ทำความดี เห็นความจริง เข้าถึงความสุข

พระไพศาล วิสาโล 1 ตุลาคม 2015

เวลาพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ เรามักจะมีข้อสรุปว่าคนเรานั้นเห็นแก่ตัว ซึ่งก็จริงแต่ไม่ทั้งหมด ธรรมชาติของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่านั้น  เมื่อหลายปีก่อน สมาคมผู้เกษียณอายุแห่งสหรัฐอเมริกา มีโครงการอยากให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สมาชิกที่ยากจน จึงทำจดหมายติดต่อไปยังทนายความเป็นร้อยๆ คน เพื่อถามว่าจะลดค่าทนายให้กับสมาชิกของเขาได้หรือไม่ หรือคิดในราคาพิเศษ เช่น คิดชั่วโมงละ ๓๐ ดอลลาร์  ทนายความส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ได้” เขาลดค่าบริการให้ไม่ได้  แต่สมาคมก็ไม่ท้อถอย เขาทำจดหมายไปใหม่ คราวนี้ถามว่าทนายความยินดีที่จะบริการแก่คนวัยเกษียณที่ยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลยได้ไหม ปรากฏว่าทนายความส่วนใหญ่ตอบกลับมาว่า “ได้” ตรงข้ามกับคำตอบแรก

แสดงว่าคนเรา แม้กระทั่งทนายความ ซึ่งในอเมริกาถือว่าเป็นบุคคลที่เห็นแก่เงินแก่ทองมาก ในด้านหนึ่งเขาก็คิดอะไรเป็นเงินเป็นทอง แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็มีความเสียสละ มีน้ำใจ  สิ่งนี้สะท้อนความเป็นจริงที่ว่าคนเรานั้นมีโลก ๒ โลก  โลกหนึ่งเป็นโลกที่เงินทองเป็นเรื่องสำคัญ จะทำอะไรก็คิดถึงแต่เรื่องกำไรขาดทุน มีเงินเป็นตัววัดความสำเร็จ  อีกโลกหนึ่งเป็นโลกของความมีน้ำใจ ความช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เอาเงินเป็นใหญ่ แต่คำนึงถึงความเดือดร้อนของกันและกัน คนเราทุกคนก็อยู่ใน ๒ โลกนี้ด้วยกันทั้งนั้น

เวลาเราออกไปซื้อสินค้า เข้าห้าง หรือไปทำงาน เรามักคิดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก จ่ายแพงนิดแพงหน่อยก็อาจจะไม่ยอม แต่เวลาเราอยู่ในโลกซึ่งผู้คนสัมพันธ์กันด้วยน้ำใจ เช่น ในครอบครัว ในหมู่เพื่อนฝูง เวลาไปกินข้าว เราก็ไม่รังเกียจที่จะออกเงินให้เพื่อน ตรงข้ามกับตอนที่เราไปซื้อของ ต้องต่อแล้วต่ออีก บาทเดียวก็ไม่ได้  จะเรียกได้ว่าคนเรามี ๒ ตัวตน หรือ ๒ บุคลิกในคนเดียวกันก็ได้ บุคลิกหนึ่งคิดถึงเรื่องเงินเรื่องทอง ซึ่งมาจากความเห็นแก่ตัว อีกบุคคลิกหนึ่งมีความเอื้อเฟื้อเห็นใจผู้อื่น  สิ่งที่สมาคมผู้เกษียณอายุทำทีแรกนั้น มันไปกระทบตัวตนของทนายความที่คิดแต่เรื่องเงินเรื่องทอง เพราะฉะนั้นพอพูดถึงเรื่องเงิน หรือค่าบริการ เขาก็จะคิดถึงกำไรขาดทุนทันที เลยให้คำตอบว่า ลดไม่ได้ เพราะ ๓๐ เหรียญต่อชั่วโมงนั้นเป็นอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาด  แต่พอไม่พูดถึงเรื่องเงิน พูดว่าจะช่วยเหลือคนยากจนได้ไหม มันก็ไปกระตุ้นต่อมคุณธรรมหรือตัวตนที่มีน้ำใจของทนายความ ทำให้เขายอมให้บริการฟรีๆ

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะทนายความเท่านั้น หากเป็นกับมนุษย์ทั่วไปด้วย  เวลามีใครพูดถึงเรื่องเงินทอง เราจะคำนวณกำไรขาดทุนทันที ฉันจะได้น้อยกว่าคนอื่นไม่ได้  แต่พอไม่พูดถึงเรื่องเงิน พูดถึงเรื่องความช่วยเหลือ ก็ไปกระตุ้นส่วนที่มีน้ำใจ ความเสียสละ ซึ่งทำให้คนเราทำความดีหรือตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่น

เคยมีการทดลองให้อาสาสมัครมาทำกิจกรรมง่ายๆ คือ ให้ลากวงกลมซึ่งอยู่ตรงมุมซ้ายของจอคอมพิวเตอร์ ให้เข้าไปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งอยู่ด้านขวา พอถูกลากเข้าไป วงกลมก็จะหายไป แล้วไปโผล่ที่มุมซ้ายของจอใหม่  สิ่งที่ทุกคนจะต้องทำก็คือลากวงกลมเข้าไปในกรอบสี่เหลี่ยมให้ได้มากที่สุด แล้วนับด้วยว่าทำได้กี่ครั้งใน ๕ นาที  อาสาสมัครเหล่านี้มีอยู่ ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้เงิน ๕ ดอลลาร์  กลุ่มที่ ๒ ได้ ๕๐ เซนต์ ซึ่งน้อยมาก  ส่วนกลุ่มที่ ๓ ไม่มีการให้เงินหรือพูดถึงเงินเลย เพียงแต่ได้รับการขอร้องว่าให้ช่วยทำหน่อย

ปรากฏว่าอาสาสมัครกลุ่มแรกลากวงกลมได้เฉลี่ยคนละ ๑๕๙ วง  กลุ่มที่ ๒ ทำได้ ๑๐๑ วง ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะกลุ่มที่ ๒ ได้เงินน้อยมาก แค่ ๕๐ เซนต์ จึงไม่ค่อยจะกระตือรือร้นเท่าไหร่  ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ ๓ ซึ่งไม่ได้รับเงิน ปรากฏว่าลากวงกลมได้มากถึง ๑๖๘ วงโดยเฉลี่ย ซึ่งมากที่สุด มากกว่ากลุ่มแรกเสียอีก แสดงว่าตั้งใจทำมาก  ที่น่าคิดคือ ทำไมเขาตั้งใจทำมากทั้งๆ ที่ไม่ได้เงินเลย นั่นเป็นเพราะมีคนขอร้องให้เขาช่วยทำให้  เรื่องนี้ชี้ว่า การขอร้องให้คนทำให้โดยไม่มีอะไรตอบแทนนั้น ได้ผลดีกว่าการว่าจ้างให้ทำ หรือมีเงินเป็นค่าตอบแทนด้วยซ้ำ

การทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคนเราไม่ได้คิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียว คนเรายังมีน้ำใจด้วย  พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนเรามีทั้งความเห็นแก่ตัวและความเสียสละ พฤติกรรมของเราจะแสดงออกมาอย่างไรอยู่ที่ว่า ธรรมชาติส่วนไหนถูกกระตุ้น  เช่น ถ้าพูดเรื่องเงินว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ ความเห็นแก่ตัวก็จะถูกกระตุ้นให้แสดงบทบาท เวลาทำอะไรก็จะนึกแต่ว่าฉันจะได้เท่าไร ถ้าได้มาก ฉันทำ ถ้าได้น้อย ฉันไม่ทำ หรือไม่ก็จะทำแบบเหยาะแหยะ  แต่ถ้าธรรมชาติส่วนที่เป็นความเสียสละถูกกระตุ้น เช่น มีคนมาไหว้วาน ขอให้ช่วยเหลือ ก็พร้อมจะช่วยเหลืออย่างจริง โดยไม่สนใจผลตอบแทนเลย  เพราะฉะนั้น คำพูดที่ว่ามนุษย์เรามีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐานนั้น จึงยังไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะในใจเราก็มีความเสียสละ มีความเอื้อเฟื้อด้วย นี้คือธรรมชาติที่ติดมากับมนุษย์ตั้งแต่เกิดก็ว่าได้

เคยมีการศึกษากับเด็กทารก ตั้งแต่แบเบาะจนกระทั่งเดินได้ เขาพบว่าเวลาทารกได้ยินหรือเห็นคนอื่นมีความทุกข์ ทารกจะรู้สึกทุกข์ตามไปด้วย  เขารู้ได้อย่างไร เขาดูจากม่านตาทารก เวลาทารกมีความทุกข์ ไม่สบายใจ ม่านตาทารกจะขยาย  เขาพบว่าม่านตาของทารกจะขยายเวลาเห็นคนเดือดร้อน แต่พอคนนั้นได้รับความช่วยเหลือ ม่านตาของทารกก็จะเล็กลง และจะยิ่งเล็กลงมากขึ้นถ้าหากว่าความช่วยเหลือนั้นเกิดจากตัวของเขาเอง  เด็กทารกก็มีน้ำใจ เห็นใครทุกข์ก็ทุกข์ตามไปด้วย และดีใจที่เขามีความสุข หรือออกจากทุกข์ได้ อย่างนี้เรียกว่ากรุณา

นอกจากนั้นยังมีการทดลองหลายอย่าง เช่น มีคนมาขอขนมจากเด็ก เด็กก็จะให้ด้วยความยินดี เด็กดีใจที่ได้ให้ และจะดีใจมากขึ้นถ้าหากว่าของที่ให้นั้นไม่ใช่ของคนอื่น แต่เป็นของตัวเอง แสดงว่าเด็กนั้นมีน้ำใจ ถามว่าใครสอน ก็ไม่มี  เด็กนั้นยังเรียนรู้จากพ่อแม่ได้ไม่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของคุณธรรม แต่ถ้าเด็กหรือทารกแสดงวามมีน้ำใจออกมา ก็เพราะว่ามันติดตัวเขามาตั้งแต่เกิด  อาตมาจึงบอกว่าเมตตา หรือความมีน้ำใจ เสียสละ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์

การบอกว่าคนเรามีแต่ความเห็นแก่ตัวนั้นยังไม่ถูก คนเรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ คุณสมบัติดังกล่าวทำให้มนุษย์เรามีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น อันนี้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”  ความสุขของคนเราไม่ได้เกิดจากการมี การได้ การครอบครองเท่านั้น อันนั้นเป็นความสุขอย่างหยาบ เรียกว่ากามสุข ยังมีความสุขที่ละเอียด ที่ประณีต คือความสุขที่เกิดจากการให้ การสละ การช่วยเหลือ คนป่วยเมื่อมีโอกาสเลี้ยงดูสัตว์ เช่น แมว หมา ก็จะรู้สึกดีขึ้น ยิ่งได้ไปช่วยเหลือดูแลเด็กเล็กๆ ก็ยิ่งมีความสุข

มีคนหนึ่งเป็นไมเกรน ต้องกินยาทุกวันเพราะปวดหัวข้างเดียว รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ต่อมาเขาไปเป็นจิตอาสา ไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กที่ถูกทิ้งที่บ้านปากเกร็ด อาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ทำไปไม่กี่อาทิตย์เขาก็แปลกใจว่าเขาลืมกินยาไปเลย  ทำไมถึงลืมกินยา ก็เพราะว่าเขาไม่รู้สึกปวด ที่ไม่ปวดก็เพราะมีความสุข วันไหนที่ไปดูแลเด็กจะไม่ปวดหัวเลยเพราะว่ามีความสุข เป็นเหตุให้ลืมกินยา

อันนี้คล้ายกับท่านโกเอ็นก้าซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์คนสำคัญในยุคปัจจุบัน ตอนอายุ ๓๐ ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่มีปัญหาคือ ปวดไมเกรน รักษาเท่าไรก็ไม่หาย  มีคนแนะนำให้ท่านไปทำสมาธิ ท่านไม่ได้มีศรัทธา แต่ก็ลองทำดู ปรากฏว่าพอทำสมาธิแล้วไมเกรนก็หาย หายเพราะจิตใจมีความสงบ แต่ในกรณีที่เล่ามาข้างต้น จิตอาสาไม่ปวดไมเกรนเพราะช่วยคนแล้วมีความสุข

ธรรมชาติของคนเรามีทั้ง ๒ ส่วน คือความเห็นแก่ตัว และความเอื้อเฟื้อหรือการมีคุณธรรม การปฏิบัติธรรมก็คือการช่วยส่งเสริมบ่มเพาะธรรมชาติส่วนหลัง คือธรรมชาติฝ่ายคุณธรรม  ปัจจุบันการศึกษาทางโลกมักส่งเสริมธรรมชาติส่วนแรกหรือความเห็นแก่ตัว ทำให้คิดแต่ผลประโยชน์ของตน คิดแต่เรื่องเงิน คิดแต่การมีการได้  ยิ่งมีการศึกษามากเท่าไรก็ยิ่งคาดหวังผลตอบแทนหรือการมีเงินเดือนมากกว่าคนอื่น ถ้าจบปริญญาเอกแล้วไม่มีรถยนต์ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ หรือจบปริญญาเอกแล้วก็ต้องมีเงินเดือนหรือความสุขสบายกว่าคนจบปริญญาโท  แม้กระทั่งในวงการพระก็มีความเชื่อว่าถ้าเป็นเจ้าคุณชั้นธรรม ต้องมีรถ และต้องเป็นรถราคาแพงกว่าของเจ้าคุณชั้นราชด้วย เช่น ต้องเป็นเบนซ์ แต่ถ้าเป็นชั้นเทพ โตโยต้าก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่รถกระบะ

ผู้คนทุกวันนี้มีความคิดว่า ยิ่งมีความสำเร็จมากก็ยิ่งต้องมีมากหรือมีของดีของราคาแพง สิ่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่ในการศึกษาทางโลกไปเสียแล้ว คือกระตุ้นธรรมชาติส่วนที่เห็นแก่ตัว ซึ่งมุ่งเอาแต่ได้ หรือคิดอะไรเป็นเงินเป็นทอง  แต่การศึกษาทางธรรม หากเป็นการศึกษาที่ถูกต้องก็จะส่งเสริมธรรมชาติส่วนดี ธรรมชาติฝ่ายบวก ทำให้จิตมีคุณภาพ เช่น มีความเมตตากรุณา เสียสละ เอื้อเฟื้อ ใฝ่บุญใฝ่กุศล อยากทำความดี ทำความดีแล้วมีความสุข

การปฏิบัติธรรมนั้นส่วนหนึ่งหมายถึงการปฏิบัติให้ถูกครรลองคลองธรรม หรือปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เช่น หมั่นให้ทาน รักษาศีล ไม่เบียดเบียนใคร  คำว่าธรรมะนั้นแง่หนึ่งหมายถึงคุณธรรม การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการส่งเสริมให้ตนเองมีคุณธรรมมากขึ้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตากรุณา  แต่ธรรมะยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือสัจธรรม หรือความจริง การปฏิบัติธรรมจึงหมายถึงการฝึกจิตให้เห็นความจริงที่เป็นสากล แล้วความจริงนั่นแหละที่จะนำเราไปสู่ความสุข

พระพุทธศาสนาจะพูดถึง ๓ คำนี้มาก คือ ความดี ความจริง และความสุข ไม่ใช่พูดแต่เฉพาะความทุกข์  ที่พูดถึงความทุกข์ก็เพื่อให้รู้ว่าเราต้องไม่อยู่เฉย จะต้องหมั่นทำความดี และฝึกจิตให้เห็นความจริง  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสุข แล้วความสุขก็จะไปหล่อเลี้ยงใจให้หมั่นทำความดี และพากเพียรในการเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง  ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน  คนเราจะทำความดีก็ต้องมีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้าทำความดีแล้วไม่ค่อยมีความสุขก็ทำได้ไม่นาน แต่ความสุขในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสุขที่เกิดจากทรัพย์ ชื่อเสียง คำสรรเสริญ ซึ่งเป็นของชั่วคราว แต่หมายถึงความสุขที่เกิดจากการทำความดี เป็นความสุขใจ ไม่ใช่สุขทางวัตถุ  ความสุขยังทำให้เราอยากจะพากเพียรฝึกฝนตนให้เห็นถึงความจริง พอเห็นความจริงแล้วความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย

ความจริงพื้นฐานของชีวิตก็คือ ชีวิตนี้ไม่เที่ยง  บทสวดมนต์ปัจฉิมโอวาท ซึ่งเตือนเราให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” เมื่อเราเห็นความจริงว่า ชีวิตนี้ไม่เที่ยง ในที่สุดก็ต้องตาย ดังนั้นจึงควรพากเพียรทำความดี ทำกุศล และฝึกจิตให้เห็นความจริงขั้นลึกซึ้งด้วย  คือเห็นว่า สังขารไม่เที่ยง ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราเห็นความจริงเช่นนี้อย่างซาบซึ้งถึงใจ เมื่อถึงคราวที่ต้องเจ็บ ต้องแก่ หรือต้องตาย เราก็ไม่ทุกข์เพราะเห็นว่าเป็นธรรมดา ยอมรับได้

บทสวดอีกบทหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเราควรพิจารณาเป็นประจำ เรียกว่า “อภิณหปัจจเวกขณ์” ถ้าเราพิจารณาอยู่เสมอจะเป็นภูมิคุ้มกันจิตใจ ช่วยให้เราสามารถรับมือกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิตได้ บทนี้มี ๕ ตอน  ๔ ตอนแรกมีความสำคัญมาก คือ

(๑) เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้

(๒) เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้

(๓) เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

(๔) เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งนั้น

เราควรเตือนใจให้เห็นความจริงทั้ง ๔ ข้ออย่างแจ่มแจ้ง ไม่ใช่แค่คิดเอาหรือนึกภาพเอา ต้องให้มันซึ้งไปถึงใจ เวลาแก่ เวลาเจ็บ เวลาเจอความพลัดพรากสูญเสีย หรือใกล้ตาย จะได้ไม่เป็นทุกข์ ยอมรับได้ ทำใจให้เป็นปกติได้

มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่งพูดถึงครอบครัวชาวนาผู้ใฝ่ธรรม ทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พ่อกับลูกชายและลูกสาวจะออกไปทำนาซึ่งอยู่ไกล ตอนสายๆ สาวใช้จะเอาอาหารที่แม่ทำไปส่งให้ที่นา ปรากฏว่าเช้าวันหนึ่งลูกชายโดนงูกัดตาย พ่อก็บอกลูกสาวว่าให้กลับบ้าน ไปบอกแม่ว่าให้เตรียมอาหารสำหรับ ๒ คนก็พอ เพราะปกติจะเตรียมสำหรับ ๓ คน แล้วก็ให้แม่กับคนใช้มาที่นาด้วย ลูกสาวก็ทำตามที่พ่อสั่ง  พอลูกสาวกลับไปถึงบ้าน พูดกับแม่เช่นนั้น แม่ก็ถามลูกสาวว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกสาวตอบว่าพี่ชายตายแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตกอกตกใจอะไร ก็ไปที่นาพร้อมกับลูกสะไภ้ คือภรรยาของผู้ตาย รวมทั้งลูกสาวและคนใช้ ไปถึงก็หาฟืนมาเผาศพลูกชายเลย  ระหว่างที่เผาศพ ก็ไม่มีใครคร่ำครวญร้องไห้แต่อย่างใด  ระหว่างนั้นมีคนแก่เดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์ จึงถามว่าคนที่ตายเป็นใคร สงสัยจะเป็นคนอื่นกระมัง เพราะไม่เห็นมีใครร้องไห้เลย พ่อก็ตอบว่าคนที่ตายคือลูกของฉันเอง  คนแก่คนนั้นถามว่าทำไมไม่มีใครร้องไห้สักคน พ่อก็ตอบว่า เขาทิ้งร่างเหมือนกับงูลอกคราบ เมื่อร่างกายใช้ไม่ได้จึงตายไป ตอนนี้เขาถูกเผาแล้ว ไม่รับรู้ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ ดังนั้นฉันจึงไม่โศกเศร้าถึงเขา  ผู้ที่เป็นแม่ก็บอกว่า เขามาเกิดโดยฉันไม่ได้เชิญ เขาไปโดยฉันไม่ได้อนุญาต เขามาอย่างใดก็ไปอย่างนั้น เขาถูกเผาก็ไม่ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ ดังนั้นฉันจึงไม่โศกเศร้า

น้องสาวก็บอกว่า ถ้าฉันร้องไห้ร่างกายก็จะผ่ายผอม ไม่เกิดประโยชน์ ญาติมิตรก็จะไม่สบายใจ ตอนนี้พี่ชายถูกเผาแล้ว ไม่รับรู้ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ ดังนั้นฉันจึงไม่โศกเศร้าถึงเขา  ภรรยาก็บอกว่า คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตาย ไม่ต่างจากทารกที่ร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้สามีของฉันกำลังถูกเผา ไม่รับรู้ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ ดังนั้นฉันจึงไม่โศกเศร้าถึงเขา  คนใช้ก็บอกว่าคนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว ย่อมไร้ประโยชน์ ไม่ต่างจากหม้อน้ำที่แตกแล้ว ไม่มีวันที่จะสมานคืนดังเดิมได้ ตอนนี้นายของฉันกำลังถูกเผา ไม่รับรู้ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ ดังนั้นฉันจึงไม่โศกเศร้าถึงเขา

สรุปก็คือ ทั้ง ๕ คนนี้เข้าใจความจริงของชีวิต ว่าความตายเป็นธรรมดา โศกเศร้าคร่ำครวญอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ จึงทำใจปกติ

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่เพียงช่วยให้เรามีฉันทะในการทำความดี และมีชีวิตที่ถูกครรลองคลองธรรมเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นความจริงจนกระทั่งไม่ทุกข์เมื่อต้องประสบกับความพลัดพราก สูญเสีย เพราะปล่อยวางได้ นี่คือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น  ในด้านหนึ่งชีวิตนี้มีอะไรที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจมากมาย ชวนให้อยากรู้อยากเห็น อยากเสพ อยากบริโภค แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดา  คนที่เห็นว่าโลกนี้มีความสวยงาม ไม่ได้เห็นว่ามันมีอีกด้านหนึ่งที่ไม่สวยงาม ไม่น่าพึงพอใจ ก็จะเสียใจเมื่อต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หรือต้องพลัดพรากสูญเสีย  แต่ถ้าเห็นความจริงอย่างรอบด้านก็จะเห็นว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่เกิดมาแล้วต้องแก่ เจ็บ ตาย ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ความไม่จีรัง ยิ่งเห็นความจริงว่าทุกข์นั้นอยู่ที่ใจ ทุกข์เกิดจากความยึดติดถือมั่น นี้เป็นความจริงข้อที่ ๒ เรียกว่าสมุทัย เมื่อรู้แล้วก็จะทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการปล่อยวาง

การปล่อยวางนั้นนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์  ความพ้นทุกข์นั้นเป็นไปได้ และเป็นความจริงที่ทุกคนเข้าถึงได้ จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดความเจริญในองค์มรรค  มรรคมีองค์ ๘ คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เจริญงอกงาม นั่นคือ การปฏิบัติเพื่อให้มีใจใฝ่ในคุณธรรม มีชีวิตที่งดงามถูกครรลองคลองธรรม และเพื่อให้จิตเกิดปัญญาเห็นความจริงแจ่มแจ้ง ซึ่งต้องอาศัยการทำสมาธิภาวนาและการใคร่ครวญชีวิต ถ้าเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้วก็ยากที่อะไรจะทำให้เราทุกข์ได้

ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของนางมัลลิกา เป็นภรรยาของพันธุละ ซึ่งเป็นเสนาบดีคนสำคัญของพระเจ้าปเสนทิโกศล และเป็นนักรบที่เก่งมาก ตอนหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลระแวงพันธุละ รวมทั้งลูก ๓๒ คน จึงหลอกไปฆ่าให้ตาย  นางมัลลิการู้ข่าวตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พระสงฆ์กำลังฉันอาหารที่บ้านของนาง โดยมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประธาน นางรู้ข่าวแล้วก็ไม่ได้บอกใคร  ช่วงนั้นเองสาวใช้ทำถาดอาหารหล่นตกแตกต่อหน้าพระสงฆ์ พระสารีบุตรจึงพูดกับนางมัลลิกาว่า “มัลลิกา ของที่แตกได้ก็แตกไปแล้ว อย่าเสียใจไปเลย” นางมัลลิกาจึงตอบว่า “เมื่อสักครู่มีคนมาแจ้งให้ดิฉันทราบว่าสามีและลูกชายทั้ง ๓๒ คนถูกฆ่าตัดศีรษะไปแล้ว ดิฉันยังไม่เสียใจเลย เมื่อถาดเนยใสตกแตกไป ดิฉันจะเสียใจทำไมเจ้าคะ” เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่า คนเราพอรู้และเข้าถึงความจริงแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ทุกข์ได้ แม้ว่าจะต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยทุกข์และความไม่เที่ยง แต่จิตใจก็สามารถอยู่เหนือความทุกข์ได้

พุทธศาสนาจะพูดถึง ๓ คำนี้มาก คือ ความดี ความจริง และความสุข

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงขอบข่ายของการปฏิบัติธรรม และจุดมุ่งหมาย  ด้านหนึ่งก็เป็นการส่งเสริม หล่อเลี้ยงธรรมชาติฝ่ายดีในใจเรา ไม่ว่าจะเป็นความเมตตากรุณา ความพากเพียรพยายาม ขันติ สติ สมาธิ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จนกระทั่งสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ แม้ว่าความเห็นแก่ตัวจะยังมีอยู่ แต่ว่าคุณธรรมในใจสามารถควบคุมบังคับไม่ให้มันออกมาเพ่นพ่านได้  แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องปฏิบัติธรรมให้เห็นความจริงของโลก เห็นความจริงของชีวิต เห็นความจริงถึงขั้นที่รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร ทุกข์เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยึดมั่นว่ามีตัวกู ของกู แล้วเห็นความจริงจนถึงขั้นที่รู้ว่าตัวกู ของกู นั้นไม่มีจริง มันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งหรือเป็นมายาภาพ แต่เราหลงคิดว่ามีจริง จึงยึดอะไรต่ออะไรว่าเป็นตัวกูของกู ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ของกู พี่น้องของกู ลูกของกู หรือแม้กระทั่งร่างกายของกู ทั้งหมดนี้เป็นมายาภาพทั้งสิ้น เพราะไม่มีอะไรที่เป็นของกูได้เลย ไม่มีอะไรที่เราจะสามารถบังคับบัญชาได้เลย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา