อย่างไร จึงจะรู้ว่าตายเป็น

สุวีโร ภิกขุ 25 พฤศจิกายน 2007

มีคำนาม ๒ คำเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องนี้ ที่เรารู้ๆ กันอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะมีคนเข้าใจมันดีนัก หากจะมีที่ยกเว้นเอาไว้อยู่บ้าง ก็เฉพาะคนที่กำลังเผชิญกับเจ้าสิ่งนี้อยู่  ถ้าใครคนนั้นสังเกตความเป็นไป รู้ตามอาการ รู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อกายกับใจเราเอง คนผู้นั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจมันขึ้นมาได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้วาระสุดท้ายนี้มาเยือน แล้วใครกันเล่าจะโชคดีเช่นนั้น

คำนามสองพยางค์ ๒ คำที่กล่าวถึงในย่อหน้าแรกนี้ก็คือ “ความตาย” กับ “การตาย”  หากจะแปลอย่างสั้นๆ กระชับที่สุด คำแรกแปลว่า “ชีวิตจบสิ้น” คำที่สองแปลว่า “หน้าที่สุดท้ายของชีวิต” ซึ่งจากนิยามความหมายเช่นนี้ คำว่า “ตาย” คำนี้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับคำว่า “ชีวิต”  ในที่นี้ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม มันมีความสัมพันธ์กันอยู่เสมอ  หากชีวิตนี้ยังมีอยู่ โอกาสสำหรับการเรียนรู้เรื่องตายนี้จะมาให้เรารู้เราเห็นได้อยู่บ่อยๆ ตามอายุวัยกับประสบการณ์ชีวิตที่มีมากขึ้น

ความตายคือ สภาพหรือสภาวการณ์ที่ชีวิตยุติการกระทำใดๆ ต่อโลกแวดล้อม ไม่สามารถแสดงความต้องการทางกายใดๆ ได้อีก แต่ว่ามันกลับส่งผลถึงใจของผู้กำลังจะตาย ผู้ใกล้ตายและผู้รับรู้เหตุการณ์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม (หากจิตใจมีการรับรู้ต่อความเป็นจริงนี้อย่างมิได้บิดพลิ้ว) และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความตายนี้แสดงปรากฏการณ์ของความพลัดพราก ความเสื่อมสลาย และการแตกดับเหมือนๆ กับทุกปรากฏการณ์ของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งความตายเป็นส่วนท้ายสุดของความมีชีวิต และเป็นภาคจบของความเกิด

ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงความเกิดนี้ เมื่อชีวิตหนึ่งๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา  แต่ถ้ามองลึกเข้าไปในใจเราเอง ที่มาของความเกิดมิได้ให้ความหมายอยู่แค่ชีวิตแรกเกิดเท่านั้น อันที่จริงมันรวมเอาทั้งชีวิต คือกายกับใจของเราในห้วงเวลาที่มันสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ของชีวิตตามเหตุและปัจจัยมากมาย (causes and effects) ไปด้วย  ซึ่งสภาวะทั้งสองอาจเปรียบได้กับต้นธารน้ำสายเล็กๆ ที่กำลังไหลรินขยายตัวและสะสมจนมีปริมาณมากขึ้นๆ แล้วถ่ายเทลงสู่ที่ต่ำกว่ากลายเป็นลำธาร เป็นแม่น้ำ พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างจากผืนดินไปด้วยกัน แล้วทยอยละทิ้งเศษฝุ่นธุลีดินหินทรายที่หอบหิ้วมาลงตามรายทาง  กระทั่งในที่สุดก็ต้องปล่อยวางทุกสิ่งเหล่านี้จมลงสู่มหาสมุทร แล้วก็แปรสภาพกลับกลายเป็นฝน คืนกลับมาเป็นน้ำซับ สายธารอีกครั้ง

ถ้าเปรียบน้ำคือจิตใจเรา แรกเริ่มเดิมที มันคงจะบริสุทธิ์ สะอาด ใส และเย็น ราวกับต้นน้ำตกที่เราขึ้นไปหาดูเวลาเดินป่าเที่ยวน้ำตกนั่นกระมัง หากใครมีนิสัยชอบย้อนเดินขึ้นไปดูต้นน้ำอยู่เสมอๆ คงไม่ต้องบอกแล้วล่ะว่า จิตใต้สำนึกของใครคนนั้นกำลังใฝ่หาความบริสุทธิ์ สะอาด ใส และเย็นอย่างที่กล่าวมานั่นเอง  ทว่าเมื่อความเป็นเราเติบโตขึ้น น้ำใจที่ใสสะอาดก็รับเอาตะกอนฝุ่นธุลีต่างๆ เข้ามาสะสมทีละเล็กทีละน้อยรวมกันอยู่ที่ก้นบึ้งภายในใจเราเอง  ครั้นวาระสุดท้ายนี้โคจรมาเทียบท่าในใจ จิตใจเรากลับมองไม่เห็นความบริสุทธิ์แต่เก่าก่อน มันมืดมัวไปหมดเลย การปฏิบัติหน้าที่สุดท้ายของชีวิตนี้ก็ถูกบดบังเพราะตะกอนนอนก้นมันขุ่นฟุ้งขึ้นมาจากอาการตกใจ หวาดกลัวไปพร้อมๆ กันกับการผลักไสหน้าที่นี้ออกไปจากชีวิตเราเอง

การตายเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะว่าความสามารถที่จะตายได้เป็นพรวิเศษของชีวิต และเราทุกคนต่างก็ได้รับพรบทนี้มาตั้งแต่กำเนิดแล้ว  เมื่อเราเริ่มใส่ใจและเรียนรู้จักให้เข้าใจต่อหน้าที่ดังกล่าว ความตายก็จะกลายเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีคุณภาพ มิใช่แค่การทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเอง ผู้คนแวดล้อม และสิ่งที่มีความหมายต่อตัวเราในช่วงสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น หากแต่คือทั้งหมดของการดำรงชีวิตอย่างที่เราเป็นนั่นเอง

“การตาย” เป็นหน้าที่สำคัญสุดท้ายของชีวิตก็จริงอยู่ แต่ก็มิใช่ว่าใกล้ตายแล้ว เราจึงค่อยหันมาใส่ใจเรียนรู้  ว่ากันตามจริง “ความตาย” เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ “ความมีชีวิต” จนแยกกันไม่ออก เหมือนเช่น น้ำในมหาสมุทรกับน้ำฝนที่กำลังโปรยปรายลงจากฟ้า เรารู้ใช่ไหมว่ามันมีกระบวนการทางธรรมชาติที่เชื่อมโยงหนุนเนื่องกันอยู่  เราอาจมองการตายว่า “เป็นกระบวนการของการระเหยแล้วเปลี่ยนสภาพไป” หรือว่า “เป็นการให้คืนกลับหลังจากที่ได้รับมามากมาย” ก็ได้ หากมันจะทำให้เราค่อยๆ เห็นความเป็นไปของชีวิตเราว่า สภาพของน้ำในธรรมชาติเป็นดุจเดียวกันกับจิตใจของตนเอง

เมื่อเรายอมรับความจริงและเข้าถึงสาระสำคัญอันสามัญธรรมดาของความตายนี้ขึ้นมา ในเวลานั้นเราจะเห็นได้ด้วยตนเองว่าการดำเนินชีวิตกับวาระสุดท้ายนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน มีความเกี่ยวพันสืบเนื่องถึงกันในทุกๆ กระบวนการ  น้ำในธรรมชาติเปลี่ยนไปอย่างไร จิตใจของเราก็ผันแปรไปได้อย่างนั้น  เรามีชีวิตอยู่เช่นไร เราก็จะตายเช่นนั้น  ด้วยเหตุนี้เองคำตอบที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่ต้องการตายเป็นหรือตายอย่างสงบก็คือ การเรียนรู้สภาวะข้างในตัวตนเองและเท่าทันต่อความไม่แน่นอนต่างๆ เมื่อความผันแปรเหล่านั้นเกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจเรา รวมไปถึงเมื่อความตายมาพรากเอาชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อน ญาติมิตรหรือแม้กระทั่งศัตรูเรา  ในเวลาเช่นนั้น เราจะสามารถปฏิบัติต่อใครคนนั้นด้วยความเข้าใจไปจนกระทั่งลมหายใจของเขาสิ้นสุดลง และจากลาไปอย่างสงบเฉกเช่นการดูแลตนเองขณะเผชิญสภาวะใกล้ตาย ได้หรือไม่ และอย่างไร?

หากชีวิตนี้ยังมีอยู่ โอกาสเรียนรู้เรื่องความตายจะมาให้เรารู้เห็นอยู่บ่อยๆ ตามอายุวัยกับประสบการณ์ชีวิตที่มีมากขึ้น

บางทีการพิสูจน์ที่ดีที่สุดว่า เราจะเผชิญสภาวะใกล้ตายเป็นหรือไม่ อาจสังเกตได้จากอุปนิสัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน จากสิ่งที่ปรากฏภายในจิตใจ ตลอดจนคำพูดและการกระทำของเราเองว่า เรายังปล่อยให้โอกาสที่จะทำความเข้าใจตนเองผ่านเลยไปราวกับสายลมใช่ไหม? หรือว่ายังคงผัดผ่อน ต่อรองกับสิ่งที่จำเป็นต้องทำแต่ไม่ลงมือทำใช่หรือไม่ หรือปล่อยให้ชีวิตในแต่ละวันดำเนินไปอย่างไร้คุณค่าและความหมาย อีกทั้งยังปราศจากไหวพริบปฏิภาณเมื่ออารมณ์อันเป็นอกุศลทั้งหลายอาทิเช่น ความโกรธพยาบาท ความทุกข์โศก ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความมัวเมาและความหลงครอบงำจิตใจ

หากเรารู้ตัวว่ายังไม่พร้อมที่จะเผชิญสภาวะนั้น เราอาจจะต้องมองกลับเข้ามาดูตัวตนเองว่า อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ ณ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เป็นสิ่งที่ดีงามส่งผลทำให้เราสบายอกสบายใจ และมิได้สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น อาจเป็นสิ่งที่สร้างอารมณ์ขันเป็นธรรมะฝ่ายกุศล จรรโลงใจทั้งต่อตัวเราและผู้คนรอบตัว  บางทีเหตุการณ์ในชีวิตเวลาหนึ่งทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ในภายหลัง ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราขำขันกับมันได้เมื่อนำมาบอกเล่าต่อกัน ดังเช่นตัวอย่างข้างล่างเป็นต้น

พี่น้องสองคนช่วยกันดูแลพี่สาวคนโตที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รูปร่างพี่สาวของทั้งสองก็ไม่ใหญ่โตสักเท่าไหร่ เสียแต่ว่าน้ำหนักตัวออกจะมากไปหน่อย ทุกคืนพี่สาวคนโตจะต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ ใครมีเวรมาเฝ้าก็ต้องตื่นกลางดึกมาอุ้มพี่สาวพาไปเข้าห้องน้ำเป็นกิจวัตรทุกคืน  ณ กลางดึกคืนหนึ่ง…….

พี่สาวคนโต : จินช่วยพี่หน่อย
จิน : ……………..

พี่สาวคนโตเรียกอีกครั้ง : จินตื่นรึยัง ช่วยพี่หน่อย
จิน : ……………..

พี่สาวคนโต : จิน!…. เร็วหน่อย พี่ปวดฉี่จะแย่แล้ว
จิน : …………….

พี่สาวคนโต : จินจ๊ะ ตื่นสิจ๊ะ ตื่นนะ…..ลุกขึ้นมาช่วยพี่หน่อย
จิน : …………….

พี่สาวคนโต : จินตื่นน่า……นะ…..เราพี่น้องกัน……น่านะ (เสียงแผ่วลง)
จิน : …………….

พี่สาวคนโต : จินตื่น…..จินเราพี่น้องกันนะ………ถ้าตื่นขึ้นมาตอนนี้พี่จะให้ตังค์ร้อยนึงเลยนะ

(เช้าวันถัดมา)

พี่สาวคนโต : นี่จัน รู้มั้ยเดี๋ยวนี้จะลุกขึ้นมาฉี่ มันถึงขั้นต้องจ้างกันแล้วนะ
จัน : อ้าว! ทำไมพี่ถึงพูดหยั่งงั้นล่ะ

พี่สาวคนโต : เมื่อคืน ชั้นต้องจ้างจินเค้าร้อยนึง ให้มันตื่นขึ้นมาช่วย…..
จัน : แล้วจินเค้ากล้าเอาตังค์กะพี่เหรอ

พี่สาวคนโต : เปล่า….นี่ขนาดจ้างแล้วนะ มันยังไม่ตื่นเลย


ภาพประกอบ