ท่าที ความเชื่อกับเรื่องผีๆ

ปรีดา เรืองวิชาธร 17 กันยายน 2005

ช่วง ๒ – ๓ ปีมานี้แวดวงบันเทิงทั้งในและนอกบ้านเราต่างผลิตงานเกี่ยวกับเรื่องภูตผีวิญญาณมากจนเป็นกระแส ในโรงหนังก็มีหนังประเภทนี้ให้ดูทุกระยะไม่ขาดสาย หมุนช่องทีวีไปช่องไหนๆ ก็มีรายการคนอยากเห็นผีให้ชมเต็มไปหมด ในหนังสือบันเทิงก็เช่นกัน น่าคิดใคร่ครวญว่าทำไมกระแสหนังหรือรายการผีๆ จึงฟูเฟื่องนัก จะว่าเป็นเพราะตอนนี้คนเริ่มอยากพิสูจน์ว่าผีมีจริงหรือไม่ ก็ไม่น่าจะจริงเสียทีเดียว เพราะเรื่องคนอยากรู้อยากเห็นว่าผีมีจริงหรือไม่นั้น มันมีมานานตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ดังนั้นเหตุผลหนึ่งจากหลายๆ ข้อน่าจะมาจากต้องการขายความตื่นเต้นให้กับคนดู หนังหรือรายการประเภทนี้ได้ยึดกุมผู้ดูกลุ่มหนึ่งให้เฝ้าติดตามได้อย่างแนบแน่นจนเป็นแฟนพันธุ์แท้ได้ ก็เพราะขายรสชาติของความตื่นเต้นและความมันสะใจ ซึ่งไปสอดคล้องตรงกับความต้องการของคนดูยุคนี้ที่ต้องการรสชาติแห่งอารมณ์ความรู้สึกตื่นเต้นหวือหวา ไม่ซ้ำซากจำเจ  เพราะชีวิตในสังคมสมัยใหม่มันมีเรื่องให้ต้องทุกข์วุ่นวายใจซ้ำซากอยู่เต็มไปหมด วัฒนธรรมการหาอะไรเสพหาอะไรดูที่แหวกออกไปจากสภาพอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันจึงเป็นสินค้าที่จะขายไปได้อีกเรื่อยๆ

ผมเข้าใจว่าเหตุที่ทำให้หนังหรือรายการนี้ฟูเฟื่องมากในขณะนี้คงมีมากกว่านี้ ในที่นี้ไม่ประสงค์จะวิเคราะห์ในแง่นี้จึงขอกล่าวถึงเพียงเท่านี้

กลับมาที่หนังหรือรายการผีๆ หากเรายังชมชอบติดตามดูก็สุดแท้แต่อัธยาศัยของใครของมัน ถ้าติดตามดูอยู่ก็ลองใคร่ครวญให้มากขึ้นเราอาจพบข้อคิดหรือทัศนคติใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเป็นๆ ของเรา ซึ่งอีกไม่นานเราก็จะอยู่ในสภาพเดียวกับตัวเอกในเรื่อง แทนที่จะสนใจเพียงว่า ตกลงผีมันมีจริงหรือไม่มี กล่าวคือถ้ารู้ว่ามีหรือรู้ว่าไม่มีแล้วยังไงต่อล่ะ

ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์จึงไม่ควรอยู่เพียงแค่การพยายามพิสูจน์ให้เชื่อว่า ผีมีหรือไม่มี แต่อยู่ที่เราควรจะมีความเชื่อและท่าทีอย่างไรที่สร้างสรรค์ต่างหาก

ในพระไตรปิฎกนั้นมีหลายพระสูตรที่กล่าวรับรองชีวิตหลังความตาย ดังเช่นในสังคีติสูตร หมวด ๕ (เล่ม ๑๒) ก็บอกไว้ว่าคติหรือภพที่สัตว์ไปเกิดนั้นมีอยู่ ๕ แดนคือ ๑) นรก (นิรยะ)  ๒) สัตว์ดิรัจฉาน (ติรัจฉานโยนิ)  ๓) เปรต (เปตติวิสัย)  ๔) มนุษย์ (มนุสสะ)  ๕) เทวดา (เทวะ) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่เราทำไว้ในชีวิตนี้  หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในจูฬยมวรรคสูตรว่า อะไรเป็นเหตุที่ทำให้มนุษย์บางพวกตายแล้วไปสู่สุคติ เช่น สวรรค์หรือโลกมนุษย์ บางพวกตายแล้วไปสู่ทุคติ เช่น นรก เป็นต้น พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่ประพฤติธรรมหรือประพฤติสุจริตสิ้นชีพแล้วย่อมไปสู่สุคติ ส่วนผู้ที่ไม่ประพฤติธรรมไม่ประพฤติสุจริต เมื่อสิ้นชีพแล้วย่อมไปทุคติ

ส่วนการประพฤติธรรม ประพฤติสุจริตนั้น ท่านหมายถึง กุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งได้แก่  ๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์  ๒) เว้นจากการลักทรัพย์  ๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม  ๔) เว้นจากการพูดเท็จ  ๕) เว้นจากการพูดส่อเสียด  ๖) เว้นจากการพูดหยาบคาย  ๗) เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  ๘) เว้นจากโลภอยากได้ของผู้อื่น  ๙) เว้นจากการคิดปองร้ายผู้อื่น  ๑๐) เว้นจากการเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ข้อนี้รวมถึงความเห็นชอบว่าผลวิบากของกรรมดีกรรมชั่วนั้นมีจริง เป็นต้น

จาก ๒ พระสูตรนี้บ่งชี้ชัดว่า ชีวิตนี้กับโลกหน้านั้นสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน เพราะชีวิตในโลกหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำทั้งหมดทั้งสิ้นในชีวิตนี้ ซึ่งสัมพันธ์รวมไปถึงกรรมที่ทำไว้แต่ในอดีตชาติด้วย

ดังนั้นหากเราเริ่มเอียงมาเชื่อว่า โลกหลังชีวิตนี้ยังมีต่อไป เราก็ควรทบทวนใคร่ครวญอยู่เสมอว่า ชีวิตที่เหลืออยู่นี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรเพื่อไม่ให้ประมาท เพราะความตายที่จะเข้ามาเยือนนั้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเท่าไรดอก

ชีวิตที่เหลืออยู่นี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรเพื่อไม่ให้ประมาท เพราะความตายที่จะเข้ามาเยือนนั้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก

หากหมั่นเพ่งพินิจด้านในของชีวิตอยู่เนืองนิตย์ ก็ย่อมทำให้เริ่มใส่ใจดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับกุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาขวานขวายสร้างแต่ความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างไร้สติไร้ความรับผิดชอบ สร้างวัฒนธรรมการแก่งแย่งแข่งขันหรือฉ้อฉลทุจริตเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากัน จนทำให้ชีวิตและสังคมเต็มไปด้วยความขาดแคลนยากจน เต็มไปด้วยการมอมเมาทุกรูปแบบ และการทุจริตคอรัปชั่น

คนที่ดำเนินชีวิตเยี่ยงผู้ประพฤติธรรมอันมีสุจริตเป็นที่ตั้ง รวมถึงการเตรียมตัวเผชิญความตายอย่างสุขสงบนั้น ประการแรกชีวิตย่อมมีความสุขเย็นอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะเป็นความสุขสงบเย็นที่เกิดจากการไม่มีเรื่องที่ต้องให้ทุกข์ร้อนใจจนเกินไปนัก ประการที่สอง แม้เมื่อตายไปก็อุ่นใจได้ว่า จะไม่ไปสู่ทุคติเป็นแน่แท้ ประการสุดท้าย ทั้งในชีวิตปัจจุบันนี้และโลกหน้าต่อๆ ไป ล้วนดำเนินไปสู่ภาวะหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเป็นอุดมคติชีวิตสูงสุดของชาวพุทธ

ด้วยเหตุดังกล่าว แม้ชีวิตปัจจุบันจะสิ้นสุดลง เมื่อสิ้นลมแล้วก็ตามแต่เราจะเวียนว่ายท่องเที่ยวต่อไปในสังสารวัฏตามอำนาจของวิบากกรรม ดังนั้นเมื่อเราดูหนังหรือรายการผีๆ ควรน้อมเข้ามาใส่ตัวว่า อีกไม่นานเราก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน และใคร่ครวญให้ลึกซึ้งว่าหากยังมีโอกาสเหลืออยู่ เราเลือกที่จะตายไปพร้อมกับแรงยึดมั่นถือมั่นอันมากมาย หรือตายอย่างเบาสบายไร้กังวลและเลือกภพภูมิที่เราจะไปเกิดในสภาวะใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการกระทำในชีวิตนี้เป็นสำคัญ


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน