เงาของความตายในสังคม

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 28 มกราคม 2005

มีเรื่องเล่าชวนเศร้าสลดใจแก่ผู้ฟัง จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติทางภาคใต้อีกเรื่องหนึ่ง  เป็นเรื่องของคนในครอบครัวซึ่งนั่งกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาสมาชิกต่างวัยในครอบครัวรวม ๗ คน แล้วโดนคลื่นซัดกระหน่ำกวาดคนทั้งบ้านโดยไม่ทันรู้ตัว  หลังเหตุการณ์สงบพบว่าใน ๗ คนนั้น มีคนรอดตายอยู่เพียงคนเดียว และคนที่รอดตายนั้นคือคุณยายอายุ ๖๘ ปี นอกนั้นลูกหลานในบ้านที่อยู่ร่วมกันมาตายหมด  ผู้ได้ฟังเรื่องนี้เกือบทุกคน จะรำพึงคล้ายกันว่า บอกไม่ถูกว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายของคุณยายคนนี้กันแน่ ที่แม้รอดชีวิตแต่ก็จะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย และเป็นฝ่ายทำศพของลูกหลานแทนที่จะให้ฝ่ายหลังเป็นผู้จัดงานศพให้แก่ตนเองตามกำหนดของอายุขัยตามธรรมชาติ

ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจะก้าวล้ำนำหน้าไปเพียงใดแล้วก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ระบุว่าแผ่นดินไหวนั้น ไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้แม้แต่ ๕ นาที และในอนาคตก็คงยากที่จะทำนายได้  แผ่นดินไหวจึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งดับอหังการ์ที่จะเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ได้มากที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะการเกิดแผ่นดินไหวนั้น มีเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่ธุลีดินไปจนกระทั่งถึงจักรวาลอันเวิ้งว้าง เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกลับซับซ้อนเกินหยั่งรู้

ที่สำคัญที่สุดคือเป็นความสัมพันธ์ที่ซ่อนเร้น หาใช่เพียงความสัมพันธ์ของรูปธรรม วัตถุ  สสาร พลังงาน หรือกายภาพที่สามารถมองเห็น ตรวจวัด ศึกษาจนกระทั่งจับกฎเกณฑ์ได้ สามารถคำนวณความเป็นไปได้แน่นอนแม่นยำเหมือนสุริยุปราคา น้ำขึ้นน้ำลง หรืออย่างน้อยใกล้เคียงได้มากเหมือนการทำนายสภาพอากาศประจำวัน  เนื่องจากในโลกนี้ จักรวาลแห่งนี้ ยังมีระบบความสัมพันธ์ของนามธรรมที่มองไม่เห็นอีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้ และอาจจะไม่มีวันรู้ได้หมด  ปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบแผ่นดินไหวจึงทำนายให้แม่นยำไม่ได้ ทำได้แต่เพียงเฝ้าดูว่าเกิดที่ไหน รุนแรงเพียงใด แล้วจึงคาดการณ์ (เดา) เรื่องอื่นได้ต่อ เช่น การเกิด after shock และการเตือนภัยอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น การเกิดคลื่นยักษ์ ดินถล่ม ฯลฯ ซึ่งมีระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยทางกายภาพที่มองเห็นได้ หรือตรวจจับ วัดได้ได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ

“ความตาย” ของมนุษย์ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งของธรรมชาติซึ่งลึกลับเกินจะอธิบายได้โดยง่าย ธรณีพิบัติครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับภัยพิบัติอื่นๆ ที่ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคนนั้นจึงตาย คนนี้ไม่ตาย  ปาฏิหาริย์ที่แทบไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นเสมอในภัยพิบัติต่างๆ หากจำกันได้ เมื่อครั้งที่เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ตกที่ชานเมืองย่านรังสิตประมาณเกือบ ๓๐ ปีก่อน  ผู้โดยสาร นักบิน-ลูกเรือตายเกือบหมดทั้งลำ แต่ก็มีชายหนุ่มคนหนึ่งแค่เคล็ดขัดยอกหัวเข่า เครื่องบินหล่นจากฟ้าแล้วก็ยังสามารถลุกขึ้นเดินได้  หรือเรื่องของทารกน้อยผู้รอดตายอย่างมหัศจรรย์กลางซากตึกของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในต่างประเทศ ฯลฯ  บางครั้งอาจมีคำอธิบายว่าชายหนุ่มเลือกที่นั่งในตำแหน่งที่เหมาะสมของเครื่องบิน หรือทารกแรกเกิดมักมีความอึด เพราะอยู่ในท้องแม่มานาน และอื่นๆ แล้วแต่จะให้อธิบายกันไปตามหลักวิชาวิทยาศาสตร์  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็มิใช่คำอธิบายที่จะทำให้ยอมรับได้อย่างสนิทใจแม้แต่ผู้อธิบายเองก็ตาม เพราะยังมีคำถามต่อเนื่องอีกมากที่ตอบได้ยากหลังทุกคำอธิบาย เช่น ก็แล้วทำไมชายหนุ่มคนนั้นจึงได้ที่นั่งตรงนั้นพอดี ทารกทำไมจึงไปติดอยู่ในซอกตึกได้พอดิบพอดีจนไม่ถูกทับตายคาซากตึก

ในสมัยก่อน คนจำนวนมากจึงเลือกที่จะอธิบายว่าเป็นเพราะ “ดวง” “เคราะห์” “กรรม” หรือเพราะ “ไม่ถึงที่ตาย” ของบุคคลผู้นั้นในคติชาวพุทธ หรือเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าในศาสนิกอื่นๆ ที่ทำให้เราแต่ละคนเผชิญชะตากรรมที่แตกต่างกัน  แม้จะนั่งอยู่ในโต๊ะอาหารตัวเดียวกัน หรือนั่งติดกันบนหาดเดียวกัน เครื่องบินลำเดียวกัน ฯลฯ โดยยังไม่ต้องพูดถึงว่า แม้แต่คนที่อยากตายแล้วพยายามฆ่าตัวตาย หากยัง “ไม่ถึงที่” ก็ไม่ตาย ดังทารกบางคนที่แม่จงใจจะทิ้งให้ตายก็ไม่ยอมตาย จนปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง  ดังนั้น ความตายของปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง จึงมิใช่เรื่องการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่งโดดๆ แม้แต่ผู้เป็นเจ้าของชีวิตนั้นก็ตาม

โลกนี้มีระบบความสัมพันธ์ของนามธรรมที่มองไม่เห็นอีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้ และอาจไม่มีวันรู้ได้หมด เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ “ความตาย” ของมนุษย์

แม้ความตายของปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าหรือทำนายแม่นยำแบบสัมบูรณ์ได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะล่วงรู้อะไรไม่ได้เลย เพราะเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขแห่งความตายนั้นมีอยู่ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมของสังคมบางประการทำให้เราทำนายปริมาณของความตายได้ เหมือนแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงา จนกระทั่งเรามองเห็นเงาของตัวเราเองและผู้อื่นได้  เช่นสังคมที่มีคนเมาแล้วขับรถ ย่อมมีคนตายมาก ยิ่งเปิดเสรีของการเมา โอกาสตายก็ยิ่งมาก  สังคมที่ส่งเสริมอบายมุข ปล่อยปละการประพฤติผิดให้ลอยนวล ทอดทิ้งการอบรมบ่มเพาะเยาวชน คิดมุ่งแต่จะร่ำรวย แปลงความจนเงินให้เป็นจนศีลธรรม ฯลฯ ย่อมนำสังคมไปสู่การเบียดเบียนแย่งชิงทำร้ายกัน ก่อเวรก่ออาชญากรรม  หรือสังคมที่วิถีชีวิตทำให้คนเครียดมากจนเป็นมะเร็ง ผู้คนไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกกดขี่ข่มเหงมาก ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้มองเห็นถึง “เงาของความตาย” ได้มาก เพราะเป็นสังคมที่ผู้คน-ผู้ปกครองสร้าง “กรรมร่วม” ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่ความตายของผู้อยู่อาศัยในสังคมนั้นได้มากและโดยง่าย

ในกรณีธรณีพิบัติที่เกิดขึ้น มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นอกจากเพราะขาดอุปกรณ์เตือนภัยเมื่อเกิดเหตุแล้ว ยังเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่ประมาทไม่ใส่ใจคำเตือน ห่วงเงิน (ท่องเที่ยว) มากกว่าห่วงชีวิต ขาดความเคารพธรรมชาติ สร้างที่อยู่อาศัยอย่างประมาท ทำลายกฎหมายและความเป็นธรรมเพื่อทำลายธรรมชาติ  สึนามิเตือนเราว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้ คือเรากำลังเร่งสะสมกรรมร่วมในลักษณะที่ทำให้เงามรณะปรากฏอยู่โดยทั่วไปในสังคม ไม่เว้นคนยากจนหรือร่ำรวย เด็ก-คนชรา ชาย-หญิง ฯลฯ  ในขณะเดียวกัน เราก็ขาดแคลนการสร้าง “ร่มเงา” ของสังคมที่จะช่วยดับเงาแห่งความตายของปัจเจกบุคคลให้น้อยลง ทำให้ความตายที่ควรเป็นไปตามลำดับของธรรมชาติ กลับกระโดดข้ามอายุ ให้เห็นเป็นภาพแห่งความสลดใจไม่รู้จบของสังคม


ภาพประกอบ