เรื่องต่อไปนี้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน
“วิชัย” เป็นนักศึกษาที่อึดอัดและหงุดหงิดอย่างยิ่งกับวิธีการสอนของอาจารย์ผู้หนึ่ง เนื่องจากอาจารย์ชอบพูดเล่าเกี่ยวกับตัวเองในชั้นเรียน เช่น เป็นใคร มาจากไหน ทำอย่างไรจึงมีสามีเป็นรองอธิการบดี มีบ้านใหญ่โตแค่ไหน นอกจากนั้นวิชัยยังพบว่าอาจารย์ผู้นี้บรรยายโดยลอกตัวอย่างจากหนังสือของอาจารย์อีกผู้หนึ่ง โดยไม่มีเนื้อหาเป็นของตัวเองเลย ด้วยเหตุนี้เขาจึงประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องเรียนกลางคันถึงสามครั้ง อาจารย์เห็นก็ไม่พอใจ พูดตำหนิเขาว่า “ไม่มีสัมมาคารวะ เพราะบุพการีไม่สั่งสอน”
เมื่อผลสอบออกมา ปรากฏว่าวิชัยได้เกรด D เขาเชื่อว่าตนถูกอาจารย์กลั่นแกล้ง จึงตอบโต้ด้วยการทำจดหมายเปิดผนึกระบายความรู้สึกเกี่ยวกับอาจารย์ผู้นี้โดยไม่ระบุชื่อ แล้วพิมพ์แจกให้อาจารย์ทุกคนในภาควิชา พร้อมกับลงชื่อตัวเองด้วย
อาจารย์ไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงเอาเรื่องของวิชัยไปพูดในห้อง และตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง เมื่อวิชัยรู้ก็โกรธ รู้สึกว่าอาจารย์ด่าลับหลัง จึงเข้าไปในห้องที่อาจารย์ผู้นั้นสอนเพื่อจะได้ฟังกับหู ทันทีที่อาจารย์เห็นหน้าวิชัย ก็คิดว่าเขาจะมาก่อกวน จึงพูดว่า “ถ้าเธออยู่ ครูจะไม่สอน และจะเรียกรปภ.ให้มาจับออกไป” วิชัยโกรธมากเพราะตนเพียงแต่เข้าไปนั่งเฉยๆ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จึงเดินตรงไปหาอาจารย์และพูดว่า “อาจารย์ไม่มีสิทธิไม่สอน ทำไมนักศึกษาต้องยอมให้อาจารย์บอกว่าจะสอนหรือไม่สอน”
ระหว่างนั้นอาจารย์หันหลังให้ เพื่อเก็บหนังสือเตรียมเดินออก วิชัยจึงเข้าไปทำท่าจะจิกหัวและคล้ายจะตบหน้าอาจารย์ ในใจนั้นคิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้แรงเพื่ออาจารย์จะได้รู้สึกตัว ขณะนั้นเองอาจารย์หันกลับมาเห็นจึงร้องบอกให้นักศึกษาในห้องเป็นพยาน วิชัยจึงพูดสบถว่า “บัดซบ ทุเรศ”
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายลงเอยโดยวิชัยถูกลงโทษพักการเรียนหนึ่งภาค ส่วนอาจารย์ผู้นั้นช็อคกับเหตุการณ์เกือบสติขาด กลายเป็นคนหวาดระแวงไป
เรื่องนี้บอกอะไรหลายอย่างที่ควรแก่การพิจารณา ที่เห็นเด่นชัดก็คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนเกิดความขัดแย้งขึ้นมา หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แต่ถ้ามองให้กว้างแล้วจะพบว่าความขัดแย้งดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นกับทุกที่และในความสัมพันธ์ทุกระดับ ไม่ใช่จำเพาะนักศึกษากับอาจารย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงลูกกับพ่อแม่ สามีกับภรรยา ลูกน้องกับเจ้านาย และเพื่อนกับเพื่อน ไม่ว่าในบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่วัด ล้วนหนีไม่พ้นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว
ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่จำเป็นจะต้องลงเอยแตกหักอย่างเรื่องข้างต้น กระนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะจบลงในลักษณะนั้นหรือยิ่งกว่า โดยเฉพาะเมื่อทุกฝ่ายลุแก่โทสะ ขาดสติ อีกทั้งยังมีทัศนะที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากกรณีตัวอย่างข้างต้นก็คือ พลวัตหรือพัฒนาการของความขัดแย้ง แม้ว่าความขัดแย้งจะมีหลากหลายลักษณะ แต่กรณีข้างต้นเป็นบทเรียนอย่างดีที่ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งลุกลามขยายตัวไปได้อย่างไร
เมื่ออคติเกิดขึ้น โดยเฉพาะโทสาคติและภยาคติ (ลำเอียงเพราะเกลียดและกลัว) การรับรู้ย่อมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น มองผู้อื่นในแง่ลบ รวมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าไปในทางร้าย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อวิชัยได้เกรด D เขาก็สรุปทันทีว่าเป็นเพราะอาจารย์กลั่นแกล้ง และแทนที่เขาจะทำเรื่องสอบถามคะแนนจากอาจารย์หรือทำเรื่องร้องเรียนถึงหัวหน้าภาควิชา เขากลับปฏิเสธ เพราะเห็นว่าทำไปก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรม ถึงอย่างไรอาจารย์ก็ต้องหาเหตุผลมายืนยันว่าเขาสมควรได้รับคะแนนเท่านั้น
ส่วนอาจารย์ก็มีอคติกับวิชัยเช่นกัน เมื่อเห็นวิชัยเข้ามาในห้องเรียน ก็ปักใจเชื่อว่าเขาจะมาก่อกวน ถึงกับจะเรียกให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาจับเขาออกไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวิชัยแสดงความไม่พอใจอาจารย์ด้วยการเดินออกจากห้องเรียนกลางคันถึงสามครั้ง อาจารย์จึงตอบโต้ด้วยการว่ากล่าวถึงบุพการี และเมื่ออาจารย์ให้เกรด D แก่วิชัย (ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะต้องการกลั่นแกล้งเขาหรือไม่) วิชัยก็ตอบโต้ด้วยการทำจดหมายเวียนต่อว่าอาจารย์ไปทั่วภาควิชา อาจารย์ก็ไม่ยอมแพ้ เอาเรื่องของวิชัยไปว่ากล่าวหรือ “ประจาน” ในห้องเรียน และเมื่อวิชัยเข้ามานั่งฟังในห้องเรียน อาจารย์ก็ตอบโต้ด้วยการไล่ออกจากห้องและขู่จะเรียกเจ้าหน้าที่มาจับออกไป วิชัยจึงตอบโต้ด้วยการเข้าไปประชิดตัว ทำท่าจิกหัวอาจารย์และคล้ายจะตบหน้า ถึงตอนนั้นอารมณ์ของทั้งสองฝ่ายก็ระเบิดออกมาจนไม่อาจควบคุมได้ แต่เคราะห์ดีที่ยังไม่ถึงกับทำร้ายร่างกายกัน
วิชัยสารภาพในเวลาต่อมาว่า เป็นความตั้งใจของเขาที่จะ “ทำอย่างไรให้แรงเพื่อให้อาจารย์รู้สึกตัว” ไม่ว่าการประท้วงด้วยการเดินออกจากห้อง การทำจดหมายเวียนไปทั่วภาควิชา รวมทั้งการทำท่าจิกหัวและตบหน้าอาจารย์ แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขานึก สถานการณ์กลับเลวร้ายลงอย่างนึกไม่ถึง เขามารู้สึกผิดเมื่อรู้ว่าอาจารย์คู่กรณีนั้นสติแตกและเสียศูนย์ไปหลายวัน
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น หากต่างฝ่ายต่างตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งจะไม่ลดลง แต่จะไต่ระดับและลุกลามขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเท่ากับยั่วยุให้ทุกฝ่ายใช้วิธีที่รุนแรงขึ้นอีก จนสุดท้ายไม่มีใครเป็นผู้ชนะเลย ทุกฝ่ายกลายเป็นผู้แพ้
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น หากต่างฝ่ายต่างตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งจะไม่ลดลง แต่จะไต่ระดับและลุกลามขยายตัวมากขึ้น
เวรนั้นย่อมไม่อาจระงับได้ด้วยการจองเวรฉันใด ความขัดแย้งก็ไม่อาจระงับได้ด้วยความรุนแรงฉันนั้น แต่การจะระงับพฤติกรรมไม่ให้ออกมาในทางรุนแรงนั้น จะต้องจัดการที่ความรู้สึกนึกคิดในใจ เริ่มตั้งแต่อารมณ์ อคติ และความคิดปรุงแต่ง เพราะหากปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ครองใจ ก็จะทำให้การรับรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือมองเห็นคู่กรณีแต่ในแง่ร้าย ซึ่งในที่สุดจะปลุกเร้าให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงออกมา
อารมณ์และอคตินั้น จะจัดการได้ต้องอาศัยสติเป็นสำคัญ เพราะสติช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ และไม่ปล่อยใจให้ปรุงแต่งไปตามอคติ อีกทั้งยังช่วยให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ที่สำคัญก็คือ สติยังสามารถเตือนใจให้รู้จักการให้อภัย หรือใช้ปัญญาในการแก้ไขความขัดแย้ง ชนิดที่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
ในวังวนแห่งความขัดแย้ง คู่กรณีทุกฝ่ายต่างเป็นเหตุปัจจัยให้แก่กันและกัน คือเป็นทั้งตัวการ (ผู้กระทำ) และเหยื่อ (ผู้ถูกกระทำ) ของกันและกัน การประนามซึ่งกันและกัน หรือการใช้ความรุนแรงต่อกัน มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้นจนอาจเสียหายกันทั้งสองฝ่าย จะว่าไปแล้วความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีสภาพไม่ต่างจากกรณีตัวอย่างข้างต้น เป็นแต่ว่ายังไม่ลงเอยถึงที่สุด คำถามก็คือเราจะปล่อยให้จบลงอย่างแตกหักดังกรณีวิชัยกับอาจารย์หรือไม่?