ธรรมะที่คนสมัยใหม่ต้องการ

พระไพศาล วิสาโล 3 พฤศจิกายน 2002

ในการสื่อธรรมะสู่ประชาชนนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ธรรมะนั้นจะต้องสัมพันธ์กับชีวิตของเขา  การเผยแผ่ธรรมตามใจนึกของผู้สอนนั้นได้ผลน้อยกว่าการเอาปัญหาของฆราวาสเป็นตัวตั้ง  ข้อที่ต้องตระหนักคือปัญหาของฆราวาสในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากสมัยปู่ย่าตายายมาก  แม้เรื่องอบายมุขเช่นการพนัน ยาเสพติด รวมทั้งการละเมิดเบียดเบียนตามแนวศีล ๕ ยังเป็นปัญหามาถึงสมัยนี้ แต่ก็มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งมีปัจจัยใหม่ๆ มาเกี่ยวข้องกับชีวิตมากขึ้น ทำให้ปัญหาเก่าๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น  พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือธรรมะใดๆ ก็ตามจะมีความหมายต่อชีวิตของคนสมัยนี้ได้ ก็ต่อเมื่อช่วยให้คนสมัยใหม่มีท่าทีที่ถูกต้องหรือสามารถจัดการกับประเด็นปัญหาต่อไปนี้ด้วยดี

๑. การบริโภค

การบริโภคได้กลายเป็นสรณะหรือศาสนาของคนในปัจจุบันไปแล้ว  มันเป็นทั้งจุดหมายและตัวกำหนดคุณค่าชีวิตของผู้คนเป็นอันมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งความสุขอย่างเดียวที่คนส่วนใหญ่รู้จัก  การช็อปปิ้งจึงกลายเป็นสิ่งเสพติดที่กำลังระบาดรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเครดิตการ์ดสามารถทำได้อย่างง่ายดาย  ขณะเดียวกันการบริโภคก็ถูกพัฒนาให้หลากหลายพิสดาร จากการบริโภควัตถุและบริการไปสู่การบริโภคประสบการณ์และสัญลักษณ์  การบริโภคอย่างไม่รู้ประมาณและไม่ตระหนักถึงคุณและโทษชัดเจน มีผลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในสังคม และต่อสิ่งแวดล้อม

๒. เงิน

เงินไม่ได้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่เอื้อให้บริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น หากยังกลายเป็นเป้าหมายของตัวมันเอง  คนจำนวนมากมีความสุขกับการสะสมเงินให้ได้มากๆ แม้จะไม่ได้ใช้มันเลยก็ตาม  มันไม่ได้ให้ความสะดวกสบายทางกายภาพเท่านั้น ผู้คนนับวันจะหวังให้เงินเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณด้วย  แต่เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ หรือได้รับเพียงชั่วคราว ก็จะขวนขวายหาเงินมาให้ได้มากขึ้นไม่หยุดหย่อน ชีวิตจึงหาความสงบสุขไม่ได้ทั้งๆ ที่มีเงินมหาศาล  ยิ่งไปกว่านั้นการพยายามหาเงินในทุกวิถีทาง ยังก่อปัญหามิจฉาอาชีวะ การคอร์รัปชั่น อาชญากรรม การเอารัดเอาเปรียบ และการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้ทุกอย่างกลายเป็นแค่สินค้า ไม่เว้นแม้กระทั่งความรัก ความซื่อสัตย์ ศาสนาและประเพณี

๓. กามารมณ์

กามารมณ์กลายเป็นสิ่งเสพติดอีกชนิดหนึ่งในยุคปัจจุบัน และกลายเป็นสิ่งเดียวที่คนจำนวนมากมุ่งหวังจากความสัมพันธ์ระหว่างเพศ (หรือกับเพศเดียวกัน)  ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน เพราะต่างหวังตักตวงความสุขทางกายจากกันและกัน  ความผิดหวังเพราะรักไม่เป็นเกิดขึ้นไปทั่ว ขณะเดียวกันการจัดการกับความรู้สึกทางเพศไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดปัญหาท้องนอกสมรส ท้องในวัยเรียน ลูกไม่มีพ่อ การทำแท้ง ซึ่งนำความทุกข์ไปสู่ผู้คนเป็นอันมาก  นอกจากนั้นการไม่รู้เท่าทันกับอารมณ์ดังกล่าว ยังทำให้ผู้คนหลงติดบริโภคนิยมซึ่งใช้สิ่งยั่วยุทางเพศเป็นเหยื่อล่อ

๔. ความสัมพันธ์

ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ในทุกระดับ ตั้งแต่กับพ่อแม่พี่น้อง ลูกๆ คู่ครอง ไปจนถึงเพื่อนร่วมงาน คนในละแวกบ้าน ชุมชน และผู้คนในสังคม  ความสัมพันธ์ต่างๆ เป็นไปอย่างฉาบฉวยและก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะต่างมุ่งหวังผลประโยชน์จากกัน หาไม่ก็เห็นอีกฝ่ายเป็นคู่แข่งทางด้านผลประโยชน์  ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงก่อให้เกิดความทุกข์แก่บุคคล หากยังสร้างปัญหาแก่สังคม ทำให้สังคมอ่อนแอและเปราะบาง เพราะผู้คนคิดแต่จะแก่งแย่งแข่งขันและเอารัดเอาเปรียบกัน

ธรรมะจะมีความหมายต่อชีวิตของคนสมัยนี้ได้ ก็ต่อเมื่อช่วยให้พวกเขามีท่าทีที่ถูกต้องหรือสามารถจัดการกับประเด็นปัญหาต่อไปนี้ด้วยดี

๕. เทคโนโลยี

เทคโนโลยีได้แทรกเข้ามาจนมีอิทธิพลต่อชีวิตทุกแง่มุม  การเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างไม่รู้เท่าทัน ทำให้เกิดการเสพติดชนิดใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างฉาบฉวยมากขึ้น  เนื่องจากมันกลายมาเป็นตัวกลางความสัมพันธ์ แทนที่จะเป็นการสัมพันธ์โดยตรง (กระทั่งการเลี้ยงลูกทางโทรศัพท์ก็กำลังจะแพร่หลายมากขึ้น) อีกทั้งยังดึงเวลาส่วนตัวของผู้คนทำให้ไม่มีเวลาให้แก่คนใกล้ชิด  นอกจากนั้นมันยังมีอิทธิพลต่อทัศนคติและจิตนิสัยของผู้คนเป็นอันมาก เช่น ทำให้หลงในบริโภคนิยม หมกมุ่นในกามารมณ์และความรุนแรง หรือใจร้อนคอยไม่เป็น  ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากเทคโนโลยีทางการผลิตและอุตสาหกรรม

๖. อัตลักษณ์

ลัทธิปัจเจกนิยมทำให้ผู้คนหมกมุ่นกับตัวตนมาก และมักจะเกิดความทุกข์ข้องขัด ไม่พึงพอใจในตัวตนของตน เพราะมีการเปรียบเทียบกับคนอื่น (ซึ่งมักผ่านสื่อ)  การพยายามสร้างและปรับปรุงตัวตนแทนที่จะทำด้วยการพัฒนาความสามารถให้มากขึ้น กลับใช้ทางลัดคือการแข่งขันกันบริโภค เช่น ซื้อสินค้ายี่ห้อดังมาใช้ ผ่าตัดเสริมทรงให้เป็นดังใจหวัง  กล่าวอีกนัยหนึ่งตัวตนของคนสมัยนี้ผูกติดกับวัตถุและทรวดทรงร่างกาย และสายตาของผู้อื่น ซึ่งจะไม่ทำให้มีความสุขความพอใจได้เลย

๗. ความโดดเดี่ยว

คนปัจจุบันมีความโดดเดี่ยวมาก เพราะมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหรือแท้จริงกับคนอื่นได้ยาก  แต่ครั้นจะอยู่คนเดียว ก็อยู่ไม่ได้เพราะทนความคิดที่ฟุ้งซ่านกระเจิดกระเจิงไม่ได้ ต้องหาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่ง เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อยึดจิตให้อยู่เป็นที่เป็นทาง หรือดึงจิตให้พ้นจากการหมกมุ่นในตนเอง  แต่เทคโนโลยีดังกล่าวหาใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริงไม่  การรู้จักตนเอง สามารถเข้าถึงความสงบภายในได้ จะช่วยให้บุคคลสามารถอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ รวมทั้งอยู่กับตนเองอย่างมีความสุขได้ด้วย

๘. ความตาย 

ความตายกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดในสายตาของคนสมัยนี้ การวางท่าที่ไม่ถูกต้องต่อความตายจึงทำให้ผู้คนเกิดความทุกข์มาก เพราะไม่มีวันจะหลีกพ้นได้  ขณะเดียวกัน ท่าทีเช่นนี้ก็ทำให้ไม่สามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตายได้ เช่นการใช้ความตายเป็นเครื่องกระตุ้นให้ไม่ประมาท ทำความดี หรือปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่ยึดถือ ทำให้จิตโปร่งเบา เป็นอิสระ  ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการทำให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ หรือการุณยฆาต ตลอดจนความสิ้นเปลืองจากการใช้เทคโนโลยีต่ออายุอย่างไม่มีขีดจำกัด ล้วนเกิดจากท่าทีที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา