ฝากผีฝากไข้

ณพร นัยสันทัด 11 มีนาคม 2018

“ฝากผีฝากไข้” ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง การหวังพึ่งพาอาศัย ฝากฝังให้ช่วยดูแลในยามที่เจ็บป่วยหรือแก่ชรา  หลายคนเมื่อได้ยินอาจจะผ่านเลยไปไม่ได้ให้ความสนใจอะไร แต่สำนวนนี้ มีความน่าสนใจหลายอย่างที่น่าค้นหา อยากชวนมาลองมองแบบกลับด้านอีกมุมหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเรา “ฝากผีฝากไข้”กับเรื่องอะไรบ้าง และถ้า “ไม่ฝาก” เราจะทำอะไรได้บ้าง

ยามเจ็บป่วย เรามักฝากความหวัง ฝากอำนาจการรักษาไว้กับหมอ เรียกว่า ยามป่วยฝากหมอ ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องนี้ ทำให้ไม่ว่าหมอจะแนะนำให้ทำอะไรก็ทำตามหมด ด้วยคิดว่าหมอเก่งที่สุด รู้ดีที่สุด ดังคำพูดหนึ่งที่มักจะได้ยินว่า “หมอเต็มที่เลยค่ะ” ซึ่งส่วนใหญ่คำพูดนี้มักจะออกมาจากปากลูกหลานมากกว่าเจ้าตัวที่ป่วย  และที่ผ่านมานอกจากเราจะฝากหมอแล้ว เรามักจะฝากการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาไว้ที่ลูกหลานญาติพี่น้องด้วย โดยหลงลืมไปว่าคนที่รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับตัวเรา ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ต้องการการรักษาแบบไหน ก็คือตัวเรานั่นเอง

เราอาจจะกลายเป็นคนไข้ที่มีสายระโยงระยาง นอนอยู่กับเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ที่สามารถช่วยยื้อให้เรามีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ในบรรยากาศที่โดดเดี่ยว ท่ามกลางคนแปลกหน้า มากกว่าจะนอนอยู่ที่บ้าน แวดล้อมด้วยความอบอุ่นจากคนที่เรารัก และพร้อมให้เราจากไปแบบเป็นธรรมชาติอย่างที่เราอยากให้เป็น

จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะเลือก “ไม่ฝาก” ด้วยการเริ่มพูดถึงความต้องการเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ที่เราต้องการ ตั้งแต่ตอนที่เรายังมีสุขภาพดีอยู่ ยังสามารถพูดหรือบอกถึงความต้องการของเราได้ ดีกว่าที่จะให้ใครมาเลือกให้ หรือมาเดาใจเราตอนที่ป่วยหนัก เพราะไม่มีใครที่รู้ใจใครดีที่สุดนอกจากเจ้าตัวเอง  เพราะเราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราอาจจะป่วยแบบกะทันหันเหมือนที่หลายๆ คนเป็น เช่น อยู่ๆ ก็มีอาการตาเบลอ แขนขาเริ่มอ่อนแรง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลพบว่าเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ กลายเป็นผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถพูด หรือบอกความต้องการกับใครๆ ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร หรืออยากให้เขาดูแลเราแบบไหน

ยามแก่ เราก็มักจะฝากลูกหลาน เพราะคาดหวังว่าลูกหลานจะมาดูแลเรา มาอยู่เป็นเพื่อน หาข้าวหาน้ำให้กินหรือให้เงินใช้ เหมือนที่เราเคยทำกับเขาแบบนี้มาก่อน หรือบางคนที่ผ่านมาอาจจะไม่เคยดูแลลูกหลานเลย  แต่ถึงจะเคยดูแล หรือไม่เคยดูแล ก็ไม่ควรตั้งความหวังว่าเขาจะมาดูแลเราเช่นเดียวกับที่เราดูแลเขา และเมื่อไม่ได้สมดังที่หวังก็อาจจะเสียใจ น้อยใจก็ได้

ถ้าเราเลือกที่จะ “ไม่ฝาก” เริ่มจากหันมาปรับที่ใจของเรา ให้เราดูแลลูกหลานของเราอย่างไม่ต้องคาดหวัง คือไม่หวังว่าเขาจะต้องดูแลเรา เพราะเราดูแลเขา หรือบางคนคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องดูแลเรา เพราะเราเป็นพ่อแม่ ลุง ป้า น้า อาก็ตามแต่  แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาไม่ได้ตอบสนองเรา ในแบบที่เราอยากให้เขาเป็น เรานั่นเองที่จะเป็นทุกข์และผิดหวัง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่คาดหวัง เราก็จะไม่ผิดหวังเช่นกัน

นอกจากจะไม่คาดหวังแล้ว ให้เราเข้าใจ และยอมรับเขาแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น เพราะถ้าเราเข้าใจ และเปิดรับมุมมองนั้นได้ เราจะไม่ทุกข์ รวมถึงจะไม่มัวแต่มาตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่คิดแบบนี้ หรือตอนนั้นฉันยังดูแลเธออย่างดีเลย  เพราะการคิดแบบนี้จะทำให้เราทุกข์ เพียงเพราะเขาไม่ได้ดั่งใจเรา

ยามเจ็บป่วย เรามักฝากความหวังไว้กับหมอและฝากการตัดสินใจไว้ที่ลูกหลาน  พอยามแก่ เราก็คาดหวังว่าลูกหลานจะดูแลเราเหมือนที่เราเคยทำให้เขา

อีกทางเลือกหนึ่ง ที่เราจะไม่ต้อง “ฝากผีฝากไข้” กับใครก็ตาม คือเราเลือกที่จะวางแผนการใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากให้เป็นได้ด้วยตัวเราเอง

เริ่มตั้งแต่วางแผนเรื่องการทำงาน การเก็บออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ การหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น การกินอาหารที่เป็นยา การออกกำลังกาย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเจ็บป่วย  หรือทำกิจกรรมที่เราอยากทำตั้งแต่ตอนที่เรายังแข็งแรงดีอยู่ ไม่ต้องรอทำตอนอายุมากๆ เพราะตอนนั้นอาจจะทำไม่ไหว ต้องพึ่งพาคนอื่นให้ช่วย เช่น การไปเที่ยว การเข้าวัดปฏิบัติธรรม การทำสวน ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นการฝากตัว ฝากความหวัง หรือฝากอะไรกับใครก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นที่มาของความทุกข์ทั้งนั้น เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ในการฝากของเรา ไม่ได้เจืออยู่ด้วยความคาดหวัง และเมื่อไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวัง เราก็ทุกข์ทันที


ภาพประกอบ

ณพร นัยสันทัด

ผู้เขียน: ณพร นัยสันทัด

หญิงสาวที่หลงไหลในความน่ารักของแมวเหมียว สนใจเรื่องพฤติกรรมและจิตวิทยาของแมว พอๆ กับชอบที่จะเรียนรู้ความแตกต่างของผู้คนที่พบเจอ จนถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวที่ชวนให้คนอ่านมองเห็นแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม