5 วิธี ซ้อมรับข่าวร้าย

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 25 พฤษภาคม 2014

“วันนี้หมอมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของการรักษาอยากจะคุยกับคุณ คุณอยากฟังเองหรืออยากให้ใครอยู่ฟังด้วยไหมครับ”

คุณจะรู้สึกอย่างไร หากมีหมอมากล่าวกับคุณด้วยประโยคเช่นนี้พร้อมสีหน้าจริงจัง คุณรู้ตัวหรือไม่ว่ากำลังจะได้ฟัง “ข่าว” ที่อาจจะสำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ และหากมันจะเกิดขึ้นจริง คุณพร้อมรับฟังข่าวนี้หรือไม่?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เหล่าแพทย์พยาบาลที่ต้องทำหน้าที่ “บอกข่าวร้าย” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “สื่อสารความจริงของผู้ป่วย” รวมตัวกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิควิธีการบอกข่าวร้ายอย่างไม่ทำร้ายผู้ป่วยและญาติ

เหตุที่ต้องมาเรียนรู้เรื่องนี้ก็เพราะบางครั้งวิธีการบอกข่าวร้ายนั่นแหละ ที่สร้างความทุกข์ทรมานมากกว่าตัวโรคร้ายเสียอีก! การปิดบังข่าวร้ายแก่ผู้ป่วยหรือญาติฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ท่าทีการบอกข่าวร้ายอย่างไม่ใส่ใจ ล้วนแล้วแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลงทั้งสิ้น

แน่นอนว่า แพทย์และพยาบาล ต้องหาวิธีสื่อสารความจริงแก่ผู้ป่วยให้ตรงความจริง แต่ก็ไม่ทำให้เสียขวัญมากจนเกินไป รวมถึงทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีความหวังในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ทีมแพทย์และพยาบาลควรจัดบรรยากาศในการบอกข่าวร้ายให้สงบเย็น เป็นส่วนตัว ไม่วุ่นวายสับสนเมื่อกำลังจะบอกข่าวร้าย

ในสังคมไทย เราพบว่าเป็นการดีที่จะ “จัดประชุมครอบครัว” เพื่อให้โอกาสแก่ครอบครัวและทีมสุขภาพได้ซักถาม ตอบข้อสงสัย คลี่คลายความกังวลอย่างใส่ใจ รวมถึงเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว เทคนิควิธีการเหล่านี้เรียนรู้ได้ไม่ยาก หากมีการประสานภายในหน่วยงานและการฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ป่วยและญาติเองก็มีส่วนสำคัญมากทีเดียวที่จะทำให้ข่าวร้าย ไม่ร้ายเกินไปนัก หากได้มีการเตรียมจิตใจไว้ก่อน รวมถึงรักษาใจให้มีความมั่นคงไม่หวั่นไหวโดยง่าย  ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยเองก็อาจมีส่วนจุดประกายข่าวร้ายให้ขยายความทุกข์ทรมานจนใหญ่โต ถึงแม้ว่าในบางกรณีบุคลากรจะทำทุกอย่างได้ดีแล้วก็ตาม

การปกปิดข่าวร้ายระหว่างญาติและผู้ป่วยก็เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ญาติอาจปกปิดข่าวร้ายกับครอบครัว เพราะกลัวว่าผู้ป่วยจะเสียกำลังใจเมื่อได้รับทราบข่าวร้าย หรืออาจเกรงว่าผู้ป่วยอาจทำร้ายตัวเอง กังวลว่าผู้ป่วยจะซึมเศร้าทำให้อาการทรุดหนัก ในบางกรณีก็อาจเป็นเช่นนี้จริง แต่หลายครั้งก็พบว่าญาตินั่นแหละที่กังวลไปเอง ในหลายรายพบว่าญาติมีความทุกข์มากกว่าผู้ป่วยด้วยซ้ำไป

ในเมื่อไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจต้องป่วยและรับฟังข่าวร้ายจากหมอ จะดีไหมที่เราจะซ้อมรับมือกับข่าวร้าย ก็เพื่อรักษาจิตใจไม่ให้หดหู่ซึมเศร้า มีสติที่แจ่มใสพอที่จะตัดสินใจชีวิตในระยะต่อไปอย่างถี่ถ้วน การฝึกรับมือกับข่าวร้ายช่วยให้ชีวิตในระยะท้ายของผู้ป่วยยังคงมีคุณภาพที่ดี เลือกรับการรักษาได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ รวมถึงแสวงหาคุณค่าของชีวิตด้านอื่นๆ ที่ยังทำได้แม้ร่างกายจะเสื่อมถอยลงไป ผมขอเสนอวิธีซ้อมรับข่าวร้ายสัก 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. เมื่อได้ยินข่าวร้ายของคนรอบข้าง ลองถามตัวเองว่า “ถ้าเป็นเราล่ะ”

เมื่อได้ยินว่าคนใกล้ชิดเป็นโรคร้าย รักษาได้ยากหรือรักษาไม่หาย ลองคิดดูว่าหากเราได้รับข่าวร้ายแบบนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะทำอย่างที่เพื่อนของเราทำไหม เราจะประคองจิตใจอย่างไรให้มั่นคงหากเราต้องเป็นโรคเดียวกับเพื่อนของเรา

2. เจริญมรณานุสติ

ผู้ป่วยหลายรายที่หวั่นไหวซึมเศร้าก็เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าตนเองจะต้องป่วยหรือตายในที่สุด  ทั้งที่ความจริงแล้วความตายมาเยือนเราได้ทุกเมื่อ  การระลึกถึงความตายเสมอๆ ว่า “ความตายเป็นของธรรมดา เราย่อมหลีกหนีความตายไปไม่พ้น” จะทำให้เราคุ้นเคยกับความตายมากขึ้น และช่วยทำให้ข่าวร้ายลดพิษสงและความน่ากลัวลงในที่สุด

3. ทำพินัยกรรมชีวิต

เราอาจเขียนพินัยกรรมขณะที่ยังมีชีวิตอยู่และประกาศให้คนในครอบครัวได้ทราบโดยทั่วกันถึงเจตนาของเราเกี่ยวกับการรับทราบข่าวร้าย เช่น เราปรารถนาจะได้ยินข่าวร้ายหรือไม่ อยากให้ญาติปกปิดหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข่าวร้าย หากปกปิดข่าวร้ายแก่เราจะถูกลงโทษอย่างไร เป็นต้น การเขียนและประกาศเจตนารมณ์ของเราให้ครอบครัวรับรู้ จะทำให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันบริหารจัดการข่าวร้ายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย

4. หยิบยกเอาความตายเป็นหัวข้อสนทนาในครอบครัว

การพูดถึงความตายอย่างคุ้นชิน จะทำให้สมาชิกในครอบครัวเกิดทัศนคติที่ว่าความตายเป็นเรื่องไม่น่ากลัว เป็นเรื่องที่พูดได้ เป็นความธรรมดาของชีวิต ไม่เหตุผลอะไรที่ต้องปกปิด  ข่าวร้ายจึงลดความร้ายกาจลงเป็นเพียง“ข้อมูลความจริงที่ต้องรับทราบประกอบการตัดสินใจ” เท่านั้น

5. ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

หลายครั้ง คนที่รับทราบข่าวร้ายแล้วเกิดความซึมเศร้าหมดอาลัยตายอยาก ก็เป็นเพราะรู้ตัวว่าไม่อาจทำสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้อีกแล้ว หรือพบว่ายังมีสิ่งค้างคาใจหลายอย่างเหลือเกินที่ไม่อาจปลดเปลื้องได้ทันเวลา  การทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้ ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง จึงช่วยประกันได้ว่า แม้เมื่อเราต้องจากไป ก็จะไม่มีอะไรต้องเสียใจ การทำความดี ทำถูกต้องในทุกขณะ นัยหนึ่งก็คือการเตรียมพร้อมรับข่าวร้ายได้ทุกเมื่อนั่นเอง


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher