“ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย”
นี้คือลักษณะนิสัยของคนไทยในสายตาของสังฆราชปาลเลกัวซ์เมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้ว สังฆราชหรือบิชอปท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า คนไทยไม่ได้มีเมตตากรุณาต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น หากยังเผื่อแผ่ไปยังสัตว์เดรัจฉานด้วยไม่เว้นแม้แต่มดหรือยุง มีคราวหนึ่งท่านสั่งให้คนสวนฆ่าแมงป่องหรืองูที่พบขณะขุดดิน แต่เขากลับปฏิเสธ และพร้อมจะลาออกจากงานโดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่อยากได้ชื่อว่าปาณาติบาตเพราะค่าจ้างขี้ประติ๋วเท่านั้นหรอกครับ”
เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมนมาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗ ลักษณะนิสัยของคนไทยที่เขาพบปะแทบไม่ต่างจากที่สังฆราชปาลเลกัวซ์พรรณนาเลย กล่าวคือ “พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี …….. และความประพฤติชั่วร้ายต่างๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย” ความประพฤติชั่วร้ายที่เขากล่าวถึงนั้นรวมถึงการขายเด็กและการทิ้งเด็กด้วย
คำพรรณนาดังกล่าวนับว่าขัดแย้งอย่างมากกับภาพของคนไทยในวันนี้ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ การฆาตกรรมมิใช่เป็นแค่เรื่องธรรมดา หากยังเป็นของโอชะที่ผู้คนสนใจใฝ่รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองจนสื่อมวลชนต้องแย่งกันนำมาเสนออย่างพิสดาร ในขณะที่การข่มขืน การข่มเหงคะเนงร้าย การค้ามนุษย์ และการวิวาทบาดหมางเกิดขึ้นไปทั่ว
ความรุนแรงกำลังกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทยไปแล้ว มันไม่เพียงปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมที่กระทำต่อกันเท่านั้น หากยังซึมลึกลงไปถึงทัศนคติและวิธีคิดของผู้คน ก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
คนไทยทุกวันนี้โกรธเกลียดกันง่าย เราไม่ได้โกรธเกลียดกันเพียงเพราะผลประโยชน์ขัดกันเท่านั้น หากยังเกลียดชังกันเพียงเพราะคิดต่างกัน ที่น่าสังเกตก็คือบ่อยครั้งเราใช้ “ความเป็นไทย” ในการทำร้ายกัน
เมื่อนักวิชาการผู้หนึ่งเขียนวิทยานิพนธ์ตั้งข้อสงสัยในวีรกรรมของท้าวสุรนารีว่าอาจไม่มีจริงตามที่เชื่อกัน ปรากฏว่าประชาชนในจังหวัดหนึ่งโกรธเกรี้ยวอย่างมากถึงกับชุมนุมประท้วง มีการวางหรีด เผาพริกเผาเกลือและทำพิธีสาปแช่ง อีกทั้งขู่ห้ามไม่ให้นักวิชาการผู้นั้นเข้าจังหวัด เพราะไม่รับรองความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นนักวิชาการผู้น้นยังถูกตั้งคำถามว่า “เป็นลาวหรือเปล่า?”
ต่อมาได้มีนักวิชาการอีกผู้หนึ่งเสนอความเห็นว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หากสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประชาชนในอีกจังหวัดหนึ่งได้แสดงความไม่พอใจด้วยการจัดชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลาง นอกจากโจมตีนักวิชาการผู้นั้นแล้ว ยังมีการทำพิธีสวดยัดสาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือ และที่ขาดไม่ได้ก็คือตั้งคำถามกับนักวิชาการผู้นั้นว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?”
ปฏิกิริยาดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับสมาชิกวุฒิสภาผู้หนึ่งซึ่งเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปในเขตชั้นในของพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากจะถูกตอบโต้ด้วยการชุมนุมประท้วงและโจมตีอย่างรุนแรงโดยประชาชนในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือแล้ว ส.ว.ผู้นั้นยังถูกถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?”
เมื่อเร็วๆ นี้อดีตนักการเมืองผู้หนึ่งซึ่งผันตัวมาเป็นผู้วิจารณ์ข่าวทางโทรทัศน์ ยังตั้งคำถามเดียวกันนี้ต่อประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เนื่องจากท่านได้แสดงความเห็นว่าเมื่อ ๘๐๐ ปีก่อนคนไทยคือคนต่างชาติที่ย้ายมาจากเมืองจีน ขณะที่คนมลายูได้อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูก่อนหน้านั้นนานแล้ว และพูดภาษามลายูก่อนพ่อขุนรามคำแหงสร้างอักษรไทยเสียอีก
น่าแปลกไหมที่ผู้คนมักตั้งคำถามนี้กับคนที่เห็นต่างจากตน แต่กับคนที่เป็นพ่อค้ายาเสพติด หรือนักการเมืองคอร์รัปชั่น กลับไม่เคยมีการถามเลยว่าเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า?
นั่นมิหมายความดอกหรือว่าถ้าเป็นคนไทยแล้ว จะทำชั่วอย่างไรก็ได้ แต่ห้ามคิดต่าง?
หมายความใช่ไหมว่าในความเป็นไทยนั้น มีพื้นที่ให้ทำชั่วได้ แต่ไม่มีพื้นที่ให้คิดต่าง?
ถ้าใช่ก็หมายความว่าหัวใจของความเป็นไทยในเวลานี้อยู่ที่การคิดเหมือนกัน ยิ่งกว่าการให้ความสำคัญกับคุณธรรมความดี
คนไทยทุกวันนี้โกรธเกลียดกันเพียงเพราะคิดต่างกัน ที่น่าสังเกตคือบ่อยครั้งเราใช้ “ความเป็นไทย” ในการทำร้ายกัน
ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่เพียงแต่การคิดต่างเท่านั้น เวลานี้แม้แต่การพูดต่างกันก็อาจถูกมองว่าไม่เป็นคนไทยได้
เมื่อไม่นานมานี้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งได้เรียกประชุมชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านผู้หนึ่งยกมือขอแสดงความคิดเห็น แต่เนื่องจากพูดไทยไม่ถนัด จึงขออนุญาตพูดภาษามลายูท้องถิ่น เพราะเห็นว่ามีล่ามแปล แต่พูดได้ไม่กี่ประโยค ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็ชี้หน้าและพูดสวนขึ้นมาทันทีว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?”
คำถามที่น่าถามมากกว่านั้นก็คือ ระหว่างคนที่พูดไทยไม่ชัดแต่จงรักภักดีต่อบ้านเมือง กับคนที่พูดไทยคล่องแคล่วแต่โกงบ้านกินเมือง ใครเป็นคนไทยมากกว่ากัน?
ถ้าความเป็นไทยอยู่ที่การคิดเหมือนกันหรือพูดภาษาเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องคุณธรรมเลย ย่อมถือว่าเป็นนิยามที่คับแคบมากและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยขาดขันติธรรม ไม่อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง อันจะนำไปสู่การปะทะกันมากขึ้น เพราะสังคมทุกวันนี้มีความหลากหลายเกินกว่าที่จะตีกรอบให้คิดหรือพูดอย่างเดียวกัน
สังคมใดก็ตามจะเข้มแข็งและยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่ผู้คนมีคุณธรรมมากน้อยเพียงใดต่างหาก ถึงแม้จะคิดต่างกัน พูดต่างกัน แต่หากผู้คนมีขันติธรรมและเมตตากรุณาต่อกัน ก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้ ตรงกันข้ามกับสังคมที่ไม่คำนึงถึงคุณธรรม แม้จะคิดเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน แต่จะมีความหมายอะไรหากต่างคนต่างเอาเปรียบกัน ทำร้ายกัน หรือคดโกงบ้านเกิดเมืองนอน
ไม่มีอะไรที่จะยึดโยงผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างแน่นแฟ้นเท่ากับคุณธรรม ด้วยเหตุนี้ในอดีตความเป็นไทยกับคุณธรรมจึงไม่แยกจากกัน เป็นที่ประจักษ์และประทับใจแม้กระทั่งในหมู่ชาวต่างชาติที่นับถือต่างศาสนาและพูดต่างภาษา เพิ่งมายุคนี้เองที่คุณธรรมถูกแยกออกจากความเป็นไทย เมื่อความเป็นไทยถูกนิยามให้แคบลงจนไม่มีพื้นที่ให้กับคุณธรรม คงมีแต่การคิดเหมือนและพูดเหมือนกันเท่านั้นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ จนมาถึงความไม่สงบในภาคใต้ขณะนี้
อย่าปล่อยให้ความเป็นไทยมีความหมายคับแคบดังที่เป็นอยู่ ช่วยกันขยายความเป็นไทยให้ครอบคลุมถึงคุณธรรม โดยรวมเอาขันติธรรมและเมตตาธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยด้วย ความเป็นไทยโดยนัยนี้เท่านั้นที่จะช่วยลดความรุนแรงในสังคมไทยและนำสันติสุขกลับคืนมาไม่เฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น หากยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยรวมทั้งในครอบครัวและวิถีชีวิตของเราด้วย