ดูฟุตบอลแล้วย้อนดูสังคม

สมเกียรติ มีธรรม 30 มิถุนายน 2002

การแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ใกล้จะจบลงในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้  ผู้ที่พ่ายแพ้ก็ย่อมเสียใจ ส่วนผู้ชนะก็ดีใจตีฆ้องร้องเปล่าสนุกสนาน  ความพ่ายแพ้และชัยชนะนั้น เป็นที่สังเกตว่าจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในเกมการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเกมกีฬาหรือว่าเกมการค้าในทุกระดับ มีรุกมีรับสลับกันไป

แต่เกมการแข่งขันฟุตบอลในสนาม นับว่าดีกว่าเกมการแข่งขันในทางเศรษฐกิจมาก เนื่องจากผู้ชมดูผู้เล่นตลอดเวลาการแข่งขัน ใครเล่นอย่างไร ดีไม่ดี ใครโกง ผู้ชมก็จะเห็นหมด  ในทางตรงกันข้ามผู้เล่นในสนามของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ผู้ชมไม่เห็นเลยว่าใครเป็นอย่างไร ใครดีใครโกง ไม่มีกรรมการลงมาตัดสินชี้ขาด โอกาสที่จะจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือหาตัวผู้โกงจึงเป็นไปได้ยาก  ดังตัวอย่างเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมา หรือว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานผิดพลาดของรัฐบาล ไม่มีใครอาจหาญออกมารับผิดชอบ

การแข่งฟุตบอลในสนาม ก็เหมือนกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน ที่ต้องอาศัยการประสานงาน และความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างผู้เล่นทุกคนที่ลงแข่งขันในสนาม ถึงจะทำประตูชัยให้บรรลุเป้าหมายของทีมได้  ในทางเศรษฐกิจและสังคมก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันที่เป้าหมายเท่านั้น

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า “สามัคคีธรรม” เป็นหลักการสำคัญของการอยู่ร่วมกันในชุมชน พระพุทธองค์ถึงกับตรัสยกย่องว่า ถ้ามีสามัคคีธรรมในหมู่คณะ สังคมก็จะไม่ไปสู่ทางเสื่อมแน่นอน  แต่การสามัคคีกันได้นั้น ต้องอาศัยหลักการสำคัญอีกสองประการที่เข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสาน  กล่าวคือ ต้องมี ทิฎฐิสามัญตา อันหมายถึงความคิดความอ่านถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้ยังหมายร่วมไปถึงลัทธิ ทฤษฎี ความเชื่อต่างๆ อีกด้วย  และ ศีลสามัญตา คือมีความประพฤติที่เอื้อให้ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของชุมชนและสังคม เพื่อให้ทุกคนดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบศานติ

ความเสมอกันทางด้านทิฎฐิและศีลที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ไม่ได้หมายถึงจะให้ทุกคนมีความคิดความเชื่อ หรือมีความประพฤติเหมือนกันหมด เช่นแต่งตัวเหมือนกัน กินอาหารจานด่วนเหมือนกัน มีโทรศัพท์มือถือใช้ มีรถยนต์ไว้ขับเหมือนกัน ฯลฯ  ถ้าเป็นอย่างนั้นสังคมคงจะจืดชืดเหี่ยวเฉาตาย ไม่มีอะไรมาแต่งแต้มโลกใบนี้ให้สดใสได้แน่  หากแต่ทิฎฐิและศีลเสมอกันนั้น หมายถึงความเข้าใจและการยอมรับซึ่งกันและกันตามความเป็นจริงที่แต่ละปัจเจกบุคคลและสังคมเป็น  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น ไม่เคี่ยวเข็ญ ไม่ยัดเยียดให้เขาเป็นอย่างตน ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่แฝงมากับการพัฒนาให้ทันสมัย

ในสังคมปัจจุบัน การมองคนอื่นและสังคมอื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ และยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นตามนัยแห่งพระพุทธศาสนามีน้อยนัก  เนื่องจากระบบโลกาภิวัตน์ได้เข้ามาปรับทิฎฐิและศีลของผู้คนในสังคมใหม่ให้เสมอกัน ในความหมายที่ต่างออกไปจากแนวทางของพระพุทธศาสนาซึ่งเน้นความหลากหลายที่เป็นเอกภาพ มาเป็นความเท่าเทียมกันหรือเหมือนกัน มีวัฒนธรรมหนึ่งเดียวทั้งโลก  เพราะเหตุนั้นสังคมสมัยใหม่จึงมีความหลากหลายภายใต้ความเชื่อเดียวกันคือ ความสุขอยู่ที่การบริโภค

ในครั้งพุทธกาลแม้มีจำนวนประชากรน้อยกว่าปัจจุบันมาก แต่ก็ไม่มีความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมเดียวให้เกิดขึ้น  แต่ละสังคมแต่ละปัจเจกบุคคลมีความเชื่อที่หลากหลายแตกต่างกันไป โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ความเชื่อเดียวกัน  ดังปรากฏอยู่ในพรหมชาลสูตร (พระสูตรที่ว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ) พระสูตรแรกของพระสุตตันตปิฎก ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านทิฎฐิและศีลของคนยุคนั้นได้เป็นอย่างดี  พระพุทธองค์ทรงสาธยายให้สาวกฟังว่า ลัทธิหรือความเชื่อทั้งหลายทั้งปวงในสังคมยุคนั้นมีทั้งหมด 62 ลัทธิ ไม่มีลัทธิหรือความเชื่ออื่นนอกเหนือไปจากนี้อีก  ในบรรดา 62 ลัทธิที่พระพุทธองค์สาธยายแก่สาวกนั้น มีสองลัทธิใหญ่ๆ ที่ระบาดในสังคมปัจจุบัน มีอิทธิพลครอบงำวิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คนมาก  อันได้แก่ลัทธิที่เชื่อว่าอัตตาและโลกเที่ยง กับลัทธิที่เชื่อว่าหลังตายแล้วอัตตาขาดสูญ  ทั้งสองลัทธินี้ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นลัทธิบริโภคนิยม ยั่วยุให้ผู้คนบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกนี้อย่างไม่บันยะบันยัง โดยเชื่อว่าทรัพยากรนั้นไม่ขาดสูญไม่หมดไปแน่  และคุณต้องหาความสุขได้ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าไม่มีหรือขาดสูญ  นี้คือจุดประสานของสองลัทธิที่มาบรรจบกัน รวมเป็นวัฒนธรรมเดียว ภายใต้ความหลากหลายของผู้คนและสังคมในปัจจุบันที่ต้องเยื้อแย่งแข่งขันกัน อันเป็นเหตุทำให้ทิฎฐิและศีลในสังคมปัจจุบันไม่สามัญตา  เมื่อทิฐิและศีลไม่สามัญตา สามัคคีธรรมก็จักไม่บังเกิด  เมื่อสามัคคีธรรมไม่บังเกิด การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก็ไม่บังเกิดผลตามมา โอกาสที่จะพากันไปสู่เป้าหมายก็ยาก

ลัทธิบริโภคนิยม ยั่วยุให้ผู้คนบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกนี้อย่างไม่บันยะบันยัง โดยเชื่อว่าทรัพยากรนั้น ‘ไม่ขาดสูญ’ ไม่หมดไป และคุณต้องหาความสุขในชาตินี้เท่านั้น เพราะชาติหน้าไม่มี หรือ ‘ขาดสูญ’

ในทางพระพุทธศาสนา ทิฎฐิและศีลที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนแก่สาวกนั้น ไม่ได้เป็นทิฎฐิที่แบ่งแยกและแข่งขัน  แต่เป็นทิฎฐิที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสูงสุดของมนุษย์อย่างถาวรและเป็นนิรันดร์  รู้จักแยกแยะแต่ไม่แบ่งแยก มีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  ดังตัวอย่างของคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาล เมื่อมีอะไรไม่ปรกติเกิดขึ้น คณะสงฆ์ก็ช่วยกันแก้ไขโดยผ่านกลไกของกลุ่ม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือมุ่งที่จะรักษาศีลของตนไว้โดยไม่สนใจผู้อื่น  นักเตะในสนามแข่งขันก็เช่นกัน ถ้าต่างคนต่างโชว์ความสามารถของตนโดยไม่สนใจเพื่อนร่วมทีม โอกาสที่จะได้ชัยชนะก็ยาก

ดังนั้นสังคมที่มีความหลากหลายภายใต้กรอบคิดเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับทิฎฐิและศีลให้เสมอกันใหม่ ในความหมายของพระพุทธศาสนาหรือว่าในเชิงนิเวศ ซึ่งเน้นความหลากหลายที่เป็นเอกภาพ โดยไม่สามัคคีธรรมเฉพาะในหมู่ของตน แค่นั้นสังคมก็คงจะสงบสุข


ภาพประกอบ