“ความตายจะให้อิสรภาพกับคุณ แต่มันต้องทำให้คุณอารมณ์เสียก่อนนะ”
กลอเรีย สไตเนม (1934) นักกิจกรรมสังคมชาวอเมริกัน กล่าวไว้อย่างน่าขัน
ก็จริงนั่นแหละ เมื่อพูดถึงความตายแล้ว ก็มีเรื่องให้น่าอารมณ์เสียตั้งหลายเรื่อง ลำพังการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดก็อาจทำให้หลายคนอารมณ์ไม่ดี เพราะความตายถูกผูกโยงกับความไม่แน่นอน ความพลัดพรากสูญเสีย หากพูดอย่างไม่ถูกกาลเทศะก็อาจถูกรังเกียจขึ้นมาได้
ทว่าความตายที่หวือหวาในจอทีวีหรือหนังสือพิมพ์ ก็ยังไม่น่าอารมณ์เสียเท่ากับการตายที่เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาลทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยในห้อง ICU ที่มักต้องอยู่ในเครื่องมือช่วยชีวิตต่างๆ ที่เข้ามาสอด แทง แยง แหย่ ร่างกายของผู้ป่วยด้วยความทุกข์ทรมาน น้อยรายนักที่มีโอกาสหายขาดและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ที่น่าอารมณ์เสียมากขึ้นไปอีกก็คือ พวกเราทุกคนในเมืองใหญ่ (รวมถึงผมด้วย) มีโอกาสมากเสียด้วยที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกันนี้
คุณหมอปีเตอร์ ซาอูล (Peter Saul) แพทย์ผู้มีประสบการณ์ทำงานในห้อง ICU กว่าหลายสิบปีในโรงพยาบาลจอห์น ฮันเตอร์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวไว้ในรายการ Ted Talks ว่า รูปแบบการตายของมนุษย์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก จากเดิมที่มนุษย์มักตายอย่างฉับพลัน (ถูกสัตว์ทำร้าย โรคระบาด) ก็เปลี่ยนมาตายใน 2 รูปแบบ คือ 1) ระบบอวัยวะในร่างกายค่อยๆ เสื่อมสลาย (ไตเสื่อม สมองเสื่อม หัวใจเสื่อม หรือมะเร็ง) หรือ 2) ตายด้วยภาวะทุพลภาพ (แม้ว่าอวัยวะจะไม่เสียหาย แต่ก็เสื่อมสมรรถภาพจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้)
ห้อง ICU จากเดิมที่เคยช่วยชีวิตคนได้มากจากการตายแบบเฉียบพลันให้พ้นภาวะวิกฤติแล้วก็กลับมาเดินเหินได้ตามปกติ ก็กลับแทนที่ด้วยการช่วยชีวิตผู้ป่วยอวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ หรือผู้สูงอายุที่ประสบภาวะทุพพลภาพ ปัญหาคือ ถึงอย่างไรห้อง ICU ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากการเสื่อมสภาพของอวัยวะหรือทุพพลภาพได้อย่างถาวร แต่กลับ “ยืดเยื้อความตายให้นานยิ่งขึ้น” หมายความว่าผู้ป่วยต้องประสบความทุกข์ทรมานมากขึ้น อยู่ในภาวะที่ด้อยคุณค่าในตัวเองนานขึ้น ผู้ดูแลต้องให้การดูแลนานขึ้น สังคมสูญเสียทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่อาจหายขาดได้มากขึ้น
การเสียชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีกลายเป็นรูปแบบการตายของคนสมัยใหม่ ทำให้คนในเมืองที่ยิ่งมีความเจริญมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตในห้อง ICU มากขึ้นตามไปด้วย (อัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และ 3 ใน 5 ที่ไมอามี่) นอกจากนี้การตายในห้อง ICU ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเครียดมากกว่าการตายในที่อื่นๆ ถึง 7 เท่า
“เราทุกคนต้องตาย” แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “เราตายอย่างไร” ความตายไม่ได้ส่งผลเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนใกล้ชิดอีกด้วย เป็นเรื่องจริงที่ว่าความเครียด ความเจ็บปวด หรือแม้กระทั่งความสุข จะประทับและดำรงอยู่ในจิตใจของผู้ดูแลและผู้ใกล้ชิดไปจวบวาระสุดท้ายของพวกเขา ทั้งนี้การตายท่ามกลางเครื่องช่วยชีวิตไม่ใช่วิธีการตายที่สร้างประสบการณ์ที่ดีเท่าใดนัก
“มีบางอย่างขาดหายไปในกระบวนการตาย” คุณหมอปีเตอร์พบว่า แม้ผู้ตายจะมีอายุมาก แต่พวกเขาแทบไม่เคยสนทนาเรื่องความตายกับคนใกล้ชิดเลย ไม่เคยคุยกันว่าผู้ป่วยต้องการให้หมอทำหรือไม่ทำอะไร ไม่เคยคิดว่าหากเป็นไปได้ อยากเลือกการตายในวิถีทางใด
“เราทุกคนต้องตาย” แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “เราตายอย่างไร”
เมื่อทีมงานของคุณหมอปีเตอร์สำรวจสถานการณ์การพูดเรื่องความตายในผู้สูงอายุ ก็พบว่ามีผู้สูงอายุน้อยมาก (เพียง 1 ใน 100 หรือน้อยกว่านั้น) ที่เคยสนทนาหรือวางแผนการตัดสินใจในกรณีที่พวกเขาป่วยหนัก รักษาไม่หาย หรือไม่สามารถสื่อสารได้ วัฒนธรรมการไม่พูดถึงความตายทำให้เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาล จึงต้องถูก “ช่วยชีวิตไว้ก่อน” ในห้องฉุกเฉินหรือ ICU
การไม่พูดถึงความตาย ประกอบกับการใช้เทคโนโลยียืดความตาย เป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมในสังคมสมัยใหม่ ที่จำเป็นต้องปฏิวัติวิธีคิดเกี่ยวกับความตาย กล่าวคือ ความตายควรจะพูดถึงได้ และควรพูดถึงก่อนตาย แต่จะเริ่มต้นพูดอย่างไรล่ะ?
คุณหมอปีเตอร์ เสนอคำถามเล็กๆ ง่ายๆ สำหรับไปถามผู้สูงอายุ หรือคนอื่นๆ ที่กำลังเข้าสู่เส้นทางนี้ คุณหมอรับรองว่าหากถามแล้วจะไม่มีทางผิดพลาดเสียใจ ผมจะไปลองถามกับพ่อแม่ของผมเอง และก็เชิญชวนผู้อ่านลองไปถามกันดูด้วยนะครับ
ถ้าคุณป่วยมากจนไม่อาจพูดได้ คุณอยากให้ใครมาพูดแทนคุณ?
ในวาระสุดท้ายของชีวิต คุณอยากให้คนอื่นดูแลคุณอย่างไร อะไรคือสิ่งที่คุณอยากปฏิเสธ?