วิชาว่ายน้ำศาสตร์

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 12 พฤษภาคม 2013

ว่ากันถึงเรื่องนิทาน เราก็มักจะมองไปทางโลกอาหรับ โดยมี “อาหรับราตรี” อมตะนิทานของโลกเป็นหลักหมาย

แต่ว่าตามจริง ทางซีกโลกตะวันออกของเราก็เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา ไว้เล่าสู่กัน ตั้งแต่ใช้กล่อมลูกหลานเป็นนิทานก่อนนอน ไปจนถึงเป็นนิทานสอนธรรม

ใครเคยเข้าร่วมฝึกปฏิบัติธรรมหลักสูตร ๑๐ วันของท่านโกเอ็นก้า จะได้ฟังนิทานอินเดียหลายเรื่อง ที่ท่านยกมาเป็นอุปกรณ์สอนธรรม ฝากแง่คิดผ่านเรื่องเล่าสนุกๆ สุข เศร้า ขำขัน ชวนจดจำ  ทำให้คนฟังจำได้ทั้งเนื้อเรื่องและข้อธรรมที่แฝงฝากไว้ในเรื่องเล่าเหล่านั้น

ผ่าน ๑๐ วันของหลักสูตรการอบรมไปแล้ว เช้าวันที่ ๑๑ ในการกล่าวปิดการอบรม ท่านโกเอ็นก้ายังเล่านิทานส่งท้าย  “สิบวันที่ผ่านมา ท่านได้ฟังนิทานไปหลายเรื่อง บางทีอาจารย์ของท่านอาจติดนิสัยชอบเล่านิทาน และพวกท่านก็ชักติดนิสัยชอบฟังนิทาน…”

มีเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่ท่านเล่า เป็นเรื่องราวของบัณฑิตหนุ่มที่นั่งเรือออกไปกลางทะเลกว้าง…  เนื้อความตามสำนวนวิปัสสนาจารย์แห่งอินเดียว่า

มีศาสตราจารย์ผู้หนึ่ง ยังหนุ่มและยังไม่มีประสบการณ์ในชีวิตมากนัก แต่มีการศึกษาสูง มีอักษรย่อต่อท้ายชื่อของเขาอยู่หลายตัว บ่งบอกสรรพคุณของปริญญาที่เขาได้รับ

เขาได้เดินทางโดยสารเรือลำหนึ่ง  และในเรือลำนี้มีกะลาสีชราที่ทำงานอยู่บนเรือ กะลาสีชราที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  บางครั้งกะลาสีจะมาที่ห้องพักของท่านศาสตราจารย์ เพื่อฟังเรื่องเล่าที่ดูชาญฉลาดต่างๆ จากเขา  กะลาสีชราคิดอยู่ในใจว่า ท่านศาสตราจารย์นี่ช่างฉลาด มีความรู้ และเยี่ยมยอด

วันหนึ่งหลังจากได้พูดคุยกัน ขณะที่กะลาสีชรากำลังจะออกจากห้อง ท่านศาสตราจารย์ก็ถามว่า “นี่กะลาสีชรา เธอเคยได้เรียนวิชาธรณีวิทยาไหม”

“ธรณีวิทยาคืออะไรครับท่าน ผมไม่เคยรู้จักเลย ผมไม่เคยเข้าโรงเรียน ไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย บอกผมหน่อยสิครับว่า ธรณีวิทยาคืออะไร”

“ธรณีวิทยาคือวิชาว่าด้วยพื้นแผ่นดิน เธอเคยเรียนบ้างไหม”

“ไม่เคยครับ อย่างที่ผมบอก ผมไม่เคยเรียนอะไรเลย”

“โธ่เอ๋ย ช่างโชคร้ายเสียจริง เธอไม่เคยเรียนวิชาธรณีวิทยา นี่เท่ากับเธอได้เสียเวลาไปเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเลยเชียวนะ”

กะลาสีชราเศร้าใจมาก ออกจากห้องไปด้วยใบหน้าละห้อย  “ถ้าท่านผู้รู้เช่นนี้บอกว่าเราได้เสียเวลาไปเสี้ยวหนึ่งของชีวิต เราก็ต้องเสียเวลาไปเสี้ยวหนึ่งของชีวิตจริงๆ”

วันรุ่งขึ้นเขาไปหาท่านศาสตราจารย์อีก หลังจากคุยกันอยู่นาน เมื่อกะลาสีกำลังออกจากห้อง ท่านศาสตราจารย์ก็ถามว่า “กะลาสีชรา เธอเคยเรียนวิชาสมุทรศาสตร์บ้างหรือเปล่า”

“มันคืออะไรหรือครับท่าน”

“ก็วิชาที่ว่าด้วยมหาสมุทรและทะเลไง”

“โธ่ ท่านครับ ไม่เคยเลย ผมไม่เคยได้เรียนอะไรเลย”

“เธอช่างเป็นผู้ที่โชคร้ายเสียจริง นี่เท่ากับเธอเสียเวลาไปครึ่งหนึ่งของชีวิตเลยนะเนี่ย”

กะลาสีชรารู้สึกเสียใจมาก  “ฉันได้เสียเวลาไปครึ่งหนึ่งของชีวิตเลยหรือ”

ในวันที่สาม อีกครั้งหนึ่ง กะลาสีชราถูกถามว่า

“กะลาสีชรา เธอเคยเรียน อุตุนิยมวิทยาบ้างหรือไม่”

“อะไรหรือครับท่าน ผมไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย”

“ก็วิชาว่าด้วยลม ฝน และอากาศไง”

“ไม่เคยเลยครับ  อย่างที่ผมเคยบอกท่านไงครับ ผมไม่เคยเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ผมไม่เคยเรียนอะไรเลยครับ”

“กะลาสีชราเอ๋ย เธอช่างโชคร้ายเสียนี่กระไร เธอไม่เคยเรียนธรณีวิทยา วิชาที่ว่าด้วยพื้นดินที่เราอยู่

เธอไม่เคยเรียนสมุทรศาสตร์ วิชาที่ว่าด้วยท้องทะเล ที่เธอเดินทางอยู่ทุกวัน

เธอไม่เคยเรียนอุตุนิยมวิทยา วิชาที่ว่าด้วยลม ฝน และอากาศที่ซึ่งเธอเผชิญอยู่ทุกวัน ช่างโชคร้ายเหลือเกิน นี่เท่ากับเธอเสียเวลาไปสามส่วนสี่ของชีวิตเชียวนะ”

กะลาสีชรารู้สึกเศร้ามาก  “ฉันได้สูญเสียเวลาไปแล้ว ถึงสามส่วนสี่ของชีวิต”

วันต่อมา เป็นคราวของกะลาสีชราบ้าง เขาวิ่งมาหาท่านศาสตราจารย์

“ท่านศาสตราจารย์ครับ ท่านครับ ท่านเคยเรียนวิชาว่ายน้ำศาสตร์ไหมครับ”

“ว่ายน้ำศาสตร์อะไร”

“อ้อ ท่านว่ายน้ำเป็นไหมครับ”

“โอ้ ไม่ กะลาสีชรา ฉันว่ายน้ำไม่เป็น”

“ผมเสียใจด้วยเหลือเกินครับท่าน  แบบนี้เท่ากับท่านเสียเวลาเปล่าไปทั้งชีวิตแล้วละครับ

เพราะขณะนี้เรือแตกและกำลังจะจม ใครว่ายน้ำเป็นก็จะไปถึงฝั่งได้  ส่วนคนที่ว่ายไม่เป็น แหม ผมเสียใจ กับท่านเหลือเกินครับ”

ตอนจบของนิทานค่อนข้างจะโหดร้าย อาจจบลงด้วยความตายของชายหนุ่มที่เก่งกาจทางทฤษฎี แต่ไม่เคยเรียนรู้ในโลกจริง

แต่นิทานก็คือนิทาน  ท่านยกมาเล่าเพื่อจะสอนผู้คนในโลกจริงว่า ธรรมะมีไว้ให้ปฏิบัติ ไม่ใช่แค่เรียนรู้เพื่อเป็นความบันเทิงทางปัญญา

อย่างวิชาว่ายน้ำศาสตร์นี้ก็เช่นกัน หากเอาแต่อ่านตำราหรือพูดคุยเกี่ยวกับวิชาว่ายน้ำ โดยที่ไม่ได้แตะน้ำเลย วิชานี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

เราต้องเรียนรู้การว่ายน้ำที่แท้จริง เพื่อว่ายข้ามมหาสมุทรแห่งความทุกข์ ไปให้ถึงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งจะได้เป็นอิสระจากความทุกข์

ด้วยสิ่งนี้—ธรรมะภาคปฏิบัติ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ