จนไม่เพียงเกิดความรู้สึกเป็น “เรา” และ “เขา” เท่านั้น หากยังเกิดความรู้สึกเมินเฉย และไม่อนาทรต่อกัน จนถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

มุมมองดังกล่าวย่อมมีผลต่อการสร้างความยุติธรรมและสันติภาพในสังคม เพราะทำให้ศาสนิกคำนึงแต่ความยุติธรรมและสันติสุขเฉพาะที่เกี่ยวกับเพื่อนร่วมศาสนาตนเท่านั้น แต่ไม่สนใจ (หรือมองไม่เห็น) เมื่อความไม่เป็นธรรมหรือความรุนแรงเกิดขึ้นกับเพื่อนต่างศาสนา  เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๕๔๘) ชาวพุทธไทยทั้งประเทศตื่นตะลึงและโกรธแค้น เมื่อพระเณรในวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดปัตตานีถูกฆ่า และบางส่วนของวัดถูกเผา พระพุทธรูปถูกทำลาย  แต่กลับไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจเมื่อผู้ประท้วงชาวมุสลิมจำนวนเกือบ ๘๐ คนตาย เพราะถูกวางทับซ้อนกันบนรถระหว่างถูกนำส่งไปคุมขังที่ค่ายทหารในจังหวัดเดียวกัน  ในทำนองเดียวกันชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยก็ดูจะมีท่าทีไม่ต่างจากชาวพุทธที่กล่าวมา  ในที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ข้าพเจ้าได้เสนอแนะให้ผู้นำชาวมุสลิมซึ่งเป็นกรรมการอยู่ เปิดแถลงข่าวประณามผู้ที่ฆ่าพระเณร (ในกรณีที่เพิ่งกล่าวถึง) ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม แต่ผู้นำชาวมุสลิมเหล่านั้นกลับปฏิเสธ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะเกรงว่าจะทำให้ตนมีปัญหากับชาวมุสลิมในพื้นที่ของตัว

ความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราในหมู่ศาสนิกชน ยังมีผลต่อสำนึกในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพในแง่ที่ว่า ศาสนิกมีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นความอยุติธรรม หากผู้ก่อการนั้นนับถือศาสนาเดียวกับตัว  แต่จะมองเห็นความอยุติธรรมเด่นชัด เมื่อผู้ก่อการนั้นนับถือคนละศาสนากับตัว  เมื่อพระสุพจน์ สุวโจ ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดด้วยมีดที่วัดของท่านในอำเภอฝาง กลับได้รับความสนใจน้อยมากในหมู่ชาวพุทธทั่วประเทศ  เหตุผลหนึ่งก็เพราะฆาตกรดูเหมือนว่าจะเป็นชาวพุทธด้วยกัน แต่ชาวพุทธจะตื่นตัวและโกรธแค้นเมื่อพระเณรถูกฆ่าโดยชาวมุสลิม  ในทำนองเดียวกันเมื่อชาวสุหนี่วางระเบิดทำลายสุเหร่าของชาวชีอะห์ในอิรักช่วงเทศกาลรอมะดอนเมื่อปีที่แล้ว (และยังมีอีกหลายครั้งตามมา)  แทบไม่มีชาวสุหนี่ในประเทศใด (รวมทั้งในประเทศไทย) ลุกขึ้นมากล่าวประณามการกระทำดังกล่าว  แต่เสียงประณามจะแผดดังทันทีจากชาวมุสลิม หากปรากฏว่าชาวมุสลิมไม่ว่าสุหนี่หรือชีอะห์ ถูกฆ่าโดยทหารอเมริกัน

การทำความเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนจนเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง และมีมุมมองต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกว่า “เรา” หรือ “เขา”

ผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตนไม่ว่าชาวพุทธหรือมุสลิม ย่อมไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้หากว่ามนุษย์คนใดคนหนึ่งถูกทำร้ายในลักษณะนั้น ไม่ว่าคนนั้นจะนับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือเลยก็ตาม  เพราะศาสนาย่อมยกระดับจิตใจของเราให้ข้ามพ้นเส้นแบ่งทั้งปวงที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง  ศาสนาไม่ว่าพุทธหรืออิสลามย่อมเปิดใจให้เราเห็นความจริงว่า เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะเป็นชาวพุทธ หรือชาวมุสลิม  และก่อนที่จะเป็นชาวไทย ชาวมาเลเซีย ชาวอินโดนีเซีย ชาวสิงหล หรือชาวทมิฬ ฯลฯ

ศาสนานั้นเป็นพลังในทางความยุติธรรมและสันติภาพได้ ก็เพราะเปลี่ยนแปลงมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนเกิดเมตตา กรุณา ต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย โดยไม่ปล่อยให้อัตลักษณ์ (หรือ “ยี่ห้อ”) ทางเชื้อชาติ  ภาษา ศาสนา อุดมการณ์ มาเป็นเครื่องกีดขวางมนุษย์ออกจากกัน  แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่อาจเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา แต่หลงติดอยู่กับสัญลักษณ์ รูปแบบ พิธีกรรม ทางศาสนาแล้ว ศาสนาก็สามารถกลายเป็นอุปสรรคในการสถาปนาความยุติธรรมและสันติภาพได้

ศาสนาจะสามารถเชื่อมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นพลังในการสร้างความยุติธรรมและสันติภาพได้อย่างไร นี้คือปัญหาที่ท้าทายทุกศาสนาอยู่ในเวลานี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา