ปัญหาความไม่สะดวกของห้องส้วมเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่อยากไปอินเดีย ความลำบากเริ่มตั้งแต่ไม่มีห้องส้วมให้ใช้ หรือมีก็ไม่เพียงพอ หรือมีแต่ไม่สะอาด ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ นอกจากโรงแรมหรือวัดไทยที่ไปพักแล้ว แทบไม่มีที่ใดเลยที่มีห้องน้ำสะอาดน่าใช้
อย่าว่าแต่ห้องส้วมเลย แม้แต่ท้องทุ่งนาป่าละเมาะข้างทางอันเป็นพื้นที่หลักที่คณะผู้แสวงบุญใช้ปลดทุกข์นั้น หลายแห่งก็เต็มไปด้วย “ของเก่า” ซึ่งคงไม่มีใครสนใจพิสูจน์ว่าของไทยหรือของแขก เพียงแต่ขอให้ตั้งสติดูให้ดีอย่าไปเหยียบเข้าเป็นอันใช้ได้
แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องแสนยากลำบากในการใช้ชีวิตนี้ กลับกลายเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยสำหรับชาวบ้านที่นั่น เขาไม่ได้รู้สึกทุกข์กับการปลดทุกข์เหมือนพวกเราเลย ก็แค่ถือกระป๋องน้ำใบเล็กติดมือเดินไปหากอหญ้าหรือจุดที่พอพุ่มไม้บังตาได้บ้าง หรือถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรให้ห่างไกลผู้คนสักหน่อยก็ใช้ปลดทุกข์หนักได้เรียบร้อย ส่วนทุกข์เบานั้นยิ่งง่ายกว่านี้หลายเท่า
หรือถ้าปลดทุกข์ในช่วงค่ำๆ ดูเหมือนว่าริมถนนเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากของภารตชน มักไปพร้อมๆ กัน ๓-๔ คน ปลดทุกข์ไปคุยกันไปดูรถวิ่งไปมา ก็ไม่มีใครรังเกียจหรือเขินอายกัน
ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เราเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การปลดทุกข์อันเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ทุกชนิดที่ทำไปตามสัญชาติญาณนั้น สำหรับหรับมนุษย์เราได้ใช้สติปัญญาความสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมขึ้นมาซ้อนทับไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย และดูงามตาขึ้นในสายตาของคนในชุมชนนั้น
แม้การปลดทุกข์หนักเบาที่แสนง่ายของชาวบ้านในอินเดียนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติล้วนๆ การจะไปนั่งกันตรงไหน ไปกับใคร เวลาไหน (ส่วนใหญ่ยามเช้าเป็นกิจของผู้ชาย ยามเย็นเป็นเวลาของผู้หญิง) ตรงไหนห้ามไปปลดทุกข์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คนในแต่ละชุมชนต่างเข้าใจร่วมกันดี เมื่อทุกคนทำเหมือนๆ กัน ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่น่าอายหรือเสียหายตรงไหน เราเป็นคนต่างวัฒนธรรมซึ่งคุ้นเคยกับวัฒนธรรมในบ้านเรา ก็มองว่าการถ่ายทุกข์ข้างทางเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่สะดวก มีข้อเสียหลายอย่าง
ความยากจนเป็นเพียงสาเหตุส่วนเดียว แต่ยังเหตุปัจจัยอื่นๆ มาเกื้อหนุนอีกมากที่ทำให้การปลดทุกข์กันกลางทุ่งเป็นเรื่องปกติที่อินเดีย เช่น ระบบประปายังไม่มี ส่วนใหญ่ยังใช้น้ำจากบ่อโยก การจะมาให้สร้างห้องส้วมในบริเวณบ้านมีทั้งภาระในการสร้าง การหาน้ำไปใส่ การทำความสะอาด การแก้ปัญหาเมื่อส้วมเต็ม ต้องรอคิวกันใช้ ฯลฯ ขณะที่การปลดทุกข์แบบดั้งเดิมนี้ง่ายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่า เพราะยังพอมีพื้นที่ว่างให้ไปปลดทุกข์ได้อีกมาก ของเก่าก็สลายกลายเป็นปุ๋ย อาจมีหมูป่าหรือนกกามาเป็นเทศบาลช่วยกำจัดให้ด้วยอีกแรง สิ่งปฏิกูลนั้นจึงยังไม่ได้สร้างปัญหาให้ต้องแก้ไข
ส่วนในเมืองใหญ่พื้นที่ว่างน้อยลงก็มีการสร้างส้วมใช้มากขึ้น แต่ด้วยความคุ้นเคยของผู้คนที่ใช้ทุ่งนาปลดทุกข์ เมื่อมาใช้ห้องส้วมจึงไม่คุ้นเคยกับการรักษาความสะอาด ภาพส้วมอันแสนสกปรกจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากผ่านการมองจากมุมของวัฒนธรรมนี้ เช่นเดียวกับที่พวกเราซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ห้องส้วมกันมาตั้งแต่เกิด เมื่อต้องไปปลดทุกข์หนักเบาริมทางก็ทำให้อึดอัดลำบากใจเป็นเรื่องธรรมดา
มนุษย์เราได้ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมขึ้นมา เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชน
ใครศึกษาพุทธประวัติในรายละเอียดจะพบว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำวิธีการสร้างห้องส้วม การดูแลรักษาความสะอาด และการใช้ไว้อย่างละเอียดแล้วเมื่อเกือบ ๒๖๐๐ ปีก่อน กำหนดลงไปถึงขนาดว่าการรอคิวเข้าห้องส้วมให้ดูว่าใครไปถึงก่อนไม่ให้เรียงตามลำดับอาวุโสเหมือนเรื่องอื่น จะต้องถอดผ้าพาดผ้าไว้อย่างไร ขณะถ่ายทุกข์ทำอย่างไร เช่น ไม่ให้เบ่งเสียงดัง หลังเสร็จถ้ามีน้ำต้องใช้น้ำล้างชำระ ต้องรักษาความสะอาดส้วมอย่างไร เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าหลายเรื่องที่คนเราพัฒนาขึ้นนั้น อาจไม่ได้รับการยอมรับนำมาปฏิบัติแม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงาม มีประโยชน์ ช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพอนามัยได้ โดยเหตุผลที่สำคัญที่มักยกมาอ้างคือ “มันยุ่งยาก” แบบเดิมก็ยังพออยู่ได้
เรื่องส้วมยังเป็นเรื่องเล็กน้อยไกลตัวมาก เมื่อเทียบกับเรื่องที่พระพุทธองค์ทุ่มเทให้คำแนะนำกับผู้คนตลอด ๔๕ พรรษาหลังการตรัสรู้ นั่นคือเรื่องการปรับปรุงพัฒนาตนเพื่อการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
หลายคนอาจนึกตำหนิคนอินเดียที่พัฒนาอะไรได้หลายอย่าง แต่ไม่ยอมรณรงค์ให้คนสร้างส้วมให้มิดชิดไม่อุจาดตา ใช้ส้วมให้เป็นรู้จักรักษาความสะอาด ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้แนะนำไว้อย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แต่นั่นอาจเป็นเพราะเขายังไม่ทุกข์ ไม่เห็นความจำเป็น ไม่เห็นปัญหาที่ตามมาจากการไม่มีส้วม และชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้สึกเดือนร้อนอย่างที่ว่ากันมาแล้ว
แต่พวกเราต่างหาก ที่ล้วนเคยพบกับความทุกข์ยากแสนหาหัสทั้งจากชีวิตตนเองหรือได้เรียนรู้จากผู้คนรอบข้างมานักต่อนัก ทั้งที่พอรู้พอเข้าใจได้ว่าชีวิตที่ปราศจากทุกข์นั้นดีอย่างไร และในฐานะที่เป็นชาวพุทธกันมาตั้งแต่เกิดยังรู้ด้วยว่าทางออกจากทุกข์นั้นต้องทำอย่างไร แต่เราก็ยังไม่ยอมพัฒนายกระดับชีวิตเราให้สูงขึ้น ให้มีทุกข์น้อยลงอย่างที่พระพุทธองค์แนะนำเลย ยังคงใช้ข้ออ้างเดิมๆ ว่า “มันยุ่งยาก” แบบเดิมก็ยังพออยู่ได้ต่อไป
มีโอกาสไปแดนพุทธภูมิทั้งที หากรู้สึกอึดอัดกับการไม่มีส้วมดีๆ ใช้ แล้วนึกตำหนิคนในท้องถิ่นว่าไม่รู้จักพัฒนา ก็ลองย้อนกลับมามองชีวิตของเราเองที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านคงนึกตำหนิและสงสารพวกเราเหมือนกันว่า ทำไมไม่รู้จักขวนขวายพัฒนาตนให้พ้นจากกองมูตรคูตแห่งทุกข์กันเสียที ทั้งๆ ที่ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทางแห่งการพ้นทุกข์ไว้อย่างชัดเจนมาตั้งเกือบ ๒๖๐๐ แล้วเช่นกัน