ตามรอยพระศาสดา บทที่ 4 : พระนักพัฒนา ผู้สร้างคนตามรอยบาทพระศาสดา

นุดา 10 สิงหาคม 2022

ตามรอยพระศาสดา บทที่ 4

พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร, ดร.

พระนักพัฒนา ผู้สร้างคนตามรอยบาทพระศาสดา

 

“ศพไม่มีญาติ ทำพิธีเผาให้ฟรี คนอยากบวชแต่ยากจนไม่มีเงิน บวชให้ฟรี”

คือป้ายประกาศที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดดงละคร วัดเล็กๆ ในจังหวัดนครนายก ที่ไม่ตั้งตู้รับบริจาค และอาจได้ชื่อว่าเป็นวัดยากจนติดอันดับต้นๆ ของจังหวัด แต่ถ้าในมุมของการให้คืนกับสังคม วัดนี้ก็ติดอันดับต้นๆ เช่นกัน

นอกจากบวชฟรี ทำศพให้ฟรี วัดนี้ยังเปิดวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและอนาคตให้แก่เด็กยากจน และเด็กซึ่งไม่มีที่ยืนในสังคมได้เรียนฟรี

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดและความตั้งใจของพระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร, ดร. พระนักพัฒนา ที่เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดงละครตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน

“พระพุทธเจ้าบอกว่าเราต้องอยู่เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ตัวเองและสังคม สิ่งที่อาตมาทำอยู่คือพยายามเดินตามบาทพระศาสดา พระพุทธเจ้ายังสร้างคน เราก็จะสร้างคนในรูปแบบของเรา ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย”

และนี่คือเรื่องราวของพระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร, ดร. พระสงฆ์รูปแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่นอกจากดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ยังเป็นทั้งครูผู้สอน เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย และยังเป็นจิตอาสาเยี่ยมเยียนผู้สูงวัยและผู้ป่วยในชุมชนอยู่เสมอ

พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร

อยากเป็นหมอ แต่ขอบวชเพราะหนังสือหลวงพ่อจรัญ

เมื่อตอนเป็นเด็ก พระกอล์ฟ หรือพระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร มีคุณย่าเป็นคนเลี้ยงดู เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน คุณย่าเป็นคนใจดี ชอบเข้าวัดฟังธรรม และมักพาหลานชายไปวัดเสมอ เด็กชายกอล์ฟจึงคุ้นเคยกับเสียงสวดมนต์มาตั้งแต่จำความได้ นอกจากนี้สิ่งที่ได้รับจากคุณย่า ซึ่งมีส่วนหล่อหลอมนิสัยใจคอให้เขา ก็คือคำสอนที่ย่าบอกเสมอคือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา

“ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ คุณย่าสอนให้เราคิดถึงคนอื่นเสมอ ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เว้นแม้แต่สัตว์ อย่างเราจะตีหมา ย่าก็ถามว่า ตีมันทำไม เราก็บอกว่ารำคาญหมาเห่า ย่าบอกหมาก็ต้องเห่าเป็นธรรมดา แล้วถ้าวันหนึ่งหมาเกิดหงุดหงิดที่คนพูดมากก็กัดเราสิ แกจะสอนแบบนี้ หรือเราอยากไปตกปลากับเพื่อน คิดว่าเป็นความเท่ของเด็กผู้ชาย ย่าก็ถามว่า เราเป็นลูกกำพร้ายังไม่พออีกเหรอ ปลาก็มีพ่อแม่มีลูก ถ้าไปตกปลาโดนลูกมัน พ่อแม่มันจะอยู่กันยังไง เรายังอยากมีครอบครัวครบเลย คำนี้ทำให้เราคิดได้ ไม่เคยตกปลาอีกเลย จริงๆ ย่าคงกลัวเราตกน้ำ แต่ย่าเป็นคนไม่ตี ไม่ดุ แต่จะเรียกคุย ท่านพูดช้าๆ ง่ายๆ ทำให้เราได้ความละเอียดอ่อนจากย่า แล้วย่าพาเข้าวัดก็ได้ฟังธรรมจากหลวงตา”

คุณย่าของพระกอล์ฟป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุ 40 กว่าๆ ทำให้ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล หลานชายก็ตามไปด้วย และเขาก็ได้เจอคุณหมอหลากหลายท่าน แต่มีท่านหนึ่งที่เด็กชายกอล์ฟประทับใจมากจนยกให้เป็นไอดอล เพราะเป็นคุณหมอที่พูดจาดีกับคนไข้ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน และยังใส่ใจดูแลคนไข้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งคุณหมอได้พูดกับเด็กชายว่า “โตขึ้นมาเป็นหมอนะ” จากความประทับใจนั้นเองทำให้เขามีความฝันว่าอยากเป็นหมอ และถ้าได้เป็นหมอ ก็จะเป็นหมอที่ใจดีกับคนไข้เหมือนกับคุณหมอไอดอลของเขา

เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย เขาเดินตามเส้นทางที่ใฝ่ฝัน ได้เข้าเรียนที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ และตั้งเป้าหมายต่อว่าหลังจากจบแล้วจะไปเรียนแพทย์ต่อ แต่ระหว่างฝึกงานออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในต่างจังหวัด บังเอิญเขาได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ซึ่งพูดถึงการบวช

“ตอนนั้นไปที่ จ.ลำปาง ได้อ่านหนังสือหลวงพ่อจรัญ ขอพ่อแม่บวชเถอะ พ่อแม่จะได้บุญมาก ไม่ใช่ให้พ่อแม่ขอเราบวช อ่านเจอประโยคนี้ ใจมันเบิกบาน คำว่าแสงสว่างมีจริงๆ นะ มันสว่างในใจ ก็โทรบอกแม่วันนั้นว่าอยากบวช ตั้งใจบวช 15 วัน พอบวชครบ 15 วัน รู้สึกตัวเองยังไม่ได้อะไร เราจะบวชเพื่ออะไร มันเป็นคำถามกลับมา งั้นบวชสักพรรษาหนึ่งแล้วกัน ก็อยู่พรรษาหนึ่งลองสอบนักธรรม พอสอบนักธรรมชั้นตรี ก็สอบได้เปรียญธรรมประโยค 1 ประโยค 2 ก็เป็นว่าที่มหา แล้วเราก็อยากแปลบาลีได้จริงๆ เลยบวชต่ออีกพรรษา พอได้เป็นมหาก็เริ่มคิดว่า ถ้าต้องสอบเปรียญธรรมไปเรื่อยๆ เราคงต้องบวชต่อยาวแน่เลย คงต้องออกมาทำตามความฝันของตัวเองที่อยากเป็นหมอแล้วล่ะ แต่สุดท้ายมาอยู่ทางพระแทน”

พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร

เจ้าอาวาสที่ขอไม่ตั้งตู้บริจาค และขอให้อย่าตั้งราคาค่างวดในการเผาศพ/บวชพระ

พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร บวชที่วัดหนองทองทราย จ.นครนายก ท่านตั้งใจลาสิกขาหลังจากบวชได้ 2 พรรษา แต่ในวันที่ไปลาสิกขากับหลวงปู่ทองใบ (พระญาญนายก) วัดเจดีย์ทอง หลวงพ่อทองใบได้ขอให้มาช่วยดูแลวัดดงละคร วัดเล็กๆ ลำบากยากจน ใน ต.ดงละคร เนื่องจากอดีตเจ้าอาวาสวัดดงละคร ได้ถึงแก่การมรณภาพ และยังไม่มีเจ้าอาวาสรูปใหม่

“หลวงปู่พูดว่าบวชมาไม่สงสารศาสนาเหรอ มาช่วยวัดนี้ก่อน”

เพราะคำพูดของหลวงปู่ทองใบ ทำให้พระมหาสิริวัฒนา ตัดสินใจเบื้องต้นว่าจะช่วยดูแลวัดดงละคร แต่ท่านขอกับชาวบ้านว่า หากจะให้มาอยู่ ขอไม่ตั้งตู้รับบริจาคในวัด และอย่าตั้งราคาค่างวดในการเผาศพ บวชพระ หากชาวบ้านตกลงกันได้ ท่านก็จะมาอยู่ให้ เมื่อมีมติเป็นเอกฉันท์ตามคำขอร้องของท่านพระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร ท่านจึงเดินทางมาเป็นเจ้าอาวาสวัดดงละครให้ ตั้งแต่ปี 2554

“ที่เราไม่ตั้งตู้บริจาค เพราะเห็นทะเลาะกันเรื่องการเงินของวัด แสดงว่าเงินทำให้เกิดปัญหา ฉะนั้นก็ไม่ต้องมี เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของพระว่า ถ้าไม่มีจะอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ อาจมีติดค่าไฟ จ่ายช้าบ้าง แต่ช่วงนั้นเราเป็นพระนักเทศน์อยู่แล้ว รับบรรยาย ฝึกอบรม การไปบรรยายเราไม่ได้เก็บเงิน แล้วแต่ศรัทธาของญาติโยม ซึ่งเราก็นำปัจจัยที่ได้รับจากการทำบุญของญาติโยมเวลาเราไปบรรยาย มาเป็นค่าใช้จ่ายในวัด”

การที่ไม่ตั้งตู้บริจาคในวัด ยังเกิดจากความตั้งใจที่ท่านต้องการให้ชาวบ้านเข้าวัดง่ายขึ้น ใกล้ชิดกับวัดมากขึ้น เนื่องจากความรู้สึกของชาวบ้านส่วนใหญ่มักต้องรอให้มีเงินพร้อมก่อนถึงเข้ามาที่วัด ท่านจึงคิดให้ชาวบ้านเข้าวัดมาก่อน โดยไม่ต้องมีเรื่องเงินเกี่ยวข้อง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าการทำบุญไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป

“เวลาชาวบ้านมาที่วัด ส่วนมากเราจะคุยให้เขาฟังว่า การทำบุญไม่ต้องใช้เงิน บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการทำได้มากมาย อย่างแรกเราจะพูดเสมอว่า ภิกษุแปลว่าผู้ขอ แต่ไม่ใช่ขอทาน ใครจะมาทำบุญกับเรา เราต้องถามก่อนว่า ท่านจะเอาเงินมาให้เราทำอะไร ต้องชัดเจน เมื่อเรารับเสร็จ ลูกศิษย์ไปจัดการ เราจะให้เขียนหน้าซองมาเลยว่า อันนี้ท่านช่วยเรื่องนี้ แต่ต้องดูตามความเหมาะสมด้วย ไม่ใช่พระอยากซื้อเก้าอี้แบรนด์เนมตัวละเป็นหมื่นก็ให้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าพระอยากไปสร้างโรงเรียน ดูว่าประโยชน์นั้นไปอยู่ตรงไหน ถ้าเราทำบุญแบบมั่วซั่ว อาจเป็นการสร้างความไม่ดีในพุทธศาสนาก็ได้ เพราะเกิดจากความไม่ละเอียดอ่อนในการทำบุญ จะคุยกับชาวบ้านอย่างนี้ตามช่วงวันพระ เราก็ค่อยๆ ให้เขาซึมซับไป”

 

“พบพระพบธรรม” โครงการแรกเมื่อเป็นเจ้าอาวาส

เมื่อเข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดงละคร โครงการแรกที่พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร ทำคือ “โครงการพบพระพบธรรม” ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงและคนชราในชุมชน ใช้ธรรมะโอสถเยียวยาจิตใจ ทั้งยังนำข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งของใช้จำเป็นต่างๆ ที่ได้จากญาติโยมมาทำบุญ ไปเกื้อกูลแบ่งปันชาวบ้าน

“เราลงเยี่ยมชุมชนทุกวันจันทร์ ศุกร์ และเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ให้เรื่องเจริญมรณานุสติ เพราะไม่งั้นคนเราพอจะตายปุ๊บกระวนกระวาย ยิ่งคนที่ติดเตียงเหมือนตายไปครึ่งตัว แต่จะทำยังไงให้เขาสามารถเข้าใจสภาวธรรม เจ็บป่วยก็เป็นสภาวธรรม เวทนามันเกิด เวทนาถาโถม คนไม่ได้ฝึกเลย ทนกับเวทนาไม่ได้ พิจารณาเวทนาไม่ทัน พอพิจารณาไม่ทันก็จะโวยวายหงุดหงิด ทุกอย่างแทรกมาหมดเลย ตายแบบทุติยภูมิ จึงคิดว่าจะทำยังไงที่จะสามารถทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสได้รู้จักการเจริญมรณานุสติก่อน

ซึ่งโครงนี้เป็นโครงการแรก เริ่มจากตอนเรามาอยู่ที่นี่เมื่อ ปี 2554 มีโยมมานิมนต์ไปบอกทางคนตาย แต่เรารู้สึกว่าต้องมีเหตุมีผล และเราก็ไม่เคยตาย จะไปบอกทางเขายังไง เราถูกสอนแบบหลักการมีเหตุและมีผล เพราะฉะนั้นตอบจากความเชื่อไม่ได้ ถ้าไปบอกทางเขาแล้วเราบอกไม่ถูกจะเป็นบาป เราต้องศึกษาก่อนว่าคนจะตายเป็นยังไง ต้องบอกคนก่อนตายว่าจะทำจิตยังไง เพราะเวลาใกล้ตายทุกอย่างแทรกมาหมดเลย บางทีอกุศลกรรมที่เคยทำก็มาตัดรอนอีก ต้องไปบอกตอนที่ก่อนตายว่าตอนนี้เข้าใจสภาวธรรมนะ แต่เวลาไปพูดจริงๆ กับชาวบ้านเราไม่พูดอย่างนี้ เพราะเขาไม่เข้าใจ ก็บอกว่าเข้าใจนะว่า ตอนนี้มันเจ็บมันปวดนะ แต่ถ้าเวลาเจ็บปวดลองกำหนดจิตสิ เจ็บหนอๆ ถ้าพิจารณามันไม่ได้ก็พุทโธแทน ให้ใจนิ่งก่อน พอพุทโธเสร็จ จิตมันนิ่ง เลยไม่เห็นอาการปวด ก็ดีขึ้น อย่างน้อยสติมา และพยายามคุยว่าคนรอบข้างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา คนที่เครียดกว่าคนป่วยคือคนเฝ้า เพราะเขาต้องหาทำมาหากินด้วย ต้องดูแลคนป่วยด้วย โชคดีเราเรียนมาทางสาธารณสุข เลยไปดูเรื่องเกี่ยวกับอนามัยในชุมชนด้วย คนไข้เป็นแผลกดทับ เราจะให้ภาวนาพุทโธอย่างเดียวไม่ได้นะ เนื้อมันเน่าไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าเราเอาเปรียบร่างกายตัวเอง ให้เขาค่อยๆ พลิกตัวผู้ป่วย ช่วยจัดหาที่นอนลมให้ ลงประกาศในเฟซบุ๊กวัดดงละครประกาศว่าตอนนี้ขาดที่นอนลมหนึ่งอัน หากใครมีต้องการบริจาคก็ส่งมาที่วัดได้เลย ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการสื่อสารให้เกิดประโยชน์”

ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร ยังคงลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงและคนชราในชุมชน โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าแห ทั้งคุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ อสม. เกิดเครือข่ายขึ้นในชุมชน เป็นเครือข่ายที่ดูแลเรื่องสุขภาพทั้งกายและใจ

“มีเคสหนึ่ง คนไข้เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนแรงจนยกมือไม่ขึ้น ลืมตาได้อย่างเดียว พอเห็นพระก็ดีใจนะ เราถามว่าดีใจไหม ถ้าดีใจกะพริบตา 2 ครั้งนะ เขาก็ทำ ต่อไปต้องพยายามเองนะ ตอนที่เขานิมนต์ไปคือคนนี้กำลังจะตาย แต่นี่อยู่มา 6 ปี ยังไม่ตาย แข็งแรง จนตอนนี้เขาสามารถเกร็งมือมาพนมได้ โดยไม่มีกายภาพเลย ถ้าคนนี้ได้รับการกายภาพจะดีขนาดไหน แสดงว่าเรื่องคุณภาพก่อนการตายสำคัญมาก เพราะสุดท้ายเขาอาจไม่ได้กลับมาถึงขนาดเดินได้หรอก มันยาก แต่นี่แสดงว่าใจเขาสู้ จากมือที่แบไม่ได้ สามารถมาพนมได้”

เยี่ยมเยียนผู้สูงวัยและผู้ป่วยในชุมชน

บวชให้ฟรี แต่ต้องดีด้วย

พระมหาสิริวัฒนากล่าวว่า การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาของคนยุคนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่หลายประการ ทั้งบวชตามประเพณี บวชเพื่อตั้งใจศึกษาพระธรรม บวชฆ่ากิเลส ทั้งยังมีบวชตามเพื่อน บวชหนีทหาร บวชแก้กรรม ฯลฯ แต่ถ้ามาบวชที่วัดดงละคร ท่านพยายามให้พระได้สิ่งเหล่านี้ คือ ได้บวชทดแทนพระคุณของพ่อแม่, ได้ศึกษาธรรมะเพื่อเอาไว้พัฒนาตนเอง, ฝึกฝนคุณธรรมในตนเอง มีระเบียบวินัย มีความอดทน, ได้ฝึกสมาธิ ทำจิตให้สงบ, เป็นผู้รู้จักบริหารเวลา คือรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์, ฝึกการทำงานเป็นทีม

ผู้จะมาบวชเรียนที่วัดดงละคร ทางวัดบวชให้ฟรี แต่ต้องมาบวชด้วยความศรัทธาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องมาอยู่ที่วัดก่อนเป็นเวลา 15 วัน เพื่อศึกษาธรรม ถือศีล 8 และพิจารณาตนเองว่าจะบวชได้จริงหรือไม่ ทั้งทางวัดก็จะได้พิจารณาด้วยว่าผู้ที่จะบวชนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสม ขัดต่อธรรมวินัยหรือไม่

แม้มีหลักเกณฑ์สำคัญที่กำหนดไว้ในการบวชว่า ผู้ที่จะบวชต้องไม่เป็นผู้ต้องโทษหรือติดยาเสพติด แต่หากมีผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วมีศรัทธาต้องการบวช วัดดงละครก็เปิดโอกาสให้เขาได้บวช

“พรรษาที่แล้วมีคนหนึ่งเคยมีคดีฆ่าคนตาย ไปขอที่วัดไหนบวช ก็ไม่มีใครให้บวช เขามาที่นี่ เราถามคำหนึ่งว่า เข้าไปในคุกได้อะไรบ้าง เขาบอกสิ่งที่ได้คือ หนึ่งได้เห็นว่าเราไม่น่าทำอย่างนั้นเลย สองคือกลัวว่าแม่จะตาย เพราะเขาเหลือแม่คนเดียว แม่เจ็บป่วยบ่อย ถ้าวันหนึ่งแม่ตาย โดยเขายังไม่ได้เลี้ยงดูแม่ เพราะอยู่ในคุก เขาจะเสียใจมาก เรามองว่าคนนี้มีความน่าจะเป็นคนดี แต่ยังไม่ให้บวชเลยนะ ทดลองให้มาวัดก่อน 2 -3 รอบ และมาอยู่วัดเดือนหนึ่งก่อน ถึงบวชให้ ถ้าเราไม่ให้เขาบวช เขาอาจจะเปลี่ยนไปอีกแบบ ในเมื่อสังคมไม่ให้โอกาสก็ชั่วไปเลยล่ะ เรายอมที่จะลองดูสิ คิดในใจว่าเขาคงไม่มาฆ่าเราในวัดหรอก ก็ลองเสี่ยงดู ปรากฏว่าเขาบวชได้ 1 พรรษา และในพรรษาก็ปฏิบัติดี ถือเป็นความภูมิใจของเขาและเป็นการบวชให้แม่”

ป้ายที่ติดอยู่ทางเข้าวัดดงละคร

พระบวชใหม่ทุกรูปที่วัดดงละคร ต้องเรียนหลักสูตรพระนวกะ เนื่องจากทางวัดเป็นพื้นที่สอนนักธรรมประจำตำบลอยู่แล้ว พระบวชใหม่จำเป็นต้องรู้ศีลของพระสงฆ์ 227 ข้อ รวมถึงหลักคุณธรรมต่างๆ ให้มีธรรมเป็นเครื่องมือพื้นฐาน และยังมีกิจกรรมของวัดมาช่วยขัดเกลากิเลสของผู้เข้ามาบวช

“วัดเราไม่ค่อยมีกิจนิมนต์ แต่สิ่งที่มีแน่นอนคืองาน มีกิจกรรมที่จะได้พัฒนาตัวเอง เราพาพระ-เณรลงชุมชนเยี่ยมบ้านผู้ป่วย บางทีไปดูบ้านผู้ป่วยติดเตียง ก็จะบอกว่าพ่อแม่ท่านทุกคน วันหนึ่งมีโอกาสจะนอนติดเตียงได้ วันนี้ถ้าท่านยังไม่สามารถตั้งเป้าหมายของชีวิตได้ ท่านจะมาบวชเอาเล่น อยากใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ แต่ถ้าวันหนึ่งพ่อแม่ต้องนอนป่วย เราจะเสียใจที่สุดในวันที่เราไม่สามารถช่วยอะไรท่านได้เลย ค่อยๆ เอาเรื่องจริงมานั่งคุยกัน พยายามสอนให้เขาเห็นถึงเป้าหมาย เขาจะได้กำหนดทิศทางชีวิตได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เป้าหมายคนเราไม่ชัดเจน จะกำหนดทิศทางของชีวิตไม่ได้ และก็ให้เห็นว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวเราก็เจ็บได้ สังขารไม่ใช่ของเรา ด้วยความที่บางคนเป็นเด็ก ไม่เคยเจ็บหนักๆ เราก็มีโอกาสพาไปดูเคสที่รถล้มแล้วหัวบุบเข้าไป ต้องนอนติดเตียงตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ เราเชื่อมั่นว่าไม่มีใครอยากเป็นภาระให้คนอื่น แต่ถ้าเราเป็นอย่างนั้นจะวางจิตอย่างไร แสดงว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเจอสภาวะต่างๆ เราต้องพิจารณาความปวดของมัน ความโกรธเหมือนกัน บางทีถ้าโกรธ แล้วไปตีรันฟันแทง แล้วเราโดนตีล้มเรี่ยราดอย่างนี้ ขาขาดขึ้นมาจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นเห็นไหมความโกรธเพียงนิดเดียว ความโมโหเพียงนิดเดียว ความอยากเอาชนะเพียงนิด ทำให้ชีวิตเปลี่ยน พอเขาเห็นตรงนี้ก็ตระหนักในการใช้ชีวิต ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต”

พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร

วิทยาลัยอาชีวศึกษา สร้างคนสร้างงาน

นอกจากบวชฟรี เผาศพฟรี เป็นที่พึ่งของคนในชุมชนแล้ว วัดดงละครแห่งนี้ยังเปิดพื้นที่อีกแห่งเพื่อสร้างอนาคตให้กับเยาวชน ด้วยการเปิดวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ เมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีพระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษา

พระมหาสิริวัฒนา เป็นผู้มีความใฝ่เรียน ท่านเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม โดยทางธรรมสอบได้นักธรรมเอก ส่วนทางโลก เรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์, ปริญญาโท คณะบริหารการศึกษา และปริญญาเอก บริหารการศึกษา ซึ่งวุฒิการศึกษาที่ท่านเรียนมานั้น คือองค์ความรู้ที่นำมาเอื้อประโยชน์กับโรงเรียน เพราะนอกจากรับตำแหน่งผู้อำนวยการแล้ว ท่านยังเป็นครูผู้สอนด้วย

“การที่อาตมาเปิดโรงเรียน สืบเนื่องจากการไปเยี่ยมชาวบ้าน เห็นเด็กวัยรุ่นเวลาคุยกับย่ายาย คุยน่ากลัว เหมือนจะเอาเป็นเอาตาย เรามองว่าเรื่องเจเนอเรชั่นต่างกัน เด็กมีปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน ก็ถูกส่งมาอยู่กับตายาย พอวัยต่างกัน คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ถ้าเราจะดึงเด็กกลุ่มนี้ให้มารับผิดชอบกับตัวเอง รวมทั้งกลับมารับใช้สังคม ก็ต้องให้เขาเรียน แต่โดยส่วนใหญ่โรงเรียนไม่ค่อยอยากรับเด็กกลุ่มนี้ เป็นเด็กที่ที่อื่นคัดออก เพราะมองว่าเขามีปัญหา มีความรุนแรง เด็กเราเหมือนเม็ดข้าวปลายแตก แต่เราจะทำยังไงให้สามารถแพงกว่าข้าวเต็มเม็ดให้ได้ ต้องเอามาผ่านกระบวนการขัดเกลา จึงเกิดโรงเรียนอาชีวะขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสร้างคน เราเดินตามรอยบาทพระศาสดา ก็จะสร้างคนในแบบของยุคสมัยปัจจุบัน ถ้าเรายังบวชอยู่ในพุทธศาสนา เราจะสร้างคนให้มากที่สุด เราจะเอาคนให้ออกไปเป็นคนดีให้มากที่สุด เขาดีขึ้นแค่เปอร์เซ็นต์เดียวก็ยังดี ที่นี่เราบอกเลยว่า คุณมาคุณอาจชั่วมา 100 เปอร์เซ็นต์ พอกลับไปคุณชั่วแค่ 98 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าดีขึ้น”

พระมหาสิริวัฒนาเล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกเริ่มเปิดวิทยาลัยอาชีวะ ท่านไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินว่าจะต้องมีการใช้จ่ายเท่าไหร่ คิดเพียงแต่ต้องการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ โชคดีที่ญาติโยมมีศรัทธาในการทำบุญสร้างโรงเรียน กฐินในแต่ละปีที่ผ่านมาล้วนเป็นกฐินสร้างคน พระภิกษุรับเพียงผ้าไตร จีวร เท่านั้น เงินที่ได้จากบุญกฐินทั้งหมดยกให้วิทยาลัยอาชีวะ ถ้ามีหางผ้าป่ามาบ้างจะเก็บไว้ให้วัดเพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น

“ตอนเปิดโรงเรียนไม่รู้ว่าต้องใช้เงิน เข้าใจว่าเอาแต่ความดี พอเปิดปุ๊บต้องมีเรื่องระเบียบโน่นนี่ เลยต้องใช้เงิน ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากวัด ใครมาช่วยวัด เราก็จะบอกช่วยโรงเรียนไป จะห่วงโรงเรียนมาก วัดอยากเปิดแค่พอเหมาะสมกับสมณสารูป เอาแค่ซ่อมไม่อยากสร้างใหม่ ที่นี่พยายามมีเท่าที่มี ไม่สร้างเพิ่ม”

อาคารเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษา

เมื่อแรกเปิดวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ ที่นี่เปิดสอนระดับ ปวช.ก่อน เริ่มต้นด้วยสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เนื่องจากเป็นสาขาที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนเยอะ ทั้งยังเข้ากับยุคสมัยที่เด็กสามารถใช้ความรู้ไปประกอบวิชาชีพได้ และตามมาด้วยสาขาช่างยนต์ ซึ่งสาขานี้พระมหาสิริวัฒนาตั้งใจเปิดเพราะต้องการช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีที่เรียน

“เด็กบางคนสักยันต์เยอะเต็มตัวไปหมด วิทยาลัยอื่นจะไม่รับ เราไปโทษเขาไม่ได้หรอก เพราะมีระเบียบไว้อยู่ แต่ของเราเป็นเอกชน เป็นสิทธิ์ที่สามารถรับได้ เลยมองว่าอย่างนี้แล้วกัน เรารับแต่ต้องคุยกับเขาก่อน บอกว่าพระอาจารย์ไม่ได้สอนให้พวกเธอไปเป็นลูกจ้าง พระอาจารย์สอนให้เธอเป็นนายตัวเอง สอนให้เป็นเจ้าของกิจการ ต้องมีคำพูดที่จะทำให้เขามีไฟในใจ ทำให้อยากเรียน ทำให้อย่างน้อยตัวเขาเองสามารถจะประกอบอาชีพได้ เช่น เปิดร้านปะยาง นี่ถือว่าเขาเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว เรายังไม่ต้องไปบอกหรอกว่าเธอจะให้อะไรกับสังคม แค่เขาไม่เป็นภาระให้กับสังคมก็ใช้ได้ เราเชื่อว่าคนที่มีลูกก็จะไม่ได้หวังอะไรในตัวลูกเราหรอก แค่อยากให้เขายืนอยู่ในสังคมได้ อาตมาคิดว่าเราคงจะถอดความเป็นพ่อเป็นแม่ออกมาเช่นเดียวกัน ว่าหวังให้เขายืนอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ต้องไปติดคุก”

“ใครอยากมาเรียนที่นี่ คุณสมบัติคือจบ ม.3 อย่างเดียว ก็มาเรียนได้ มีคนมาบอกว่าอยากให้ทุนเด็กเรียนดี เราบอกไม่เอาทุนแบบนั้น เพราะทุกคนเขาตั้งใจเรียน แต่หัวเขาได้แค่นี้ ให้ทุนพยายามดีกว่า ไม่เอาทุนเรียนดี เพราะว่าคนที่มีสติปัญญาพร้อมเขาก็มีโอกาสดีอยู่แล้ว แต่บางคนที่สติปัญญาไม่พร้อม แต่เขามีความพยายาม กลับขาดโอกาส เรามาช่วยกันตรงนี้ดีกว่า”

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ มีนักเรียนทั้งประจำและไปกลับ เด็กๆ มาจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งเด็กชุมชนบ้านดงละคร เด็กในจังหวัดนครนายก ละแวกจังหวัดใกล้เคียง และยังมีเด็กด้อยโอกาสจากต่างจังหวัดไกลๆ ที่ทราบข่าวว่าที่นี่ให้เรียนฟรี ปัจจุบันมีเด็กประจำจำนวน 80 คน ซึ่งทางวิทยาลัยต้องดูแลเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ให้เด็กๆ ด้วย

“มีเด็กมาจากตรัง จากชุมพรก็มาที่นี่ คนหนึ่งแม่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเอามาฝากเอง แล้วจะไล่เขากลับยังไง ซึ่งเด็กคนนี้เรียนดี ไม่มีญาติพี่น้อง ก็รับไว้เรียน เด็กที่อยู่ประจำที่นี่ นอกจากเรียนหนังสือแล้ว ก็พาเขาทำงานด้วย ให้ทำสวน ตัดหญ้า กวาดใบไม้ ลงไปช่วยชาวบ้านกับเรา น้ำท่วม ถนนชำรุด ก็ไปช่วยกัน ไปเยี่ยมคนแก่คนป่วยในชุมชนก็พาไป เราอยากให้ชุมชนมองว่าเด็กเราเป็นลูกหลานของเขาด้วย ให้เขารู้สึกรักรู้สึกเอ็นดู ส่วนกระบวนการทางธรรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ ก็มี แต่จะไม่บังคับว่าต้องนั่งสมาธิให้ได้วันละ 10 นาทีนะ เราค่อยๆ ให้เขากลืนไปกับข้อวัตรข้อปฏิบัติของสงฆ์ ให้เขาเห็นข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ว่าทำอย่างไร บางทีเราจะถามเขาว่า เห็นไหมลูก เมื่อก่อนมีทัศนคติเห็นพระสงฆ์สบาย จริงๆ เป็นยังไง พระไม่สบายหรอก พระต้องทำงานวัด ต้องตัดหญ้า ทำโน่นนี่ เพราะเราจะบอกพระสงฆ์เราว่าอย่ารบกวนชาวบ้าน ต้องรู้จักที่จะช่วยตัวเอง อย่างกุฏิมันพัง เราช่วยกันซ่อม ไม่ใช่อะไรก็เรี่ยไรๆ โดยสร้างให้พระอยู่ในสังคมที่ร่ำรวย แต่คิดอย่างเราก็จนอย่างเรา แต่มีความสุข”

 

ช่วยเหลือชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้

หากมาวัดดงละครในวันเสาร์อาทิตย์ เดินลงไปด้านหลังวัดจะพบกับตลาดน้ำวัดดงละคร ตลาดเล็กๆ ในร่มเงาไม้ใหญ่ ที่ทางวัดเปิดให้ชาวบ้านนำสินค้าชุมชนมาขายฟรี ช่วยสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน

“เวลาลงเยี่ยมชุมชน เราพบว่าชาวบ้านอยากทำงานนะ เขาไม่ได้อยากขอ แต่เงินไม่มี อาตมาก็คิดว่าจะทำยังไงดี งั้นเปิดตลาดให้ชาวบ้านได้ขายของฟรี นำเรื่องสัมมาอาชีวะมาจับ หลักการพระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้เธอจนนะ แต่บอกให้เธอเป็นคนดี เราก็ช่วยลงประชาสัมพันธ์ในเพจตลาดน้ำ เพจวัด ฝากลูกศิษย์มาช่วยกันกระจายข่าว เวลาใครถวายสังฆทานกับทางวัด เราก็จะบอกต่อว่า ไปช่วยแม่ค้าหน่อย เป็นกำลังใจให้เขาหน่อย บางวันขายได้ 80-100 บาท ดีกว่าไม่มีเลย ยุคนี้เราต้องช่วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ภาคส่วนไหนมาช่วย”

นอกจากเปิดพื้นที่ตลาดแล้ว วัดดงละครยังเป็นศูนย์เรียนรู้โคกหนองนา ระดับจังหวัดนครนายก ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องซื้อ เป็นการลดรายจ่ายจากภาคครัวเรือน และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทั้งเด็กนักเรียนและชาวบ้านก็ได้มาเรียนรู้เรื่องการเกษตรที่นี่ ผลผลิตที่ได้ นอกจากนำไปเป็นอาหารให้กับเด็กในโรงเรียนแล้ว ยังแบ่งปันให้ชาวบ้านอีกด้วย

“เราอยู่กันแบบนี้ ช่วยเหลือกันในชุมชน เด็กนักเรียนปลูกผัก แล้วลงไปแจกในชุมชนด้วย อันนี้เป็นหลักใหญ่ใจความของที่นี่ ที่นี่อาจเป็นวัดเล็กๆ ที่จนติดอันดับต้นๆ ของจังหวัด แต่ถ้ามุมมองการให้กับสังคม เราถือว่าติดอันดับต้นๆ ของจังหวัด เราไม่ได้ตีค่าจุดคุ้มทุนเป็นเงินตรา แต่เราตีค่าจุดคุ้มทุนเป็นศรัทธา”

ช่วงที่โควิดระบาดหนัก วัดดงละครได้เปลี่ยนศาลาปฏิบัติธรรมเป็นศูนย์พักคอย เปิดให้ผู้ติดเชื้อในชุมชนมาพักรักษาตัวอยู่ที่วัด แม้ช่วงแรกโดนต่อต้านจากชาวบ้านในชุมชน แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ติดเชื้อก็คือชาวบ้านในชุมชน ถ้าไม่ช่วยเหลือกันเอง ใครจะช่วย ชาวบ้านจึงเห็นพ้องให้เปิดได้ นอกจากนี้พระสงฆ์ที่วัดก็เป็นช่วยกันทั้งไปตรวจเชื้อโควิดให้ชาวบ้าน และช่วยเผาศพผู้ติดเชื้อ

และหากชาวบ้านคนไหนขาดแคลนข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้ง ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วย ทางวัดก็จะแบ่งปันให้ ซึ่งก็มาจากสิ่งของที่ผู้มีศรัทธานำมาถวายให้พระสงฆ์ อาทิ อาหารแห้งที่คนนำมาใส่บาตร ชุดสังฆทาน

วัดจึงเป็นทั้งศูนย์รวมและที่พึ่งของชุมชน

ลงไปช่วยตรวจโควิดให้กลุ่มเสี่ยง

เผาศพให้ผู้ป่วยโควิด

เมื่อถามพระมหาสิริวัฒนาว่า สำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ ท่านตั้งเป้าหมายจะทำอะไรอีก เจ้าอาวาสผู้ทุ่มเทกับการสร้างคนบอกว่า ตั้งใจจะเปิดอีกสาขาหนึ่ง คือ ธุรกิจสถานพยาบาล หลักสูตร 3 ปี เพื่อให้นักเรียนที่จบไปสามารถทำงานในสถานพยาบาลได้ โดยมองว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาชีพที่จะเป็นที่ต้องการคือ ผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัย การเตรียมตัวเพื่อรองรับสภาพสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงสำคัญ และที่สำคัญกว่านั้นคือการทำให้เด็กสามารถมีงานทำเลี้ยงตัวเองได้

“เราว่าเป้าหมายในชีวิตเราคือทำงานอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตก่อนตายอย่างมีประโยชน์ แค่นี้พอแล้ว เราต้องเกษียณให้ได้ทุกวัน เพราะไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ วันพรุ่งนี้ตายไม่เสียใจ จะพูดเสมอว่าไม่เสียใจแล้ว ส่วนถ้าอยู่ได้อยู่ไม่ได้เป็นทางโลก ถ้าโรงเรียนจะอยู่ไม่ได้ต้องปิดก็ถือว่าเป็นเวรกรรมของโรงเรียนเขา แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด เมื่อก่อนยึดติดถ้าเราไม่อยู่ โรงเรียนจะเป็นยังไง ทุกข์เลย เด็กจะอยู่ยังไง ทุกวันนี้ค่อยๆ ให้ระบบมันหล่อหลอม แล้วสุดท้ายอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุดท้ายเราก็ไปยึดติดในสมมติทั้งหลายอีกแหละ ตอนนี้เลยสบาย ทำตามวิถีของโลกไป”

การทำงานอย่างมีความสุข และเป็นประโยชน์กับโลก จึงเป็นเป้าหมายในการใช้ชีวิตของภิกษุรูปนี้

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร