เพียงผีเสื้อกระหยับปีก

มะลิ ณ อุษา 11 สิงหาคม 2013

เพียงการกระหยับปีกของผีเสื้อหนึ่งครั้ง โลกทั้งใบก็สะเทือนเลื่อนลั่น พลิกผันแปรเปลี่ยน ทั้งการก่อเกิดและดับสูญ ณ ที่แห่งนั้น บทเพลงแห่งมรณานุสติจะเริ่มบรรเลง การร่ายรำอันวิจิตรจะเริ่มขึ้น… การร่ายรำของชีวิตจะเริ่มขึ้น… เพียงชั่วขณะผีเสื้อกระหยับปีก

หากใครเคยประสบอุบัติเหตุ จะเข้าใจความหมายของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงชั่วผีเสื้อกระหยับปีกได้อย่างลึกซึ้ง ไม่มีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าใดๆ เราอาจล้มลงในขณะที่กำลังยิ้มหัวอยู่ก็ได้

“ถ้ารู้อย่างนี้…ฉันคงจะ…”

คือ ประโยคที่แสดงความ สายเกินไป เสมอ

ในวงสนทนาระหว่างการอบรม หลายครั้งมักมีประเด็นคำถามที่ว่า

ถ้าเรามีเวลาในชีวิตเหลืออยู่เพียงแค่ 7 วัน เราจะทำอะไรบ้าง เพราะอะไร

แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่เรื่องราวที่เราแลกเปลี่ยนกันแทบจะไม่แตกต่างกันเลย

ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักที่ผลลัพธ์ท้ายที่สุดปรากฏออกมาคล้ายคลึงกัน แต่ที่น่าแปลกใจคือ เรื่องราวในวงสนทนาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ผู้คนต่างบอกเล่าถึงเป้าหมายและความปรารถนาในชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สุดแท้แต่ใครจะรังสรรค์ให้กับชีวิตของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การเลื่อนขั้น/ตำแหน่ง มีรายได้ที่มั่นคง การงานที่มีเกียรติ มีสวัสดิการที่ดี มีบ้าน มีรถ ธุรกิจทำกำไร ไปเที่ยวต่างประเทศ/รอบโลก ได้กินอาหารที่ดีๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง/คณะในฝัน เที่ยวรอบโลก ตีตั๋วไปดวงจันทร์/ ดาวอังคาร เจอเนื้อคู่ แต่งงานกับคนที่แอบรัก ปิดการขายที่ยากๆ มีบริษัท/ธุรกิจของตัวเอง ฯลฯ

แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ 7 วันสุดท้ายของชีวิต…

“บ้าน” คือ ที่ที่คนส่วนใหญ่เลือก บ้านในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่สิ่งปลูกสร้างบนผืนแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังกินความครอบคลุมถึง “คนที่รัก” ด้วย

การได้กินข้าวด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา การไปเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ รวมความได้ว่า การได้ใช้เวลา “อยู่” กับคนที่รักและมีความหมายสำหรับเรา คือท่วงท่าที่เราเลือกเพื่อเริงร่ายก่อนจะถึงบทเพลงท่อนสุดท้าย

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หากมีความรู้สึกหดหู่หม่นมัวก่อตัวขึ้นในหัวใจของเรา นั่นอาจหมายความว่า เรายังไม่พร้อม หวั่นไหว และมีสิ่งที่ติดค้างอยู่ ยิ่งความรู้สึกรุนแรงเท่าใด ก็อาจหมายถึงปริมาณของสิ่งที่ค้างคาอยู่มากมายเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา…

บางทีการให้เวลาถึง 7 วันก็ถือว่ายาวนานเกินไป ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่รู้เวลาล่วงหน้ายาวนานขนาดนั้น ดังนั้น

ถ้าหากเรามีเวลาในชีวิตเหลืออยู่เพียงแค่ 24 ชั่วโมงนับจากนี้ เราจะทำอะไรบ้าง เพราะอะไร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ดำเนินเป็นกิจวัตรปกติ ตื่นเช้า กินข้าว เดินทางไปทำงาน/เรียนหนังสือ คุยกับเพื่อน ดูหนัง ฯลฯ แล้วจู่ๆ ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตของเราเหลือเวลาแค่เพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น

บางที “บ้าน” และ “คนที่รัก” อาจอยู่ไกลเกินกว่าจะมา “อยู่” ด้วยกันภายในเวลา 24 ชั่วโมง แล้วเราจะทำอย่างไร?

บางคนบอกว่า จะเบิกเงินที่มีอยู่ในธนาคารทั้งหมดออกมา ซื้อ กิน ดื่ม เดินทาง ฯลฯ ทำทุกอย่างที่อยากจะทำ บางคนก็บอกว่าทำพินัยกรรมเพื่อจัดการทรัพย์สินให้คนที่อยู่ข้างหลังไม่เดือดร้อน บางคนก็บอกว่าเข้าวัด/ศาสนสถานเพื่อทำใจให้สงบ บางคนก็ใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงถึง “คนที่รัก” จากที่ที่ห่างไกล และบางคนยังยืนยันที่จะกลับ “บ้าน” แม้จะไปถึงแค่ครึ่งทางก็ยังดี ฯลฯ

บางคนเลือกที่จะอยู่ท่ามกลางผู้คน ในขณะที่บางคนแยกตัวออกมาเพียงลำพัง

ความรู้สึกหดหู่บีบคั้นหัวใจยังคงมีอยู่ไหม? นั่นเป็นเรื่องธรรมดา…

เราต่างได้รับโจทย์ในการล่วงรู้เวลาสุดท้ายแห่งชีวิตที่แตกต่างกัน ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเหตุการณ์สมมติที่อาจเกิดขึ้นได้ ภายในช่วงเวลาต่างๆ ทั้ง 7 วันและ 24 ชั่วโมง และ

ถ้าหากเรามีเวลาในชีวิตเหลืออยู่เพียงแค่ 60 นาทีล่ะ เราจะทำอะไรบ้าง เพราะอะไร

เวลา 60 นาทีอาจดูเหมือนยาวนาน สำหรับการรอคอยใครสักคน แต่เวลา 60 นาทีช่างน้อยนิดเสียเหลือเกินกับการเตรียมตัวจากลาทุกๆ คน แต่นี่คือสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา…

“บ้าน” ที่คนส่วนใหญ่เลือกเป็นแหล่งพักพิงสุดท้าย คือ “ร่างกายกับลมหายใจ” และสิ่งที่คนส่วนใหญ่เลือก “ทำ” เพื่อ “คนที่รัก” คือ การกล่าวขอบคุณและขอโทษสำหรับเรื่องราวที่ผ่านมา แม้กระทั่ง “คนที่ไม่รัก” การกล่าวคำขอโทษก็เป็นสิ่งที่หลายคนเลือกเพื่อชำระสะสางสิ่งที่ติดค้างในใจตลอดชีวิตที่ผ่านมาด้วย

คำถามสำคัญก่อนปิดวงสนทนาแต่ละครั้งมีอยู่ว่า

แล้วทำไมเราจึงไม่เริ่มทำสิ่งเหล่านี้เสียตั้งแต่วันนี้ล่ะ จะรอให้ถึงเวลานั้นทำไม ใครจะรู้ว่าโจทย์ที่เราได้รับนั้น จะเป็น 3 เดือน 7 วัน 24 ชั่วโมง หรือเสี้ยววินาที

ก็เพราะ…ฉันยังอยู่ในวัยเรียน มีเรื่องราวสนุกๆ อีกมากมายรออยู่ ฉันยังแข็งแรงและสามารถเติบโตต่อไปได้อีกนาน จะมาคิดเรื่องนี้ให้เสียเวลา(สนุก)ทำไม

ก็เพราะ…ฉันยังอยู่ในวัยทำงาน ชีวิตอันอิสระเสรีเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ฉันกำลังมีความรักและกำลังวางแผนอนาคตกับคนที่รัก ฉันกำลังจะเริ่มต้นก่อร่างสร้างตัว กำลังมีครอบครัวของตัวเอง ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น การงานกำลังก้าวหน้า มีเรื่องท้าทายความสามารถให้ฉันต้องคิดและไต่ระดับให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ การคิดถึงความตายเป็นเรื่องเศร้าเกินไป ฉันยังไม่อยากสูญเสียดอกไม้ที่เพิ่งเบ่งบานไป

ก็เพราะ…ฉันเพิ่งดื่มกินดอกผลจากการตรากตรำทำงานตลอดชีวิตที่ผ่านมา หลังของฉันเพิ่งได้เอนพัก ร่างกายเพิ่งได้หลับเต็มตื่น ลูกกำลังจะประสบความสำเร็จ หลานกำลังจะเติบโต ฉันยังอยากเห็นชีวิตที่สวยสดงดงามของพวกเขา การคิดถึงความตายทำให้ฉันห่อเหี่ยวเกินไป

ฯลฯ

“ถ้ารู้อย่างนี้…ฉันคงจะ…” คือประโยคที่แสดงความ สายเกินไป เสมอ

เพียงชั่วขณะที่ผีเสื้อกระหยับปีก กระแสลมวูบหนึ่งก็พัดผ่านไป ใบไม้ปลิดปลิวจากขั้ว ลอยคว้างอยู่ในอากาศเพียงครู่ ก่อนที่จะทิ้งตัวสู่ผืนดิน คุณรู้ไหมบนผืนแผ่นดินแห่งนั้น มีใบไม้ทั้งสีน้ำตาลแห่งกรอบ สีเหลืองที่มีรูพรุน และสีเขียวอ่อนแรกผลิ

ใครจะรู้ว่าในการกระหยับปีกของผีเสื้อครั้งต่อไป ใบไม้ใบไหนจะร่วงหล่นลงมาบ้าง…

และ หากความรู้สึกหดหู่บีบคั้นหัวใจยังคงมีอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา…


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน