ภารกิจของผู้มีชีวิต: ดำเนินชีวิตด้วยการเติบโตทางจิตวิญญาณ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 12 กุมภาพันธ์ 2005

ช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ สวรรค์อันดามันกลับกลายเป็นนรก ชีวิตของหลายแสนคนเปลี่ยนแปลง สูญเสียคนที่รัก ครอบครัว ญาติพี่น้อง อาชีพการงานและอนาคต  เจ็บปวด โกรธแค้น เศร้า เสียใจ ความนึกคิดสับสน วุ่นวาย ตำหนิติเตียนหมกมุ่นกับความรู้สึกผิด ไร้เรี่ยวแรง และกำลังความคิดนึกที่จะทำสิ่งใด  นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิตและต้องสูญเสียญาติพี่น้อง ทรัพย์สิน อนาคต ทุกครั้งที่รำลึกถึงเหตุการณ์ ถึงคนเคียงข้างที่เคยอยู่ร่วม แต่ ณ บัดนี้พวกเขาจากไปแล้ว ความเศร้า เสียใจ เจ็บปวดยังคงรุมเร้า

ความทุกข์ทรมานเป็นเช่นนี้เอง จิตใจ ความรู้สึกทุกข์ทรมาน เฝ้าแต่คิดถึงคนที่จากไป พยายามตัดใจแต่ก็ทำไม่ได้  สำหรับพวกเราที่ผ่านการสูญเสียทุกข์ทรมาน เวลาก็จะช่วยจิตใจให้ยอมรับความจริงได้ในที่สุด  แต่ ณ ปัจจุบันที่นี่และเดี่ยวนี้ ชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปภายใต้ความทุกข์ ทรมานในจิตใจ

อย่างไรก็ตาม พลันที่ทุกข์ภัยใดๆ เกิดขึ้น สิ่งที่พึงระลึกคือ แม้จะทุกข์โศกเพียงใด ผู้สูญเสียก็ต้องระงับจิตใจเพื่อที่จะทำหน้าที่หยิบยื่นความรัก ความกรุณาให้แก่ญาติมิตรผู้วายชนม์ของตน การค้นหาซากศพญาติมิตรที่ตายจากไปเพื่อประกอบกิจ ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลเป็นภารกิจที่ต้องทำให้ได้  และแม้น้ำตาจะหลั่งไหลเป็นสายเลือด ความจริงที่อยู่ตรงหน้าคือ พวกเขาจากไปแล้ว จากไปสู่อีกโลกหนึ่งที่วันหนึ่งในอนาคต เราทุกคนก็ต้องเดินทางไปสู่ ณ ที่แห่งนั้น เพียงแต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเดินทางไป  และ ณ ขณะนี้โจทย์ชีวิตของผู้รอดชีวิต คือ การดำเนินชีวิตไปข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขว่าหลายสิ่งจะไม่เหมือนเดิม ก้าวเดินชีวิตข้างหน้าเป็นก้าวเดินจากปลักตมแห่งความเศร้า สูญเสียและเจ็บปวด รวมถึงทุกข์ยาก อุปสรรคของชีวิตก็ดูมีมากมาย

หลายครั้งเราจะพบว่าหากเป็นไปได้ ความทุกข์ยากของบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นแม้จะเล็กน้อยหรือสาหัสเพียงใด เราก็ยินดีที่จะแบกรับแทน แต่กระนั้นความจริงก็คือ ความจริงที่ว่าการก้าวเดินออกจากความทุกข์นั้น โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจอารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นหน้าที่ของแต่ละคนเอง  เราในฐานะเพื่อน พี่น้อง หรือญาติมิตรอาจหยิบยื่นช่วยเหลือในเรื่องทรัพย์สิน คำปลอบประโลม กำลังใจ  แต่ทั้งหมดเป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่ทำได้เพียงแค่สนับสนุน ช่วยเหลือ ตัวเราเท่านั้นที่ช่วยเหลือตนเองได้ และนี่ก็เป็นภารกิจของการมีและดำเนินชีวิต

ชีวิตในฐานะ “โอกาส” โอกาสที่เราได้มีชีวิต แคล้วคลาดในภัยอันตรายต่างๆ ดังที่หลายคนได้หรือเคยประสบ  กล่าวถึงที่สุด ชีวิตเป็นเหมือนสิ่งลี้ลับเราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อใดและอย่างไร  ดังนั้นการที่เรามีชีวิตอยู่ (แม้จะต้องประสบภาวะทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม) จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายให้เราระลึกได้ว่า ชีวิตนั้นมีความหมาย มีหนทางชีวิตที่จะก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง  ใช่หรือไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จุดหมายปลายทางของเราคือ การก้าวเดินไปสู่ภาวะชีวิตที่เราเชื่อหรือระลึกได้ว่า “นี่คือชีวิตที่มีความสุข สงบมากกว่า หรือมีความทุกข์น้อยกว่า”

โศกนาฏกรรมที่เข้ามาจึงเป็นเสมือนเสียงตะโกนว่า ชีวิตนั้นไม่แน่นอน ความแปรเปลี่ยนเกิดขึ้นได้เสมอ รากฐานชีวิตและจุดหมายปลายทางของชีวิตที่เรามุ่งแสวงหาและเดินทางไปนั้น แท้จริงสามารถช่วยเหลือหรือปกป้องเราให้พร้อมรับกับโศกนาฏกรรมต่างๆ ได้จริงหรือไม่ มากน้อยหรืออย่างไรบ้าง  ชีวิตนั้นขับเคลื่อนด้วยจิตใจ ด้วยความรู้สึกนึกคิด พร้อมกับที่ “ปัญญา” “สัมปชัญญะ” และ “สติ” เป็นกลไกสำคัญที่คอยกำกับจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดให้ดำเนินชีวิตเพื่อพร้อมรับกับความทุกข์และความแปรเปลี่ยน

ณ ปัจจุบันที่นี่และเดี่ยวนี้ ชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป และเวลาจะช่วยจิตใจให้ยอมรับความจริงได้ในที่สุด

โศกนาฏกรรม คือ ภาวะเหตุการณ์ที่ได้เข้ามาแปรเปลี่ยนชีวิตเรา ทำร้ายและก่อบาดแผลฝังลึกในชีวิตร่างกายและจิตใจ ทางเลือกที่เราต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรม คือ การเลือกว่า ๑) ยอมจำนน  ปล่อยตนเอง ปล่อยชีวิตให้เป็นตามกระแสความทุกข์ที่เข้ามา ตามแต่บาดแผลชีวิตจะนำพาไป ไม่คิดต่อสู้ จมปลักกับความทุกข์นั้นๆ หรือ ๒) ก้าวข้ามโศกนาฏกรรม  ด้วยการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก เพื่อเก็บเกี่ยวบทเรียนที่จะคืนกลับสู่ภาวะชีวิตที่มีการเติบโตทางจิตวิญญาณ แปรเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดไปสู่ภาวะที่มีความสุข สงบ สันติทางจิตใจได้

การเติบโตทางจิตวิญญาณอาจฟังเป็นคำที่สวยหรู จึงขอนำเสนออีกคำหนึ่งเพื่อช่วยให้เข้าใจได้ชัดขึ้น โดยท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า “ความอยู่รอดทางวิญญาณ” โดยหมายถึงความอยู่รอดทางสติปัญญา ซึ่งหมายรวมถึงความรู้สึก นึกคิด จิตใจอารมณ์ซึ่งทำงานควบคู่กัน  สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ปรารถนาลดทอนความทุกข์ต้องเรียนรู้และแสวงหา และในความเป็นจริงมนุษย์ทุกคนเติบโตได้ด้วยเมล็ดพันธ์แห่งจิตวิญญาณที่มีอยู่ภายใน ไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาใดๆ (และแท้จริงศาสนาก็เป็นสิ่งที่มนุษย์มาเรียนรู้ในภายหลัง) แต่ทุกศาสนาล้วนถือคุณค่าและความสำคัญของการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์นี้ ดังที่ในหลายศาสนา ก็จะมีชื่อเรียกสิ่งนี้ เช่น อาณาจักรแห่งพระเจ้า จิตเดิมแท้หรือโพธิจิต เมล็ดพันธ์ุแห่งจิตวิญญาณภายใน เป็นความดีงามพื้นฐานที่มีอยู่ภายในตัวเรา

ในยามภาวะที่เรามีความปกติสุข ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด ในกิจกรรมใด เราจะพบความสุข สงบภายใน ไม่ดิ้นรน เร่าร้อน หรือต้องแสวงหาสิ่งใด มีความเป็นปกติของจิตใจ  แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใดมากระทบ ทำร้ายจิตใจ เราจะพบกับความทุกข์ร้อน เศร้า เสียใจ โกรธ แค้น ฯลฯ  หากเราระลึกได้ หรือมีความสามารถที่จะฝึกฝนเพื่อระลึกได้ว่า ภาวะนี้เป็นเพียงภาวะชั่วขณะ เป็นภาวะทดสอบความเข็มแข็งที่จะเผชิญหน้าและแบกรับความทุกข์ เจ็บปวดในจิตใจ เพื่อที่จะพบว่าเราชนะความทุกข์โศกในจิตใจนี้ได้ ในยามนั้นเราจะยังสุข และสงบ สันติได้

ในที่สุด สงครามชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ก็คือ สงครามการต่อสู้กับจิตใจภายในตนเอง

การเดินทางเพื่อเติบโตทางจิตวิญญาณนี้เป็นการกระทำภายในจิตใจ เป็นการระลึกรู้ และการปฏิบัติทางจิต  คำอธิบายคือ ในภาวะที่จิตใจรู้สึกโกรธ เศร้า เจ็บแค้น ทุกข์ทรมาน กลัว สับสน เป็นภาวะจิตใจที่ไม่น่าพึงปรารถนา สิ่งที่เรามุ่งปรารถนาคือ ไปให้พ้นจากภาวะจิตใจเช่นนี้ ไปสู่ภาวะบารมี บารมี อันหมายถึงเครื่องข้ามพ้นวัฎสงสาร และเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในเมล็ดพันธ์แห่งจิตวิญญาณในตัวเรา  เพียงแต่เราได้สังเกต ระลึกรู้ถึงบารมีนี้บ้าง โดยเฉพาะยามเมื่อกิเลสนั้นห่างหายหรือไม่ปรากฏขึ้น เช่น จากภาวะกลัว สู่ภาวะกล้าหาญด้วยสติปัญญา สติสัมปชัญญะ กล้าหาญที่จะเผชิญหน้าความทุกข์ที่เข้ามา จากภาวะสับสนสู่ความศรัทธา ศรัทธาต่อสิ่งดีงามของสากลโลก หรือจากภาวะโกรธ แค้น สู่ความรัก ความปรารถนาดีต่อสิ่งต่างๆ ต่อผู้คน เรายังยิ้มได้ เข้มแข็งและยืนหยัดภายใต้ความทุกข์ที่เข้ามา แล้วเราก็จะพบว่า ความทุกข์โศกนั้นทำร้ายเราได้แต่เพียงร่างกายเท่านั้น

เราทุกคนล้วนเคยผ่านโศกนาฎกรรมเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เราอาจไม่มีสิทธิเลือกหรือบังคับควบคุมโศกนาฏกรรมไม่ให้เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยเรามีอำนาจและสิทธิเต็มที่ที่จะจัดการหรือกำหนดตัวเราให้พร้อมรับกับโศกนาฎกรรมที่เข้ามา ด้วยท่าทีชีวิต ด้วยท่าทีทางจิตใจที่สงบเย็น  แม้จะเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากความสูญเสีย พลัดพราก ก็ขอให้ทุกท่านได้ดำเนินภารกิจชีวิตด้วยการเติบโตทางจิตวิญญาณเพื่อเดินทางสู่ภาวะความทุกข์ที่น้อยกว่า สุขและสงบมากกว่า  ขอทุกท่านมีความสุข สงบ กับการเดินทางในเส้นทางของชีวิตภายใน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน