คุณเคยเห็นคนแก่สุขภาพจิตดีจนอยากรู้ว่าเขาใช้ชีวิตที่ผ่านๆ มาอย่างไรบ้างไหม
ดร.จอห์น ไอโซ (John Izzo) นักเขียนและนักสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคยเป็นอนุศาสนาจารย์ผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยใกล้ตายจำนวนนับไม่ถ้วนพบว่า คนเรานั้นตายแตกต่างกัน บางคนตายไปอย่างอิ่มเอมใจและมีเรื่องเสียใจเพียงไม่กี่เรื่อง แต่บางคนตายอย่างขมขื่น หรือไม่ก็เสียดายที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ชวนสงสัยว่ามีความลับใดที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่มีความสุข
ผู้ที่จะเผยความลับได้ดีที่สุด ก็คือผู้อาวุโสที่มีชีวิตที่มีความสุขนั่นเอง เขาค้นหาคนเหล่านี้ด้วยการเปิดให้คน 15,000 คนทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดาแนะนำผู้สูงวัยที่พวกเขาคิดว่ามีปัญญาและมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับชีวิตที่จะสอนเรา มีคนเสนอชื่อมากว่าพันคน คัดเลือกจากความหลากหลายด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา ภูมิศาสตร์ และอาชีพ เหลือจำนวน 235 คน ช่วงอายุ 59- 105 ปี สัมภาษณ์คนละ 1-3 ชั่วโมง
ในการสัมภาษณ์มีคำถามหลักๆ คือ อะไรทำให้คุณมีความสุขที่สุด คุณเสียใจกับเรื่องใดบ้าง อะไรคือสิ่งสำคัญและสิ่งที่ในตอนท้ายกลายเป็นว่าไม่สำคัญ อะไรเป็นทางแยกสำคัญที่ส่งผลให้ชีวิตของคุณเปลี่ยนแปลงไป มีเรื่องไหนบ้างที่คุณคิดว่าน่าจะได้เรียนรู้ให้เร็วกว่านี้
และพบว่าผู้อาวุโสที่มีความสุขเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ 5 ข้อ ที่เขานำมาเขียนหนังสือชื่อ “ความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย” (The Five Secrets you must discover before you die)
ผู้สูงวัยเหล่านี้มักพูดทำนองว่า “คุณต้องเดินตามหัวใจตัวเอง” “คุณต้องซื่อตรงกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวคุณ” “คุณต้องรู้ว่าคุณเป็นใครและทำไมคุณถึงมาอยู่ตรงนี้” และ “คุณต้องรู้ว่าอะไรสำคัญต่อชีวิตคุณ” และคนที่มีชีวิตที่ดีต่างจากคนส่วนใหญ่ตรงที่พวกเขาถามตัวเองเสมอว่า เรามีชีวิตแบบที่ต้องการหรือไม่ และทำตามความปรารถนาของหัวใจเพื่อไปสู่จุดหมายนั้นหรือไม่
ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์วัย 70 ปี ที่สอนหนังสือมากว่า 40 ปีบอกว่า มีความต่างราวฟ้ากับเหวระหว่างนักเรียนที่เดินตามหัวใจตัวเอง กับนักเรียนที่เดินตามความฝันของคนอื่น อาจเป็นฝันของบิดามารดา หรือไม่ก็ล่องลอยเข้าไปเรียนในสาขาวิชาที่ไม่เหมาะหรือไม่สอดคล้องกับตัวตนของตัวเอง หลายปีให้หลัง พวกที่มุ่งตามหัวใจยังคงไปได้สวย แต่พวกที่ไม่ยอมเดินตามหัวใจดูเหมือนต้องดิ้นรนไปตลอดชีวิต
ผู้สูงวัย 200 กว่าคนพูดตรงกันว่า สิ่งที่เราควรกลัวมากที่สุดคือกลัวจะเสียดายที่ไม่ได้ลองพยายาม โดยเมื่อถึงบั้นปลายชีวิตไม่มีใครพูดว่าเสียดายที่พยายามทำอะไรสักอย่างแล้วล้มเหลว แต่คนส่วนมากกลับพูดว่าตนยังเสี่ยงไม่พอ
“ฉันปล่อยให้หลายอย่างค้างคาในชีวิต ทีแรกคิดว่าคงเป็นเรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง แต่พอคิดดูให้ดี ฉันก็ได้คำตอบว่า ที่เขียนไม่เสร็จก็เพราะถ้าเขียนเสร็จ ฉันจะต้องให้ใครบางคนอ่าน แล้วถ้าฉันให้คนอื่นอ่าน เขาอาจจะบอกว่าฉันเขียนหนังสือไม่เป็น ฉันว่าความกลัวที่จะถูกปฏิเสธนี่ละทำให้ฉันเขียนหนังสือไม่เสร็จสักที” หญิงวัยเจ็ดสิบเศษผู้พยายามเขียนหนังสือหกเล่มให้เสร็จ แต่ไม่เสร็จสักเล่มกล่าว
ทั้งการรักตนเอง ผู้ใกล้ชิด และผู้อื่น ความรักตนเองเป็นพื้นฐานของสุขภาพจิตที่ดี หากเราไม่มองว่าตัวเองมีคุณค่า ชีวิตเราจะหาความสุขมิได้เลย เรารักตนเองได้ด้วยการใส่ใจสิ่งที่เราป้อนให้ตนเอง เพราะชีวิตเราจะเป็นไปตามสิ่งที่เราคิด หากคิดว่าตัวเองแย่ ไร้ค่า ไม่มีเสน่ห์ พลังความคิดก็จะทำให้คุณทำตัวเช่นนั้น และเมื่อเราเลือกที่จะรักในทุกสถานการณ์ชีวิต ความสุขย่อมค้นพบเรา เมื่อเราได้ให้ความรัก ความรักจะกลับมาหาเราในรูปของความสุข
เรื่องของเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำผู้ล่วงลับของประเทศแอฟริกาใต้แสดงให้เห็นว่า เราแทบไม่มีพลังอำนาจที่จะไปกำหนดให้ใครมารักเรา แต่กลับมีอำนาจมหาศาลในการให้ความรัก เขาถูกจองจำอย่างไร้ความยุติธรรมเป็นเวลาหลายสิบปี แต่เขายังเลือกที่จะรัก การเลือกของเขาได้ช่วยเปลี่ยนแปลงและเยียวยาแอฟริกาใต้ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ
หมายถึงการใช้ชีวิตให้เต็มที่ในทุกห้วงขณะ ไม่จมอยู่กับอดีตหรืออนาคต แต่ผ่านทุกห้วงเวลาอย่างรู้คุณค่าและมีเป้าหมาย ดังเช่นแม็กซ์ นักวิจารณ์ละครที่ชมละครมาแล้วหลายร้อยเรื่องพบว่า ละครหลายเรื่องก็แย่จนทำให้เขาคิดว่าเสียเวลาดูเปล่าๆ แต่เขาก็ตระหนักขึ้นมาว่าไม่มีทางเรียกคืนเวลากลับมาได้ และถ้าอยากใช้ชีวิตให้เต็มที่ก็ต้องกำจัดคำว่า ‘น่าเบื่อ’ ออกไปจากชีวิต อยู่กับสิ่งตรงหน้าให้เต็มที่ เปิดรับทุกอย่างที่ห้วงเวลา
ผู้สูงวัยที่มีความสุขหลายคนบอกให้ใช้ชีวิตแบบทุกๆ วันเป็นของขวัญ หรือใช้ชีวิตประหนึ่งว่าจะได้เห็นพระอาทิตย์ตกดินเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นวันเวลาในทุกห้วงขณะหรือแต่ละวันจึงมีค่ายิ่งนัก
ภารกิจสำคัญของชีวิตมนุษย์มีสองเรื่องได้แก่ ค้นหาตนเองและสลายตนเอง เราจะพบตนเองด้วยการค้นหาและซื่อตรงต่อตัวเอง แต่พบตนเองแล้วยังไม่พอ เราต้องสลายตัวตนนั้นด้วย จากการสัมภาษณ์พบว่าคนที่มีความสุขมากที่สุด คือคนที่จมอยู่กับตนเองน้อยที่สุดและใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น ส่วนคนที่ไร้สุขที่สุดนั้นยังคงใช้ชีวิตเพื่อตนเอง
ภาษิตจีนบทหนึ่งเขียนไว้ว่า “เวลาที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เวลาที่ดีที่สุดครั้งที่สองคือวันนี้” ผู้สูงวัยบางคนบอกว่า “อย่าหวังว่าจะตะลุยเร่งเครื่องก่อนชั่วโมงสุดท้าย ถ้าอะไรสำคัญกับคุณ จงทำเดี๋ยวนี้” คนเหล่านี้ไม่ได้เกิดมาเฉลียวฉลาดกว่าคนส่วนใหญ่ แต่พวกเขาเรียนรู้และเติบโตจากการทบทวนตนเองเป็นประจำ และตามด้วยการลงมือแก้ไขตัวเอง บางคนใช้วิธีใคร่ครวญทุกคืนก่อนนอน หญิงชราคนหนึ่งใช้วิธีให้คำมั่นกับตนเองว่าจะใคร่ครวญชีวิตสัปดาห์ละครั้ง ถามตนเองว่าใช้ชีวิตตรงเป้าหรือไม่ และอยากเปลี่ยนแปลงอย่างไรในสัปดาห์ถัดไป
มาค้นหาวิธีทบทวนชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง และลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้กันเถอะค่ะ
อ้างอิง: ความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย (The Five Secrets You Must Discover Before You Die), สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด
อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง