ปาฐกถานำในการเสวนาระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม เมึอวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมดุสิตพาเลซ กรุงเทพมหานคร
เชื่อกันมานานกว่าร้อยปีในหมู่นักคิดและนักวิชาการในตะวันตกว่า ศาสนาจะสูญหายไปจากโลกนี้ในศตวรรษที่ ๒๐ เพราะไม่อาจต้านทานอำนาจของเหตุผลและวิทยาศาสตร์ได้ แม้จะพบในเวลาต่อมาว่า การคาดคะเนดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่จวบจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็ยังมีความเชื่อในหมู่นักคิดทางสังคมวิทยาจำนวนมากว่า ศาสนาจะหายไปเมื่อศตวรรษที่ ๒๑ มาถึง นักมานุษยวิทยาด้านศาสนาซึ่งมีชื่อเสียงคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวไว้เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วว่า “อนาคตของศาสนากำลังวิวัฒน์ไปสู่ความดับสูญ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติที่ฝืนกับกฎธรรมชาติจะเสื่อมถอยและกลายเป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้นเอง”
แต่มาถึงวันนี้ไม่มีนักคิดนักวิชาการตะวันตกคนใดกล้าทำนายว่าศาสนาจะเสื่อมสูญหรือเสื่อมถอยอีกต่อไป เพราะเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนว่า ในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมาศาสนาได้ฟื้นขึ้นมาแทบทุกมุมโลก และมีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะในชีวิตส่วนตัวของผู้คนเท่านั้น หากยังมีอิทธิพลในทางการเมืองหรือกิจการสาธารณะ ในหลายประเทศ พลังของศาสนาสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาลและระบอบปกครอง หนังสือทางด้านศาสนาติดอันดับขายดีทั่วโลก ขณะที่สัญลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าสูงในตลาด อีกทั้งยังมักถูกนำมาใช้ในการโฆษณาให้กับสินค้าชนิดอื่นๆ มิพักต้องกล่าวว่ายอดเงินบริจาคเพื่อกิจการสาธารณะส่วนใหญ่ยังเป็นเงินบริจาคที่มีจุดประสงค์ทางศาสนา
เช่นเดียวกับอีกหลายศาสนา ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ได้มีการฟื้นตัวและเติบใหญ่ทั้งในประเทศที่รับนับถือศาสนาเหล่านี้มาแต่ดั้งเดิม และในประเทศใหม่ๆ ทางตะวันตก กล่าวได้ว่าการฟื้นตัวและเติบใหญ่ของศาสนาทั้งสอง เป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างขนานใหญ่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การอพยพโยกย้ายเข้าสู่เมือง ความเสื่อมสลายของครอบครัวและชุมชนดั้งเดิม ได้ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และตึงเครียด ขณะเดียวกันค่านิยมอย่างใหม่และการแข่งขันกันทางวัตถุ ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย และว่างเปล่าทางคุณค่า เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ มิพักต้องกล่าวถึงการโถมถั่งของวัฒนธรรมจากตะวันตก ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนกำลังถูกคุกคาม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากกลับมาหาศาสนา ในฐานะเสาหลักหรือที่พึ่งพิงอันจะสร้างความมั่นคงให้แก่จิตใจ
ไม่มีใครเถียงว่า บทบาทดังกล่าวของศาสนาไม่มีความสำคัญ ในฐานะสิ่งพึ่งพิงหรือเสาหลักทางจิตใจ ศาสนาได้ช่วยทำให้ผู้คนมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต มั่นใจในอัตลักษณ์ของตน และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและเป็นสุขพอสมควรท่ามกลางกระแสสังคมอันซับซ้อนและเชี่ยวกราก บทบาทดังกล่าวของศาสนาได้ช่วยลดความทุกข์ในจิตใจของผู้คนจำนวนมหาศาลอย่างที่สถาบันสมัยใหม่แบบโลกๆ ไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ศาสนาไม่ควรจำกัดบทบาทเพียงแค่การสร้างความสงบสุขส่วนบุคคลให้แก่ศาสนิกในศาสนาของตนเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันมีความทุกข์มากมายเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ซึ่งมิใช่แค่ความทุกข์ทางใจอันเนื่องจากความว้าเหว่ โดดเดี่ยว ขาดจุดหมายในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นความทุกข์เพราะยากจนข้นแค้น ขาดปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิต ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้เนื่องจากถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งโดยตัวบุคคล และโดยโครงสร้าง เช่น ถูกกดค่าแรง ถูกกดราคาพืชผล ทรัพยากรสาธารณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ (เช่น ป่า ที่ดิน น้ำ) ถูกแย่งชิง รวมไปถึงการจัดสรรบริการของรัฐและการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมือง เช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรวมตัว สิทธิในการชุมนุมประท้วง รวมทั้งสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นสิทธิที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตน
สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างไม่เคยมีมาก่อน และดำรงอยู่ท่ามกลางความฟุ้งเฟ้อร่ำรวยอย่างมหาศาลของคนจำนวนน้อย นี้คือความอยุติธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ความอยุติธรรมดังกล่าวโดยตัวมันเองต้องถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ผู้คนนับล้านๆ ต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากความยากจน ความหิวโหย และโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันความอยุติธรรมดังกล่าวยังผลักดันให้ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วง ซึ่งมักลงเอยด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการสังหารหรือทารุณกรรมต่อผู้นำการชุมนุม และหากความอยุติธรรมยังดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อแล้ว ในที่สุด การก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังอาวุธย่อมเป็นทางออกของผู้ถูกกระทำ ดังเกิดขึ้นในศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น
ความอยุติธรรมและความรุนแรง คือสภาพความเป็นจริงที่ประจักษ์แก่ชาวพุทธและมุสลิมในหลายประเทศในเอเชีย และปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพความเป็นจริงดังกล่าวคือสิ่งที่สวนทางกับหลักการของทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ทั้งสองศาสนากำเนิดขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสงบสุข โดยเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต และตระหนักถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของทุกชีวิต ทั้งสองศาสนามิได้สอนให้เราแสวงหาความสุขเฉพาะตน แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้มีความสุขด้วย “ผู้อื่น” ในที่นี้มิได้หมายถึงครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือมิตรสหายเท่านั้น หากควรรวมถึงผู้คนทั้งหลายในสังคม ด้วยเหตุนี้การขจัดความอยุติธรรมและความรุนแรง เพื่อฟื้นฟูความยุติธรรมและสันติภาพขึ้นในสังคม จึงเป็นภารกิจที่ชาวพุทธและมุสลิมมิอาจละเลยได้
ในการสร้างความยุติธรรมและสันติภาพในสังคม ศาสนิกมีภารกิจ ๒ ด้าน ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกว่า “ภารกิจภายนอก” กับ “ภารกิจภายใน”
ภารกิจภายนอก หมายถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งมีความหมายมากกว่ากิจกรรมที่เป็นความสัมพันท์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล หากรวมไปถึงปฏิบัติการในทางการเมืองด้วย ความยุติธรรมและสันติภาพ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคลต่อบุคคล เช่น ให้ทาน ดูแลรักษาพยาบาล หรือกิจกรรมเชิงสังคมสงเคราะห์เท่านั้น หากจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบหรือโครงสร้างที่เป็นต้นตอแห่งความอยุติธรรมและความรุนแรงในสังคมด้วย เช่น ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนหรือชุมชนท้องถิ่น เพื่อมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อตนเอง ทำให้ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยและมีความโปร่งใสมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกัน มีการปฏิรูปที่ดิน และระบบภาษีที่ก้าวหน้าเป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือช่วยกันขจัดโครงสร้างแห่งความรุนแรง และสถาปนาโครงสร้างที่เป็นธรรมและสันติ
ที่แล้วมาศาสนิกมักจะมองปัญหาในสังคมว่าเกิดจากความบกพร่องส่วนบุคคล เช่น ผู้นำที่ฉ้อฉล หรือชาวบ้านขี้เกียจ ติดอบายมุข ดังนั้นจึงมักคิดแก้ไขที่ตัวบุคคล เช่น เรียกร้องคนดีมาเป็นผู้นำ หรือเทศนาสั่งสอนให้ชาวบ้านขยัน เลิกละอบายมุข รวมทั้งให้การสงเคราะห์เป็นรายบุคคล การกระทำดังกล่าวแม้จะจำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอ หากควรมองไปถึงการแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้าง ซึ่งก็ไม่ควรจำกัดแค่การออกกฎหมายต่อต้านอบายมุขหรือคอรัปชั่นเท่านั้น เพราะปัญหาความทุกข์ยากของผู้คนนั้นมีมากกว่าเรื่องอบายมุขและคอรัปชั่น อีกทั้งลำพังกฎหมายเองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากโครงสร้างหรือระบบส่วนอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน
จะทำเช่นนั้นได้ศาสนิกจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม การมองปัญหาสังคมโดยใช้วิธีการเดียวกับการแก้ปัญหาครอบครัวหรือหมู่บ้าน ซึ่งเน้นที่การแก้ที่ตัวบุคคลนั้น ย่อมไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหาสังคมและเห็นทางออกที่ถูกต้องได้
ส่วนภารกิจประการที่สองคือ ภารกิจภายใน นั้น หมายถึง การทำความเข้าใจและปฏับัติตามคำสอนของศาสนา จนเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตน ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเปิดใจกว้างต่อเพื่อนมนุษย์ หาไม่แล้วศาสนิกจะหลงติดอยู่กับรูปแบบ พิธีกรรมและสัญลักษณ์ของศาสนาตน ซึ่งเป็นความคับแคบอย่างหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคทั้งต่อการพัฒนาตนและต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่พึงปรารถนา
บ่อยครั้งเราจะพบว่าขบวนการทางศาสนาสนใจเรียกร้องแต่เรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับศาสนาของตนเท่านั้น เช่น การเรียกร้องให้มีกระทรวงดูแลศาสนาของตนโดยเฉพาะ หรือการเรียกร้องสถานะหรือสิทธิพิเศษให้แก่ศาสนาของตน กลายเป็นว่าขบวนการทางศาสนากลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ต่างจากสมาคมนักธุรกิจ หรือสภาหอการค้า ทั้งๆ ที่ศาสนาน่าจะส่งเสริมคุณค่าที่สากลและคำนึงถึงประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ โดยไม่จำแนกแยกแยะ
ทั้งศาสนาพุทธและมุสลิม ล้วนตระหนักถึงเอกภาพของมนุษยชาติ มองมนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องหรือเพื่อนร่วมโลก การเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตน ย่อมช่วยเปิดใจให้ศาสนิกทั้งพุทธและมุสลิมตระหนักถึงสายสัมพันธ์ดังกล่าว และมีเมตตาต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา แต่บ่อยครั้งเรากลับพบว่าศาสนิกทั้งพุทธและมุสลิมจำนวนไม่น้อย มองเพื่อนมนุษย์โดยอาศัยศาสนา เชื้อชาติ ภาษา เป็นเครื่องแบ่งแยก จนไม่เพียงเกิดความรู้สึกเป็น “เรา” และ “เขา” เท่านั้น หากยังเกิดความรู้สึกเมินเฉย และไม่อนาทรต่อกัน จนถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
มุมมองดังกล่าวย่อมมีผลต่อการสร้างความยุติธรรมและสันติภาพในสังคม เพราะทำให้ศาสนิกคำนึงแต่ความยุติธรรมและสันติสุขเฉพาะที่เกี่ยวกับเพื่อนร่วมศาสนาตนเท่านั้น แต่ไม่สนใจ (หรือมองไม่เห็น) เมื่อความอยุติธรรมหรือความรุนแรงเกิดขึ้นกับเพื่อนต่างศาสนา เมื่อปีที่แล้วชาวพุทธไทยทั้งประเทศตื่นตะลึงและโกรธแค้นเมื่อพระเณรในวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดปัตตานีถูกฆ่า และบางส่วนของวัดถูกเผา พระพุทธรูปถูกทำลาย แต่กลับไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจเมื่อผู้ประท้วงชาวมุสลิมจำนวนเกือบ ๘๐ คนตายเพราะถูกวางทับซ้อนกันบนรถระหว่างถูกนำส่งไปคุมขังที่ค่ายทหารในจังหวัดเดียวกัน ในทำนองเดียวกันชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยก็ดูจะมีท่าทีไม่ต่างจากชาวพุทธที่กล่าวมา ในที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ข้าพเจ้าได้เสนอแนะให้ผู้นำชาวมุสลิมซึ่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยกัน เปิดแถลงข่าวประณามผู้ที่ฆ่าพระเณร (ในกรณีที่เพิ่งกล่าวถึง) ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม แต่ผู้นำชาวมุสลิมเหล่านั้นกลับปฏิเสธ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะเกรงว่าจะทำให้ตนมีปัญหากับชาวมุสลิมในพื้นที่ของตัว
ความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราในหมู่ศาสนิกชน ยังมีผลต่อสำนึกในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพในแง่ที่ว่า ศาสนิกมีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นความอยุติธรรม หากผู้ก่อการนั้นนับถือศาสนาเดียวกับตัว แต่จะมองเห็นความอยุติธรรมเด่นชัด เมื่อผู้ก่อการนั้นนับถือคนละศาสนากับตัว เมื่อพระรูปหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของข้าพเจ้าถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดด้วยมีดที่ภาคเหนือของไทย กลับได้รับความสนใจน้อยมากในหมู่ชาวพุทธทั่วประเทศ เหตุผลหนึ่งก็เพราะฆาตกรดูเหมือนว่าจะเป็นชาวพุทธด้วยกัน แต่จะตื่นตัวและโกรธแค้นเมื่อพระเณรถูกฆ่าโดยชาวมุสลิม ในทำนองเดียวกันเมื่อชาวสุหนี่วางระเบิดทำลายสุเหร่าของชาวชีอะห์ในอิรักช่วงเทศกาลรอมะดอนเมื่อปีที่แล้ว (และยังมีอีกหลายครั้งตามมา) แทบไม่มีชาวสุหนี่ในประเทศใด (รวมทั้งในประเทศไทย) ลุกขึ้นมากล่าวประณามการกระทำดังกล่าว แต่เสียงประณามจะแผดดังทันทีจากชาวมุสลิมหากปรากฏว่าชาวมุสลิมไม่ว่าสุหนี่หรือชีอะห์ ถูกฆ่าโดยทหารอเมริกัน
ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาของตนไม่ว่าชาวพุทธหรือมุสลิม ย่อมไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้หากว่ามนุษย์คนใดคนหนึ่งถูกทำร้ายในลักษณะนั้น ไม่ว่าคนนั้นจะนับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือเลยก็ตาม เพราะศาสนาย่อมยกระดับจิตใจของเราให้ข้ามพ้นเส้นแบ่งทั้งปวงที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ศาสนาไม่ว่าพุทธหรืออิสลามย่อมเปิดใจให้เราเห็นความจริงว่า เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะเป็นชาวพุทธ หรือชาวมุสลิม และก่อนที่จะเป็นชาวไทย ชาวมาเลเซีย ชาวอินโดนีเซีย ชาวสิงหล หรือชาวทมิฬ ฯลฯ
ศาสนานั้นเป็นพลังในทางความยุติธรรมและสันติภาพได้ ก็เพราะเปลี่ยนแปลงมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนเกิดเมตตา กรุณา ต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย โดยไม่ปล่อยให้อัตลักษณ์ (หรือ “ยี่ห้อ”) ทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา อุดมการณ์ มาเป็นเครื่องกีดขวางมนุษย์ออกจากกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่อาจเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา แต่หลงติดอยู่กับสัญลักษณ์ รูปแบบ พิธีกรรม ทางศาสนาแล้ว ศาสนาก็สามารถกลายเป็นอุปสรรคในการสถาปนาความยุติธรรมและสันติภาพได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนาเกือบทุกศาสนาทุกวันนี้ รวมทั้งศาสนาพุทธและอิสลามกำลังถูกใช้เป็นแรงกระตุ้นให้ทำร้ายผู้อื่นในนามของความดีและสิ่งสูงสุด ดังเห็นได้จากสงครามระหว่างศาสนิกต่างศาสนา ในอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงไอร์แลนด์เหนือ ที่น่าสนใจก็คือศาสนิกที่จับอาวุธทำร้ายกันนั้น ถือว่าตนปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด
คนที่กล้าสละชีวิตตนเองด้วยความเต็มใจนั้น ย่อมต้องมีแรงบันดาลใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง สำหรับคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก แรงบันดาลใจของเขาได้มาจากศาสนา สิ่งที่น่าวิตกก็คือทุกวันนี้ศาสนาสามารถบันดาลใจให้ผู้คนยอมตายเพื่อปลิดชีวิตผู้อื่นได้ แต่ดูเหมือนจะไร้พลังในการบันดาลใจให้ผู้คนยอมสละชีพเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น
ศาสนานั้นควรเป็นพลังในทางสันติภาพ แต่พลังดังกล่าวกำลังอ่อนแรง เมื่อทั่วโลกลุกขึ้นมาประท้วงคัดค้านสหรัฐมิให้ส่งกำลังทหารไปทำสงครามในอิรักเมื่อปี ๒๕๔๖ ปรากฏว่าองค์กรที่เป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวนั้นส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่มิใช่ศาสนา
เมื่ออิสราเอลส่งทหารปิดล้อมเมืองรามุลเลาะในปาเลสไตน์เมื่อปี ๒๕๔๕ ผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีผู้คนจากหลายประเทศเล็ดรอดเข้าไปเมืองเพื่อเอาตัวเข้าไปขวางกั้นทหารและรถถังของอิสราเอล โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่หาได้ประกาศตนเป็นศาสนิกในศาสนาใดไม่
ศาสนิกที่ทำงานเพื่อสันติภาพนั้นมีอยู่ แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ที่นิยมกระทำกันคือการประชุมเพื่อสันติภาพ ตรงข้ามกับศาสนิกที่ใช้ความรุนแรง ฝ่ายหลังนั้นพร้อมที่จะตาย แต่เป็นการตายเพื่อฆ่าผู้อื่น
คำถามที่น่าคิดก็คือ ทุกวันนี้ศาสนาพุทธและอิสลามยังสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนสามารถสละชีวิตเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่นได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยเป็นพลังบันดาลใจให้ต่อสู้อย่างไม่กลัวอันตรายด้วยสันติวิธี ทั้งนี้เพื่อสันติภาพและความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรืออุดมการณ์ แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากการไม่มองศาสนิกต่างศาสนาว่า เป็น “ผู้อื่น” หรือ “พวกมัน”
ข้าพเจ้าคิดว่านี้เป็นสิ่งท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับชาวพุทธและมุลิมที่เชื่อในความยุติธรรมและสันติภาพ
การศึกษาและปฏิบัติจนเข้าถึงแก่นแท้ในศาสนาของตน ไม่เพียงแต่จะปลดปล่อยเราไม่ให้หลงติดกับอัตลักษณ์ต่างๆ จนกลายเป็นเครื่องแบ่งมนุษย์แล้ว ยังจะช่วยให้เราไม่หลงติดกับศาสนาหรือนิกายของตน จนเห็นว่าศาสนาของตนประเสริฐที่สุด ส่วนศาสนาอื่นหรือนิกายอื่นนั้นต่ำต้อย ล้าหลัง ความหลงติดเช่นนี้ได้เป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงและโศกนาฏกรรมนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ แม้แต่ศาสนาพุทธเองก็เคยผิดพลาดเช่นนี้มาแล้ว เมื่อรัฐบาลทหารญี่ปุ่นรุกรานจีน เกาหลี และแมนจูเรียเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว ผู้นำชาวพุทธต่างแซ่ซร้องสรรเสริญ ถึงกับเรียกว่าสงครามรุกรานดังกล่าวว่าเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์อันกอปรด้วยจริยาวัตรอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์” ทั้งนี้เพราะผู้นำชาวพุทธญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าพุทธศาสนาในสองประเทศนั้นอยู่ในภาวะล้าหลังตกต่ำ ในขณะที่พุทธศาสนาในญี่ปุ่นเป็นพุทธศาสนาที่แท้ จึงเป็นหน้าที่ของญี่ปุ่นที่จะต้องนำพุทธศาสนาที่แท้ไปให้แก่จีน เกาหลี และอินเดีย ซึ่งอาจรวมถึงการ “เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์”
ไม่ใช่พุทธศาสนาเท่านั้นที่เคยก่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว ศาสนาอื่นก็ก่อความผิดพลาดทำนองนี้มาไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ก็เพราะความหลงยึดติดในศาสนาของตน จนขาดเมตตาต่อศาสนาอื่น อันนำไปสู่การกระทำที่สวนทางกับคำสอนในศาสนาของตน กลายเป็นว่าแทนที่จะช่วยสร้างสรรค์ กลับเป็นการทำลายศาสนาของตน
นี้คือบทเรียนของชาวพุทธและมุสลิม ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งท้าทายศาสนิกทั้งสองว่าจะป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดดังกล่าวขึ้นอีกได้อย่างไร
ชาวพุทธและมุสลิมนอกจากจะมีเมตตาและความใจกว้างพอที่จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยอาศัยศาสนาเป็นข้ออ้างแล้ว ยังควรมีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงขึ้นในนามของศาสนาด้วย เราต้องไม่ลืมว่าเมื่อใดก็ตามที่มีประหัตประหารผู้คนจนสูญเสียชีวิตนับพันหรือนับหมื่นในดินแดนที่มีศาสนาหยั่งรากลึกนั้น มองในแง่หนึ่งย่อมถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของของศาสนาเลยทีเดียว เพราะทุกศาสนาล้วนปฏิเสธความรุนแรง และส่งเสริมเมตตาธรรม ลำพังการที่ศาสนาไม่สามารถป้องกันความรุนแรงได้ ก็เป็นเรื่องน่าวิตกอยู่แล้ว เพราะนั่นหมายถึงการขาดพลังในทางสันติธรรม ยิ่งหากศาสนาเข้าไปมีส่วนในการกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงด้วยแล้ว ก็ยิ่งเท่ากับเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสื่อมถอยหรือความล้มละลายในทางศีลธรรมของศาสนาเลยทีเดียว
มองในแง่นี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเวลานี้ รวมทั้งในประเทศไทย ชาวพุทธและชาวมุสลิมจึงล้วนมีส่วนรับผิดชอบอย่างยากจะปฏิเสธได้ เพราะนอกจากจะไม่สามารถระงับหรือบรรเทาความรุนแรงได้แล้ว บางครั้งยังปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในนามศาสนา หรือปล่อยให้มีการใช้ศาสนาเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรง แม้ว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงเหล่านั้นจะเป็นคนส่วนน้อยนิดก็ตาม
จริงอยู่ผู้นำศาสนาและศาสนิกส่วนใหญ่ อาจไม่เชื่อและไม่สนับสนุนความรุนแรง แต่การอยู่นิ่งเฉยก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อยนิดซึ่งนิยมความรุนแรงสามารถเข้ามายึดครองหรือแย่งชิงศาสนาไปใช้ประโยชน์ตามใจชอบ และนี่คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับศาสนาต่างๆ ทั่วโลก และเป็นเงื่อนไขแห่งความรุนแรงในหลายมุมโลกทุกวันนี้
ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากที่ชาวพุทธและชาวมุสลิมจะต้องร่วมมือกันในการยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยอาศัยศาสนาเป็นข้ออ้าง อย่างน้อยควรร่วมกันประณามการสังหารประชาชนหรือศาสนิกต่างศาสนา โดยไม่หวั่นกลัวอันตรายหรือภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธหรือศาสนิกหัวรุนแรง ขณะเดียวกันควรร่วมมือกันปกป้องสถาบันศาสนาและศาสนสถาน ตลอดจนปกป้องพระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู ฯลฯ จากเหตุร้าย หรือการประทุษร้ายใดๆ นอกจากนั้นควรร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้ศาสนิกทั้งหลายยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักเมตตาธรรมและขันติธรรมในศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในภราดรภาพของมนุษยชาติ และคุณค่าของชีวิต ตลอดจนปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
จริงอยู่การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการสวนทางกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งศาสนิกชนส่วนข้างมาก ซึ่งต้องการให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดังนั้นจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยความกล้าหาญและความมั่นคงทางศาสนธรรม เพราะเหตุนี้เองเราจึงจำต้องปฏิบัติตนจนเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา การเข้าถึงอุดมคติอันสูงส่งทางศาสนา จะเป็นพลังบันดาลใจให้เรากล้าทวนกระแสสังคม เราจะไม่คลอนแคลนเมื่อเผชิญกับการต่อต้านจากผู้คนหรือศาสนิกร่วมศาสนา เพราะชีวิตจิตใจของเราแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันศาสนธรรมหรือความจริงขั้นสูงสุด
ประเด็นสุดท้ายที่อยากนำเสนอในที่นี้ก็คือ ควรส่งเสริมให้มีการร่วมือและสานสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกต่างศาสนา การร่วมกันประณามความรุนแรงที่ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง ควรเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการร่วมมือที่ขยายกว้างออกไประหว่างศาสนิกต่างศาสนา ในด้านหนึ่งควรมีการร่วมมือระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทางที่ยุติธรรมและมีสันติมากขึ้น ไม่ควรลืมไปว่า ความรุนแรงนั้นมิได้หมายถึงการทำร้ายกันระหว่างบุคคลจนเลือกตกยางออกเท่านั้น หากยังรวมถึงการเอาเปรียบและตัดรอนโอกาสที่จะเข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อชีวิต เช่น ปัจจัยสี่ การศึกษา การสาธารณสุข ที่แล้วมาชาวพุทธและชาวมุสลิมยังร่วมมือน้อยไปในเรื่องนี้ เพราะมัวสนใจแต่ประเด็นที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของชุมชนของตนเท่านั้น
นอกจากการร่วมมือเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพแล้ว การร่วมมือกันในประเด็นสาธารณะอื่นๆ รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะช่วยเป็นสะพานสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา อันจะเป็นการลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงระหว่างศาสนา ปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่เข้าใจกันถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างศาสนิกต่างศาสนานั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งได้แก่ การมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น ดังนั้นจึงรับรู้เรื่องราวของกันและกันผ่านสื่อหรือคำบอกเล่า ซึ่งอาจมีการต่อเติมเสริมแต่ง ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกต่างศาสนา สามารถทำได้ด้วยการจัดให้มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนา การร่วมเทศกาลทางศาสนา การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม การจัดมหกรรมกีฬา ทั้งนี้โดยคำนึงถึงธรรมเนียมปฏิบัติของทั้งสองศาสนาด้วย
แต่ที่ท้าทายยิ่งกว่านั้นก็คือการเปิดใจเรียนรู้จากกันและกัน โดยเฉพาะในด้านหลักธรรม ความเชื่อ และการปฏิบัติ ในฐานะชาวพุทธ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราสามารถเรียนจากชาวมุสลิมได้อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องสำนึกทางด้านความยุติธรรมและการสร้างชุมชนที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยศาสนา ทำให้ชุมชนทางโลกและชุมชนทางศาสนามิใช่สิ่งที่แยกออกจากกัน และทำให้ศาสนายังมีพลังอย่างน้อยในระดับชุมชน ขณะเดียวกันข้าพเจ้าเชื่อว่า จุดเด่นของศาสนาพุทธ ในเรื่องของเมตตาธรรม ความใจกว้าง และการตระหนักถึง interdependence ของสรรพชีวิต รวมทั้งหลักความเป็นเหตุปัจจัยกันของสรรพสิ่ง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวมุสลิมไม่มากก็น้อย
ด้วยการสานเสวนา (dialogue) อย่างสม่ำเสมอ และด้วยการเปิดใจกว้างต่อกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าชาวพุทธและชาวมุสลิม จะเข้าใจกันดีขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเห็นว่าเรามีความเหมือนมากกว่าความต่าง และความต่างที่มีอยู่ก็มิใช่เหตุผลให้เราแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันต่อไป
ความยุติธรรมและสันติภาพย่อมเกิดขึ้นได้ยากตราบใดที่เราไม่สามารถมองทะลุ “ยี่ห้อ” (ทั้งของเราและของคนอื่น) จนสามารถแลเห็นความเป็นมนุษย์ที่ผูกโยงเราทุกคนไว้อย่างแนบแน่น ศาสนาทั้งหลายมีขึ้นเพื่อให้เราตระหนักถึงความจริงอันเป็นสากลข้อนี้ และด้วยเหตุนี้เราจึงควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ใช่หรือไม่ว่านี้คือสิ่งที่จะช่วยให้พันธกิจต่อสิ่งสูงสุดในศาสนาของเรามีความครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น