ไม่รับคำด่า

ซังเซม โซสัง 15 มีนาคม 2015

“ขับรถหัวกล้วย อ้ายสลัด!”

เสียงกระเป๋ารถเมล์สายประจำเปิดประตูตะโกนด่ารถเมล์สายเดียวกันอีกคันหนึ่ง ปลุกผมให้ลืมตาขึ้นจากการหลับ

ด้วยระยะทางกว่าจะถึงที่หมายยังอีกไกล ผมจึงใช้เวลางีบพักใหญ่ๆ ได้บนรถ  อันที่จริงผมชินเสียแล้วกับเหตุการณ์แบบนี้ รถร่วมฯ ขับแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสาร ถึงขนาดแซงกันจนชนผมก็เคยอยู่ในเหตุการณ์  นี่คือสาธารณูปโภคพื้นฐานในบ้านเราที่ผู้คนจำใจต้องใช้บริการ จะแก้ให้ดีได้คงต้องว่ากันในระยะยาว หรือยาวมาก

อย่างไรก็ตาม ต่อคำที่กระเป๋ารถเมล์คันที่ผมนั่งได้ด่าทอออกไป ผมแอบสังเกตเห็นว่าคนขับรถเมล์คู่กรณีอีกคันไม่ได้แยแสสนใจอะไรเลย ดูท่าเสียงการจราจรบนท้องถนนจะกลบเสียงด่าไปหมด  สรุปแล้วก็มีแต่คนในรถคันเรานี่ล่ะ ที่ได้ยินมธุรสวาจากันไปเต็มสองหู

ถ้อยคำด่าทอนั้นแม้เป็นเพียงการเปล่งเสียงจากลำคอ สะกดคำออกมาจากลิ้นและริมฝีปาก สั่นสะเทือนเป็นคลื่นเสียงเข้าสู่โสตประสาท แต่ไฉนหลายครั้งจึงทำให้เราเจ็บลึกถึงใจนัก  ในขณะที่ อย่างกรณีที่ผมได้ยินคำด่าของกระเป๋ารถเมล์ ผมกลับไม่รู้สึกรู้สาอะไร  คำถามนี้ตอบง่ายๆ ตรงๆ ตามประสาปุถุชนว่า ก็เพราะเขาไม่ได้ด่าเรา(กู)

ในพระสูตรชื่อ อักโกสกสูตร

เป็นตัวอย่างที่นิยมยกมาอ้างถึงการที่พระพุทธองค์ทรงไม่รับคำด่าของพราหมณ์อักโกสกะ

ความว่า ตาพราหมณ์ผู้นี้แกทราบว่าพระพุทธเจ้าได้ทำการบวชให้กับญาติของแก แกจึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เดินทางมาพบพระพุทธองค์เพื่อด่าบริภาษพระพุทธองค์ด้วยถ้อยคำต่างๆ  เมื่อปล่อยให้ตาพราหมณ์ด่าจนเสร็จ (คงจะด่าจนเหนื่อย) แล้ว พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พราหมณ์ว่า…

ดูกรพราหมณ์ ท่านมีญาติมิตร แขกเหรื่อ มาเยี่ยมบ้างไหม?

ตาพราหมณ์ตอบว่า… ก็มีมาเยี่ยมบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อว่า… แล้วเวลาเขามาเยี่ยม ท่านจัดเตรียมของกินของดื่มให้เขาไหม?

ตาพราหมณ์ตอบว่า… ก็จัดให้เป็นบางครั้งบางคราว

พระพุทธองค์ทรงถามอีกว่า… แล้วถ้าญาติมิตร แขกเหรื่อเหล่านั้นไม่รับของกินของดื่มที่ท่านจัดไว้ให้ ของนั้นจะเป็นของใคร?

ตาพราหมณ์ตอบว่า… ถ้าพวกเขาไม่รับ ของเหล่านั้นก็เป็นของข้าอย่างเดิม

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า… ดูกรพราหมณ์ เช่นเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่  เราไม่รับการด่าของท่าน การด่าของท่านก็เป็นของท่านผู้เดียว

และยังทรงตรัสต่อไปว่า… ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบคนที่ด่าอยู่ โกรธตอบคนที่โกรธอยู่ หมายมั่นตอบคนที่หมายมั่นอยู่ เรากล่าวว่า เขาย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน  แต่เราไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบร่วมกับท่าน การด่าของท่านก็เป็นของท่านผู้เดียว

เจอแบบนี้เข้าไป ตาอักโกสกพราหมณ์ก็เงิบเป็นธรรมดาสิครับ สุดท้ายแล้วแกก็สำนึกได้และขอบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา

แต่ปุถุชนอย่างเราๆ คงยังไม่สามารถทำลายอัตตาหมดสิ้นได้อย่างพระพุทธองค์ท่าน  ปุถุชนอย่างเราๆ จึงไม่เจ็บอะไรเวลาที่เขาไม่ได้ด่าเรา(กู) แต่ถ้าเขามาด่าเราเมื่อไหร่ ล่ะก็… “เดี๋ยวมึงเจอกู” (ฮ่า)

ก็ในสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่สะดวกสบายนี้เอง เราอาจคิดว่าเราเป็นคนใจดีมีเมตตา ใครมาด่าฉันฉันจะยิ้มให้ได้  แต่พอตกอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์อันอึดอัดขัดข้องจริงๆ บางที ฉันผู้ใจดีมีเมตตานี่แหละที่ลุกขึ้นมาคว้าอะไรก็ได้ใกล้ตัว ฟาดใส่ศีรษะคนที่มาด่าเสียแล้ว

ยิ่งในชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเมืองที่ต้องออกไปทำงาน ขับรถฝ่าการจราจรอันติดขัด แถมด้วยเพื่อนร่วมทางที่คอยเบียดคอยแทรกอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันบนท้องถนนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายนัก

ถ้อยคำด่าทอ หลายครั้งมันทำให้เราเจ็บลึกถึงใจ แต่หลายครั้งเรากลับไม่รู้สึกอะไร คำตอบง่ายๆ คือ “ก็เขาไม่ได้ด่ากู”

ดังนั้น ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา เราต้องรู้จักอุบายเล็กๆ น้อยๆ

เพื่อประคับประคองใจของเรา เวลาที่มีคนมาด่า มาโกรธ มานินทาว่าร้ายเรา

บางครั้งอาจจะด้วยการข่มจิตใจ

บางครั้งอาจด้วยการเบี่ยงเบนจิตใจตนเองไปเรื่องอื่น

บางครั้งอาจจะด้วยการแผ่เมตตา

บางครั้งอาจจะด้วยการมีสติระลึกความโกรธหรือความคิดนึกที่อาจเกิดขึ้นมาในใจของเราเอง

จนกว่าเราจะละวางตัวตน ทำลายความหลงผิดที่คิดว่ามีอัตตาของเราจนหมดสิ้นแล้วนั่นแหละ

ฟังดูเหมือนยากนะครับ แต่ไม่ยากนักหรอกหากค่อยๆ ทำไปจนกลายเป็นนิสัย

พระอาจารย์เซิ่งเอี๋ยน พระเถระรูปสำคัญแห่งพุทธศาสนานิกายฉาน (เซ็น) ในไต้หวัน ท่านสอนไว้อย่างร่วมสมัยว่า จงเป็นเหมือนกระดานซับเสียง (Sound Absorbing Board) กล่าวคือ เมื่อเสียงมากระทบกับกระดานซับเสียง เสียงจะหายไปเองโดยธรรมชาติ

เช่นเดียวกัน เมื่อมีคนมาด่าหรือแม้แต่มาชมเรา จงเพียงแค่ “รู้” อย่างชัดแจ้งต่อเสียงนั้น โดยไม่ตั้งชื่อ ไม่ให้ค่า ไม่แบ่งแยก ไม่แสวงหา ไม่ไล่ตาม ไม่ตอกย้ำ และไม่ปล่อยให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ เกิดขึ้น  ดังนี้เอง เราก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกอันวุ่นวายโกลาหลอย่างไม่ตึงเครียดกดดัน เราจะมีชีวิตอย่างเป็นอิสระและสุขสบาย

ทั้งหมดนี้เอง คือ วิธีไม่รับคำด่า หรืออย่างน้อยก็รับมาแต่สูญสลายมันเสีย ด้วยการ “รู้” และ “วาง” อย่างเท่าทัน

ท่านอาจนำไปทดลองใช้ในชีวิตประจำวันดูนะครับ เพราะชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญปัญหานานาประการนี่แหละ คือมรรคาอันนำเราไปสู่ความสงบสันติได้โดยแท้จริง หากเราสามารถประสานมันเข้ากับการฝึกตนเองได้อย่างแนบแน่นในทุกขณะ …ดีขึ้นวันละ 0.001 เปอร์เซ็นต์ ก็เยี่ยมแล้วครับ